หน้าแรก บทความ

ระเบิดชายแดนใต้ สะท้อน “สัญญาใจ” ประยุทธ์-วลิต บทเรียนกองทัพล้มเหลว แม่ทัพไร้ฝีมือ!

โดย ประกายฟ้า

ที่มา เว็บไซต์ประชาไท (http://prachatai.com)


 

 

หลังจากชวดและอกหักกับตำแหน่ง “แม่ทัพภาคที่ 1” มาหลายครั้ง ที่สุด “พล.ท.วลิต โรจนภักดี” ก็ได้เป็น “แม่ทัพภาค” สมใจ ถึงแม้จะต้องจรลีหนีกระแสต้านลงไปโตในชายแดนใต้เป็น “แม่ทัพภาคที่ 4” ก็ตาม

“พล.ท.วลิต โรจนภักดี” นายทหารสายบูรพาพยัคฆ์ อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.ร.2 รอ.) ชื่อนี้เป็นที่รู้จักในสังคมไทยจากผลงานชิ้น “โบว์ดำ” ในการคุมกำลังสลาย “คนเสื้อแดง” จนบาดเจ็บล้มตาย

โดยเฉพาะบทบาทสำคัญในปฏิบัติการขอคืน พื้นที่การชุมนุมจากกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 บริเวณ “สี่แยกคอกวัว” จนตัวเองได้รับบาดเจ็บสาหัส

หลังเหตุการณ์ดังกล่าวได้ขยับเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 เพื่อจ่อขึ้นแม่ทัพภาคที่ 1 รับการ “สมนาคุณ”

แต่เพราะชื่อ “วลิต โรจนภักดี” เป็นของ “แสลง” และบาดแผลในความทรงจำของคนเสื้อแดง จึงกลายเป็นแรงกดดันขัดขวางไม่ให้ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ถึง 2 ครั้งในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

ขณะที่กระแสข่าวอีกด้านหนึ่งก็ว่า เป็นเพราะเกมการเมืองใน ทบ.เองด้วยที่ทำให้ พล.ท.วลิต ต้องชวดตำแหน่ง

ที่สุด พล.ท.วลิต ต้องถูกโยกไปเป็นผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก และแม่ทัพน้อยที่ 1 ตามลำดับ

จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “สัญญาใจ” ระหว่าง “พล.ท.วลิต” กับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผบ.ทบ. ที่จะ หาตำแหน่งแม่ทัพภาคให้หลังจากที่พลาดหวังตำแหน่งมาถึง 2 ครั้ง เมื่อถึงเวลาเหมาะสม พล.อ.ประยุทธ์ จึงพยายามผลักดัน พล.ท.วลิต ลงไปเป็นแม่ทัพภาคที่ 4

ถึงแม้จะมีเสียงวิจารณ์หรือกังขาใน คุณสมบัติของ “พล.ท.วลิต” ที่จะดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 เพียงใด แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ตกลงปลงใจจะหนุน ก็ออกโรงปกป้อง กระทั่งฟาดงวงฟาดงาส่งเสียงกร้าวว่า “การแต่งตั้งแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นเรื่องภายในของกองทัพ และ ตนมีสิทธิแต่งตั้งจะให้ใครมาดำรงตำแหน่งอะไร ไม่ใช่เรื่องคนนอกกองทัพจะมาวิจารณ์”

ที่สุดในการปรับย้ายนายทหารกลางปี 2557 พล.ท.วลิต ก็ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 และเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา

การข้ามห้วยลงไปเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ของ พล.ท.วลิต เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงวิจารณ์และความสงสัยของหลายฝ่าย ไม่ว่าจากคนภายในกองทัพภาคที่ 4 เอง หรือคนที่ติดตามสถานการณ์ชายแดนภาคใต้อย่างใกล้ชิด

โดยเฉพาะข้อกังขาในคุณสมบัติด้าน “ความรู้ความสามารถ” และ “ประสบการณ์” ต่อปัญหาชายแดนภาคใต้!!

