หน้าแรก ข่าวในประเทศ ข่าวชายแดนใต้

เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น-เอนจีโอ ฝากถึง ศอ.บต. หวั่นปัญหา โครงการ “จะนะเมืองอุตสาหกรรมฯ” พบผิดสังเกตความไม่โปร่งใส

ขณะที่กระแสสังคมกำลังเกาะติดการรับมือปัญหาไวรัสโควิด-19 แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตุถึงการเดินหน้านโยบายผลักดันโครงการที่รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่อีกด้านของภาคชุมชนก็มองว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อชุมชนในอนาคต คือ โครงการ “จะนะเมืองอุตสหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” โดยในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เครือข่ายจะนะรักถิ่นได้จัดกิจกรรมทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดจากโครงการ “จะนะเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ซึ่งเป็นโครงการทีมี ศูนย์บริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เป็นผู้รับผิดชอบหลักตามมติ ครม.ที่เป็นผลจาก ศอ.บต.นำเสนอผลการประชุม กพต.ครั้งที่ 1/2562 เมื่อ 31 ต.ค.2562 ให้ ครม.รับทราบไปก่อนหน้าโดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากทั้ง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ยังไม่มีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะรองรับแรงงานจำนวนมาก ขณะที่มีความพร้อมด้านกายภาพที่เป็นพื้นที่ชายฝั่ง จึงเหมาะสมที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึกเพื่อให้นิคมอุตสาหกรรมใช้นำเข้าและส่งออกสินค้า โดยโครงการนี้เบื้องต้นได้อนุมัติงบประมาณก้อนแรกจำนวน 1,130,000 บาท ให้จัดเวทีในพื้นที่ดำเนินโครงการ 3 ตำบลคือ ตำบลนาทับตำบลตลิ่งชัน และตำบลสะกอม ซึ่งต้องจัดเวทีทั้งหมดให้ได้ 35 เวที และจะมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ทำงานอื่นต่อไป โดยเฉพาะด้านการประชาสัมพันธ์(สนับสนุน)โครงการ

ทั้งนี้ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ซึ่งเกิดจากกลุ่มชาวบ้าน เครือข่ายชุมชน เอนจีโอ นักวิชาการ ที่เกาะติดสถาการณ์โครงการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง เห็นว่า โครงการดังกล่าวได้สร้างกระบวนการเท็จตั้งแต่ต้น และไม่ได้เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความต้องการของคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง ทั้งยังเป็นโครงการที่กำลังนำไปสู่ความขัดแย้งในชุมชน โครงการนี้จึงเป็นโครงการอัปยศที่สุดของศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยระบุเป็นแถลงการณ์ ว่า ที่ผ่านมาพวกเราพยายามสื่อสารกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อถามถึงรายละเอียดการดำเนินงานในโครงการจะนะเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ซึ่งศูนย์บริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เป็นผู้รับผิดชอบหลัก แต่กลับไม่เคยได้รับคำชี้แจงใดๆอันเป็นข้อเท็จจริงที่จะทำให้เราได้รับรู้ถึงข้อมูลอย่างถูกต้อง และตรงไปตรงมา

แถลงการณ์ ยังระบุอีกว่า ตั้งแต่เรื่องการใช้พื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษ ประเภทของโรงงานอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาดำเนินการในพื้นที่ การจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ รวมถึงผลกระทบด้านสังคม วิถีวัฒนธรรมพวกเราจะได้รับผลกระทบในฐานะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่อย่างน้อย 3 ตำบลอันเป็นที่ตั้งโครงการ คือ ตำบลนาทับ ตำบลตลิ่งชัน และตำบลสะกอม ทั้งนี้เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าควรจะให้มีโครงการนี้ในพื้นที่หรือไม่ อย่างไร ในขณะที่รัฐบาลเดินหน้าอนุมัติโครงการและงบประมาณดำเนินการไปแล้วกว่า 18,000 ล้านบาท พร้อมกันนี้ได้เห็นชอบพื้นที่ดำเนินการทั้งหมดกว่า 16,000 ไร่ ไปเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดนราธิวาส อันถือเป็นการตัดสินใจบนฐานข้อมูลที่คนบางกลุ่มสร้างขึ้น

