เมื่อ 17 พฤษภาที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการของรัฐบาล เพื่อมอบนโยบายและแนวทางบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง พล.อ.ยุทธศักดิ์ เป็นประธาน มีสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็น “ออแกไนเซอร์” จัดงาน และมีผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกกระทรวง กรม หน่วยงานรัฐที่มีแผนงาน โครงการ ดำเนินการอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปีงบประมาณปัจจุบัน
จุดมุ่งหมายของการประชุมครั้งนี้ คือ ความพยายามปลดล็อกปัญหาการขาดเอกภาพในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของฝ่ายรัฐ ที่ในอดีตเห็นได้ชัดว่า การดำเนินงานเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ ทำไปคนละทิศ สะเปะสะปะ ซึ่งนอกจากจะไม่ตอบโจทย์เป้าหมายเดียวกันแล้ว หลายครั้งก็สวนทาง และย้อนแย้งกันเองอยู่ในทีด้วยซ้ำ
เช่น การพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา สถาบันศึกษาปอเนาะ และศูนย์ศึกษาประจำมัสยิดให้ได้มาตรฐาน นั้น ตกลงคำว่า “คุณภาพการศึกษา” ดังกล่าว จะเป็นไปเพื่อส่งเสริมการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ของพื้นที่ และเตรียมพร้อมปฏิสัมพันธ์กับโลกมาเลย์ในกรอบของประชาคมอาเซียน หรือเป็น “คุณภาพการศึกษา” ในฐานะการบังหน้าให้กับการดำเนินงานของฝ่ายความมั่นคงในการควบคุม สอดส่อง จับจ้อง เฝ้าระวัง ไม่ให้สถานศึกษาเป็นแหล่งบ่มเพาะผู้ใช้ความรุนแรง เป็นต้น
ดังนั้น การประชุมในวันนี้ จึงมีความสำคัญยิ่งในแง่ที่เป็นสัญญาณสะท้อนการปรับกระบวนงานขนานใหญ่ในการดำเนินงานของฝ่ายรัฐ และยิ่งดูในรายละเอียดแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า นี่ไม่ได้เป็นเพียงการประชุมทำพิธีกรรม “เอาภาพ” เพียงเท่านั้น แต่ดูเหมือนจะเป็นการ “เอาจริง” กันเลยทีเดียว เพราะมีการประชุมระดับสูงกันมาหลายรอบ ก่อนที่จะปรากฏผลลัพธ์ออกมาเป็น “แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่เป็น “สินค้าเปิดตัว” ในการประชุมครั้งนี้
ในฐานะกรอบแนวทางให้ส่วนราชการทุกหน่วยงานใช้ในการจัดทำแผนงาน โครงการ งบประมาณ ให้ตอบโจทย์เดียวกัน
แนวทางบูรณาการตามแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว คือ ให้ทุกกระทรวงต้องมีกลุ่มงานจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการเฉพาะเพื่อประสานแผนงาน โครงการ ภายในกระทรวงให้ตอบรับเป้าหมายยุทธศาสตร์ร่วม ที่กำหนดขึ้นจากนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของ สมช. บวกกับ นโยบายรัฐบาลตามแผนบริหารราชการแผ่นดิน ยุทธศาสตร์ กอ.รมน. และ ยุทธศาสตร์ ศอ.บต.
โดยมีการตั้ง สำนักเลขานุการร่วม ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ สมช. ศอ.บต. และ กอ.รมน. ขึ้นภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ดูจากองค์ประกอบกรรมการแล้ว เปรียบเสมือนคณะรัฐมนตรีย่อยกระทรวงที่รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกกระทรวง มานั่งพิจารณากลั่นกรองแผนงาน โครงการ งบประมาณ ของทุกกระทรวงอีกชั้นหนึ่ง เพื่อคัดเฉพาะส่วนที่ตอบเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการฯ รวมทั้งทำการจัดลำดับความสำคัญ ความเร่งด่วน ในการดำเนินงาน
และที่สะท้อนว่า คราวนี้เขาเอาจริงแน่ ก็คือ ความพยายามในครั้งนี้ของฝ่ายรัฐ มี “ผู้คุมเงิน” คือ สำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง และ “ผู้ตรวจวัดประเมินการทำงาน” คือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เป็นสปอนเซอร์อยู่เบื้องหลัง
หากเวทีนี้เป็นเพียงการจัดฉาก …ผมว่า มันก็คือ การจัดฉากให้รองนายกฯ ยุทธศักดิ์ ได้พูดชัดๆ ว่า… “กูเอาจริงนะเว้ยเฮ้ยย !”