ด้วยปฏิเสธไม่ได้ว่า ตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ถือเป็น “ตำแหน่งหลัก” และ “สำคัญที่สุด” ในการดับไฟใต้

เพราะบุคคลที่มาเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 จะต้องทำหน้าที่ “ผอ.รมน.ภาค 4” และ “ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า”
ซึ่งถือ “อำนาจ” เหนือหน่วยงานรัฐทั้งหลายในพื้นที่

แล้วยิ่งในสถานการณ์ที่การเมืองส่วนกลาง อยู่ในห้วงร้อนแรง อำนาจของ “รัฐบาล” อยู่ในภาวะกระปลกกระเปลี้ย ไร้ตัวจริงรับผิดชอบงานความมั่นคง บทบาทของแม่ทัพภาคที่ 4 จึงยิ่งมีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้

แต่ในความเป็นจริงปรากฏว่า พล.ท.วลิต นั้นไม่เคยรับราชการทหารในพื้นที่ภาคใต้มาก่อน มีประสบการณ์สั้นๆ เพียงเคยลงไปทำหน้าที่เป็น “ผบ.ฉก.นราธิวาส” เมื่อครั้งเป็น รองแม่ทัพภาคที่ 1 แค่ “ปีเดียว” เท่านั้น!!

ประสบการณ์และความรู้ความสามารถจึง “ละอ่อน” เมื่อเทียบกับมิติปัญหาชายแดนภาคใต้ที่ “ซับซ้อน”

มิหนำซ้ำ ช่วงเวลา 1 ปีในตำแหน่ง “ผบ.ฉก.นราธิวาส” นั้นบทบาทของ พล.ท.วลิต ก็ได้รับการพูดถึงว่าเป็นไปในแนวทาง “ตาต่อตาฟันต่อฟัน” ที่ทหาร “สายพิราบ” แอบมองด้วยความกังวลว่า เป็นการเพิ่มเงื่อนไขความขัดแย้งให้สถานการณ์ชายแดนใต้ย่ำแย่ลงไปกว่าเดิม แต่เพราะ “พล.ท.วลิต” ถือเป็น “เด็กนายสายตรง” เสียงสะท้อนจึงเพียงซุบซิบเบาๆ ในวงเล็กๆ

นอกจากนั้น การส่งนายทหารจากกองทัพภาคอื่นลงไปกุมบังเหียนแทนที่จะให้ “นายทหาร” ที่ทำงานและเติบโตจากกองทัพภาคที่ 4 ได้ขึ้นเป็น “แม่ทัพภาคที่ 4” นั้น ก็เท่ากับเป็นการทำลายขวัญกำลังใจของนายทหารที่ปฏิบัติราชการในสังกัดกองทัพ ภาคที่ 4 ที่ทำงานเสี่ยงชีวิตเสี่ยงตาย แต่กลับไม่เจริญก้าวหน้าในหน้าที่ตำแหน่ง

อีกเสมือนว่าในพื้นที่นั้นไม่มีคนทำงานที่ มีความรู้ความสามารถแล้ว ทั้งที่ความจริงในกองทัพภาคที่ 4 ยังมีนายทหารที่เหมาะสมอีกหลายคนซึ่งเข้าใจบริบทปัญหาชายแดนภาคใต้ เช่น “พล.ท.กิตติ อินทสร” ผช.เสธ.ทบ.ฝ่ายข่าว ที่เคยอยู่พื้นที่ภาคใต้ในตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 4 ก่อนถูกเด้งมาอยู่ส่วนกลาง หรือ “พล.ต.ปราการ ชลยุทธ” รองแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งข้ามห้วยมาจากกองทัพภาคที่ 3 ที่ว่ากันว่า “พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยอมรับในฝีมือเมื่อครั้งเป็น ผบ.ฉก.ยะลา รวมทั้ง “พล.ต.ชรินทร์ อมรแก้ว” ที่รับราชการในพื้นที่กองทัพภาคที่ 4 มาทั้งชีวิต ก่อนถูกเตะโด่งจากรองแม่ทัพภาคที่ 4 ไปเป็น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษทบ. เหล่านี้เป็นต้น

และที่สำคัญ คือ “ปฏิกิริยา” ของคนในพื้นที่ทั้งจากชาวบ้านและคนทำงานขับเคลื่อนสันติภาพ ที่มองว่ารัฐไทยไม่มี “ความจริงใจ” ในการแก้ปัญหาไฟใต้อย่างแท้จริง เพราะการโยกย้ายในระดับหัวขบวนกองทัพภาคที่ 4 กลับทำไปเพียงเพราะต้องการ “การตอบแทน” ให้คนของตนได้รับตำแหน่งที่สูงขึ้น มากกว่าที่จะพิจารณาเฟ้นหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและมีฝีมือมารับผิดชอบ ปัญหา