แถลงการณ์ ชี้ว่า โครงการนี้แอบอ้างว่าความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยการรวบรวมรายชื่อของประชาชนทั้ง 3 ตำบล แนบไปกับตัวโครงการที่เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในการประชุมดังกล่าว ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้ข้อมูล หรือคำชี้แจงว่าจะมีการใช้พื้นที่ในเขตหมู่บ้าน และตำบลของตนเองเพื่อเป็นเขตพัฒนาพิเศษที่จะกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ และยังเป็นอุตสาหกรรมหลายประเภท คือมีทั้งอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมด้านพลังงาน อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี่ต่างๆ และรวมถึงอุตสาหกรรมเกษตร และหนึ่งในจำนวนนั้นคือพื้นที่ของกลุ่มบริษัทไออาร์พีซี และทีพีไอ (IRPC , TPI) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านปิโตรเคมี ซึ่งผู้นำหลักที่จะเข้ามาใช้พื้นที่แห่งนี้จำนวนหลายพันไร่ จึงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่คนอำเภอจะนะจะต้องดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่ถือเป็นอุตสาหกรรมหนักที่มีความเสี่ยงต่อมลพิษมากที่สุด ดังที่เกิดขึ้นกับพี่น้องชาวมาบตาพุด จังหวัดระยองมาจนถึงปัจจุบันนี้

แถลงการณ์ อ้างว่า แม้ที่ผ่านมา ศอ.บต. ได้จัดเวทีชุมชน แต่เป็นเพียงเวทีรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อนำเสนอให้กับรัฐบาลเท่านั้น หากแต่ในเวทีเหล่านั้นไม่เคยมีการชี้แจงข้อเท็จจริงใดๆที่เกี่ยวกับเรื่องเขตพัฒนาพิเศษดังกล่าว ทั้งที่มีการซักถามข้อมูลโครงการกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเวทีในหลายครั้ง ก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ เพียงแค่อ้างว่าเป็นโครงการของรัฐบาลที่ต้องการสร้างความเจริญเท่านั้น จนบางเวทีเมื่อเห็นว่าชาวบ้านคนใดถามในเรื่องนี้มากขึ้น ก็จะบ่ายเบี่ยงไม่ตอบและจะปิดกั้นไม่ให้เข้าร่วมเวที จึงเห็นถึงความผิดปกติและความไม่ชอบของกระบวนการดำเนินงานตั้งแต่ต้น ทั้งยังส่อเจตนาปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลของประชาชนอย่างไร้ธรรมาภิบาล พวกเราจึงไม่สามารถยอมรับโครงการ”จะนะเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” นี้ได้ และขอประกาศว่า “จากนี้ไปเราจะร่วมกับทุกภาคส่วน บนวีธีการของกฏหมายและระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้รัฐบาลยุติการดำเนินโครงการอัปยศนี้ให้ได้

นอกจากนี้ สมบูรณ์ คำแหง คณะทำงานเครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรสองฝั่งทะเล(อันดามัน – อ่าวไทย) ได้โพสต์เฟสบุค ตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับการดำเนินโครงการดั่งกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ เมื่อ วันที่16 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมาว่า

