เหตุการณ์คาร์บอมบ์ 2 จุด กลางเมืองยะลา และคาร์บอมบ์ ลีการ์เด้นส์พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในเวลาไล่เลี่ยกัน เมื่อ30 มีนา ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลแถลงแล้วว่า ทั้ง 2เหตุการณ์เป็นฝีมือของกลุ่มที่มีความเกี่ยวโยงกันนั้น อาจวิเคราะห์ได้หลายแนวทางขึ้นอยู่กับสมมติฐานเบื้องต้น และแนวคิดทฤษฎี หรือ “สมการ” ที่แต่ละคนใช้เป็นกรอบในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์อันซับซ้อนของปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
สมมติฐานหนึ่งที่มีผู้สนใจเหตุการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนไม่น้อยนิยมใช้ คือ การมองความเป็นไปของปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้บนสมการที่ว่า “การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ขึ้นอยู่กับลักษณะนโยบายที่รัฐไทยใช้ในแต่ละช่วงสมัย” เช่น การยุบเลิก ศอ.บต. ในสมัยรัฐบาลคุณทักษิณ ก็ถูกมองจากหลายคนว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ เป็นต้น
ผมจะลองวิเคราะห์เหตุระเบิดครั้งสำคัญที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้ โดยใช้สมมติฐานดังกล่าว บนความตระหนักว่า นี่เป็นเพียงสมมติฐาน หรือ สูตร สมการหนึ่ง ท่ามกลางสมมติฐาน สูตร และสมการจำนวนหลายชุดในการมองปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีความสลับซับซ้อน และละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่ง
ตามสมมติฐานนี้ ถ้าการเกิดขึ้นของเหตุระเบิดเป็นผลมาจากลักษณะนโยบายและแนวทางแก้ไขปัญหาของรัฐไทย ก็อาจต้องตั้งต้นพิจารณาก่อนว่า แล้วตอนนี้ รัฐไทยกำลังมีนโยบาย/แนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร
ข้อเท็จจริงก็คือ ตอนนี้เป็นช่วงที่รัฐไทยกำลังเปลี่ยนแนวนโยบายที่ใช้แก้ปัญหา …จากนโยบายที่มีลักษณะตั้งรับ ไปเป็นนโยบายเชิงรุก …จาก“รูปธรรม” ที่เน้นมาตรการการทหาร ไปเป็น “รูปธรรม” ที่เน้นมาตรการทางการเมือง เช่น การระบุตรงกันจากแหล่งข่าวจากหลายแหล่งถึง “การมีอยู่จริง”ของความพยายามเปิดการพูดคุยกับขบวนการก่อความไม่สงบ ซึ่งแม้จะดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องหลายรัฐบาล แต่ก็ไม่เป็นที่เปิดเผยชัดเจน และไม่เข้มข้นเท่าในรัฐบาลนี้
บทบาทเชิงสร้างสรรค์ของ ศอ.บต. ในพื้นที่ ทั้งการเปิดโรงเรียนอิสลามบูรพาขึ้นมาใหม่ การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และการที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ข้ามฝั่งไป “ดูแล”แรงงาน/ผู้ประกอบการร้านต้มยำกุ้งในฝั่งมาเลเซีย ซึ่งทำรายได้กลับประเทศจำนวนมาก แต่ถูกละเลย และจับจ้องด้วยสายตาที่หวาดระแวงจากฝ่ายความมั่นคงไทยมาโดยตลอด
การปรากฏขึ้นของนโยบายของ สมช. ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายภาคส่วนเห็นตรงกันว่า“ถูกทางของโจทย์ที่ถูก”…เป็นนโยบายสายพิราบที่มีลักษณะ “ก้าวหน้า” …และเป็นนโยบายที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย โดยเฉพาะ กอ.รมน. จะต้องนำไปใช้เป็นกรอบปฏิบัติการ
วันนี้ นโยบายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่เรียบร้อย แล้ว…นโยบายนี้พูดเรื่อง …การพูดคุยเพื่อสันติภาพ …การกระจายอำนาจ …การส่งเสริมภาษามลายู…การส่งเสริมและปกป้องความหลากหลายทางอัตลักษณ์และวิถีชีวิต …การฟื้นคืนความไว้วางใจ…และอาจรวมไปถึงการพิจารณาทยอยยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในแต่ละพื้นที่ บนฐานของการที่ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้ามามีส่วนร่วมประเมินในวาระ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะหมดอายุครั้งต่อไปว่า ควรต่อหรือไม่ต่อ
