หน้าแรก บทความ

เม็กซิกันอันตราย : ยาเสพติด อาชญากรรม และทางแพร่งของนโยบายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี

ปัญหาอาชญากรรมเป็นปัญหาหลักของเม็กซิโกมาตลอด โดยเม็กซิโกเป็นประเทศที่มีอัตราการถูกลักพาตัวสูงที่สุดในโลก และนับตั้งแต่ปี 2006 ภายใต้นโยบายทำสงครามกับยาเสพติดของอดีตประธานาธิบดี Calderon เป็นต้นมา ตัวเลขของผู้คนเสียชีวิตจากความรุนแรงที่เกี่ยวโยงกับเรื่องขบวนการอาชญากรรม โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจค้ายาเสพติด ก็พุ่งสูงถึง 50,000 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่แถบเมืองชายแดนตอนเหนือของประเทศ อาทิ มลรัฐ Ciudad Juarez, Michoacan และ Guerrero

การทำสงครามกับยาเสพติดในสมัยประธานาธิบดี Calderon มีปัญหาสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ

ประการแรก “การวิสามัญ” ในหลายกรณีไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่า เป็นการกระทำต่อสมาชิกกลุ่มธุรกิจค้ายาเสพติดอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างเช่น การโจมตีขบวนการค้ายาเสพติด ในเขต Xalapa เมืองหลวงของมลรัฐ Veracruz ซึ่งทำให้นาย Joaquin Figueroa เสียชีวิต พร้อมกับมีปืนกลร่วงอยู่ข้างกาย โดยตำรวจใช้ปืนกลดังกล่าวเป็นหลักฐานในการกล่าวอ้างว่า เขาเป็นสมาชิกขบวนการฯ แต่ต่อมา นางสาว Janet Figueroa ลูกสาวของเขาได้ออกมาเรียกร้องว่า แท้ที่จริงแล้ว นาย Joaquin ผู้เป็นพ่อนั้นเป็นเพียงช่างยนต์ธรรมดา และนางสาว Janet ได้วิพากษ์วิจารณ์การโจมตีครั้งนี้ว่า เป็นเพียงความพยายามของฝ่ายรัฐที่จะแสดงให้ประชาชนเห็นว่า มีการต่อสู้ปราบปรามอาชญากรในมลรัฐนี้เท่านั้น พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลพิสูจน์ในทางคดีว่าพ่อของเธอเกี่ยวโยงกับกับขบวนการค้ายาเสพติดจริงหรือไม่

ประการที่สอง การทำสงครามกับยาเสพติดของประธานาธิบดี Calderon ได้เปลี่ยนสภาพของเมืองหลายเมืองไปเป็นสนามรบ ที่ปกคลุมด้วยบรรยากาศของความหวาดกลัว และการตอบโต้กันไปมาระหว่างฝ่ายรัฐกับขบวนการยาเสพติด และระหว่างขบวนการยาเสพติดด้วยกันเอง ส่งผลให้ตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงที่เกี่ยวโยงกับขบวนการอาชญากรรมในภาพรวมทั้งประเทศ พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ (ตามกราฟด้านล่าง) โดยเฉพาะในปี 2011 ที่ปรากฏชัดถึงการเผชิญหน้ากันอย่างเข้มข้นมากขึ้นระหว่างกลุ่มธุรกิจค้ายาเสพติด Pacific Cartel (หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Sinaloa Cartel) ที่มีผู้นำคือ “Shorty” Joaquin Guzman Loera หรือ El Chapo นักค้ายาที่เป็นที่ต้องการตัวมากที่สุดในโลก กับกลุ่ม Los Zetas ซึ่งเป็นปีกติดอาวุธของกลุ่มธุรกิจค้ายาเสพติด Gulf Cartel ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้เป็นผู้ส่งออกยาเสพติดรายใหญ่ไปยังตลาดในสหรัฐอเมริกา

ประการสุดท้าย ภายใต้กรอบของการทำสงครามกับยาเสพติดนี้ ยุทธศาสตร์หลักของ Calderon คือ การมุ่งจับกุมหัวหน้าขบวนการกลุ่มต่างๆ แต่ยุทธศาสตร์ดังกล่าว กลับส่งผลในทางตรงกันข้ามตามมาด้วย กล่าวคือ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ทำลายโครงสร้างองค์กรและสายบังคับบัญชาของกลุ่มธุรกิจค้ายาเสพติดรายใหญ่หลายกลุ่ม นำมาซึ่งการกระจัดกระจายแตกตัวออกมากของกลุ่มอาชญากร (criminal cells) ขนาดเล็กจำนวนมาก ที่ไม่มีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดค้าขายยาเสพติดข้ามชาติ หรือปฏิบัติการในระดับประเทศ ดังนั้น จึงเลือกที่จะดำเนินกิจการอาชญากรรมในระดับท้องถิ่นแทน ประกอบกับบริบทที่มีการเผชิญหน้าขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มธุรกิจค้ายาเสพติดและความไร้ประสิทธิภาพในการรักษาความสงบเรียบร้อยของหน่วยงานรัฐระดับท้องถิ่น กลุ่มอาชญากรขนาดเล็กเหล่านี้จึงเล่นบทบาทของมาเฟียท้องถิ่น เรียกเก็บค่าคุ้มครองจากประชาชนในพื้นที่ แลกกับความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต และหลายกลุ่มดังกล่าว ก็ได้เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายอาชญากรรมที่ร่วมมือกันอย่างหลวม

