ตอนที่ 1 มาซุกยาวี
โดยอุดมคติแล้วความรู้ทางศาสนาสำหรับมุสลิมไม่ได้มีไว้ไปสอบสนามหลวงแต่มีเพื่อนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันเขาเชื่อว่าความรู้ทางศาสนานี้เป็นพื้นฐานให้ไปทำอะไรก็ดีทั้งนั้นนับตั้งแต่ตั้งหลักปักฐานมีครอบครัว ไปจนถึงประกอบอาชีพการงานเลี้ยงชีพหรือช่วยเหลือสังคมและเป็นผู้นำไปในทางดีให้แก่สังคม… สังเกตนะครับว่าดีทั้งนั้นไม่ได้แปลว่าได้ทั้งนั้นฉะนั้น เวลาไปบอกชาวมุสลิมว่า เพราะไม่ยอมเรียนแพทย์, เรียนวิศวะ เลยทำให้ไม่รวย เขาก็คงงง เพราะเป้าหมายการศึกษาของเขาคือความดีไม่ใช่ความรวย นี่แหละครับที่ผมบอกว่าผิดฝาผิดตัวเพราะเป็นระบบการศึกษาที่แตกต่างกันตั้งแต่ระดับรากฐานไปจนถึงเป้าหมายปลายทางเลยทีเดียว
ผมไม่ทราบหรอกครับว่าใครเป็นคนทำให้เข้าใจว่าสถานการณ์ความขัดแย้งในภาคใต้ตอนล่างปัจจุบันนี้เป็นความขัดแย้งทางศาสนา…ระหว่างฝ่ายที่ต่อต้านรัฐไทยหรือฝ่ายรัฐไทยเอง อย่างไรก็ตามผมคิดว่าส่วนใหญ่ของชาวมลายูมุสลิมไม่ได้คิดอย่างนั้นแม้แต่คนที่ไม่ชอบสภาพที่ตนเผชิญอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐไทยก็ไม่ได้รู้สึกเป็นอริกับชาวพุทธที่อยู่ร่วมแผ่นดินกับตนมาเป็นเวลานาน
ไม่แต่เพียงเพราะเขาเคยอยู่กันมานานหลายชั่วโคตรเท่านั้นแต่ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นทั้งสองฝ่ายต่างมีความสัมพันธ์กันทั้งด้านกว้างและด้านลึกด้วยลองไปเปิดสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ของสถาบันทักษิณคดีศึกษาดูเถิดครับ (สมัยอาจารย์สุธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นผู้อำนวยการ) จะเห็นศัพท์, พิธีกรรม, ศิลปะหรือแม้แต่ความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่มีร่วมกันเป็นอันมากมีทั้งจากฝ่ายไทยไหลเข้าไปหามลายู และมีทั้งจากฝ่ายมลายูไหลเข้าหาไทย
ลึกลงไปถึงที่สุดแล้วเขาเป็นญาติกันด้วย มีชาวมลายูมุสลิมจำนวนไม่น้อยที่มีเครือญาติ(โดยเฉพาะทางสายแม่) เป็นชาวไทยพุทธซึ่งในทางกลับกันก็ย่อมมีไทยพุทธที่มีเครือญาติเป็นมลายูมุสลิมแม้แต่ในสามจังหวัดที่เคยเป็นปัตตานีมาก่อน ก็มีหมู่บ้านชาวพุทธอยู่แทรกๆกับหมู่บ้านมุสลิม แม้ว่ามีจำนวนน้อยกว่ากันมากแต่ก็มีอยู่และตั้งสืบเนื่องกันมานานอย่างสงบสุขหมู่บ้านมุสลิมบางแห่งมีชาวพุทธเข้าไปอยู่แทรกในหมู่บ้านเลยทีเดียว
เขาก็อยู่กันมาได้โดยไม่ถือเรื่องความต่างทางศาสนาเป็นเรื่องใหญ่ต่างฝ่ายต่างรู้กันว่าอีกฝ่ายหนึ่งทำอะไรได้หรือทำอะไรไม่ได้งานบุญของทั้งสองฝ่ายมีแขกต่างศาสนาได้รับเชิญมาร่วมงานอยู่เป็นปกติ ฉะนั้นจึงไม่ประหลาดอะไรที่แม้ในท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงในปัจจุบันชาวมลายูมุสลิมส่วนใหญ่จึงไม่ได้นึกไปถึงความขัดแย้งทางศาสนากับเพื่อนบ้านในท้องถิ่น
