หน้าแรก รายงาน

10 ทีมเยาวชนชายแดนใต้ ผ่านรอบคัดเลือกร่วมทำหนังสั้น โครงการ DEEP SOUTH YOUNG FILMMAKER รุ่น 2

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี โครงการ “Deep South Young Filmmaker” (เยาวชนสร้างหนัง หนังสร้างคน) จัดงานเปิดตัวทีมเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก นำเสนอผลงานหนังสั้นเพื่อคัดเลือกเป็นรอบสุดท้าย โดยมี 18 ทีมเข้าร่วม

โครงการ DEEP SOUTH YOUNG FILMMAKER (เยาวชนสร้างหนัง หนังสร้างคน) เป็นโครงการที่มุ่งหวังจะช่วยพัฒนาเยาวชนในพื้นสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้ผลิตสื่อภาพยนตร์สั้นอย่างมืออาชีพ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 โดยมีทีมวิทยากรผู้อบรมเยาวชนนำโดย คงเดช จาตุรันต์รัศมี, ลี ชาตะเมธีกุล, ศิวโรจณ์ คงสกุล เป็นต้น

โดยผลงานจากเยาวชนที่เข้าร่วมอบรมในรุ่นที่ 1 ได้ออกฉายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งที่กรุงเทพฯ และเทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 23 (23 rd Thai Short Film and Video Festival) อีกทั้งหนังสั้นบางเรื่องจากโครงการได้รับเลือกไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ อาทิ เทศกาล Thai Film Festival Berlin ประเทศเยอรมัน

สำหรับโครงการรุ่นที่2 ทางโครงการฯ เปิดรับสมัครเยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ทีมละ 5 คน อายุ 15-25 ปี เข้าร่วม โดยส่งโครงเรื่องย่อหนังสั้น ไม่จำกัดเนื้อหาและรูปแบบไม่ว่าจะเป็น ดราม่า ตลก สยองขวัญ ไซไฟ แนวทดลอง หรือสารคดี ที่แต่ละทีมอยากบอกเล่าภายใต้บริบทของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ทีมที่ผ่านการคัดเลือก จะได้เข้าร่วมอบรมกับวิทยากรทางภาพยนตร์ระดับมือรางวัล และได้ทุนสนับสนุนเพื่อผลิตภาพยนตร์สั้น ความยาวไม่เกิน 25 นาที พร้อมร่วมประกวดชิงเงินรางวัลรวมมูลค่า 100,000 บาท

หนึ่งใน 10 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกคือ ทีมกะโปกโปรดักชั่น ประกอบด้วย มูฮัมหมัดไซดี ประดู่ ซูรียาณี บินวาจิ และ จันทร์จิรา อีดยี สามเกลอจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี บอกว่า ประเด็นที่นำเสนอคือ แวรุงเมกา เรื่องราวของวัยรุ่นในพื้นที่ที่มีการแว้นท์มอเตอร์ไซต์ที่ไม่เหมือนกับการแว้นท์ในพื้นที่อื่นๆ

“เมื่อเห็นเด็กแว้นท์ เรานึกถึงอะไร มีนัยยะอะไรซ่อนอยู่ เป็นประเด็นที่เราเห็นทุกวัน ตี 1 ตี 2 เขาก็ยังแว้นท์อยู่ เขาสื่อสารผ่านท่อเสียงดัง เหมือนเสียงที่ดังเบาที่สุด วัยรุ่นที่แว้นท์ที่นี่ต่างจากที่อื่น มีการรวมตัวกันในวันสำคัญเช่นวัยรายอ แต่งตัวด้วยชุดโต๊ปหรือมลายูสไตล์ ขี่รถกันเป็นคาราวานไปรวมตัวกันในสถานที่สำคัญทางศาสนา”

“อยากให้สังคมไม่ผลักพวกเขาออกจากสังคม ความเป็นพลเมืองไม่เคยผลักเขาออกไป เปิดเวทีพูดคุยระหว่างเด็กแว้นท์กับคนในสังคมบนฐานของเหตุผล ส่วนรสนิยมเป็นอีกเรื่อง เราอยากนำเสนอให้สังคมรับรู้ว่าเยาวชนชายแดนใต้มีศักยภาพ หากไม่ค่อยมีเวทีให้แสดง โครงการนี้คือดีมาก เมื่อโอกาสมาถึงต้องคว้าไว้และใช้ให้เป็นประโยชน์”

