หน้าแรก สร้างสรรค์ ตามรอยอาหารพื้นบ้านชายแดนใต้

มิติผู้หญิงกับอาหาร (1)

ข้าพเจ้ามีความสนใจที่จะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารมานานแล้ว แต่ยังไม่มีเวลาและโอกาสที่เหมาะสมในการเขียนอย่างจริงจัง เมื่อพอเวลาบ้างจึงวางแผนไว้ว่าน่าจะถึงเวลาที่จะรวบรวมข้อมูล เรื่องราวด้านอาหารทั้งจากประสบการณ์ส่วนตัว การทำงานโครงการต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องอาหาร โดยเฉพาะจากการที่ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับญาติผู้ใหญ่ในครอบครัว และคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนและอีกหลาย ๆ ชุมชนที่ได้มีโอกาสไปลงพื้นที่และแวะเวียนเป็นการส่วนตัว

นอกเหนือจากนั้น การเป็นคนในพื้นที่ชายแดนใต้ได้เสริมโอกาสอันสำคัญให้ข้าพเจ้ามีโอกาสพบปะกับบรรดาผู้มีฝีมือในการทำอาหารทั้งหญิง ชาย และหลากหลายรายการอาหารให้ได้ยล ชิม ด้วยบุคลิกส่วนตัวที่เป็นคนชอบกิน เดินทาง และหากมีเวลาว่างก็จะทำอาหารด้วยนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งสำคัญในการหนุนเสริมให้มีโอกาสสัมผัสถึงมนต์เสน่ห์ของอาหารในพื้นที่ชายแดนใต้มากขึ้น

แกงปลาโอ
แกงปลาโอ

บทความที่ข้าพเจ้าจะเขียนขึ้นนี้ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารพื้นบ้านชายแดนใต้ โดยเฉพาะในมิติของความเป็นผู้หญิง ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วข้าพเจ้าคิดว่าผู้หญิง เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในทุกกระบวนการเกี่ยวกับการทำอาหาร ตั้งแต่การได้มาของวัตถุดิบ ทั้งในขั้นตอนการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การเตรียมการ การประกอบ การปรุง แม้กระทั่งในเรื่องขาย ทั้งนี้ ข้าพเจ้ามิได้ปฏิเสธบทบาทของผู้ชายในการทำอาหาร เพียงแต่จากปรากฏการณ์ส่วนใหญ่ที่พบในพื้นที่ชายแดนใต้ พบว่า ผู้หญิงค่อนข้างจะมีบทบาทในเรื่องนี้มากกว่า ประกอบกับการที่ข้าพเจ้าเองก็เป็นผู้หญิง มุมมองในเรื่องนี้อาจจะมีความชัดเจนมากกว่า และสามารถเข้าถึงได้มากกว่า

เมื่อข้าพเจ้าย้อนความทรงจำไปยังวัยเด็ก จำได้ว่าตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งกลางคืน ลิ้นและประสาทสัมผัสหลาย ๆ ด้าน เช่น จมูก และตา ได้มีโอกาสสัมผัสกับรสชาติของอาหารพื้นบ้านเกือบตลอดทั้งวัน เริ่มตั้งแต่ยามเช้า เมื่อตื่นขึ้นมาหากที่บ้านไม่หุงข้าวเองก็จะซื้อข้าวจากร้านขายข้าวในหมู่บ้าน หมู่บ้านของข้าพเจ้านั้นตั้งอยู่ในตัวเมือง จังหวัดปัตตานี เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่อยู่สุดเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน รับจ้าง ผู้หญิงส่วนใหญ่จะทำงานในโรงงานปลากระป๋อง บางส่วนจะทำหน้าที่ในการตัดหัวปลา สมัยนั้นผู้หญิงน้อยคนจะมีโอกาสได้ศึกษาต่อจนจบในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