ผู้นำทางศาสนาอิสลามในพื้นที่ออกมาประณามการทำร้ายพระภิกษุชาวบ้านเล่าให้ผมฟังว่า ในบางตำบลของจังหวัดนราธิวาส(ซึ่งตามข่าวหนังสือพิมพ์ว่าพระหนีออกมาจนวัดร้างไปหลายแห่ง)ชาวมลายูมุสลิมต้องจัดเวรยามไปเฝ้าวัด เพราะกลัวว่าจะมี “คนร้าย”(ซึ่งคือใครก็ไม่ทราบ-บางคนว่าพวกแยกดินแดน แต่บางคนว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเอง)ไปแอบระเบิดหรือเผาวัด อันจะนำความเดือดร้อนอย่างหนักมาแก่ชาวบ้านในตำบลเพราะเมื่อถูกบ้านเมืองเพ่งเล็งว่าอาจมีส่วนรู้เห็นกับ “โจรแยกดินแดน” แล้วก็จะถูกรังควาญอย่างหนักจากหน่วยนั้น หน่วยนี้ หน่วยโน้น และหน่วยนู้น
แถมยังมีพระภิกษุอยู่รูปหนึ่งที่นราธิวาสมีชาวมลายูมุสลิมพากันมา “ขึ้น” อยู่ด้วยมากกว่าชาวพุทธเสียอีก ที่เรียกว่า “ขึ้น”ก็คือมาให้การอุปัฏฐาก เพราะท่านเป็นคนดีมีเมตตาสูง จึงได้รับการเคารพจากชาวบ้านโดยไม่เกี่ยวกับการนุ่งเหลืองห่มเหลืองแต่อย่างไร…ผมคิดว่าก็เหมือนกับที่หลวงพ่อบางรูปได้รับความเคารพจากชาวบ้านพุทธมากในขณะที่บางรูปถูกชาวบ้านพุทธก่นด่ามากโดยไม่เกี่ยวกับผ้าเหลืองเหมือนกัน
ในการประชุมร่วมกับชาวบ้าน, ผู้นำท้องถิ่น และนักวิชาการซึ่ง ม.เที่ยงคืนและคณะทำงานวาระทางสังคม คณะรัฐศาสตร์, จุฬาฯ จัดขึ้นที่หาดใหญ่เมื่อเร็วๆ นี้บุคคลที่ได้รับยกย่อมเป็นปราชญ์ของอิสลามท่านหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า
สมัยที่ท่านเป็นเด็กเมื่อหมู่บ้านของท่านถูกหมูป่ารบกวนมากเข้าก็เป็นประเพณีปฏิบัติที่จะไปเชิญให้ชาวพุทธในหมู่บ้านใกล้เคียงไปล่าหมูป่าไว้บริโภคผมถามท่านว่าเหตุใดชาวมลายูมุสลิมจึงไม่ยิงหมูป่าเอง โดยไม่ต้องนำมาบริโภคก็ได้ท่านตอบว่าก็รู้อยู่ว่าพวกพุทธล่าหมูป่าแล้วสามารถเอาไปกินได้ จะไปล่ามันทิ้งทำไมยิ่งกว่านั้นพวกชาวพุทธที่ไปล่าหมูป่าเหล่านั้นก็เป็นญาติทางสายแม่ของท่านเอง
คนกินหมูกับคนไม่กินหมูจึงอยู่ร่วมกันได้ไม่ใช่แค่ร่วมกันเฉยๆ แต่ร่วมกันอย่างเอื้อเฟื้อต่อกันด้วยซ้ำครั้งใดที่พวกกินหมูล่าหมูยังไม่ได้ก็ยังได้รับอนุญาตให้ค้างอ้างแรมที่บ้านของคนไม่กินหมูด้วยเพื่อจะได้ล่าต่อให้ได้
เรื่องที่ผมเล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดที่เกิดขึ้นได้เฉพาะในสังคมไทยตรงกันข้ามเลยครับ ความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างศาสนาในอดีตในเกือบทุกสังคมมักเป็นไปอย่างราบรื่นทั้งนั้น เมื่อไหร่ที่เกิดความขัดแย้งจนกลายเป็น”สงครามศาสนา” เสียอีก กลับเป็นข้อยกเว้น และไม่มี “สงครามศาสนา”ครั้งใดในประวัติศาสตร์ ที่สามารถอธิบายได้ด้วยศาสนาล้วนๆแต่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์เศรษฐกิจหรือการเมืองของคนบางกลุ่มมาผลักดันอยู่เบื้องหลังหรือเป็นสาเหตุทั้งสิ้น