  1. ทำไมต้องให้ ศอ.บต. เป็นผู้ดำเนินการหลักในโครงการนี้ ทั้งที่ไม่มีความสามารถในด้านเศรษฐกิจ และหน้าที่หลักของราชการหน่วยนี้ควรเป็นไปเพื่อการแก้ไขปัญหาสถานการณ์และความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ใช่หรือไม่ หากแต่โครงการนี้ ศอ.บต. กำลังเป็นต้นเหตุในการสร้างพื้นที่ความขัดแย้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
  2. มีความไม่ชอบมาพากลในเรื่องที่ดิน ทั้งออกกรรมสิทธิ์ และการซื้อขายที่ดินในพื้นที่โครงการจำนวนกว่า 16,000 ไร่ ในพื้นที่ 3 ตำบล ของอำเภอจะนะ ที่จะต้องทำการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างละเอียด และในโอกาสนี้ได้มีการล่อผลประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ว่า จะมีการออกเอกสารสิทธิ์ให้กับผู้ที่ไม่มีกรรมสิทธิ์หากเห็นด้วยกับโครงการนี้
  3. ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่จะเป็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับประชาชนในพื้นที่ และบริเวณใกล้เคียง อย่างเช่น โครงการนี้แม้จะมีชื่อสวยหรูเพียงใด ว่าเป็นเมืองต้นแบบ ก้าวหน้า แห่งอนาคต แต่สรุปแล้วนี้คือการย้ายฐานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่รองจากภาคตะวันออก ลงมาสู่พื้นที่ภาคใต้ คืออำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และไม่มีการเปิดเผยว่ามีกลุ่มบริษัททีพีไอ และ ไออาพีซี (TPI. และ IRPC.) ซึ่งเป็นเจ้าพ่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศไทย เข้ามาซื้อที่ในพื้นที่แห่งนี้จำนวนหลายพันไร่แล้ว
  4. จึงมีความเป็นไปได้สูงมากว่า โครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ก็คือ นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ และที่นี่จะเป็น นิคมอุตสาหกรรมที่บริหารโดยเอกชน ที่ไม่ใช่ของรัฐ หากแต่จะต้องให้รัฐบาลใช้เงินภาษีประชาชนจำนวนมหาศาลเอื้อให้กับเอกชนรายนั้น
  5. การใช้ประชาชนในพื้นที่ แล้วสร้างเป็นคณะทำงานให้กับโครงการที่ ศอ.บต. ตั้งขึ้น ก็คือการใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือให้กับกลุ่มทุนที่กำลังเข้ามารุกรานทรัพยากรในพื้นที่ของคนจะนะ และของคนจังหวัดสงขลาทั้งหมด อันเป็นบทเริ่มต้นของการทำให้ประชาชนทะเลาะกันเอง ถือว่าเป็นวิธีการอันแยบยล และเป็นวีการที่โหดร้ายที่สุด ท่ามกลางสถานการณ์ของความขัดแย้งที่มีอยู่แล้วในพื้นที่

องคาพยพเหล่านี้ที่หน่วยงานรัฐ นักการเมือง และนักลงทุนเอกชน จับมือกันกระทำการเช่นนี้ แล้วแอบอ้างกลไกของประเทศนี้ที่มีอยู่ว่าทำไปเพื่อประชาชน เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน หาแต่ล้วนเห็นๆอยู่ว่าคือการดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับใครบางคน และกับคนบางกลุ่ม อย่างไม่สนใจใยดีว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนในพื้นที่ แล้วความร่ำรวยที่ท่านกำลังหยิบยกให้นี้ มันจะตกทอดถึงคนในพื้นที่อย่างแท้จริง เขาคือเจ้าของโรงงานสักโรงหรือไม่ เขาคือนายทุนที่จะได้ประโยชน์จากการดำเนินการโครงการเหล่านี้หรือไม่ และเขาคือผู้มีอำนาจที่จะชี้ว่าอะไรควรจะเป็นอะไรในที่แห่งนี้หรือไม่และถ้าไม่ใช่ ท้ายที่สุดแล้วพวกเขาที่เป็นประชาชนในพื้นที่จะได้อะไร นอกจากการยอมเสียสละที่ดิน ที่ทำกิน ทรัพยากร อากาศอันบริสุทธิ์ วิถีชีวิตวัฒนธรรมที่ดีงาม เพื่อแลกกับสิ่งที่ท่านเรียกว่า “ความเจริญ” ใช่หรือไม่ ?

อนึ่ง มีการวิเคราะห์กันว่า โครงการจะนะเมืองอุตสหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต น่าจะสอดรับในเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจสำหรับชายแดนใต้ให้ความสำคัญอยู่ที่ “โครงการสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยตั้งเมืองต้นแบบขึ้นใน 3 จังหวัด คือ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็น “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร” อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เป็น “เมืองต้นแบบศูนย์กลางการค้าขายแดนระหว่างประเทศ” และ อ.เบตง จ.ยะลา เป็น “เมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน” ซึ่งโครงการดังกล่าวเริ่มคุ้นหูคนชายแดนใต้ แต่จะสร้างปัญหา หรือ ประโยชน์ อย่างไร ก็ต้องเกาะติดกันต่อไป..