คำถามที่น่าคิด คือ …ท่ามกลางบรรยากาศดีดี (แต่ไม่รู้ดนตรีไพเราะหรือเปล่า ?) ที่กำลังสร้างขึ้น เหตุใดจึงเกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ ? …สมมติฐานที่ตั้งไว้ตอนต้นให้คำตอบว่า หากเหตุการณ์ความรุนแรงเป็นผลสัมพันธ์กับนโยบายของรัฐ ฉะนั้นแล้ว เหตุระเบิดใหญ่สองจุดยุทธศาสตร์สำคัญก็เกิดขึ้น เพื่อตอบโต้และต่อต้านการสร้างบรรยากาศดีดีของรัฐนั่นแหละ
สมการของสมมติฐานนี้ ให้คำตอบกับเราว่า เหตุระเบิดเกิดจากฝีมือของกลุ่มที่ไม่ต้องการให้สถานการณ์ยุติลง และด้วยมูลเหตุจูงใจเช่นนี้ คงจะด่วนเหมารวมไม่ได้ว่า เป็นฝีมือของขบวนการก่อความไม่สงบ หรือคงจะด่วนตัดสินไม่ได้ว่า แสดงถึงการไม่อยากยุติของขบวนการก่อความไม่สงบ …เพราะผู้ที่ไม่อยากให้สงครามยุติ ไม่ได้มีแค่ขบวนการก่อความไม่สงบ
อีกทั้งขบวนการก่อความไม่สงบก็มีหลายกลุ่ม ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน เช่น ผู้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดบางท่านก็เชื่อว่า “นักรบอาวุโส”และ “สายพิราบ”ต้องการที่จะพูดคุยกับรัฐไทย และหลายคนก็เข้าสู่วงพูดคุยแล้ว ที่มีเอี่ยวในเหตุระเบิดครั้งนี้ จึงวิเคราะห์กันว่าเป็น “สายเหยี่ยว”บางก๊กของขบวนการฯ ซึ่งก็ตรงกับข้อมูลของรัฐบาลที่แถลงต่อสื่อมวลชน …อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ต้องตระหนักไปพร้อมกันด้วย คือ “ผู้ที่รับผลประโยชน์ และกำลังรอรับผลประโยชน์” จากการมีอยู่ของเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ …มีจำนวนมากกว่าขบวนการก่อความไม่สงบเองเสียอีก
ในเรื่องของ“ใคร คือ ผู้ลงมือก่อความไม่สงบครั้งนี้”คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่การสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ในส่วนของ “ทำไม พวกเขาจึงลงมือก่อเหตุ” นั้น อาจตอบได้บนสมมติฐานที่ตั้งต้นไว้ (ท่ามกลางสมมติฐานอีกหลายชุดที่สามารถใช้ในการมองปัญหา) ว่า การก่อเหตุระเบิดครั้งนี้ เป็นการส่งสัญญาณต่อต้านแนวทางการดำเนินการ/นโยบายของรัฐไทย
โดยมุ่งหมายต่อต้าน …ไม่ให้มีการพูดคุยเพื่อสันติภาพเพราะจะทำให้ความรุนแรงยุติ …ห้ามปรามการกระจายอำนาจเพราะจะทำให้เหตุผลเรื่องเรียกร้องเอกราชเป็นอันตกไป …ห้ามการส่งเสริมภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมของพื้นที่ เพราะจะทำให้แหล่งรองรับความชอบธรรมของการใช้ความรุนแรงในนาม “มลายูปาตานี”สูญสิ้นไป
ธำรงไว้ซึ่งมาตรการบ่อนทำลายสายสัมพันธ์ระหว่างคนในพื้นที่เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มพลังที่แตกต่างทางอัตลักษณ์ แต่ปฏิเสธความรุนแรงเหมือนกัน สามารถรวมตัวเข้มแข็งขึ้น หายกลัว จนกดดันกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงให้สลายไป …และหากรัฐประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มเติม พร้อมดำเนินการอย่างเข้มข้นภายใต้กฎหมายดังกล่าว ก็เป็นอันเข้าทางตอบตัวชี้วัดของขบวนการก่อความไม่สงบ ที่ต้องการให้มีเงื่อนไขบางอย่างดำรงอยู่ เพื่อการบ่อนทำลายความเชื่อมั่นต่อรัฐไทย
รัฐไทย ต้องตระหนักว่า ทิศทางใหม่ที่เลือกมาใช้ในการแก้ปัญหานั้น เป็นทิศทางที่ต้องใช้ระยะเวลากว่าจะปรากฏผล และใช้ความอดทนอย่างสูงระหว่างการดำเนินการ หากรัฐเปลี่ยนใจ โมโหใส่ และหวนกลับไปหยิบอาวุธมาใช้ทำลายฝั่งตรงข้าม โดยไม่เลือกวิธีการ ก็จะเข้าทางฝ่ายตรงข้าม …พลาดเชิง “แท็คติก” ไปอย่างน่าเสียดาย …
***ความเห็นในบทความนี้เป็นของผู้เขียน และไม่ได้แสดงถึงจุดยืนของกองบรรณาธิการ