การจัดการป่าไม้เป็นประเด็นหนึ่งที่ได้รับการถกเถียง ต่อสู้ ต่อรองกันมาอย่างยาวนานระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งโดยหลักแล้ว อาจจำแนกออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มชุมชนพื้นถิ่น กับกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ
สองกลุ่มข้างต้นยืนอยู่บนหลักการฐานคิดคนละชุดในการเข้ามาปฏิสัมพันธ์กันเรื่องประเด็นป่าไม้ สรุปอย่างหยาบๆ ก็คือ
กลุ่มชุมชนพื้นถิ่นยืนอยู่บนฐานคิดสิทธิ ดั้งเดิมของชุมชน ที่ดำรงชีวิตและอาศัยใช้สอยทรัพยากรในเขตพื้นที่ป่ามาอย่างยาวนาน แต่ภายหลังรัฐได้มาประกาศเขตอำนาจคร่อมทับลงไปบนพื้นที่เดิมของพวกเขา การกระทำของรัฐ ถ้ามองจากฐานคิดลักษณะนี้ ก็จึงกลายเป็นเรื่องไม่เป็นธรรม ส่วนการต่อสู้เพื่อเรียกร้องทวงคืนสิทธิแต่ดั้งเดิมของชุมชนจึงเป็นสิทธิที่ ชอบธรรมโดยพื้นฐาน
กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ เข้ามาเกี่ยวพันกับประเด็นเรื่องป่า บนหลักการฐานคิดเรื่องอำนาจตามหน้าที่ (authority) ที่ได้รับการรองรับตามตัวบทกฎหมาย พวกเขาจึงมองการใช้อำนาจของตนเหนือเขตพื้นที่ป่าตามแนวนโยบายของรัฐบาล เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และมีความชอบธรรมสมบูรณ์ ส่วนการที่ชาวบ้านอาศัยใช้สอยทรัพยากรในผืนป่าที่ประกาศเป็นเขตพิทักษ์รักษา กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ที่ต้องมีมาตรการบังคับ กำกับ และลงโทษ
“การใช้ชีวิตตามวิถีดั้งเดิมที่เป็นมา” ในแง่นี้ เจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนจึงนิยามเรียกว่า “การบุกรุกป่า”
อย่างไรก็ตาม อีกกลุ่มที่อาจจะนับรวมเข้าไว้เป็นตัวแสดงหลักในเรื่องป่าไม้ก็ได้ แต่ผมคงไม่กล่าวอย่างละเอียดมากนัก ก็คือ นายทุน
พวกเขาเป็นกลุ่มที่เข้าสัมพันธ์กับประเด็น เรื่องป่าบนฐานคิดของ “การสะสมทุน” “การพาณิชย์” และ“การแสวงหากำไร” หลายครั้ง พวกเขาฉวยใช้สัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กับเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองในการเข้า ถึงหรือครอบครองบางส่วนของพื้นที่ป่าที่ถูกประกาศให้พิทักษ์ไว้ ซึ่งหลายครั้ง นายทุนก็คือตัวของนักการเมือง หรือเจ้าหน้าที่รัฐผู้ทรงอิทธิพลเอง การกระทำของกลุ่มนายทุนลักษณะนี้ แม้บางรายจะให้การอุปถัมภ์ค้ำจุนคนในชุมชนพื้นถิ่นอย่างเอ่อล้นด้วยบุญคุณ ข้าวแดง แต่ก็ล้วนเป็นการตอกย้ำภาพ “ความไม่เท่ากันของคน” “สองมาตรฐานของการบังคับใช้กฎหมาย” และเป็นรากแก้วหน่อหนึ่งของปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมในปัจจุบัน
ที่ผมไม่ขอยกชูนายทุนขึ้นเป็นกลุ่มที่เป็น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักของเรื่องการจัดการป่า ก็เพราะในทางปฏิบัติ พวกเขาสัมพันธ์เกาะติดอยู่กับกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง (โดยแน่นอนว่าหลายครั้งก็คือกลุ่มคนกลุ่มเดียวกัน)
เมื่อสภาพการณ์เป็นเช่นนี้ จึงไม่เป็นที่ประหลาดใจว่า นักวิชาการในสมัยหนึ่งที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ จะมีทัศนคติเชิงลบและโจมตีกลุ่มนายทุนอย่างหนักหน่วงในชุดวาทกรรม “ทุนนิยมสามานย์” และชูคบเพลิงแนวคิด “ชุมชนนิยม” เป็นทางออกของการแก้ปัญหาการจัดการป่าไม้ของประเทศไทย
การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมในช่วงเวลาหนึ่งจึงปรากฏออกมาในท่วงทำนองของ การเรียกร้องสิทธิชุมชนพื้นถิ่น การเชิดชูภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมในการจัดการและอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งกำหนดจุดยืนเผชิญหน้ากับฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ (และนายทุน) อย่างเปิดเผย
แต่ช่วงเวลานั้นได้ผ่านกลายเป็นอดีตไปแล้ว ในวงการบริหารจัดการป่าไม้ทุกวันนี้ เจ้าหน้าที่รัฐกับชุมชนพื้นถิ่นปรับตัวเข้าหากันและทำงานร่วมกันมากขึ้นใน รูปแบบภาคีร่วม สิทธิดั้งเดิมชุมชนได้รับการเคารพ เช่นเดียวกับตัวบทกฎหมายของฝ่ายรัฐ แต่ภาคปฏิบัติการของสองหลักการนี้ขับเคลื่อนด้วยกลไกกระบวนการปรึกษาหารือ อย่างยืดหยุ่น
หลายพื้นที่วันนี้ เจ้าหน้าที่รัฐยินยอมให้ชุมชนพื้นถิ่นสามารถเข้าไปใช้ทรัพยากร เก็บของป่า ฯลฯ ตามสิทธิดั้งเดิมได้ โดยให้ชุมชนกำกับดูแลกันเองในชั้นแรกในกรอบของคณะกรรมการหมู่บ้าน ชุดอาสาดูแลป่าของหมู่บ้าน ซึ่งมักมีการจัดเวทีประชาคมร่วมกันตั้ง “ข้อบัญญัติหมู่บ้าน” ขึ้นเป็นกฎกติการ่วมที่หากใครละเมิดอาจลงโทษจากเบาไปหนัก เช่น จากการตักเตือน > การลงโทษทางสังคม > การแจ้งเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการตามกฎหมาย หรือกระทั่งการซุบซิบ นินทา ไม่คบค้าสมาคม ก็จัดเป็น “กลวิธีพื้นบ้าน” ในการจัดการปรับพฤติกรรมเช่นกัน
บางพื้นที่ เช่นแถบแม่ฮ่องสอน มีการเชื่อมโยงกฎหมู่บ้านเข้ากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อดั้งเดิมในการ นับถือผี โดยยกกรณีที่มีผู้ละเมิดกฎของการใช้ป่าแล้วประสบอุบัติเหตุเคราะห์กรรมที่ ไม่ดีขึ้นสอนกันต่อๆ มาเพื่อบังคับให้เกิดความกลัวเกรงต่อกฎ
ในการประสานร่วมมือกัน เจ้าหน้าที่รัฐกับชุมชนพื้นถิ่นจะปรึกษาหารือกันเพื่อตกลงขอบเขตของการ ใช้สอยทรัพยากรในป่า รวมทั้งตกลงเงื่อนไขช่วงเวลาที่ต้องปิดป่าเพื่อให้ป่าฟื้นฟูสภาพ ในทางกลับกัน ชุมชนพื้นถิ่นก็ก่อตัวเป็นเครือข่ายแนวร่วมดูแลพื้นที่ป่า จัดทำแผนที่ระบุชนิดพืชพันธุ์ สัตว์ และทรัพยากรในผืนป่า ฟื้นฟูอนุรักษ์ จัดทำทำนบ ฝาย เพื่อบริหารจัดการน้ำ ฯลฯ ซึ่งเท่ากับเป็นการลดภาระ และทำให้การรักษาป่าไม้ของเจ้าหน้าที่รัฐมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม องค์กรภาคเอกชน และภาควิชาการในปัจจุบัน จำนวนมากก็อยู่ในกระแสธารนี้เช่นเดียวกัน พวกเขาเป็นกลไกสนับสนุนให้การทำงานร่วมรัฐ-ประชาชนที่ยอดเยี่ยม หลายครั้ง พวกเขาเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเครือข่ายภาคีร่วมขึ้นมาด้วยซ้ำ องค์กรเหล่านี้ถือต้นทุนองค์ความรู้มหาศาล ทั้งมีตัวแบบที่ดีของการจัดการป่าไม้ในหลายๆ พื้นที่อยู่ในกระเป๋าความรู้
หลายครั้ง พวกเขาทำงานกับชุมชนพื้นถิ่นให้เข้าใจตัวบทกฎหมาย เห็นใจความจำเป็นของเจ้าหน้าที่รัฐที่หากไม่ทำตามหน้าที่แล้ว เป็นโดนเจ้านายเล่นงานเละแน่ๆ
หลายครั้ง พวกเขาทำงานกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน ผลักดันปัญหา ข้อเรียกร้อง และความปรารถนาของชุมชนพื้นถิ่นเข้าสู่กระบวนการนโยบายของรัฐให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้
