จากผลงานการวิจัยของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคใต้ของไทย ชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้ของไทยหรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเป็นความขัดแย้งต่อสู้เพื่อการปลดปล่อย ถึงแม้อาจมีประเด็นอื่นๆ เข้ามาผสมโรงบ้างในบางบริบทของความขัดแย้งนี้ก็ตาม
ในส่วนของรากเหง้าของปัญหายังเหมือนเดิม นั่นก็คือเป็นปัญหาการครอบงำปกครองเหนือชาวมลายูมุสลิมปาตานีของรัฐบาลไทย ที่ยังคงมุ่งใช้นโยบายเป็นหลักจนนำไปสู่การสร้างปัญหาต่างๆ มากมายตามมา
ความขัดแย้งนี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาแต่อย่างใด แต่ได้เริ่มต้นมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี 1786 ภายหลังจากที่รัฐที่ปกครองโดยระบบสุลต่านแห่งราชอาณาจักรมลายูปาตานี ได้ตกอยู่อยู่ภายใต้อาณัติของสยามประเทศ ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ ยังไม่มีสัญญาณว่ามันจะทุเลาเบาบางและยุติลงเมื่อใด ซึ่งล่าสุดได้เกิดเหตุการณ์ชาวบ้านในจังหวัดยะลาถูกลอบยิงจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา
การปะทะกันทางวัฒนธรรมและศาสนาที่มีความแตกต่างกัน จนบางครั้งทำให้ค่อนข้างที่จะยากที่จะแสวงหาจุดร่วมเพื่อสงวนจุดต่างร่วมกันได้ ซึ่งความขัดแย้งที่ปาตานีหรือทางภาคใต้ของไทย ณ วันนี้ มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเหตุผลที่ได้ระบุไว้ข้างต้น ซึ่งความขัดแย้งนี้นับวันยิ่งเพิ่มความร้อนแรงยิ่งขึ้น เมื่อบรรดาสื่อกระแสหลักของไทยเองที่ไร้ซึ่งจรรณยาบรรณได้ทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง ที่มีทัศนคติในแง่ลบต่อขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อสู้ปาตานี
นับตั้งแต่อดีตไม่เคยเปลี่ยน การเรียกชื่อหรือการให้คำนิยามที่มีต่อกลุ่มขบวนการต่อสู้เคลื่อนไหวปาตานี บ่อยครั้งมักจะออกมาในแง่ลบในการรายงานของสื่อไทย
หนึ่งในนั้นคือคำว่า “โจรใต้หรือผู้ก่อการร้าย” นี่ชี้ให้เห็นถึงความมีอคติได้อย่างชัดเจน ถึงความสุดโต่งและมีความลำเอียง หรือว่าพวกเขา(กลุ่มขบวนการ) เหล่านี้มันไม่คู่ควรที่จะเรียกพวกเขาในฐานะนักรบเพื่อปกป้องชะตากรรมของพวกเขากระนั้นหรือ?
คำว่า ‘ขบวนการแบ่งแยกดินแดน’ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกต้องสำหรับการเรียกพวกเขาเช่นนี้ เพราะกลุ่มขบวนการที่เคลื่อนไหวทั้งหมดก็เพื่อการปลดปล่อยปาตานีไม่ใช่เพื่อการแบ่งแยกดินแดนแต่อย่างใด ซึ่งการนิยามหรือเรียกชื่อดังกล่าวเป็นความจงใจของรัฐบาลไทยเพื่อต้องการสร้างภาพพจน์ในเชิงลบให้กับกลุ่มขบวนการ
การต่อสู้ของกลุ่มต่างๆ เพื่อการปลดปล่อยปาตานี ในการเรียกร้องสิทธิความเป็นเจ้าของของมลายูมุสลิมปาตานี ที่ถูกยึดครองโดยระบอบจักรวรรดินิยมสยามไทยตั้งแต่ปี 1785 จนถึงปัจจุบัน
เราควรมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาระดับโลก เฉกเช่นเดียวกับปัญหาปาเลสไตน์และซีเรีย ประกอบกับปัญหานี้มีความเกี่ยวข้องในฐานะเป็นประเทศเพื่อนบ้านของเรา ในเรื่องความรักชาติ ความกล้าหาญ ควรที่จะเรียนรู้เพื่อเป็นแบบอย่างและเป็นบทเรียนให้กับเรา บททดสอบและอุปสรรคต่างๆ ที่พวกเขาต้องเผชิญ พี่น้องของพวกเขานับร้อยที่ได้เสียสละ ที่ได้รับบาดเจ็บ ถูกจับกุมและคุมขัง บางส่วนต้องทิ้งครอบครัว ญาติและบ้านเกิดของตน
จำนวนตัวเลขของผู้เสียชีวิตที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 11 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2004 จนถึงสิ้นปี 2014 ตัวเลขของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมีจำนวนถึง 17.652 คน ตามสถิติที่เก็บรวบรวมโดยศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deepsouth Wahct)
แต่สิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจก็คือ จิตวิญญาณที่แรงกล้าของพวกเขาที่จะปกป้องพี่น้องมลายูยังไม่ลดลงแต่อย่างใด ด้วยความรู้สึกที่เต็มไปด้วยความสำนึกและรับผิดชอบต่อความทุกข์ทรมานของพี่น้องชาวมลายู พวกเขาอาสายินดีที่จะยืนอยู่แถวหน้าที่จะนำพี่น้องมลายูมุ่งสู่ประตูแห่งอิสรภาพ
เราในฐานะที่เป็นชาวมาเลเซียควรที่จะเอามาเป็นแบบอย่างและเรียนรู้จากเหตุการณ์เหล่านี้ที่เกิดขึ้น และเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น “พระเจ้าสร้างมนุษย์เพื่อให้ต่อสู้กับความฉ้อฉลของชนชั้นสูง ซึ่งประชาชาติของตนเท่านั้นที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของประเทศของตัวเองได้” นี่คือวาทะเด็ดของซูการ์โน่ ที่แสดงให้เห็นว่าการปลดปล่อยจากการถูกกดขี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการครอบงำในทางความคิดที่เรามิอาจมองข้ามได้
**หมายเหตุ อนึ่งบทความชิ้นนี้เป็นบทความที่หัวหน้ากลุ่มพูโลได้ออกมาอ้างถึงในโลกออนไลน์ในเฟสบุ๊คส่วนตัว เมื่อช่วงหัวค่ำเมื่อวันที่ 25/04/2016 โดยการนำเสนอผ่านการบันทึกวีดีโอ ที่ได้กล่าวชื่นชมต่อบทความดังกล่าวที่มีทัศนะว่า ปัญหาปาตานีคือปัญหาสากล ดังหัวข้อบทความที่ชื่อว่า Konflik selatan Thai isu global
แปลจาก http://www.sinarharian.com.my/karya/pendapat/konflik-selatan-thai-isu-global-1.512901