หน้าแรก บทความ

มายาคติว่าด้วยสถานการณ์ชายแดนใต้มักจะรุนแรงขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอน …จริงหรือ ?

นักสันติวิธีท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า เมื่อเกิดความรุนแรงขึ้น สิ่งแรกที่ถูกทำลาย คือ ความจริง

ในสถานการณ์ความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังของจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำถามสำคัญในใจใครหลายคนตลอดช่วงหลายสิบวันแห่งการละศีลอดที่ผ่านมาก็คือว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับห้วงเวลาเดือนรอมฎอนใช่หรือไม่ใช่ ? … ความรุนแรงในห้วงเดือนนี้ เพิ่มขึ้นจริงหรือเพียงเพราะเราคิดกันไปเอง ? ฯลฯ

คำถามเหล่านี้เป็นประเด็นที่น่าขบคิดและหาคำตอบอย่างมาก เพราะคำตอบดังกล่าวเกี่ยวพันกับการยืนยัน(หรือไม่ก็หักล้าง) คำแถลงของทั้งรัฐบาลและ OIC ที่ประสานเสียงกันมาโดยตลอดว่า ความขัดแย้งในพื้นที่ไม่ใช่ความขัดแย้งทางศาสนา

ในการตอบคำถามข้างต้น หลักฐานเชิงประจักษ์ที่พอจะช่วยเราอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างการก่อเหตุรุนแรงกับช่วงเดือนรอมฎอน คือ สถิติของเหตุการณ์ความไม่สงบ นับตั้งแต่มกราคม 2547 พฤษภาคม 2555 ซึ่งในที่นี้จะทดลองพิจารณาโดยจัดความสัมพันธ์ของสถิติดังกล่าวกับช่วงเดือนรอมฎอนของแต่ละปี (โดยการประมาณการณ์ช่วงเดือนคร่าวๆ ) ดังนี้

จากข้อมูลตัวเลขด้านบน ช่วงที่วงด้วยสี่เหลี่ยมสีแดงไว้ คือ ช่วงที่ประมาณการณ์ว่าเป็นเดือนรอมฎอนของแต่ละปี ซึ่งพบว่า จำนวนการเกิดเหตุ และจำนวนคนเจ็บคนตาย เคลื่อนตัวไปในทิศทางเดียวกับภาพใหญ่ของพลวัตสถานการณ์ความไม่สงบ ไม่ได้ผิดแผกแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด

และหากนับต่อจากสถิติของอาจารย์ศรีฯ มาจนถึงเดือนกรกฎาคมที่เพิ่งผ่านไปนี้โดยใช้ข้อมูลจาก blog ของSupaporn ซึ่งเป็นฐานอยู่ใน Deep South Watch เหมือนกัน จะเห็นแนวโน้มว่า จำนวนการก่อเหตุมีทิศทางเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่แตะจำนวน 100 ครั้ง (.. อยู่ที่ 56 ครั้ง มิ..อยู่ที่ 80 ครั้ง และ ก.. อยู่ที่ 85 ครั้ง)

ในขณะที่จำนวนคนเจ็บคนตายในช่วงปี 2555 นี้ จะเห็นจากสถิติของอาจารย์ศรีