โดย : อภิรดี จูฑะศร
5 ต.ค.54 ที่ผ่านมา น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ปปท.) และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นำตัว นายเอกวิทย์ ทองดีวรกุล อายุ 22 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง และมือแฮกเกอร์เฟซบุ๊คของน.ส.ยิ่ง ลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาแถลงข่าว หลังจากไม่กี่วันก่อนหน้านั้น นักศึกษาแฮกเกอร์คนนี้ได้ทวิตข้อความแสบสันต์ชนิดตีแสกหน้ารัฐบาลเอาไว้ อย่างนี้….
10.45น. “แม้กระทั่ง twitter ตนเองยังปกป้องไว้ไม่ได้ แล้วประเทศนี้จะปกป้องได้อย่างไร? ฝากให้พี่น้องคิดดูนะครับ“
ทิ้งทวนประโยคไว้แบบหักเหลี่ยมโหดบนทวีตเตอร์ของคนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ…ต้อง ถือว่าหยามกันเห็นๆ สำหรับครอบครัวที่ได้ชื่อว่าเป็นตระกูลสื่อสารไฮเทคยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย แต่กลับโดนมือดีมาแฮกทวิตเตอร์เอาง่ายๆ เล่นเอาทีมงานของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ถึงกับต้องโพสต์ข้อความผ่านหน้าเฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra โดยชี้แจงกลับไปว่า “ขอเรียนให้ทราบว่าขณะนี้มีคนแฮ็กTwitter @PouYingluck ข้อความใดๆ ที่ปรากฎขณะนี้ไม่ได้เป็นข้อความของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์“
ความจริงเรื่องของการแฮกทวิตเตอร์ของผู้มีชื่อเสียงไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะก่อนหน้านั้นแม้แต่ทวิตเตอร์ของ บารัค โอบามา (@barackobama) ประธานาธิบดีของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ยังเคยถูกเจาะมาแล้ว! ขนาดประเทศไฮเทคอย่างนั้นยังโดน แล้วนับประสาอะไร นายกฯหญิงคนงามของเราจะรอดไปได้?
ปฏิบัติการสุดแสบของแฮกเกอร์รายนี้สะท้อนให้เห็นสงครามการเมืองไทย ที่นับวันจะแยกไม่ออกทั้งสงครามทางกายภาพ (Ground war) และสงครามทางสื่อใหม่ (Air War) นั่นทำให้สื่อสังคมออนไลน์ หรือ social network อยู่ ในฐานะที่เป็นเสมือนดาบสองคม ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเป้าหมายทางการเมืองบนความคิด ความเชื่อของกลุ่มตน เปรียบดังการทำศึกสงครามที่ผู้เขียนขอเรียกว่า “ยุทธออนไลน์ในโลกไซเบอร์” เพราะนี่คือการต่อสู้รูปแบบใหม่บนสังคมออนไลน์ ที่มีแนวโน้มทั้งเอื้อประโยชน์ในด้านการสื่อสารกับประชาชน ขณะเดียวกันก็อาจเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ด้านความมั่นคงของชาติในอนาคตด้วย!
ใน ยุคนี้ การแฮกนั้นไม่ใช่เรื่องยากอะไรแล้ว เพราะสามารถแฮกได้หลายวิธี เช่น การแฮกโดยสุ่มพาสเวิร์ด การแฮกโดยใช้อีเมลปลอม การส่งโทรจันมาในอีเมลเพื่อล้วงข้อมูลในคอมพิวเตอร์ รวมถึงความประมาทของผู้ใช้ที่ล็อกอินไว้ในอุปกรณ์ต่างๆ หรือให้พาสเวิร์ดกับหลายคน อย่างกรณีนายกฯ หรือนักแสดงสาวชมพู่–อารย า ที่เพิ่งมีปัญหากับเพื่อนร่วมวงการจนต้องเปิดแถลงข่าวไปเมื่อไม่นานมานี้ เพราะมีผู้โพสต์ข้อความกระทบคู่กรณีโดยใช้แอคเคาท์ของเธอในทวิตเตอร์
กระแส สังคมออนไลน์ที่เข้มข้นหนักหน่วงเช่นนี้ มีผู้คาดการณ์ว่า อีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเกิด ‘อำนาจของปัจเจกชน’ เพิ่มมากขึ้น เพราะคนธรรมดาๆ วันนี้ ทุกคนล้วนมีความคิด มีประสบการณ์ และมีชีวิตที่มีรูปแบบเป็นของตัวเอง การเกิด New Media Power หรือ พลังอำนาจของการสื่อสารสมัยใหม่ จะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารได้ในหลากหลายมิติ ทั้งความรวดเร็ว และในทางลึก นำไปสู่การรับรู้ที่ไร้ขีดจำกัด
ที่ แน่ๆ สงครามออนไลน์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น จะทำให้อำนาจรัฐลดขนาดลง ขณะเดียวกันอำนาจโลกใหม่ก็จะยิ่งทรงพลังมากขึ้น กลุ่มคนที่เป็นปัญญาชนยุคใหม่ที่ใช้ชีวิตในชุมชนออนไลน์ จึงสามารถใช้อำนาจทางสังคมเครือข่ายปลูกฝังความเชื่อทางการเมือง หรือสามารถปลุกระดมให้มีการต่อต้านอำนาจรัฐได้ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ตัวอย่างในบ้านเราก็มีให้เห็นอยู่แล้วที่ผ่านมา
การรู้เท่าทัน New Media จึง เป็นเรื่องสำคัญสำหรับรัฐบาลทุกรัฐบาล และผู้มีอำนาจบารมีทั้งหลายพึงตระหนัก อย่ามองว่าประชาชนเป็นตาสีตาสา โน้มน้าว ชักจูง หรือทำให้คล้อยตามได้ง่ายๆ เหมือนอย่างแต่ก่อนอีก ยุคนี้ยุทธออนไลน์ทำให้ ‘ผู้กุมอำนาจ’ เสีย self มานักต่อนักแล้วมิใช่หรือ?
————————–
เกี่ยวกับผู้เขียน : อภิรดี จูฑะศร เป็นอดีตผู้สื่อข่าวภูมิภาค (ภาคใต้) นสพ.ผู้จัดการรายวัน อดีตหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์และครีเอทีฟบริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่ 2 ค่าย ดังของเมืองไทย ก่อนมารับตำแหน่งบรรณาธิการบริหารนิตยสารในเครือจีเอ็ม กรุ๊ป เป็นอดีตเลขาธิการสมาคมนักข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2546-2548 มี บทบาทร่วมเคลื่อนไหวและรณรงค์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ผืนป่าตะวันตก และต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและการทารุณกรรมสัตว์ ตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน เคยเป็นเลขาธิการมูลนิธิ wife life1 และ เป็นกรรมการกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ มีผลงานเขียนทั้งบทความ สารคดี บทกวี เรื่องสั้น และบทสัมภาษณ์คนดังหลายวงการในหน้านสพ.และนิตยสารหลายเล่มตลอด 22 ปีในแวดวงสื่อสารมวลชน ปัจจุบันเป็นครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ บ.มีเดีย โร้ด , บรรณาธิการที่ปรึกษานสพ. Public Post, ผู้บริหารสำนักพิมพ์ฟ๊อกซ์ เฮ้าส์ และอาจารย์พิเศษด้านการสื่อสารมวลชนในหลายมหาวิทยาลัย