บนสมการที่ว่า “เหตุการณ์ความรุนแรงสัมพันธ์กับนโยบายของรัฐในแต่ละช่วงสมัย”นั้น แนวทางดำเนินการของรัฐไทยในช่วงนี้ นอกจากจะสัมพันธ์กับเหตุการณ์โดยตรง ที่มีการตอบโต้อย่างรุนแรงแล้ว
วิเคราะห์จากสมการนี้ ก็เชื่อได้ว่า แนวทาง/นโยบายของรัฐไทย น่าจะส่งผลต่อ “ความเปลี่ยนแปลง”บางอย่างในซีกของกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นภาพที่เกิดขึ้นก่อน หรือเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการวางแผนลงมือก่อเหตุระเบิดครั้งนี้ (คำนี้กินความรวมทั้งขบวนการก่อความไม่สงบ และกลุ่มอื่นที่อาจใช้ความรุนแรง เช่น ขบวนการค้ายาเสพติด)
นั่นคือ การที่นโยบายที่เพิ่งดำริริเริ่มของรัฐ ซึ่งในภาพรวมถือว่าเป็นแนวทางสายพิราบ โดยเฉพาะการเปิดวงพูดคุยเพื่อสันติภาพ ทำงานเหมือนแม่เหล็ก ดึงดูด สมาชิกขบวนการฯ ฝั่งที่ต้องการใช้หรือหันมาหาแนวทางพิราบในการออกจากความขัดแย้งเข้ามาสู่พื้นที่ที่รัฐเปิดกว้างไว้ให้ พร้อมๆ กับ ผลักดัน สมาชิกขบวนการฯ ฝั่งที่ยึดมั่นในแนวทางสายเหยี่ยวที่จำนวนมากเคยต่างคนต่างปฏิบัติการ คุมกันไม่ได้ มารวมกัน
พร้อมๆ กับ รวม หรือเชื่อมเครือข่ายเข้ากับกลุ่มภายนอกขบวนการฯ 2พวกเป็นอย่างน้อย คือ พวกที่อยากให้สถานการณ์ยุติแต่ไม่ใช่วิธีที่กำลังทำอยู่ และพวกที่ไม่ต้องการให้สถานการณ์ยุติ ทั้งกลุ่มอาชญากรรม กลุ่มธุรกิจผิดกฎหมาย และผู้ได้ผลประโยชน์อื่นๆ จากการมีอยู่ของเหตุการณ์ความไม่สงบ
พูดสั้นๆ คือ นโยบายแนวพิราบครั้งนี้ ได้ส่งผลให้เกิดการคัดแยกขบวนการก่อความไม่สงบออกจากกัน และได้ควบแน่น กดดัน ผลัก ต้อนขบวนการฯ ซีกที่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง และผู้เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงกลุ่มอื่นๆ
นอกขบวนการก่อความไม่สงบ ที่เคยต่างคนต่างปฏิบัติการเข้าด้วยกัน เป็นแนวร่วมของผู้นิยมความรุนแรง …เช่นเดียวกับพื้นที่ขัดแย้งหลายแห่งบนโลก ที่การใช้ “สันติวิธี” ไม่ได้รับประกันว่า ทุกกลุ่มจะเห็นด้วยกับแนวทาง และย่อมปรากฏกลุ่มที่ต่อต้านในแนวทางให้เห็นอยู่ทั่วไปในกรณีหลายแห่งบนโลก เช่น กรณี MNLF กับ MILF ที่มินดาเนา เป็นต้น
นี่จึงเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิทัศน์ (Landscape) ของสงครามชายแดนใต้ที่ก่อรูปมาระยะหนึ่งแล้ว และซ้อนทับกับภูมิทัศน์เดิมของสงครามโดยเราอาจรู้หรือไม่รู้ตัว
ภูมิทัศน์เดิมของสงครามปกคลุมด้วยบรรยากาศของการล้อมปราบ จับกุม จำกัดเสรีในการปฏิบัติของ “ผู้ที่ใช้ความรุนแรง” ..เป็นภูมิทัศน์เชิงกายภาพ(Physical Landscape)และเกี่ยวกับการยึดครองพื้นที่ เข้าถึงดินแดน ดังปรากฏภาพของการกำหนดให้มีหมู่บ้านสีเขียว หมู่บ้านสีแดง และมีมาตรการเฉพาะต่อแต่ละประเภทพื้นที่ ฯลฯ
ก่อนที่จะมีการปรากฏขึ้นของภูมิทัศน์อันต่อมา ซึ่งยักย้ายจุดศูนย์ดุลที่ชี้ขาดชนะ/แพ้ ไปเป็นเรื่องของการเอาชนะ “ความคิดและจิตใจของผู้ใช้ความรุนแรงและผู้เห็นด้วยกับอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน”(Winning Heart and Mind) …เป็นภูมิทัศน์เชิงนามธรรม(Normative Landscape)โดยยังถกเถียงกันในเรื่องแนวทางอยู่ว่าการเอาชนะดังกล่าว จะใช้วิธีใดระหว่าง
(1) การล้างสมอง (Brainwashing)การปรับความคิดความเชื่อ บนฐานของการมีความจริงเพียงชุดเดียว คือ ความจริงที่ฝ่ายอำนาจรัฐเชื่อและอยากให้ฝ่ายตรงข้ามเชื่อเพื่อความสงบและความมั่นคงของรัฐ
(2) ใช้วิธีการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ ให้เกียรติ และเปิดกว้างทางความคิด โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การยุติการฆ่าฟันใช้ความรุนแรง บนฐานของการยอมรับการมีอยู่ของความจริงมากกว่าหนึ่งชุด อันหมายถึง การเปิดพื้นที่สนทนาให้กับความจริงที่ฝ่ายต่างๆ เชื่อ โดยไม่รู้ว่าใครจริงกว่าใคร ใช้การพูดคุย ปรับจูนเข้าหากัน และต้องใช้ระยะเวลา
ช่วงที่ผ่านมา ภูมิทัศน์ 2แบบนี้ปรากฏขึ้นเหลื่อมซ้อนกัน บางครั้ง ปฏิบัติการของฝ่ายรัฐบนภูมิทัศน์เชิงกายภาพ ก็ไปขัดขวางการบรรลุผลสัมฤทธิ์ของภูมิทัศน์เชิงนามธรรมเสียเอง และในห้วงปัจจุบันนี้ ภูมิทัศน์อย่างหลังก็ดูจะเด่นชัดมากขึ้นเรื่อยว่า เป็นสมรภูมิหลักของรัฐไทย …แต่อย่างไรก็แล้วแต่ ทั้ง 2ภูมิทัศน์ดังกล่าว เป็นสงครามที่มีแก่นแกนหลักอยู่ที่เรื่องของความเป็นธรรมและเรื่องการจัดวางโครงสร้างอำนาจอธิปไตย
จากสมมติฐานที่ตั้งต้นไว้แต่แรกว่า “เหตุการณ์ความรุนแรงสัมพันธ์กับนโยบายของรัฐในแต่ละช่วงสมัย” เราจะพบว่า เหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่สมการนี้บอกว่าเป็นผลมาจากนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปของรัฐไทยนั้น ยังเป็นผลสะท้อนเป็นอย่างดีถึงการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์เชิงนามธรรมของสงคราม
ณ ชายแดนใต้ ที่เปลี่ยนจากการถูกปกคลุมด้วยบรรยากาศของการต่อสู้เกี่ยวกับอุดมการณ์ว่าด้วยรัฐ และอำนาจอธิปไตย เพียงอย่างเดียว …ไปสู่ภูมิทัศน์ที่ปกคลุมด้วยบรรยากาศของการต่อสู้ระหว่างผู้ยึดถือแนวทางใช้ความรุนแรงกับผู้ที่เหนื่อยหน่าย และใฝ่หาสันติภาพ ซ้อนทับอยู่ด้วย