เบื้องหลังสงครามครูเสดคือการแย่งผลประโยชน์กันอย่างซับซ้อนของสถาบันสันตะปาปา, กษัตริย์, ขุนนาง, การเมืองระหว่างแว่นแคว้นต่างๆ, การเมืองภายในของแว่นแคว้นต่างๆ, ผลประโยชน์ทางการค้าของเมืองท่าในอิตาลีกับเอเชีย ฯลฯทั้งหมดเหล่านี้ถูกชูขึ้นมาเป็นรูปไม้กางเขน
ยิ่งศาสนาอิสลามด้วยแล้วตรงกันข้ามกับมโนภาพที่ฝรั่งยัดเยียดให้โลกในปัจจุบันประวัติศาสตร์อิสลามแสดงให้เห็นขันติธรรมทางศาสนามากกว่าความแข็งกร้าวไม่ลดหย่อนผ่อนปรนให้แก่คนต่างศาสนาอย่าลืมนะครับว่าอิสลามถือกำเนิดในดินแดนเล็กนิดเดียวคือคาบสมุทรอาหรับแต่แผ่ขยายไปทั่วตะวันออกกลางจนถึงอินเดียและอุษาคเนย์ด้านตะวันออกก็ดินแดนแถบนี้เป็นแหล่งกำเนิดของศาสนานานาชนิดก่อนอิสลามทั้งนั้นเขาจะตั้งจักรวรรดิใหญ่โต และตั้งมั่นในศรัทธาของเขามาอย่างยืนนานได้ถึงปัจจุบันก็ต้องตอบสนองต่อความแตกต่างทางศาสนาเหล่านี้ได้อย่างสร้างสรรค์
มีคนต่างศาสนาอยู่ร่วมกับมุสลิมทั่วโลกตลอดมาและก็อยู่อย่างราบรื่นเสียด้วย (ราบรื่นกว่าคนต่างศาสนาในยุโรปจนมาเมื่อไม่นานมานี้เอง) ไม่ว่าในอินเดียหรือในตะวันออกกลาง อำมาตย์ที่เก่งๆมีชื่อเสียงของพระเจ้าฮารูน อัล ราษจิต แห่งนิทราชาคริตนั้นเป็นยิวครับและทั้งยิวและคริสเตียนต่างก็เคยได้รับตำแหน่งสูงๆในจักรวรรดิของกาหลิบมาแล้วทั้งนั้นนิคมพ่อค้ายิวเจริญรุ่งเรืองอยู่เป็นเวลานานภายใต้อำนาจของอิสลาม
อย่างไรก็ตามขันติธรรมทางศาสนาของทุกศาสนาเสื่อมถอยลงอย่างหนักหลังการขยายตัวของลัทธิล่าเมืองขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่19 นี้เอง ส่วนหนึ่งเป็นนโยบายของจักรวรรดินิยมที่จะ “แบ่งแยกแล้วปกครอง”เช่นในกรณีอินเดีย ระหว่างฮินดู, มุสลิม และซิกข์แต่ในบางกรณีอาจเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ
ถึงจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจต้นกำเนิดที่แท้จริงมาจากแนวคิดของฝรั่งในการสร้าง “พรมแดน” ให้แก่ศาสนาที่เรียกว่า “พรมแดน”ไม่ได้หมายถึงนิยามที่ชัดเจนเคร่งครัดเกี่ยวกับหลักศาสนาเท่านั้นนั่นก็ใช่อย่างหนึ่งแต่ที่ออกจะมีอิทธิพลต่อสำนึกของผู้คนมากกว่าคือการสร้างสิ่งที่แวดล้อมศาสนาในช่วงหนึ่งขึ้นมาให้เป็นสัญลักษณ์ที่แน่นอนตายตัวของศาสนาหนึ่งๆ นับตั้งแต่ภาษา (ละติน, บาลี, สันสกฤต, อาหรับ ฯลฯ), เครื่องแต่งกาย, แบบแผนของสถาปัตยกรรม, พิธีกรรม, ธง, การลงทะเบียนที่อำเภอ, รูปเคารพ ฯลฯ
ความจำเป็นที่จะต้องขีดเส้นของศาสนาให้ชัดเกิดกับฝรั่งในช่วงที่มีการแตกนิกายในคริสต์ศาสนาเป็นโปรเตสแตนต์และนิกายเดิมคือโรมันคาทอลิกเพราะทะเลาะกันจนกลายเป็นสงครามยืดเยื้อและแผ่ขยายไปแทบจะทุกส่วนของยุโรปตะวันตก(แต่ก็มีเหตุผลทางการเมืองและเศรษฐกิจอยู่เบื้องหลังดังที่กล่าวแล้วอยู่นั่นเอง)ต้องคาดคั้นเอาให้แน่ว่าเป็นคาทอลิกหรือโปรเตสแตนต์กันแน่
