กรมการศาสนา พร้อมโอนกิจการฮัจย์ไปกรมการปกครอง เหตุทำงานเข้าถึงพื้นที่มากกว่า-สร้างประโยชน์ให้กับผู้แสวงบุญตามนโยบายรัฐบาล พร้อมยืนยันไร้การทุจริต-ตรวจสอบได้
จากกรณีที่นายอนุมัติ อาหมัด สมาชิกสภานิติบัญญัติ ออกมาเปิดถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบแก้ไขกฎหมายการส่งเสริมกิจการฮัจย์เพื่อแก้ปัญหาการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ของพี่น้องมุสลิมไทยที่สะสมมาหลายปี โดยย้ายกิจการฮัจย์ในสังกัดกรมการศาสนา (ศน.)มากรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เนื่องจากกิจการฮัจย์อยู่กับ ศน. มีปัญหาตลอด 20 ปี ผู้แสวงบุญต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเกินไปใช้มากกว่า 150,000-200,000 บาทต่อคน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ ศน.รู้เห็นเป็นใจและทุจริตคอร์รัปชั่นกันภายในด้วยนั้น
นายกฤษศญพงษ์ ศิริ อธิบดีกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)กล่าวว่า ขณะนี้มีการเสนอแก้ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจย์ โอนย้ายกิจการฮัจย์จากกรมการศาสนาไปกรมการปกครองจริง แต่ไม่ได้เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชั่นแต่อย่างใด เหตุผลหลักต้องมีการโอนย้ายคือ เนื่องจาก วธ.พิจารณาเห็นว่า ด้วยเหตุผลความจำเป็นที่ประชาชนควรจะรู้ข่าวสารเท่าทันการเปลี่ยนแปลงกิจการฮัจย์ และเพื่อให้การบริการเข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด จึงให้มีการปฏิรูปการบริหารกิจการฮัจย์ โดยปรับเปลี่ยนดังนี้ 1.โครงสร้างการบริหารงานกิจการฮัจย์ โดยให้กรมการปกครองเป็นหน่วยงานบริหารแทนกรมการศาสนา เนื่องจากมีองค์กรและบุคลากรในกำกับอยู่ทุกพื้นที่ 2.ให้เพิ่มเติมกรรมการ ซึ่งมาจากหน่วยงานหรือองค์กรที่มีบทบาทและภารกิจเกี่ยวกับกิจการฮัจย์ ได้แก่ ผู้แทนจุฬาราชมนตรี ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นองค์ประกอบคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย
อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวต่อไปว่า การโอนย้ายครั้งนี้ถือว่าเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการให้การทำงานเข้าถึงประชาชนและให้ความรู้เรื่องฮัจย์อย่างใกล้ชิด ซึ่งการดำเนินกิจการฮัจย์ปี 2558 นี้ถือเป็นปีที่มีการทำงานลงพื้นที่อย่างใกล้ชิด ได้รับความร่วมมือจากนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งมีอิหม่าม คอเต็บและบิหลั่นประจำมัสยิด ทำให้การกำกับดูแลและส่งเสริมให้การดำเนินกิจการฮัจย์เป็นไปอย่างถูกต้องสมบูรณ์ตามหลักศาสนา ประชาชนได้รับความสะดวก ปลอดภัย มีหลักประกันในการเดินทางและป้องกันการหาประโยชน์อันมิชอบ จนได้รับการชื่นชมจากนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรีและผู้แสวงบุญเป็นอย่างมาก เรื่องสามารถตรวจสอบได้จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและทำงานร่วมกันมาอย่างภาคภูมิใจ
“ ส่วนที่ระบุกรณีมีเจ้าหน้าที่กรมการศาสนามีส่วนเกี่ยวข้องทุจริตนั้น จากการตรวจสอบที่ผ่านมาไม่พบการทุจริต หากทางนายอนุมัติ จะส่งหลักฐานมาให้ทางกรมการศาสนา ก็จะเป็นประโยชน์และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนอีกทาง ทางกรมการศาสนาขอบพระคุณอย่างยิ่งและจะเร่งตรวจสอบทันที และกรณี ผู้แสวงบุญต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเกินไปใช้มากกว่า 150,000-200,000 บาทต่อคน เรื่องนี้ขอชี้แจงว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับกรมการศาสนา เป็นสิทธิ์ของผู้แสวงบุญจะเป็นผู้เลือกใช้บริการของบริษัทใด ราคาใด” อธิบดีกรมการศาสนา กล่าว