หน้าแรก บทความ

สังคมไทยเป็นสังคมฟาสซิสต์หรือไม่?

“ในความคิดแบบฟาสซิสต์ การเป็นคนเยอรมัน คนอิตาลี หรือคนฝรั่งเศส มีความหมายมากกว่าแค่การอาศัยอยู่ในพื้นที่ภูมิศาสตร์เดียวกัน แต่มันยังหมายถึงอะไรบางอย่าง ที่คนภายนอกไม่มีวันจะเข้าใจ เช่น อัตลักษณ์พื้นฐาน, อารมณ์ ความรู้สึก, บรรดาสิ่งที่อยู่เหนือเหตุผล นิยามตัวตนของคนชาติในลักษณะข้างต้น คือ นิยามในแบบฟาสซิสต์”

ช่วงระหว่างการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงการเกิดสงครามโลกที่ 2 (interwar period) ยุโรปได้เผชิญกับประสบการณ์ทางสังคมการเมืองสำคัญประการหนึ่ง นั่นคือ การเปลี่ยนผ่านของหลายสังคมไปเป็นสังคมฟาสซิสต์และสังคมอำนาจนิยม กับในอีกหลายสังคมที่แม้จะไม่เปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นฟาสซิสต์หรืออำนาจนิยม ทั้งองคาพยพ แต่แนวคิดดังกล่าวก็แพร่กระจายแทรกซึมเข้าไปมีอิทธิพลต่อสังคมพวกเขาไม่น้อย

งานชิ้นสำคัญของ Michael Mann พยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์ข้างต้น โดยการศึกษาในเชิงสังคมวิทยาว่า บรรดาคนที่เราจัดว่าเป็นพวกฟาสซิสต์นั้นคือคนลักษณะอย่างไร พวกเขามาจากไหน แรงจูงใจของพวกเขาคืออะไร และกลุ่ม/ขบวนการของพวกเขาผงาดขึ้นมามีอำนาจได้อย่างไร งานศึกษาชิ้นนี้ไล่ดูไปตั้งแต่สังคมฟาสซิสต์ที่หลายคนจัดให้เป็นต้นตอกำเนิด อย่างอิตาลีในยุคสมัยของมุสโสลินี, นาซีในเยอรมนี, ฟาสซิสต์ในออสเตรียและนาซีในออสเตรีย, พวกอำนาจนิยมในฮังการี, พวกอำนาจนิยมในโรมาเนีย, และพวกอำนาจนิยมในสเปน

ในทรรศนะของผม การศึกษาประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของสังคมอื่นเหล่านี้ จะช่วยเป็นเหมือนกระจกส่องให้สังคมไทยเราเห็นตัวเองมากขึ้นโดยการเปรียบ เทียบ เทียบเคียงกับที่อื่นๆ โดยยังคงเข้าใจว่าสังคมแต่ละแห่งมีบริบทเฉพาะแตกต่างกัน ดังนั้น จึงไม่ใช่การศึกษาเพื่อหาโมเดลต้นแบบที่ดี หรือโมเดลต้นแบบที่เลวแต่อย่างใด … เป็นแต่การศึกษาเล่นๆ ดูว่า ถ้าไอ้สังคมพวกนี้เรียกว่า “ฟาสซิสต์” แล้ว สังคมไทยที่เราอยู่กันนั้นเรียกว่าอะไร?

Michael Mann นิยามสังคมฟาสซิสต์ว่าหมายถึงสังคมที่มีองค์ประกอบสำคัญ 5 ประการ ดังนี้

1. ชาตินิยม (Nationalism)

พวกฟาสซิสต์มีจิตใจนิยมชมชอบอย่างมากให้ชาติมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว และมีสำนึกอย่างแรงกล้าต่อการกำหนดให้อะไรบางอย่างเป็น “ศัตรู” ของชาติ ไม่ว่าจะเป็นศัตรูภายนอกหรือภายใน ซึ่งมักเป็นตัวอะไรสักอย่างที่จะมาทำลายความเป็นเอกภาพของชาติ และแน่นอนว่า ชาตินิยมแบบฟาสซิสต์นี้จะมีความอดทนอดกลั้นเพียงเล็กน้อยต่อความแตกต่างหลาก หลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม

แนวคิดชาตินิยมแบบฟาสซิสต์ในบางกลุ่ม อาทิ ไอริช ลิธัวเนียน ซิมบับเวียน ฯลฯ ยังมีลักษณะพิเศษอีกประการ นั่นคือ การกล่าวอ้างความเป็นชาติเป็นกลุ่มก้อนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาแต่ยุค โบราณ ดังนั้น พวกเหล่านี้ก็มักติดยึดกับมายาคติที่ว่า ชาติของเรามีประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่องสืบต่อกันมาไม่ขาดสาย โดยเน้นย้ำความรุ่งเรืองยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ เช่น the High King ของไอริช, the Grand Duchy ของลิธัวเนียน หรือ, the Greater Zimbabwe ของซิมบับเวียน แต่พวกนี้ก็ยังไม่ขาดสติจนถึงขั้นบอกว่า โครงสร้างหรือระบบที่เคยใช้ในอดีตอันเนิ่นนานมานั้น จะยังคงใช้ได้ดีอยู่ในปัจจุบันอันเป็นยุคสมัยใหม่ไฮเทค ดังนั้น เราจึงจะไม่เคยได้ยิน “ประชาธิปไตยแบบไฮคิงอุปถัมภ์เหมือนพ่อปกครองลูก” หรือ “ประชาธิปไตยแบบซิมบับเวซิมบับเว” ชาตินิยมฟาสซิสต์ที่คิดอย่างจริงจังว่าอดีตดีกว่าปัจจุบันแน่ๆ และมุ่งมั่นรื้อฟื้นขึ้นมาแทนที่วิวัฒนาการทางความคิดที่พัฒนาต่อยอดมาตลอด ร้อยปีแปดสิบปี จัดว่าเป็นฟาสซิสต์แบบเลอะเทอะ

2. รัฐนิยม (Statism)

ฟาสซิสต์จะเป็นพวกบูชาอำนาจรัฐที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยเชื่อมั่นว่า รัฐที่มีอำนาจเข้มแข็งจะสามารถพาชาติฝ่าวิกฤติต่างๆ และพาชาติพัฒนาไปในทุกๆ มิติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากพวกนี้จะมองชาติเป็นเหมือนชีวิต เหมือนร่างกายมนุษย์ (organic) ที่แต่ละส่วนในชาติมีหน้าที่ต่างกันตามความรับผิดชอบ โดยมีรัฐเป็นเสมือนส่วนสมองของชาติ ดังนั้นจึงต้องมีอำนาจเด็ดขาดในการรักษาไว้ซึ่งความเป็นปึกแผ่นเป็นอันหนึ่ง อันเดียวของชาติ สั่งการส่วนต่างๆ ของร่างกายได้โดยสมบูรณ์

อย่างไรก็ดี นักวิชาการหลายท่านก็ตั้งข้อสังเกตว่า ในสังคมฟาสซิสต์ที่นิยมให้รัฐมีอำนาจเข้มแข็งเด็ดขาดนั้น โดยมากโครงสร้างสังคมการเมืองภายในมักจะอ่อนแอหรือถึงขั้นเละเทะ ไม่ว่าจะเป็นในระบอบมุสโสลินีของอิตาลี หรือระบอบนาซีของเยอรมนี ก็ล้วนมีเนื้อในของสังคมที่แตกออกเป็นกลุ่ม/ขั้วต่างๆ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะแทบทุกระบอบที่มีความโน้มเอียงปรารถนาจะรวบอำนาจ เบ็ดเสร็จแล้วสร้างสังคมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้รัฐที่เข้มแข็ง นั้น มักจะต้องเผชิญการขัดขวางจากพรรคการเมืองหรือการเคลื่อนไหวของกลุ่มกำลังรบ กึ่งทหาร (paramilitary) รวมไปถึงมักจะต้องเผชิญกับปัญหาการต่อสู้ต่อรองกันระหว่างชนชั้นนำกลุ่ม ต่างๆ ที่เป็นปฏิปักษ์กัน

3. ความปรารถนาที่จะก้าวไปสู่สังคมที่ดีกว่าในแบบวิธีที่ตนเชื่อ (Transcendence)

ฟาสซิสต์ไม่เชื่อในแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่ว่าระเบียบสังคมที่เป็นอยู่เดิม นั้นดีแล้ว ดังนั้นพวกเขาจึงต้องการการเปลี่ยนแปลง (อาทิ การปฏิรูปอะไรสักอย่างสองอย่าง) ฟาสซิสต์ไม่เชื่อในแนวคิดเสรีนิยม/ประชาธิปไตยที่ว่าความขัดแย้งระหว่าง กลุ่มผลประโยชน์เป็นเรื่องปกติของการอยู่รวมกันเป็นสังคม (พวกเขาอาจจะโทษนายทุนสักคน หรือกล่าวหาพวกสร้างความขัดแย้งว่าถูกหลอก ถูกจ้างมา ถูกซื้อตัว) ฟาสซิสต์ไม่เชื่อในแนวคิดฝ่ายซ้ายที่ว่า harmony จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อโค่นล้มระบบทุนนิยมได้เท่านั้น (เพราะแน่นอนว่าแม้พวกเขาจะด่าทอทุนนิยมว่าสามานย์แต่ก็ยังต้องการแดกส ตาร์บั๊ค เดินห้างสรรพสินค้า และไปชอปปิ้งฮ่องกงอยู่)

