หน้าแรก บทความ

การเมืองเม็กซิโกหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี : The Return of “the Perfect Dictatorship” ? : และบาดแผลที่อยากลืม …กลับจำ

มนุษย์มีความสามารถในการเลือกที่จะจำบางอย่าง และเลือกที่จะลืมบางอย่าง บนกระแสธารของความเปลี่ยนแปลงที่ดูเหมือนจะเป็นสัจธรรมของสรรพสิ่ง ทว่า การหวนกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งนับตั้งแต่ปี 2000 ของพรรคปฏิวัติสถาบัน (Partido Revolucionario Institucional; PRI) อาจรุกเร้าให้คนเม็กซิกันจำนวนไม่น้อยคิดถึงความเปลี่ยนแปลงในรูปของประวัติศาสตร์ที่ (หวาดกลัวว่าจะ) ซ้ำรอย ?

ความทรงจำของคนเม็กซิกัน (ในส่วนที่ไม่ค่อยจะดีนัก) ต่อพรรค PRI

พรรค PRI เป็นพรรคที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ และครองอำนาจอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี 1929 – 2000 นับเป็นระยะเวลาได้ 71 ปี โดยระหว่างที่อยู่ในอำนาจนั้น แม้ว่ารัฐบาลพรรค PRI จะทำให้เศรษฐกิจเม็กซิโกเติบโตอย่างมหาศาล กระทั่งถูกขนานนามว่า “Mexican Miracle” แต่ก็ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องคอรัปชั่น การโกงเลือกตั้ง และความเป็นอำนาจนิยม โดยแม้ว่าจะมีการเลือกตั้ง แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นเพียงพิธีกรรมที่ใช้รับรองการมีอยู่ของประชาธิปไตยเท่านั้น ประกอบกับมีข้อครหาอยู่มากว่าทางพรรคใช้วิธีรุนแรงและการปราบปรามผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม ขณะเดียวกัน ในส่วนของประธานาธิบดีที่อยู่ในอำนาจวาระละ 6 ปี ก็มีอำนาจในมืออย่างล้นพ้น ส่งผลให้มีผู้เรียกระบบการเมืองในแบบดังกล่าวนี้ว่า “the Perfect Dictatorship” อันหมายถึงเผด็จการที่เร้นกายในอาภรณ์ของประชาธิปไตยได้อย่างแนบเนียนสมบูรณ์แบบ

ความทรงจำของคนเม็กซิกันหลายคนที่เกี่ยวโยงกับพรรค PRI ยังมีส่วนที่เป็นบาดแผลลึก ยากจะลบเลือนอยู่ด้วย อย่างน้อยที่สุดก็ 2 เรื่องใหญ่ คือ

1. การเปิดฉากสงครามภายในประเทศตนเอง ที่เรียกว่า “La guerra sucia (Dirty War)” ระหว่างพรรครัฐบาล PRI กับกลุ่มนักศึกษาฝ่ายซ้ายและกลุ่มติดอาวุธ ในช่วงทศวรรษที่ 1960 – 1970 ที่กล่าวอ้างกันว่ามีคนหายสาบสูญจากการลักพาตัวของกองกำลังรัฐบาลประมาณ 1,200 คน รวมทั้งมีการอุ้มฆ่า การทรมานและการดำเนินคดีที่นอกเหนือกรอบอำนาจตามกฎหมาย

2. การสังหารหมู่นักศึกษา ในเม็กซิโกซิตี้ ปี 1968 ที่เรียกว่า “the Tlatelolco Massacre” ซึ่งเกิดขึ้นในบริบทของ Dirty War โดยในปี 1968 เม็กซิโกได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกส์ฤดูร้อน นักศึกษาจึงใช้โอกาสนี้ในการเรียกร้องประชาธิปไตยและความยุติธรรมทางสังคม แต่รัฐบาลพรรคPRI ของประธานาธิบดี Ordaz กลับใช้กองกำลังทหารเข้าปราบปราม เพื่อไม่ให้งานโอลิมปิกส์เกิดความวุ่นวาย โดยตัวเลขนักศึกษาที่เสียชีวิตไม่แน่ชัดระหว่าง 30 – 300 คน มีผู้ถูกจับกุมประมาณ1,345 คน และในเอกสารของรัฐบาลซึ่งเผยแพร่ในปี 2000 ระบุข้อเท็จจริงว่า มือสไนเปอร์ในการสังหารหมู่ครั้งนั้น เป็นคนของรัฐบาล PRI ในยุคดังกล่าว