โดยประเด็นนี้ถือเป็นเรื่อง “ละเอียดอ่อน” สำหรับคนในพื้นที่ เพราะความขมขื่นจากการถูกกระทำจากรัฐไทยในอดีต ที่เคยโยกย้ายข้าราชการที่กระทำผิด ข้าราชการที่ถูกลงโทษ ลงมาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งข้าราชการเหล่านี้ได้กดขี่ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบ ดูถูกดูแคลนคนท้องถิ่นในเวลาต่อมา กระทั่งกล่าวได้ว่า คือผู้ที่สร้างเงื่อนปมทางความรู้สึกที่ยังมิอาจเยียวยาได้

และถึงแม้คุณสมบัติของ พล.ท.วลิต จะแตกต่างกับข้าราชการในอดีตก็ตาม แต่ก็สะท้อนมุมมองของรัฐไทยว่ายังอยู่ในมิติเดิมๆ ที่จะส่ง “ใครก็ได้” ลงมาปฏิบัติงานที่ชายแดนภาคใต้ โดยไม่พิจารณาถึงความเหมาะสม ขาดการตรวจสอบศักยภาพ และความสามารถ

แล้วยิ่งมีข่าวออกมาตามสื่อหลายสำนักว่า “พล.ท.วลิต” จะมาเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ชั่วคราวเพียงแค่ 6 เดือน ก่อนจะสไลด์เข้าสู่ตำแหน่ง “5 เสือ ทบ.” ในการโยกย้ายเที่ยวหน้า โดยการผลักดันของ ผบ.ทบ. ก็ยิ่งทำลายความน่าเชื่อถือของกองทัพและตัว “พล.ท.วลิต” เองว่า กำลังใช้กลิ่นคาวเลือดและหายนะของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นบันได ไต่ขึ้นสู่วงโคจรแห่งอำนาจ

เสียงวิพากย์วิจารณ์เกี่ยวกับการขึ้นเป็น แม่ทัพภาคที่ 4 ของ “พล.ท.วลิต โรจนภักดี” ที่มีมาตั้งแต่ก่อนถูกเสนอชื่อ และยังคงมีต่อเนื่อง เพราะในห้วงเดือนกว่าๆ มานี้ ภายหลังการรับตำแหน่งของ พล.ท.วลิต สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับปะทุหนักหน่วงรุนแรง

โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ระเบิดกลางเมืองรุนแรง 3 ระลอกที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน !!

ครั้งแรก คือ 6 เมษายน 2557 เกิดเหตุระเบิด 4 จุดบริเวณใจกลางเมืองยะลา

จากนั้น ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 ก็มีเหตุระเบิดในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จำนวน 2 จุด

และล่าสุด ตั้งแต่ช่วงค่ำของวันอาทิตย์ที่ 11 พ.ค.ถึงเช้ามืดวันจันทร์ที่ 12 พ.ค.2557 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นหลายสิบ จุดในพื้นที่ 9 อำเภอของ จ.นราธิวาส และจังหวัดยะลา

โดยเฉพาะที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญของชายแดนภาคใต้ ต้องลุ้นระทึกกันตลอดคืน เพราะเจอระเบิดเข้าไปกว่า 8 จุด

นี่ยังไม่นับระเบิดที่เก็บกู้ได้อีกบางจุด มิฉะนั้นคงวินาศสันตะโรกันยิ่งกว่านี้!!

และนอกจาก 3 เหตุการณ์ใหญ่ๆ นี้แล้ว ยังมีการก่อเหตุอีกแทบทุกวันที่ไม่เป็นข่าว แต่ล้วนสร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้

หลายฝ่ายจึงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับมาตรการระวังป้องกันการก่อเหตุของเจ้าหน้าที่ ?

และเมื่อประจวบเหมาะว่าเหุตร้ายแรงที่เกิด ขึ้นอยู่ในห้วงเวลาของแม่ทัพ ภาคที่ 4 คนใหม่ ความรับผิดชอบจึงจึงประดังเข้าหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะเพิ่งรับตำแหน่งก็ตาม!!