พวกฟาสซิสต์โจมตีทั้งนายทุนกับแรงงาน และทั้งสถาบันเสรีประชาธิปไตยว่าเป็นตัวการทำให้ความขัดแย้งรุนแรงและขยาย ตัว พวกเขามีความเชื่อว่าการก้าวข้ามความขัดแย้งของสังคมไปได้จะต้องเริ่มจากการ ปราบปรามตัวการหรือแกนนำที่ปลุกระดมให้เกิดความขัดแย้งและยุบรวมชนชั้น – กลุ่มผลประโยชน์ทั้งมวลเข้าไว้ด้วยกันภายในสถาบันบรรษัทที่ดำเนินการโดยรัฐ

นอกจากนี้ พวกฟาสซิสต์จะมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้สังคมดีขึ้นกว่าเก่า ปัญหาของพวกเขาส่วนมาก หลักๆ แล้วคือ การไม่พัฒนาข้อวิพากษ์ทุนนิยมในภาพกว้างอย่างเป็นวิชาการ ทั้งนี้ก็เพราะฟาสซิสต์ไม่ได้ให้ความสำคัญสนใจนักกับระบบทุนนิยมและปัญหาทาง ชนชั้น จุดสนใจที่เป็นหัวใจของพวกเขาอยู่ที่ชาติกับรัฐ ดังนั้น ข้อนี้ทำให้พวกเขามักเจอปัญหาอย่างน้อย 2 อย่าง คือ

• แทนที่พวกเขาจะสามารถผนวกรวม (include) แรงงาน กรรมาชีพ คนรากหญ้า คนยากจน ผู้ถูกกดขี่ ฯลฯ เข้ามาร่วมส่วนในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นปึกแผ่นของชาติอย่างที่ อุดมการณ์เขาหวัง พวกเขากลับมักจะมีปัญหาขัดแย้งกระทบกระทั่งกับบรรดาคนเหล่านี้มากกว่า ด้วยข้อหาที่กล่าวว่าคนเหล่านี้สร้างความวุ่นวาย แตกแยก ขัดแย้ง และทำให้ชาติแตกความสามัคคี แน่นอนว่า เมื่อฟาสซิสต์กล่าวหาเช่นนี้กับใคร ผู้ถูกกล่าวหาย่อมไม่ได้เป็นแค่คู่ขัดแย้งของฟาสซิสต์เท่านั้น แต่เป็น “ศัตรู” ที่ต้องถูกกำจัด หรือถูกฟาสซิสต์เรียกร้องให้รัฐกำจัด

• เราอาจสังเกตเห็นว่า ฟาสซิสต์หลายที่ก็ชอบโจมตีทุนนิยมเช่นกัน แต่การโจมตีดังกล่าวไม่ได้มุ่งที่ตัวระบบ โครงสร้าง หรือพัฒนาข้อวิพากษ์ออกมาในภาพรวม หากแต่เป็นเหมือนการ “บ่นอุบอิบ” โจมตีเฉพาะจุดเฉพาะเรื่องเป็นพักๆ มาๆ หายๆ เท่านั้น เช่น การโจมตีรูปแบบการแสวงหากำไรของนายทุน เป็นต้น นอกจากนี้ พวกเขามักไม่ได้มุ่งที่จะแก้ไขที่โครงสร้าง หรือหาสาเหตุของปัญหาที่โครงสร้างระบบของทุนนิยม แต่มักโยนบาปไปให้กับรูปธรรมอะไรบางอย่างที่จับต้องได้ เช่น นักการเงินขี้ฉ้อ, นายทุนยิว, หรือทักษิณ ชินวัตร เป็นต้น ที่เป็นเช่นนี้ เพราะมันง่ายกว่าที่จะเล็งเป้าไปที่อะไรที่มีตัวตนเป็นๆ ให้เห็น และมันยากกว่าสำหรับการต้องอ่านหนังสือเยอะๆ ตามข่าวมากๆ ใช้เหตุผลเยอะๆ คิดในเชิงนามธรรม และคิดในเชิงระบบ อันเป็นทักษะเฉพาะของผู้มีปัญญา

4. การชำระล้างให้สะอาด (Cleansing)