ตอนนั้น ข้าพเจ้าจำได้ว่าเมื่อตื่นเช้าขึ้นมาผู้คนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเกือบครึ่งหนึ่ง ไม่ค่อยมีโอกาสทำกับข้าวเองในช่วงเช้า เนื่องจากภารกิจด้านการงานที่รีบเร่ง ปากท้องส่วนใหญ่จึงต้องฝากไว้ที่ร้านขายข้าวแกง หรือข้าวยำในหมู่บ้าน ซึ่งร้านดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นเพิงเล็ก ๆ ที่สร้างขึ้นมาอย่างง่าย ๆ บางร้านเป็นเพิงหมาแหงนมุงหลังคาสังกะสี บางร้านมุงจาก และมีบางร้านที่ขายข้าวในร้านกาแฟ โดยวางโต๊ะ 1 ตัวที่หน้าร้าน พอสาย ๆ สัก 9 โมงเช้า ข้าวเริ่มหมดก็จะเก็บโต๊ะเข้าร้าน และยกโต๊ะมาอีกครั้งเพื่อขายข้าวในวันรุ่งขึ้นเป็นอย่างนี้สืบต่อมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน

เพิงขายข้าวแกงยามเช้าหน้าหมู่บ้าน ที่ฝากปากท้องของชาวบ้านก่อนไปทำงาน
เพิงขายข้าวแกงยามเช้าหน้าหมู่บ้าน ที่ฝากปากท้องของชาวบ้านก่อนไปทำงาน

เท่าที่ข้าพเจ้าสัมผัสกับผู้ขายอาหาร ข้าว ยามเช้า ทั้งในและนอกหมู่บ้าน ผู้คนเหล่านั้นเกือบทั้งหมดล้วนเป็นหญิง โดยมากแล้วจะอยู่ในช่วงวัยกลางคนขึ้นไป เข้าใจว่าเนื่องจากบทบาทในการทำหน้าที่ผู้หญิงและผู้ชายที่ค่อนข้างชัดเจนใน พื้นที่แห่งนี้ ทำให้การทำอาหารส่วนใหญ่ตกเป็นหน้าที่ของผู้หญิง ซึ่งในอดีตก็เป็นเช่นนี้มาอย่างยาวนาน

ย้อนอดีตไปเสียไกลขอย้อนกลับมาช่วงวัยเด็กอีกครั้ง ครอบครัวของข้าพเจ้าก็เป็นเช่นเดียวกับครอบครัวอื่น ๆ ในหมู่บ้าน ในช่วงเช้าส่วนใหญ่จะฝากปากท้องไว้กับร้านขายข้าวในหมู่บ้าน ซึ่งในตอนนั้นในช่วงเช้าจะมีร้านเปิดอยู่แค่ 2 ร้าน ร้านหนึ่งขายข้าวแกง ส่วนอีกร้านจะขายข้าวยำหน้าร้านกาแฟ และแน่นอนทั้ง 2 ร้านนั้นผู้ขายเป็นผู้หญิงที่มีอายุประมาณ 50 กว่าปี

เพิงขายข้าวยำใกล้เคียงมีไข่ต้มและข้าวเกรียบปลาแขวนไว้ขายเพื่อกินกับข้าวยำ
เพิงขายข้าวยำใกล้เคียงมีไข่ต้มและข้าวเกรียบปลาแขวนไว้ขายเพื่อกินกับข้าวยำ