ทว่าบทบาทของ “พล.ท.วลิต โรจนภักดี” แม่ทัพภาคที่ 4 กลับอยู่ในภาวะเงียบงันตลอด 1 เดือนกว่าที่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงติดๆ กัน โดยปราศจากนโยบายแนวทางแก้ไขปัญหาหรือมาตรการป้องกันที่ชัดเจนเปิดเผยออกสู่ สาธารณชนเลย

ทั้งยังจับอาการได้ว่า “พล.ท.วลิต” ไม่มีความมั่นใจ จน “ไม่กล้า” แม้แต่จะออกมาเผชิญหน้าให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนด้วยตนเองหลังเกิดเหตุรุนแรง ติดๆ กัน ต้องใช้โฆษก กอ.รมน. ภาค 4 สน. “พ.อ. ปราโมทย์ พรหมอินทร์” ออกหน้าแทนทุกครั้ง ผิดวิสัยและธรรมเนียมปฏิบัติเมื่อเทียบกับแม่ทัพภาคที่ 4 คนก่อนๆ จึงยิ่งตอกย้ำถึงความ “ไร้ฝีมือ” และไร้บารมีของคนเป็น “แม่ทัพภาคที่ 4” “ผอ.รมน.ภาค 4” และ “ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า”

นอกจากนั้น บางคนยังตั้งข้อสังเกตถึงความพยายามของ กอ.รมน. ภาค 4 สน. ในการใช้ความสนิทสนมส่วนตัวกับ สื่อบางสำนักที่มี “ศูนย์ข่าวภาคใต้” และมีบทบาทในการรายงานข่าวชายแดนภาคใต้ ในการรายงานและเขียนสกู๊ปข่าวเกี่ยวกับเหตุระเบิดที่เกิดขึ้น เพื่อบิดประเด็นและช่วยกลบเกลื่อนไปในทิศทางอื่น โดยมีการรายงานหรือวิเคราะห์ถึงประเด็นอื่นอย่างรอบด้าน ไม่ว่า การก่อเหตุเพื่อตอบโต้ นายถวิล เปลี่ยนศรี หรือ ก่อเหตุของกลุ่มค้าน้ำมันเถื่อนและสินค้าหนีภาษี, การเมืองที่กรุงเทพฯ หรือปมงบประมาณ เป็นต้น แต่ละเว้นที่จะกล่าวถึงและวิจารณ์บทบาทของแม่ทัพภาคที่ 4 ทั้งที่เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง!!

โดยข้อสังเกตนี้จริงเท็จอย่างไรยังไม่มีข้อพิสูจน์ คงต้องตามติดกันต่อไป

แต่ที่แน่ๆ ตลอด 1 เดือนครึ่ง ของ “พล.ท.วลิต โรจนภักดี” ในตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 กับเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นกลางเมือง 3 ระลอกติดๆ กันนั้น บ่งชี้ว่ากองทัพกำลังประสบความล้มเหลวในการแก้ไขสถานการณ์ความรุนแรงใน ชายแดนภาคใต้อย่างเห็นชัด อันมีนัยสะท้อนมาจากกระบวนการคัดเลือกบุคคลผ่าน “สัญญาใจ” ของชายชื่อ “ประยุทธ์” ส่วนจะพลิกสถานการณ์กลับมาลบคำปรามาสได้หรือไม่นั้น อีกไม่ช้าเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์

กระนั้น สำหรับ “พล.ท.วลิต” ที่มีผลงานในการปราบคนเสื้อแดง จนได้รับการปูนบำเหน็จให้ก้าวขึ้นสู่ แม่ทัพภาคที่ 4 นั้น มีข้อควรตระหนักประการหนึ่งว่า การแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ย่อมไม่ง่ายเหมือนปราบคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 อย่างแน่นอน เพราะครั้งนั้นคนเสื้อแดงเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาที่ในมือไร้อาวุธ เปรียบไปก็เหมือนการ “ยิงนกในกรง” แต่สถานการณ์ชายแดนภาคใต้นั้นย่อมแตกต่างจากเดิมชนิดหน้ามือเป็นหลังมือเลย ทีเดียว!!