เนื่องจากเวลาฟาสซิสต์มีความขัดแย้งกับใคร พวกเขาจะไม่มองคู่ขัดแย้งเป็นแค่คู่แข่งหรือฝ่ายตรงข้าม แต่พวกเขาจะมองเป็น “ศัตรู” และเมื่อเป็นศัตรู ดังนั้น จึงต้องถูกกำจัดออกเพื่อทำให้ประเทศชาติสะอาดบริสุทธิ์ไม่เปรอะเปื้อนไปด้วย คราบสกปรกของบรรดาศัตรู การชำระล้างนี้มักปรากฏในเชิงการปราบปรามทั้งโดยรัฐ และประชาชนที่เป็น “ชาวฟาสซิสต์” ที่หลายครั้งบานปลายไปสู่การไล่ฆ่า แต่เมื่อใดก็ตามที่ “ศัตรู” แสดงออกว่ายอมแพ้ พวกเขาก็พร้อมที่จะอ้าแขนรับกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชาติต่อไป เช่นกรณีปราบปรามคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยปี 2518 – 2519 ในช่วงนั้น การปราบปราม ไล่ฆ่า แจ้งเบาะแส ลอบสังหาร รุมกระทืบ ลอบทำร้าย คว่ำบาตรทางสังคม ฯลฯ มีมากมายเหมือนทำกับหมูกับหมา ด้วยเหตุที่สังคมตีตราว่าพวกคอมมิวนิสต์นี้เป็นศัตรูที่ต้องกำจัด แต่เมื่อรัฐบาลมีการประกาศคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เปิดทางให้นักศึกษาและผู้หลบหนีเข้าป่ากลับมาสู่สังคมในฐานะ “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” นับจากนั้น “ศัตรู” ก็ได้รับรอยยิ้มต้อนรับอย่างอบอุ่นจากสังคม ศัตรูยังเป็นคนเดิม แต่เขาไม่กลายเป็นผู้แปลกหน้าอีกต่อไปสำหรับพวกฟาสซิสต์ที่สมองสามารถเซ็ ตอัพ ลงวินโดว์ใหม่ได้ตลอดเวลา

5. ลัทธินิยมกลุ่มกำลังรบกึ่งทหาร (Paramilitarism)

ลัทธินี้เป็นทั้งค่านิยมหลักและรูปแบบการจัดองค์กรหลักของระบอบฟาสซิสต์ กลุ่มกำลังรบของฟาสซิสต์มีลักษณะเป็นกลุ่มระดมมวลชนจากล่างขึ้นบน เป็นทรัพยากรอำนาจที่สำคัญสำหรับผู้นำในระบอบฟาสซิสต์ โดยมีปฏิบัติการหลายอย่างหลักๆ ทั้งการชี้เป้าศัตรู การข่มขู่คุกคามศัตรู ไปจนถึงการระดมการสนับสนุนและความนิยมจากประชาชนด้วยการทำงานมวลชนและ ปฏิบัติการข่าวสาร/โฆษณาชวนเชื่อ เช่น การเล่นดนตรี ร้องเพลงให้คนฟังฟรีๆ การทำงานสาธารณะในช่วงเวลาปกติและช่วงวิกฤติเพื่อกลับมาทวงบุญคุณในวันหลัง เป็นต้น แต่ทั้งนี้ กลุ่มกำลังรบกึ่งทหารนี้จะไม่เท่ากับกองทัพเสียทีเดียว ตัวอย่างของมันเช่น ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.), หรือกลุ่มกระทิงแดง กลุ่มนวพล ในช่วง 6 ตุลา 2519, หรือความพยายามจัดตั้งองค์กรเก็บขยะแผ่นดินบ้าบออะไรสักอย่างหนึ่งผมจำชื่อ ไม่ได้ในสังคมไทยยุคปัจจุบัน

เอาล่ะ จากที่กล่าวมาทั้งหมด ย้อนกลับมาถามสังคมไทยเราดีไหมว่า เราเป็นสังคมฟาสซิสต์หรือเปล่า?, จากทั้งหมด 5 องค์ประกอบข้างต้น สังคมเรามีกี่องค์ประกอบ?

ในทรรศนะของผม คำตอบคือ ไม่ใช่ เราไม่ได้เป็นสังคมฟาสซิสต์หรอกครับ เราแค่เป็นตัวของเราเอง เป็นสิ่งที่เราเป็น อัตลักษณ์พื้นฐานของเรามันอยู่เหนือเหตุผลที่คนต่างชาติไม่มีวันจะเข้าใจ
… ก็เท่านั้นเองอ่ะโนะ

———————————————
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้ส่วนใหญ่จะเรียบเรียงมาจากงานศึกษาของ Michael Mann เรื่อง Fascists พิมพ์ที่ Cambridge University Press ในปี 2004