แบบแผนของสงครามที่ปรากฏขึ้นในภูมิทัศน์เชิงนามธรรมใหม่นี้ สำหรับรัฐไทย จึงไม่ใช่สงครามว่าด้วยการแสวงหาวิธีจัดการรับมือกับ “ผู้มีความเห็น ความเชื่อ และอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ”ไม่ว่าจะด้วยวิธีแข็งกร้าว หรือวิธีละมุนละไม เพียงอย่างเดียวเช่นช่วงที่เพิ่งผ่านมา
หากแต่ยังมีลักษณะของสงครามกับจิตใจตนเองทับซ้อนอยู่ด้วย เป็นการต่อสู้ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ …กับบรรทัดฐานทางศีลธรรมของตนเอง …เป็นการต่อสู้กับความลังเลใจในแนวทางที่ถูกต้อง …และเป็นการต่อสู้กับการยั่วยุ หรือกระทั่งยั่วยวนให้ศิโรราบต่อจิตใจฝ่ายต่ำ… สงครามครั้งนี้ มีความรู้สึกเป็นธรรม/เลือกปฏิบัติ ความโกรธแค้น ความเกลียดชัง และความอดทนอดกลั้น ของผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นจุดใจกลาง …จุดยุทธศาสตร์สำคัญของสงครามนี้ จึงเป็นภูมิศาสตร์ทางอารมณ์
รัฐไทย อาจจะยังไม่คุ้นชิน และยังหามาตรการรับมือต่อสถานการณ์ใหม่นี้ไม่ทัน แต่ผมขอฝากไปถึงรัฐไทยอย่างหนึ่งว่า ในสมรภูมินี้ ท่านไม่ได้อยู่ในสถานะตั้งรับอย่างที่ใครเขาว่ากัน แท้จริงท่านรุกหนักทางยุทธศาสตร์อย่างเข้มข้นเสียด้วยซ้ำ จนทำให้เกิดการตอบโต้ และ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์เชิงนามธรรมใหม่นี้ขึ้นมา
อีกทั้งระดับการตอบโต้ที่หนักหน่วง รุนแรง ย่อมแสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่า ท่านไปแตะเอาจุดศูนย์ดุลอันชี้ขาดชนะ/แพ้ ที่ไม่ควรแตะ …ท่านไปเกา “ถูกที่คัน” เข้าอย่างจัง จึงเกิดแรงต้าน พยายามกดดันให้ท่านถอยกลับไปสู่แนวทางเดิมที่พวกเขาได้เปรียบ
การต่อต้านหนักขนาดนี้ และ การใช้ความรุนแรงในโอกาสต่อๆ ไป จึงเป็น เครื่อง “วัดใจ” พวกท่านได้เป็นอย่างดี ว่าจะหนักแน่นในแนวทางสายพิราบที่เพิ่งดำริริเริ่มอย่างเป็นรูปธรรมนี้อยู่หรือไม่ จะยืนยันในบรรทัดฐานของสันติวิธีได้นานเพียงใด หรือจะหันไปใช้ “กำปั้นเหล็ก” ซึ่งปรากฏผลเป็นที่ประจักษ์ชัดในช่วงที่ผ่านมาแล้ว
แต่พวกท่านบางคนอาจจะไม่ยอมรับ ว่า ไม่ใช่คำตอบของปัญหานี้ เพราะการใช้ความรุนแรงเพื่อกำจัดความรุนแรงทำให้พี่น้องที่ชายแดนใต้ของเราได้พบกับความรุนแรงอีกเพิ่มขึ้นทวีคูณ…ขอท่านจงหนักแน่น คิดวิเคราะห์ให้รอบคอบ ใช้จิตวิญญาณเพื่อสาธารณะให้มากในการมองและแก้ปัญหา และอย่ากลับไปสู่แนวทางสายเดิมที่แข็งกร้าว …แนวทางที่ประวัติศาสตร์ได้ให้บทเรียนแก่ปัจจุบันของท่าน และพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดในอนาคตให้ท่านได้เห็นมาโดยตลอดว่า คือ วิถีของปีศาจ
***ความเห็นในบทความนี้เป็นของผู้เขียน และไม่ได้แสดงถึงจุดยืนของกองบรรณาธิการ