หลายครั้ง พวกเขาเล่นบทบาทคนกลาง เป็นสะพานเชื่อมชุมชนพื้นถิ่นกับเจ้าหน้าที่รัฐให้ปรับจูนเข้าหากัน โดยการสร้างพื้นที่ของการสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจและเดิน หน้าทำงานร่วมกัน
ในวันนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัด อย่าง อบจ.แม่ฮ่องสอน ก็ได้กระโดดเข้ามาเล่นบทบาทดังกล่าวได้อย่างแข็งแกร่ง พวกเขาเป็นทั้งตัวแทนกระทำการในนามประชาชนพื้นถิ่น และเป็นทั้งเพื่อนร่วมงานของส่วนราชการระดับภูมิภาคในพื้นที่ พวกเขาจึงถือครองศักยภาพสำคัญในการสร้างพื้นที่กลาง ที่เป็นจุดเชื่อมระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 2 กลุ่มหลักในประเด็นเรื่องป่าไม้
ที่เล่ามาทั้งหมด คือ ภาพคร่าวๆ ของการบริหารจัดการป่าไม้บ้านเราจากเมื่อก่อนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นประเด็นที่มีพลวัต ไม่หยุดนิ่ง และวันนี้ภายใต้ยุคสมัยของ คสช. ดูเหมือนจะเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญ
ภายใต้แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากร ป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน หรือที่เรียกว่า “แผนแม่บทป่าไม้” ซึ่ง คสช. อนุมัติเมื่อราวๆ ต้นเดือนสิงหาคม นับจากนั้นมาเป็นเวลาเดือนเศษเท่านั้นเอง ปรากฏมีการรุกไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ป่าไม้ไปแล้วหลายหมู่บ้าน อาทิ พื้นที่แถบชัยภูมิ สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ เป็นต้น
ผู้ถูกรัฐ “ขอคืนพื้นที่” ส่วนใหญ่ เป็นชาวบ้าน ชุมชนพื้นถิ่น ส่วนพื้นที่ที่เป็นของนายทุนกลับมีการไล่แค่ “พอให้เป็นข่าว” เท่านั้น การดำเนินการในกรอบแผนแม่บทฉบับนี้ จึงไม่เพียงทำลายหลักการแนวคิดในการบริหารจัดการป่าที่วิวัฒน์มาจากอดีต หากแต่ยังตอกลิ่มซ้ำเติมให้สังคมประจักษ์ถึงความไม่เป็นธรรมทางชนชั้น ฝังเป็นรอยแผลลึกรอวันอักเสบกลัดหนองและเสี่ยงที่จะแตกออกเป็นความขัดแย้ง หรือความรุนแรงทางการเมืองระลอกใหม่
กรอบแนวคิดการบริหารจัดการป่า ณ วันนี้ จึงดูเหมือนกำลังเริ่มหดงอมายืนอยู่แค่บนฐานคิดอำนาจหน้าที่ของรัฐ (authority) และมองชุมชนพื้นถิ่นเป็น ผู้รับการกระทำ (passive actor) จากอำนาจรัฐ เหมือนสมัยราวๆ 50 ปีที่แล้ว
ชุมชนพื้นถิ่น คือ บรรดาชาวบ้านตาสีตาสา ที่ไม่มีความรู้ ไม่ตระหนักถึงส่วนรวม เห็นแก่ตัว และหลายครั้งไปสยบยอมอำนาจเงินของพวกนายทุน ขายบ้าน ขายแผ่นดินของตนเอง ฯลฯ พวกคนเหล่านี้จำเป็นจะต้องอยู่ภายใต้การสอดส่อง กำกับอย่างเข้มงวดจากฝ่ายอำนาจรัฐ ซึ่งกระทำการในนามผลประโยชน์แห่งชาติโดยรวม
ในทรรศนะของผม แนวนโยบายของรัฐบาลชุดนี้จะ “แสดง” ให้เห็นอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ผลการกระทำสำคัญกว่าคำพูด (ที่วันนี้ก็ประจักษ์แล้วว่าเลอะเทอะไม่แพ้การกระทำ)
พลวัตการจัดการป่าที่เดินหน้ามา อย่างยากลำบาก หลายภาคส่วนร่วมลงแรง ลงใจ ค่อยๆ ปั้นกันมาอย่างเหน็ดเหนื่อย และเริ่มปรากฏแสงสว่างพอเป็นความหวังให้เดินหน้าต่อ วันนี้มีแนวโน้มจะถอยหลังลงคลองด้วยการตัดสินใจของกลุ่มคนกลุ่มน้อยที่ไม่ อ่านหนังสือ และไม่ยอมทำความเข้าใจความคิดที่แตกต่างจากตน