ร้านทั้ง 2 นี้มีจุดเด่นที่แตกต่างกัน นอกเหนือจากความแตกต่างของเมนูข้าวแกงกับข้าวยำแล้ว แต่ละร้านยังขายข้าวเหนียวเพื่อเป็นอาหารล้างปากหลังจากทานข้าวอีกด้วย และข้าวเหนียวที่ว่านี้ก็มีความแตกต่างเช่นเดียวกัน คือ ร้านข้าวยำข้าวเหนียวจะเป็นข้าวเหนียวหวานหน้ามะพร้าว กินกับปลาต้มที่นำไปชุบแป้งทอด เมนูเด็ดที่ทุกคนสามารถหาซื้อกินได้ในราคาข้าวเหนียวห่อละ 1 บาท ปลาทูชุบแป้งทอดตัวละ 1 บาทเช่นกัน (ต้องบอกไว้ก่อนว่านี่คือราคาที่ซื้อขายกันเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว )หากจะกินครบเซ็ตต้องเป็นเมนู ข้าวยำ (ราคาห่อละ 1-2 บาท) ข้าวเหนียวกับปลาทอด ( 2 อย่างในราคา 2 บาท) แถมท้ายด้วยการล้างคอให้ลื่นด้วย “ แตออ” หรือชาจีนตราสามม้าใส่น้ำร้อนเติมน้ำตาลทรายสัก 2 ช้อนชา แค่นั้นก็ถึงว่าครบสูตรรสเด็ดอาหารเช้ากันแล้ว

ข้าวเหนียวหวานหน้ามะพร้าวกับถั่วกินกับปลาชุบแป้งทอด
ข้าวเหนียวหวานหน้ามะพร้าวกับถั่วกินกับปลาชุบแป้งทอด

ส่วนอีกเมนูหากไม่อยากกินข้าวยำ ยังมีทางเลือกอีกร้านคือข้าวแกง ข้าวแกงส่วนใหญ่ในพื้นที่ชายแดนใต้ จะเน้นแกงกะทิปรุงด้วยเครื่องเทศเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่เน้นผัก แกงที่ขายหลัก ๆ ก็จะมี แกงปลาโอที่ปรุงจากเครื่องแกงกะหรี่ แกงไข่ แกงไก่ แกงมัสมั่นเนื้อ ไก่ทอด และมีผักคือแตงกวา2-3 ชิ้นกับน้ำพริกรสชาติออกเปรี้ยวหวานไว้แกล้ม หากวันใดโอกาสดีหน่อยเด็ก ๆ อย่างเราอาจได้กินไข่ดาวเปรี้ยวหวาน

ข้าวแกงไข่กับแกงปลาโอ เมนูคลาสสิคที่ขาดไม่ได้ของข้าวแกงชายแดนใต้
ข้าวแกงไข่กับแกงปลาโอ เมนูคลาสสิคที่ขาดไม่ได้ของข้าวแกงชายแดนใต้
น้ำพริกสำหรับรับประทานกับข้าวแกง
น้ำพริกสำหรับรับประทานกับข้าวแกง

ทั้งนี้ ในเรื่องผักนั้น ซึ่งข้าพเจ้าวิเคราะห์เอาเองว่า อาจด้วยภูมิประเทศของพื้นที่ที่ตั้งอยู่คือใกล้ทะเล แม่น้ำ กับข้าว จำพวกปลา อาหารทะเล ฯล จึงหาง่ายและราคาไม่สูงมากนัก ในขณะที่วัตถุดิบจำพวกผักต่าง ๆ จะปลูกขึ้นได้ค่อนข้างยากในสภาพดินและภูมิอากาศของชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้ทะเล และเป็นดินทราย น้ำกร่อย ผัก ผลไม้จึงค่อนข้างมีราคาสูงเมื่อเทียบกับอาหารทะเล ชาวบ้านแถบนี้ส่วนใหญ่เลยเลือกที่จะทานกับข้าวมากกว่าพืชผัก

ในตอนหน้าข้าพเจ้าจะมาเล่าต่อถึงเรื่องราวของร้านขายข้าวในหมู่บ้าน และการทำอาหารของแม่บ้านส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน เรื่องราวที่จะทำให้คุณสามารถนึกย้อนความทรงจำอันแสนประทับใจในวัยเยาว์ และสร้างจินตนาการให้นึกถึงหลากหลายเมนูอาหาร บทบาทหน้าที่ของผู้หญิงในอดีตของผู้คนในพื้นที่ชายแดนใต้บ้านเรา และเหตุใดความเป็นกุลสตรีจึงมักถูกเปรียบเทียบกับการทำอาหาร

จะน่าสนใจเพียงใดติดตามอ่านกันได้ในตอนหน้า