ส่วน Budak Selatan จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี กับประเด็น “ฮิญาบ” จากแม่ของหนึ่งในทีมงานเคยเป็นหนึ่งในกลุ่มนักศึกษาสตรีมุสลิมวิทยาลัยครูยะลาที่เข้าร่วมการประท้วงเพื่อให้มุสลิมะฮฺได้คลุมฮิญาบในสถานศึกษาเมื่อปี 2531 รวมทั้งแรงบันดาลใจที่อยากให้มุสลิมะฮฺทุกคนคลุมฮิญาบด้วยบทบัญญัติของศาสนา ฮาราฟัร แวเดง และ วันอัสรีย์ กาซอร์ สองในทีมงานบอกว่า

“เราอยากทำประเด็นนี้ เป็นหนังกึ่งสารคดี อยากให้เพื่อนมุสลิมะฮฺที่เรียนในวิทยาลัยได้คลุมฮิญาบตามหลักการของศาสนาอิสลาม”

“ย้อนไปให้เห็นว่ากว่าจะได้มาซึ่งการยอมรับให้มีการคลุมฮิญาบในเมืองไทยไม่ใช่เรื่องง่าย จนมีการประท้วงใหญ่ของนักศึกษามุสลิมะฮฺหน้าวิทยาลัยครูยะลาในอดีต เป็นประวัติศาสตร์ที่ควรจดจำและเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เมื่อได้รับโอกาสที่ดีควรนำมาใช้ด้วยผลดีต่อตัวเองของมุสลิมะฮฺ ในความหลากหลายของพื้นที่ ให้มองการตักเตือนเป็นการบอกรักกัน ไม่ใช่เป็นการยุ่ง ทำให้คิดได้และกลายเป็นคนดีได้ การคลุมฮิญาบเป็นการตั้งใจจริงต่อพระเจ้า ให้เกียรติศาสนา ส่วนคนที่ยังไม่ได้คลุมก็อยากให้เขาคิดได้เร็วๆ”

ทั้งสองบอกว่า อย่ามองนักศึกษาสายอาชีวะว่าคือเด็กที่เหลือจากการเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ เพราะพวกเขาเลือกที่เรียนสายนี้ที่ได้เรียนรู้และปฏิบัติจริงในระหว่างเรียน และอาจารย์สนับสนุนดีมาก ขอบคุณโครงการฯ ที่ให้ได้นำเสนอแนวคิดและศักยภาพของทีม การได้รับคัดเลือกทำให้มั่นใจมากขึ้นที่จะนำเสนอประเด็นฮิญาบให้แหลมคมมากขึ้น

นางสาวพิมพกา โตวิระ ผู้กำกับภาพยนตร์ ในฐานะผู้จัดโครงการ “Deep South Young Filmmaker” (เยาวชนสร้างหนัง หนังสร้างคน) กล่าวว่า งานหนังสั้นในรุ่นแรกได้รับรางวัลมาหลายเวที ความสำเร็จนั้นแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเยาวชนในพื้นที่ความขัดแย้งที่พยายามเปลี่ยนภาพจำของพื้นที่ ให้คนภายนอกได้สังเกตและมองเห็นว่าพวกเขาไม่ได้จ่อมจมอยู่แต่ปัญหาและความขัดแย้งที่เนิ่นนานมากว่า 16 ปี แต่ผลงานหนังสั้นของพวกเขาเป็นกระบอกเสียงสำคัญที่ช่วยเป็นสะพานสร้างความเข้าใจและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีได้

“คนในเล่าเรื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ เล่าเรื่องที่อยากเล่าให้คนมองอีกแบบ หนังเป็นสื่อที่มีพลังในการถ่ายทอดมากกว่าภาพจำความขัดแย้งและภาพจำไม่ดีให้ลดลง เป็นสะพานให้ถ่ายทอดออกไป เด็กก็ภูมิใจที่ได้มาร่วมงานกัน ทุกทีมที่นำเสนอและผ่านการคัดเลือกได้รับการแนะนำ ข้อเสนอจากวิทยากรมืออาชีพจากส่วนกลาง เพื่อให้ได้ประเด็นและส่วนเติมเต็มที่คมชัดมากขึ้น และจะทำการถ่ายทำกันในเร็วๆ นี้”

รอดูผลงานหนังสั้นจาก 10 ทีมที่ได้รับโอกาสดีๆ ประเด็นแหลมๆ คมๆ รอการชี้แนะจากมืออาชีพ หนังสั้น…เนื้อหาไม่สั้น