โดย อภิรดี จูฑะศร
“ถาม ว่าเราอยากให้เกิดเหตุการณ์นี้ไหม เราก็ไม่อยากให้เกิด แต่สิ่งหนึ่งคือชาวบ้านต้องภาคภูมิใจว่า วันนี้ชาวบ้านได้ทำจนสุดแล้ว จนวันนี้เราไม่ต้องเสียค่าโง่ 340,000 ล้าน วันนี้เราไม่ต้องสูญเสียที่ดินสาธารณะให้กับกลุ่มทุนไปฟรีๆ วันนี้เราไม่เสียทรัพยากรธรรมชาติ วันนี้เรารักษาสิทธิชุมชน เราคืนความเป็นบ้านกรูด เราคืนความเป็นคนมาได้ เพราะฉะนั้นวันนี้ถ้ามันจะต้องแลกบ้าง มันก็จำเป็น”
นี่ คือประโยคสุดท้ายก่อนที่ ‘จินตนา แก้วขาว’ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์บ้านกรูดและบางสะพาน จะเดินเข้าสู่เรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อคำพิพากษาสิ้นสุดลงในวันที่ 11 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา…
มูลเหตุมาจากคดีล้มโต๊ะจีน บ.ยูเนี่ยนเพาเวอร์ฯ เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ้านกรูด ที่ต่อสู้กันมายาวนานถึง 10 ปี ได้เป็นที่สิ้นสุด เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาลงโทษนางจินตนา แก้วขาว ให้จำคุก 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ซึ่งโทษจำคุกดังกล่าวลดลง เนื่องจากจำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน จึงมีเหตุบรรเทาโทษ 1 ใน 3 จากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยให้จำคุกเป็นเวลา 6 เดือน
คำพิพากษาของศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ต่างจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2546 ที่มีคำสั่งยกฟ้อง ซึ่งส่วนหนึ่งของเนื้อหาในคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ได้อ้างอิงถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 44 และ 46 ที่ กล่าวถึงสิทธิในการชุมนุมและสิทธิชุมชน ในขณะที่คำพิพากษาอุทธรณ์และคำพิพากษาฎีกาไม่ได้พูดถึง “สิทธิตามรัฐธรรมนูญ” คําพิพากษาของศาลฎีกา ที่สั่งจำคุก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา แก่ “จินตนา แก้วขาว” แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด และหนึ่งในแกนนำต่อต้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ย่อมเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องให้ความเคารพ
ต้องเคารพและยอมรับให้ได้ แม้ว่าจะรู้สึกตะขิดตะขวงใจ รู้สึกสะเทือนใจ หรือเจ็บช้ำกล้ำกลืนเพียงใดก็ตาม
แต่ เราไม่อาจปฎิเสธว่า การทำหน้าที่อย่างกล้าหาญในฐานะแกนนำของนางจินตนา ที่นำชาวบ้านทั้งบางสะพานและบ้านกรูดลุกขึ้นมาต่อสู้กับกลุ่มทุนที่มากไป ด้วยอำนาจเงิน อำนาจรัฐ และคอนเนคชั่นที่เอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลหลายกลุ่มหลายฝ่าย เพื่อพิทักษ์สิทธิชุมชนของตัวเอง และเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงวิถีชีวิตชุมชนของพวกตนนั้น ย่อมเป็นเรื่องที่น่ายกย่องสรรเสริญยิ่ง!
สำหรับ คนที่ยังไม่รู้จักนักสู้หญิงแกร่งคนนี้ต้องย้อนไปถึงประวัติของนางจินตนา หรือ ‘พี่หน่อย’ ที่คนรู้จักเรียกอย่างคุ้นเคย เธอเกิดเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2505 เป็นชาว อ.หัวหิน จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เป็นครูโรงเรียนเอกชนใน อ.หัวหิน พอมีครอบครัว จึงย้ายมาอยู่ที่บ้านกรูด ต.ธงชัย อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์
เมื่อปี 2539 รัฐบาลมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ 2 โรงใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยโรงแรกจะตั้งที่ ต.บ่อนอก อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ ดำเนินการโดย บริษัท กัลป์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด ส่วนอีกโรงจะไปตั้งที่ ต.บ้านกรูด ดำเนินการโดย บริษัท ยูเนี่ยน เพาเวอร์ ดีเวลล็อปเม้นต์ จำกัด
หลัง ชาวบ้านรู้ข่าวการมาถึงของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ชาวบ้านในพื้นที่หลายคนรู้สึกตระหนก ภาครัฐไม่มีการมาบอกกล่าวอธิบายแก่คนในพื้นที่ เรียกว่านึกจะมาก็มา ชาวบ้านจำนวนมากจึงไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เพราะเกรงว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะก่อมลพิษ ทำลายสิ่งแวดล้อมอันบริสุทธิ์สะอาด และวิถีชีวิตของชุมชนของพวกเขา จึงได้รวมตัวกันคัดค้าน โดยในส่วนของ ต.บ่อน อก จัดตั้งเป็น กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก มี ‘เจริญ วัดอักษร’ เป็นแกนนำ ขณะที่บ้านกรูด ก็ตั้ง กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด ขึ้น ในช่วงแรกนางจินตนาเป็นเพียงทัพหนุนให้สามีไปร่วมคัดค้าน ต่อมานางจินตนาตัดสินใจสลัดภาพแม่ค้าขายของชำ ไปเป็นแกนนำคัดค้านด้วยตัวเองแทนสามี “อิสรา แก้วขาว” ซึ่งเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจที่อาจได้รับผลกระทบ เธอจึงออกหน้าแทน และก็ได้รับความร่วมมือด้วยดีจากชาวบ้าน
