ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความโศกาอาดูรทั่วแผ่นดินไทย ชาวปัตตานีเป็นพสกนิกรที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านเช่นเดียวกับพสกนิกรชาวไทยทุกคน โดยเฉพาะคราที่พระองค์ท่านและพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จเยี่ยมศาลเจ้าเล่งจูเกียงเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2519 ภาพความทรงจำครานั้นยังฉายชัดในความตื้นตันใจของ สาทร กาญจนซิน กรรมการบริหารศาลเจ้าเล่งจูเกียง กลางเมืองปัตตานี มิมีเสื่อมคลาย
สาทรยิ้มด้วยดวงตาเปล่งประกายเมื่อบอกเล่าความหลังในครั้งนั้น
“ในวันนั้นพระองค์ท่าน สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ เสด็จเยี่ยมศาลเจ้าเล่งจูเกียง เป็นวาสนาของผมอย่างหาที่เปรียบมิได้ที่ได้ถวายรับใช้พระองค์ท่านอย่างใกล้ชิด เมื่อประธานศาลเจ้าในขณะนั้นได้เรียกให้ผมไปอธิบายเรื่องราวของศาลเจ้าให้พระองค์ท่านรับทราบ ตอนนั้นคาดกันว่าจะประทับเพียง 2-3 นาที หากในวันนั้นทรงประทับอยู่ถึงชั่วโมงกว่า ทรงศึกษาประวัติและรายละเอียดของศาลเจ้ามาอย่างดีมาก ทรงทราบว่าเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเป็นใคร ทรงทราบว่าท่านแป๊ะกงเป็นพระเจ้าเมือง ทรงมีความละเอียดอ่อน เก็บทุกรายละเอียด แต่ไม่เคยติหากคนตอบไม่ตรงกัน ท่านจะย้อนถามว่า แล้วเป็นยังไง ทรงให้เกียรติกับคนอื่นมาก”
หลังจากวันนั้น สาทรบอกว่า สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถและพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จมาไหว้พระที่ศาลเจ้าอีกหลายครั้ง โดยบางครั้งเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ และในช่วงหลังได้ทรงให้ผู้ติดตามมาไหว้พระแทน
สาทรยังเล่าถึงเหตุการณ์ที่ความใจเย็นของพระองค์ท่านต่อเหตุการณ์ที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ในครั้งหนึ่งว่า มีการบอกชาวบ้านว่าพระองค์ท่านจะทรงพระราชทานข้าวสารและน้ำปลาประมาณ 500 ครอบครัว แต่มีการไปบอกชาวบ้านจำนวนมากทำให้มีคนมารอรับจำนวนเป็นพันคน เมื่อมีการแจกก็แจกตามรายชื่อในทะเบียนบ้าน ซึ่งพระองค์ทรงเดินแจกด้วยพระหัตถ์ถึงชาวบ้าน คนที่ไม่ได้รับบอกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม ต้องได้เหมือนกัน เมื่อพระองค์ทรงทราบเหตุผลทรงไม่ตกพระทัยเลย ทรงบอกว่าไม่เป็นไร คนที่ยังไม่ได้จะจัดให้ทั้งหมด ความใจเย็นของพระองค์ท่านทำให้ชาวบ้านยอมรับ
“ในศาลเจ้าแห่งนี้ กระถางธูปทุกกระถางเป็นกระถางพระราชทานทั้งหมด จากรัชกาลที่ 5 จากพระองค์ท่าน และพระองค์อื่นๆ”
“พระองค์ท่านไม่ถือว่าจะเป็นพุทธหรือมุสลิม ทุกคนเป็นประชาชนเหมือนกัน จะมีกษัตริย์พระองค์ไหนที่ทรงนั่งกับพื้นสกปรกที่ชาวบ้านนั่ง มีพระสหายเป็นมุสลิม ตอนนั้นลุงวาเด็งใส่โสร่งผืนเดียว ไม่ใส่เสื้อ พระองค์ท่านก็ทรงพูดคุยและเป็นสหายกัน และทรงพูดภาษามลายูได้อย่างคล่อง”
เมื่อถามถึงความรู้สึกเมื่อสูญเสียพระองค์ท่าน สาทรบอกด้วยน้ำเสียงเครือพร้อมเช็ดน้ำตา
“อย่าถามเลยว่ารู้สึกอย่างไร พระองค์อยู่ในความทรงจำที่นึกถึงยังซาบซึ้งติดตรึงในใจไม่เสื่อมคลาย เราต้องทำดีตามที่พระองค์ท่านทรงทำไว้ ตามรอยพระบาทพระองค์ท่านที่ทำให้กับประชาชน ต้องทำให้สังคมปัตตานีดีขึ้น”
อีกหนึ่งความรู้สึกที่ไม่ต่างกันจาก สุไลมาน ยาโม ศิลปินภาพวาดมุสลิมชาวปัตตานี ผู้รังสรรค์งานศิลปะภาพเหมือนมากมาย งานภาพเหมือนพระบรมฉายาลักษณ์เป็นชิ้นงานที่สุไลมานทุ่มเท และได้รับการยอมรับในวงกว้างด้วยฝีมืออันปราณีต
“วาดรูปพระองค์ท่านมาตั้งแต่ปี 2551 จำไม่ได้ว่าวาดไปเท่าไหร่ ส่วนใหญ่อยู่ที่ลูกค้าหมดแล้ว ชอบวาดรูปพระองค์ท่านเพราะชอบที่พระองค์ท่านทรงงาน อยู่กับประชาชน เขียนงานแล้วรู้สึกประทับใจ อิ่มเอมทุกรูป เกิดมาก็เห็นพระองค์ท่านทรงงานกับประชาชน เข้าถึงทุกที่ที่กันดาร ปลื้มใจที่มีกษัตริย์อย่างพระองค์ท่าน”
เมื่อทราบข่าวความสูญเสีย สุไลมานบอกว่า เป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของเมืองไทย พระองค์เปรียบเสมือนพ่อของทุกคน ร้องไห้อยู่ในอก ไม่มีแรงทำงาน ขอทำใจสักพัก
เพียงสองความรู้สึกของชาวปัตตานีที่มีต่อพระองค์ท่าน หากพสกนิกรทุกคนต่างรู้สึกเช่นเดียวกัน