ฉะนั้น “ศาสนา”ของฝรั่งยุโรปตะวันตกหลังจากนั้น จึงกลายเป้นระบบความเชื่อที่มีพรมแดนชัดเจนแล้วเอาระบบความเชื่อนี้ไปสร้างพรมแดนในวิถีชีวิตเข้าไปด้วยศาสนากลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมากของตัวตนแต่ละคนเข้าไปกำหนดความสัมพันธ์ของเขากับคนอื่นใครทะเล่อทะล่าข้ามพรมแดนออกไปก็อาจสูญเสียตัวตนของเขาไปได้
ฝรั่งเข้ามามีอำนาจในเอเชียแล้วก็ยัดเยียดแนวคิดอย่างนี้ให้คนเอเชีย (ทั้งเจตนาและไม่เจตนา)ศาสนาของเอเชียซึ่งไม่เคยมีพรมแดนชัดเจนอย่างนี้ก็เกิดพรมแดนขึ้น ที่ไม่เจตนานั้นยกตัวอย่างกรณีของไทยจะเห็นได้ชัดดีครับ
เวลาฝรั่งบรรยายพุทธศาสนาของไทยว่ามีไสยศาสตร์และการนับถือเทวดาฮินดูเจือปนปัญญาชนไทยก็รีบชี้แจงว่าเลอะเทอะแล้วละพุทธที่แท้ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ต่างหากพุทธศาสนาในเมืองไทยก็เริ่มจะมีพรมแดนขึ้นมาชัดเจนเพราะมีมือมาคอยชี้ว่านี่ใช่พุทธนี่ไม่ใช่ เป็นเพียงมรดกตกทอดมาจากอดีตพราหมณ์ที่อยู่ในราชสำนักไทยมาหลายศตวรรษโดยไม่มีปัญหาชักจะวิตกว่าแล้วกูเป็นอะไรกันนี่หว่าในที่สุดก็ตัดสินใจว่าเป็นพุทธแล้วกันความเป็นพราหมณ์กลายเป็นเหมือนช่างเทคนิค
พรมแดนที่ชัดเจนของศาสนาจึงเป็นหนึ่งในมรดกของลัทธิ”บุรพทิศนิยม” ของฝรั่งคือสร้างมุมมองตะวันออกจากฉายาและผลประโยชน์ของตะวันตก
แต่สำนึกอย่างแรงกล้าว่าตัวถือศาสนาอะไรกันแน่เพราะเกิดพรมแดนที่ชัดเจนของศาสนานี่แหละครับที่ทำให้เกิดการฆ่าฟันกันนองเลือดตามดินแดนต่างๆหลายแห่ง นับตั้งแต่ตะวันออกกลางมาจนถึงอินเดีย และอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ที่เคยอยู่ร่วมกันมาอย่างสงบก็อยู่ไม่ได้จนต้องแยกประเทศกันอย่างอินเดียและปากีสถานเหยียบเท้ากันที ก็ต้องยกขบวนไปเผาบ้านเรือนกันและกัน เป็นต้น
เฉพาะในเมืองไทยผมรู้สึกเสมอว่าความใจแคบทางศาสนานั้นพบได้กับคนที่ “มีการศึกษา” มากกว่าคนที่”ไม่มีการศึกษา” ทั้งนี้เพราะ “การศึกษา” ของเราคือการเรียนความรู้ฝรั่ง ฉะนั้นคนที่ได้รับการศึกษามากจึงได้รับอคติของ “บุรพทิศนิยม” แบบฝรั่งมาก เช่นกลุ่มคนที่มักจะวิเคราะห์สถานการณ์ในภาคใต้ปัจจุบันในเชิงความแตกต่างทางศาสนา-จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม-มากและบ่อยที่สุดคือนักวิชาการ
ในขณะที่ผมไม่ได้ระแคะระคายกับความแตกต่างทางศาสนาจากชาวบ้านมลายูมุสลิมเอาเลยในสมัยก่อนเมื่อชาวพุทธไปได้เมียมุสลิมจึงต้องเปลี่ยนศาสนา สำนวนภาษามลายูพูดว่า”มาซุก ยาวี” หรือที่ไทยเรียกว่า “เข้าแขก” คือเข้าไปสู่วิถีวัฒนธรรมมลายูไม่ใช่เปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลาม
ที่มา http://v1.midnightuniv.org/midnight2545/document9782.html