……

ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ แม้ว่าการดำรงอยู่ของกลุ่มธุรกิจค้ายาเสพติดจะเป็นปัญหาของเม็กซิโกมาโดยตลอด แต่ผลอันเกิดจากการดำเนินนโยบายทำสงครามกับกลุ่มดังกล่าวในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา ดูเหมือนจะสร้างปัญหาความมั่นคงที่สำคัญให้กับประชาชนเม็กซิกันมากกว่า เพราะทำให้กลุ่มขบวนการต่างๆ แตกออกกลายเป็นกลุ่มอาชญากรขนาดเล็กๆ น้อยๆ ที่ดำเนินกิจการใต้ดินในแบบอื่นๆ ในระดับท้องถิ่น นอกเหนือจากการค้าและขนถ่ายยาเสพติด อาทิ การลักพาตัว การเรียกค่าคุ้มครอง การข่มขู่กรรโชกทรัพย์ ฯลฯ ที่สร้างผลกระทบให้กับชีวิตประจำวันของประชาชนได้มากกว่าการดำเนินกิจการของกลุ่มธุรกิจค้ายาเสพติดรายใหญ่เสียอีก

ความล้มเหลวของนโยบายทำสงครามกับยาเสพติดในรัฐบาลที่แล้วแห่งพรรค PAN เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พรรค PRI ของประธานาธิบดี(ใหม่ถอดด้าม) Nieto ชนะการเลือกตั้งเมื่อครึ่งเดือนที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องท่าทีของรัฐบาลใหม่ต่อการจัดการปัญหายาเสพติดและขบวนการอาชญากรรมจึงเป็นเรื่องที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ และมีผู้หวั่นเกรงกันว่า รัฐบาลพรรค PRI ของประธานาธิบดี Nieto จะหวนกลับไปใช้แท็คติกเดิมของตนในการ “คอรัปชั่น” ทำความตกลงกับกลุ่มธุรกิจค้ายาเสพติดให้สามารถขนถ่ายค้าขายกันได้ เพื่อแลกกับการธำรงระเบียบความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ แต่ความเป็นไปได้ดังกล่าวก็ได้รับการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญว่า คงเป็นไปได้ยากในสภาวการณ์ปัจจุบันที่คนเม็กซิกันมีความอดทนต่ำลงต่อการคอรัปชั่น อีกทั้งขบวนการ/กลุ่มธุรกิจค้ายาเสพติดจำนวนมากก็แตกกระจัดกระจายออกเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย ส่งผลให้การจะพูดคุยทำความตกลงนั้น มีความยากมากขึ้นที่จะหาข้อตกลงร่วมกับกลุ่มทั้งหมด

ปัญหาอิทธิพล อำนาจมืดของกลุ่มธุรกิจค้ายาเสพติด และขบวนการอาชญากรรมทั้งข้ามชาติ และในระดับท้องถิ่น เป็นปัญหาที่พัวพันอยู่กับปัญหาคอรัปชั่นภาครัฐ และหยั่งรากลึกอยู่กับสังคมเม็กซิกันมายาวนาน ยากที่จะแก้ไขได้ในชั่วข้ามคืน จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่า รัฐบาลชุดใหม่ของเม็กซิโก จะเลือกแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร ระหว่างการยืนยันในยุทธศาสตร์ปราบปรามทำลาย, ยุทธศาสตร์การเกี๊ยะเซี๊ยะเหมือนในอดีตกาล หรือยุทธศาสตร์ทางเลือกอื่น

แต่สำหรับผู้ที่ไม่สนใจการเมืองเม็กซิกันสักเท่าไหร่ …ก็น่าลองพิจารณาเรื่องราวนี้โดยเทียบเคียงกับสถานการณ์ของกลุ่มก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเราดู แน่นอนว่า กลุ่มธุรกิจค้ายาเสพติดและกลุ่มอาชญากรในเม็กซิโก คงไม่มีเป้าประสงค์ที่จะแบ่งแยกดินแดน แต่ในบางมิติของปัญหาและพัฒนาการของเรื่องราว …ก็มีส่วนที่คลับคล้าย และเป็นกระจกเงาสะท้อนแง่มุมให้กันอยู่ในที …สนุกดีอยู่เหมือนกัน