หน้าแรก บทความ

การทหารนำการเมือง: แนวทางจัดการปัญหาปาตานีในห้วงต่อไป

แฟ้มภาพ Photo AFP

นับตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจ กินรวบประเทศไทย ความกังวลอย่างหนึ่งที่หลายคนมีต่อปัญหาปาตานี คือ คำถามที่ว่า การพูดคุยเพื่อสันติภาพ จะเดินหน้าต่อไปหรือยุติลง

แม้ในเวลาต่อมา คสช. และรัฐบาลของคณะรัฐประหารจะประกาศชัดถึงการเดินหน้าต่อ ในกรอบคิดและ “ภาษา” ใหม่ว่า “การพูดคุยเพื่อสันติสุข” ตลอดจนมีการจัดขบวนทัพใหม่ ออกแบบโครงสร้างแก้ปัญหาปาตานีใหม่ โดยมีส่วนกลไกรับผิดชอบการพูดคุยอยู่ในนั้นด้วย แต่กระนั้น กระบวนการขับเคลื่อนการเจรจาพูดคุย (ที่ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร) ก็ชะงักงันลง โดยไม่มีทีท่าว่าจะไปต่อเมื่อไหร่ และอย่างไร

.. นั่นคือ พลวัตคร่าวๆ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ในแง่เนื้อหา ก็จะสังเกตเห็นมาโดยตลอดถึงความกำกวม คลุมเครือ ของฝ่ายรัฐไทยที่ดูเหมือนจะ “ไม่เอาจริง” นักกับเรื่องการพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเงื่อนไขของการพูดคุยแต่ฝ่ายเดียว หรือการประกาศไม่อนุญาตให้พูดคุยในบางประเด็นซึ่งเป็นหัวใจของปัญหาปาตานี เช่น การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษซึ่งวางอยู่บนฐานของเรื่องการปรับความสัมพันธ์ เชิงอำนาจระหว่างกรุงเทพฯ กับปาตานี (โปรดดูรายละเอียดเรื่องนี้จากบทความเรื่อง “จังหวะสานต่อการพูดคุยเพื่อสันติภาพ – จังหวะก้าวเขตปกครองพิเศษ” ซึ่งผู้เขียนเขียนไว้ 2-3 เดือนที่ผ่านมา >> https://fatonionline.com/index.php/news/detail/2385)

ในแง่กลไก ถ้าเรากางรายชื่อบรรดาตัวบุคคลที่ “กุมบังเหียน” ฝ่ายรัฐไทยมาดูทั้งหมด แล้วเจาะข้อมูลดูภูมิหลัง ประวัติการทำงานที่เกี่ยวกับปัญหาปาตานี ตลอดจนแกะดูการรับรู้ ทัศนคติ ความเห็น ฯลฯ ของพวกเขาเหล่านั้นซึ่งปรากฏตามหน้าสื่อต่างๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ไม่ยากว่า แนวโน้มของแนวทางการแก้ปัญหาปาตานีของรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารจะออกมาใน หน้าตาแบบใด

ผมขออนุญาตไม่ไล่รายชื่อ และไม่อธิบายขยายความต่อในเรื่องนี้ ขอเปิดพื้นที่ให้ท่านผู้อ่านสืบค้นตามสะดวกใจ และปล่อยให้ข้อมูลเป็นตัวบอกเล่าต่อท่านเองจะยุติธรรมกว่าที่ผมจะผูกขาดการ เล่าเรื่องแต่คนเดียว

ส่วนในวันนี้ สัญญาณบ่งชี้แนวทางของรัฐต่อการจัดการปัญหาปาตานีชัดเจนขึ้นทุกขณะว่าจะเดิน หน้าอย่างไร โดยเราอาจพิจารณาเห็นได้จากอย่างน้อย 2 เรื่องต่อไปนี้ซึ่งสัมพันธ์กัน