ชนะเลือกตั้งเพราะแย่น้อยที่สุด ? และนโยบายเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของพรรค PRI

ในขณะที่คนเม็กซิกันหลายคนยังคงจำเหตุการณ์เหล่านี้อย่างฝังใจ มีผู้เชี่ยวชาญและติดตามสถานการณ์การเมืองเม็กซิโก วิเคราะห์ถึงปัจจัยสาเหตุที่ทำให้พรรค PRI สามารถคืนสู่อำนาจได้อีกครั้ง โดย The Economists มองว่า เหตุผลส่วนหนึ่งที่ PRI ชนะ ไม่ใช่เพราะพวกเขามีจุดเด่นที่แข็งแกร่ง หากแต่คู่แข่งของพวกเขาต่างหากที่อ่อนแอ กล่าวคือ ในบรรดาผู้สมัครแข่งขันการเลือกตั้งประธานาธิบดี นาย Obrador จากฝ่ายซ้ายก็ติดภาพลักษณ์ของการมีพฤติกรรมก้าวร้าว ในขณะที่ นาง Mota จากฟากอนุรักษ์นิยม ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าแคมเปญการหาเสียงดูสับสนวุ่นวายยิ่งนัก ดังนั้น Peña Nieto จากพรรค PRI จึงเป็นตัวเลือกที่ “แย่น้อยที่สุด” (the least bad choice)

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญบางท่านยังวิเคราะห์เน้นลงไปว่า ชัยชนะของ PRI เป็นผลมาจากความล้มเหลวในแนวทางการเปิดสงครามยาเสพติดของรัฐบาลที่แล้วของประธานาธิบดี Calderon แห่งพรรคPartido Acción Nacional; PAN ที่ทำให้ชีวิตประจำวันของประชาชนได้รับผลกระทบจากอาชญากรรมมากขึ้นและกล่าวกันว่าสร้างความไร้เสถียรภาพมากเสียยิ่งกว่านโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล PRI ในอดีต โดยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ นโยบายในการหาเสียงของนาย Nietoตอบรับกระแสเรียกร้องของสาธารณชน โดยการให้น้ำหนักกับการทำสงครามกับขบวนการค้ายาเสพติด น้อยกว่า การวางมาตรการลดความรุนแรง ลดการลักพาตัว ลดการข่มขู่กรรโชกและลดอาชญากรรมทั่วไปในประเทศ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญและติดตามสถานการณ์ รวมทั้งคนเม็กซิกันจำนวนไม่น้อยให้การสนับสนุน เพราะเห็นว่า ความรุนแรงดังกล่าวเป็นปัญหาใหญ่ที่เป็นภัยคุกคามต่อคนเม็กซิกันมากกว่าขบวนการค้ายาเสพติด แต่อีกบางส่วนก็ยังมีความหวั่นเกรงว่า การปรับนโยบายครั้งนี้จะหมายถึงการหวนกลับไปสู่แท็คติกเดิมของพรรค PRI ที่ยึดแนวทาง “ปรองดองกับโจร” โดยปล่อยให้ขบวนการยาเสพติดสามารถดำเนินธุรกิจมืดอยู่ได้บ้างเพื่อแลกกับความสงบสุขเรียบร้อยของบ้านเมืองหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น บางส่วนยังวิเคราะห์ว่า ขีดพลังที่เพิ่มขึ้นของขบวนการค้ายาเสพติดนั้น ส่วนหนึ่งก็มีรากเหง้ามาจากนโยบายเสรีนิยมใหม่ของพรรค PRI เอง หรืออาจกระทั่งสายสัมพันธ์ระหว่างบางคนในพรรค PRI กับขบวนการค้ายาเสพติด

บาดแผลที่ยังปิดไม่สนิท กับ ภาพลักษณ์ที่ยังลบไม่ออกของพรรค PRI

แม้ว่าพรรค PRI จะพยายาม “โมดิฟาย” ตนเองให้หลุดออกจากภาพลักษณ์ของการคอรัปชั่น อำนาจนิยม และหัวโบราณ โดยได้เลือกนาย Nieto ซึ่งมีภาพของการเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงและมีวิสัยทัศน์ใหม่ๆ ขึ้นเป็นตัวแทนลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และชนะการเลือกตั้ง แต่ก็ยังมีข้อครหาอยู่มากเกี่ยวกับความโปร่งใสของผลการเลือกตั้งดังกล่าว ประกอบกับบาดแผลที่พรรคนี้เคยสร้างไว้ในอดีตยังคงฝังใจใครหลายคนให้หวาดกลัว ยังไม่เชื่อมั่นและไม่ไว้วางใจอยู่ดี

ขณะเดียวกัน ตัวของนาย Nieto เอง ยังมีบ่วงกรรมเก่าติดตัวมาตั้งแต่สมัยเป็นผู้ว่าการรัฐเม็กซิโก นั่นคือ การสั่งการให้ตำรวจของรัฐเข้าสลายการชุมนุมผู้ประท้วง เมื่อปี 2006 ซึ่งคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็นโศกนาฏกรรม (tragedy) เพราะมีผู้เสียชีวิต 2 ราย มีผู้เป็นเหยื่อของการกระทำอันโหดร้ายและการปฏิบัติเสมือนไม่ใช่มนุษย์จำนวน 207 คน มีผู้ถูกจับกุม 145คน มีผู้หญิงถูกข่มขืนทางเพศ 26 คน เหตุการณ์ครั้งนี้ถูกเรียกตามสถานที่เกิดเหตุว่า “the Atenco incident”

พลังนักศึกษา: the Yo Soy 132 (I am 132)

ในช่วงเดือนพฤษภาที่ผ่านมา นาย Nieto ได้เยือนมหาวิทยาลัย Ibero – American เพื่อประชุมสัมมนากับนักศึกษา และโดนต่อต้าน ขับไล่อย่างหนักหน่วงจากนักศึกษาจำนวนมาก โดยภายหลังจากที่แบกสังขารออกมาได้ เขากล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ในทำนองที่ว่า นักศึกษาที่ออกมาต่อต้านขับไล่นั้น ไม่ใช่นักศึกษาจริง แต่เป็นพวกที่ถูกว่าจ้างมาจากนาย Obrador ผู้สมัครแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคฝ่ายซ้าย ข้อกล่าวหาของ Nieto สร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับนักศึกษา พูดในอารมณ์การเมืองไทยแล้ว นี่คือ การดูถูกประชาชนชัดๆ นักศึกษาเหล่านั้นจำนวนทั้งสิ้น 131 คน จึงได้อัดวีดีโอที่แสดงบัตรประจำตัวนักศึกษาของพวกเขาลงเว็บไซต์ Youtube เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเป็นนักศึกษาจริงๆ ไม่ใช่ผู้ถูกจ้างมาดังที่นาย Nieto กล่าวหา คลิปวีดีโอดังกล่าวแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และผู้ที่สนับสนุนการประท้วงนั้นก็ขยายตัวไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีกหลายแห่ง โดยผู้คนที่ให้การสนับสนุนนักศึกษากลุ่มดังกล่าว จะพากันพิมพ์ข้อความลงบนสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ว่า “ฉันคือนักศึกษาคนที่ 132” อันเป็นที่มาของชื่อกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านนาย Nieto และพรรค PRI ที่ชื่อ “the Yo Soy 132” (I am 132)

…..…..

การเมืองเม็กซิกันภายใต้การกลับมาสยายปีกอีกครั้งของพรรค PRI ยังไม่ทันจะเริ่มต้น สัญญาณที่แสดงให้เห็นทัศนคติอันไม่สู้ดีนักของนาย Nieto ต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองตามวิถีประชาธิปไตยก็เริ่มปรากฏขึ้นเสียแล้ว บวกกับความทรงจำที่คนเม็กซิกันมีต่อบทบาทและจุดยืนของพรรค PRI …จึงน่าติดตามห่างๆ อย่างห่วงๆ ว่า การเมืองเม็กซิกันจะเป็นไปในทิศทางใดต่อไป ….ขณะเดียวกัน สภาพการณ์แบบนี้ย่อมไม่ได้เป็นหลักประกันให้เชื่อมั่นได้อย่างสนิทใจว่า พรรค PRIจะไม่หวนกลับไปสู่การใช้ความรุนแรงและการใช้อำนาจบาตรใหญ่เหมือนแต่ก่อน

หวังได้เพียงว่า พรรค PRI ในฐานะองคาพยพที่มีชีวิตทางการเมือง ซึ่งย่อมมีความทรงจำเช่นเดียวกับคนเม็กซิกัน คงจะนำอดีตมาเป็นบทเรียนเตือนใจปัจจุบัน และไม่เลือกที่จะลืมการกระทำของตน ซึ่งประชาชนผู้สูญเสียหลายคนอยากลืม แต่กลับจำ