แต่ ….ปัญหาอุปสรรคก็อยู่ตรงนี้แหละ แม้ว่า จะมีความพยายามบูรณาการการทำงานของส่วนราชการให้เป็นเนื้อเดียวกัน แต่ส่วนที่ต้องเป็นเอกภาพด้วย …ก็คือ ฝ่ายการเมือง
เพราะจะเห็นได้ว่า ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่ปัญหาหน้าเดียวกากๆ แต่เป็นปัญหาที่แก้โคตรยากเพราะมันมีหลายมิติ ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ การพัฒนา อุตสาหกรรม เกษตร การศึกษา ยุติธรรม ฯลฯ ซึ่งลำพังส่วนราชการบูรณาการกันเพียงส่วนเดียวคงแก้ปัญหาเอกภาพไม่ได้ทั้งหมด ในเมื่อรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้องดันขึ้นตรงต่อรองนายกฯ คนละคนกัน ด้วยเหตุนี้ งานบูรณาการครั้งนี้ ก็คงกร่อย ถ้ารองนายกฯ ท่านอื่น มองว่า เฮ้ย เฮียยุทธศักดิ์ ก็รองเท่าอั๊วะ จะมาล้ำเส้นงานอั๊วะ ได้ไง
…ผมว่า ปัญหานี้จะหมดไป และงานนี้จะจบสวยแน่ ถ้าได้คนสวยๆ อย่างนายกฯ ลงมาเล่นเอง เพราะด้วยสถานะบทบาท อำนาจหน้าที่ เจ๊แกสั่งได้ครบองค์แน่นอน …อยู่ที่เจ๊กล้าหรือไม่ และเจ๊มีความสามารถรับบทนี้เพียงใด …
…ผมสนใจท้าทายให้เจ๊ทำดู
อีกปัญหาอุปสรรคหนึ่งที่น่าจับตาดูกันยาวๆ เลย ก็คือ แม้ผมจะมีโอกาสได้เป็นประจักษ์พยาน
ในความพยายามบูรณาการการทำงานแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของฝ่ายรัฐ แต่งานนี้ว่ากันตรงๆ เป็นเพียงการบูรณาการระบบงาน โครงสร้างการทำงาน และเนื้องาน ให้ล้อตามกันอย่างเป็นระบบ
ซึ่งยอมรับว่าดี ทว่าอีกส่วนที่สำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในระยะยาว ก็คือ การบูรณาการทางความคิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ไม่ได้หมายถึงให้คิดเหมือนกันหมด แต่หมายถึงการเข้าใจในเรื่องเดียวกันให้ตรงกัน (สักทีน่า) และมีทัศนคติ การรับรู้ คล้ายกันในเรื่องการนิยมแนวทางแก้ปัญหาโดยสันติ ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และเปิดกว้างทางความคิด
…เรื่องเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของสาระสำคัญในนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การที่เจ้าหน้าที่รัฐควรจะมีทัศนคติ การรับรู้แบบนี้คล้ายๆ กัน ก็เพื่อให้การทำงานสามารถมีอารมณ์ร่วม หรือ “อิน” ไปกับนโยบายดังกล่าวที่เป็นกรอบใหญ่อยู่ในขณะนี้ไง
ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากเสนอให้ ความพยายามบูรณาการแผนงานโครงการในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของฝ่ายรัฐ ในการขยายผลไปสู่การริเริ่มการบูรณาการทางความคิดระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ โดยวิธีการนั้น อาจจะเป็นการจัดโครงการต่างๆ ประเภทการประชุมสัมมนา อบรม ฯลฯ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และสร้างเป็น “ทีมชายแดนใต้” ของภาครัฐที่เข้มแข็ง และสามารถเป็นเครือข่ายทำงานร่วมกับทีมของภาคส่วนอื่นได้ ขึ้นมา โดยอาจต้องใช้งบประมาณไปมากหน่อยกับการจัดสัมมนา อบรม แต่ผมว่า อย่างน้อยก็ดีกว่าเอาเงินไปซื้อกระสุน หรือเรือเหาะ แหละน่า
หากท่านผู้อ่านมีคำถามว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะทำจริงได้แค่ไหน? …ผมไม่รู้ใจฝ่ายรัฐว่าคิดเช่นไร ก็คงตอบคำถามนี้ไม่ได้ แต่ขอเชิญชวนให้ท่านคอยจับตาดูสืบไป …เพราะผมก็จะคอยดูสืบไปอย่างใกล้ชิด…ชนิดหายใจรดต้นคอ เช่นกัน