เรื่องที่หนึ่ง แนวโน้มของเหตุความรุนแรงในปาตานีลดลงทั้งในเชิงจำนวนและระดับความสูญเสียมา ตลอด 3 เดือนนับแต่ คสช. เข้ามาผูกขาดอำนาจประเทศชาติ แต่กลับดีดตัวขึ้นในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีการวิเคราะห์จากฝ่ายความมั่นคงว่า เป็นเหตุรุนแรงในเชิงสร้างสถานการณ์โดยสมาชิกรุ่นใหม่ของขบวนการฯ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ช่วง 3 เดือนที่เหตุรุนแรงไม่ปรากฏเด่นชัดนักอาจแปลความได้ว่าเป็นช่วงที่ฝ่ายนัก ต่อสู้มลายูปาตานีกลุ่มต่างๆ ก็กำลังจับทิศทางการขยับตัวของรัฐบาลใหม่อยู่เช่นกัน และเมื่อไม่มีความชัดเจนใดใด ก็ต้องลงมือแสดงให้เห็นว่าฝ่ายตนยังคงมีศักยภาพในการปฏิบัติการอยู่จริงใน พื้นที่

แต่ที่กล่าวมาก็เป็นเพียงภาพความเป็นไปได้ หนึ่งเท่านั้น เหตุรุนแรงที่ดีดตัวขึ้นมาในเดือนตุลานี้ อาจเป็นผลจากปัจจัยอื่น หรือกลุ่มอื่นที่มิใช่นักต่อสู้มลายูปาตานีก็เป็นได้ ซึ่งแน่นอนว่าฝ่ายรัฐไทยเองก็จัดอยู่ในประเภทหมวดหมู่ “กลุ่มอื่น” ด้วยเช่นกัน

เรื่องที่สอง การเพิ่มการติดอาวุธปืนเล็กยาว 5.56 มม. ให้กับสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) ที่ตั้งขึ้นใหม่ เรื่องนี้มีข้อน่าสนใจ 2 ประเด็น:

(1) ที่ผ่านมา เหตุความรุนแรงที่มีมูลเหตุจากเรื่องส่วนตัว หรือการล้างแค้นเอาคืน จำนวนไม่น้อยทีเดียวที่มีสมาชิก อส. เกี่ยวข้อง .. อส.ไม่ใช่ทหาร ไม่ได้ฝึกหลักปฏิบัติในการรบอย่างเข้มข้น ไม่มีการบังคับบัญชาที่เข้มงวดเหมือนกองทัพ การกระจายอาวุธลงไปมีค่าไม่มากไปกว่าการติดอาวุธให้พลเรือน และมีแนวโน้มส่งผลให้เกิดการขยายตัวของความรุนแรงระหว่างพลเรือนด้วยกัน ซึ่งจะเป็นสถานการณ์ที่โกลาหล ควบคุมยากต่อไปในอนาคต และกระทบต่อสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คนชุมชนต่างๆ ในสังคมปาตานี

ในแง่นี้ การติดอาวุธให้พลเรือนหนุนเสริมเป้าหมายการแยกประเทศของนักต่อสู้มลายูปา ตานี มากกว่าจะตอบโจทย์เป้าหมายการรักษาบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐไทย เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการตัดสะบั้นความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกสังคมให้ขาด เยื่อใยยึดโยงต่อกัน และแทนที่ด้วยความโกรธกริ้ว เกลียดชัง จองเวร ล้างแค้น อย่างไร้หลักปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมใดใด

(2) การกระจายอาวุธลงไปเพิ่มขึ้น และขยายกองกำลัง อส. ใหญ่โตขึ้น ประกอบกับการเตรียมพร้อมในฝ่ายทหารในพื้นที่ช่วงที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องที่ว่ารัฐไทยไม่สามารถดูแลคุ้มครองผู้คนในพื้นที่ได้ถ้วนทั่ว จนต้องขยายภารกิจไปสู่กองกำลังพลเรือน ในทางตรงกันข้าม เรื่องนี้สะท้อนความมั่นอกมั่นใจของฝ่ายรัฐไทยมากกว่าว่าปฏิบัติการทางทหาร จะ “เอาอยู่” โดยอาศัยกองกำลังพลเรือนแทรกซึมให้ถ้วนทั่วทุกตารางเมตร แล้วตรึงพื้นที่ไล่อัดฝ่ายตรงข้ามอย่างเป็นระบบ