การคัดค้านของชาวบ้านบ่อนอก–บ้านกรูดเดินหน้าอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค. 2541 ทั้ง ยื่นหนังสือประท้วงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายหลาย องค์กร จนรัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีการทำสัญญาและการบริหารสัญญาในโครงการ ก่อสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก–หินกรูด ในประเด็นต่างๆ เนื่องจากพบความไม่โปร่งใส
ในที่สุดความพยายามของชาวบ่อนอก–บ้านกรูดก็สัมฤทธิ์ผล เมื่อโครงการโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง ถูกยกเลิกไปในปี 2546 ทว่า กลับเป็นชัยชนะที่มาสู่การสูญเสีย เมื่อ ‘เจริญ วัดอักษร‘ แกนนำกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก ถูกยิงเสียชีวิตขณะลงจากรถทัวร์เดินเข้าบ้าน หลังเดินทางไปยื่นข้อมูลความผิดปกติในการออกเอกสารสิทธิที่ดินสาธารณะ ต่อคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2547 ต่อมาเพื่อนักอนุรักษ์และชาวบ้านที่ร่วมกันต่อสู้ได้สร้างอนุสาวรีย์ให้เจริญใกล้ๆ กับบริเวณที่เขาถูกยิงเสียชีวิต
หลังจากนั้นนั่นเองทำให้นางจินตนาและแกนนำคนอื่นๆ ก็ถูกหมายหัวด้วยเช่นกัน!
แต่ เธอก็ไม่เสียกำลังใจ กลับยังคงเดินหน้าเข้าร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์อื่นๆ ต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรท้องถิ่นต่อไปอย่างเข้มแข็ง ทั้งร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.ทับสะแก ร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง คัดค้านโครงการก่อสร้างโรงถลุงเหล็ก อ.บางสะพาน
หลัง ต้องคำพิพากษาสิ้นอิสรภาพ นางจินตนาบอกกับผู้มาเยี่ยมว่า เธอยังมีความเข้มแข็ง และมีกำลังใจดี แม้จะไม่ได้ถือไมค์ขึ้นเวทีไฮปาร์ก แต่ก็ยังสามารถถือปากกาเขียนเขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆ ขณะอยู่ในเรือนจำได้ และเมื่อพ้นโทษออกมาเธอจะนำบันทึกการต่อสู้เหล่านี้ออกเผยแพร่สู่สาธารณชน
แม่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดีเด่น ประจำปี 2550 ย้ำ อย่างหนักแน่นอีกว่า หลังจากพ้นโทษออกมา ก็จะยังคงเดินหน้าทำหน้าที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมถิ่นเกิด และชุมชนต่อไป ไม่หวาดหวั่นใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเธอเคยเผชิญการถูกยิงถล่มถึงบ้านตัวเองมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน จนถึงวันนี้ต้องมาอยู่ในคุกเธอก็ยังคงมีรอยยิ้ม
วันนี้บทบาทการต่อสู้ของเธอและเจริญ วัดอักษร รวมทั้งชาวบ้านบ่อนอก–บ้านกรูด และชาวบ้านที่ถูกรังแกในทุกตารางนิ้วของประเทศไทย จะต้องเดินหน้าทวงสิทธิชุมชนและสิทธิของตนต่อไปอย่าท้อถอย
เชื่อเถอะว่า ชื่อของทุกคนจะต้องจารึกไว้ในตำนานการต่อสู้ของสามัญชนที่ไม่ยอมจำนนต่อการถูกเอาเปรียบและถูกรังแกจากผู้มีอำนาจอีกต่อไป….
—————–
เกี่ยวกับผู้เขียน : อภิรดี จูฑะศร เป็นอดีตผู้สื่อข่าวภูมิภาค (ภาคใต้) นสพ.ผู้จัดการรายวัน อดีตหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์และครีเอทีฟบริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่ 2 ค่าย ดังของเมืองไทย ก่อนมารับตำแหน่งบรรณาธิการบริหารนิตยสารในเครือจีเอ็ม กรุ๊ป เป็นอดีตเลขาธิการสมาคมนักข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2546-2548 มี บทบาทร่วมเคลื่อนไหวและรณรงค์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ผืนป่าตะวันตก และต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและการทารุณกรรมสัตว์ ตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน เคยเป็นเลขาธิการมูลนิธิ wife life1 และ เป็นกรรมการกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ มีผลงานเขียนทั้งบทความ สารคดี บทกวี เรื่องสั้น และบทสัมภาษณ์คนดังหลายวงการในหน้านสพ.และนิตยสารหลายเล่มตลอด 22 ปีในแวดวงสื่อสารมวลชน ปัจจุบันเป็นครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ บ.มีเดีย โร้ด , บรรณาธิการที่ปรึกษานสพ. Public Post, ผู้บริหารสำนักพิมพ์ฟ๊อกซ์ เฮ้าส์ และอาจารย์พิเศษด้านการสื่อสารมวลชนในหลายมหาวิทยาลัย