ปฏิบัติการนี้จะดำเนินคู่ขนานไปกับการทุ่ม ทรัพยากรด้านอื่นของกระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้องอย่างหนักหน่วงลงไปในปีนี้และปีหน้า เพื่อเดินงานพัฒนากึ่งโฆษณาชวนเชื่อดึงมวลชนที่อยู่ตรงกลางเข้ามาอยู่ฝ่าย เดียวกับรัฐ ตามยุทธศาสตร์เอาชนะจิตและใจประชาชน (winning heart and mind) และโดดเดี่ยวฝ่ายนักต่อสู้มลายูปาตานีไว้ลำพัง

ดังจะเห็นได้ว่าตลอด 4 เดือนที่ผ่านมาของ คสช. ความพยายามบูรณาการสร้างเอกภาพในการทำงานระหว่างหน่วยงานรัฐ ปรากฏเห็นชัดเจนกว่า ความพยายามที่จะพูดคุยกับฝ่ายตรงข้าม ด้วยหมายใจว่า แค่ปฏิบัติการทางการทหารบวกกับงานจิตวิทยามวลชน (ที่อาศัยหน่วยงานด้านพัฒนาเป็นมือไม้) จะจัดการปัญหาปาตานีได้อยู่หมัด

ส่วนการพูดคุยเพื่อสันติสุขนั้น ช่วงนี้ลืมๆ ไปสักพักใหญ่ รอไว้ฝ่ายตรงข้ามฝ่อลง แล้วค่อยจัดเวทีใหญ่ๆ กว้างๆ ให้มวลชนธรรมดาเข้ามาพูดคุยกันภายใต้กฎอัยการศึก ซึ่งแน่นอนว่า ธงที่ปักไว้รอ คือ การพูดคุยจะไม่เลยเถิดไปสู่การกระทบกระเทือนโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เดิมระหว่างกรุงเทพฯ กับปาตานี

.. เหล่านี้สะท้อนชัดถึงวิธีคิดแบบทหารล้วนๆ

แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ ปฏิบัติการทางทหารในช่วงต่อไปจะคัดง้างกับหลักนิติรัฐ และลัดวงจรกระบวนการยุติธรรม ตรวจสอบไม่ได้ และไม่โปร่งใส มีโอกาสเสี่ยงที่จะสร้างเงื่อนไขความรุนแรงใหม่ๆ ขึ้นต่อไป ทำให้เหตุการณ์ความรุนแรงที่ปาตานีก็จะดำเนินต่อไปมิรู้จบ

นอกจากนี้ ถ้ารัฐไทยเอาอยู่จริง สำเร็จได้ตามแผนที่วางไว้ ก็ใช่ว่าปัญหาปาตานีจะยุติลง ด้วยเหตุที่ พวกเขามองเพียงเชิงกายภาพตามประสานักรบ ไม่อาจมองเห็นลึกลงไปเจอความรุนแรงที่ฝังอยู่ในโครงสร้างและวัฒนธรรม ทำให้ไม่อาจตัดทิ้งซึ่ง “เงื่อนไขจูงใจ” “ความคับข้องต่างๆ” ที่ทำให้ผู้คนพร้อมลุกขึ้นจับอาวุธ

แนวทางของฝ่ายรัฐไทยที่ปรับใหม่ในยุค คสช. นี้ จึงอาจสามารถจัดการได้เพียงตัวบุคคลผู้ก่อเหตุ โดยมุ่ง “จำกัดเสรีปฏิบัติ” ของฝ่ายตรงข้าม แต่ไม่อาจรับผิดชอบต่อความจริงว่าด้วยความอยุติธรรมที่ยังดำรงอยู่ ซึ่งในเรื่องนี้ถ้ายิ่งพยายามจัดการโดยการผลิตเรื่องเล่าอันบิดเบือนมากล่อม ประสาท ล้างสมองประชาชน ก็ยิ่งจะเจอแต่การตอบโต้ในลักษณะขบวนการใต้ดินต่อไป

ที่กล่าวมานี้คือบรรดาความเสี่ยงในอนาคต ซึ่งยังไม่แน่นอน แต่ที่แน่นอนแน่ๆ คือ วันนี้ไม่มีแนวทางการเมืองนำการทหาร

…มีแต่การทหารนำการเมือง !!!!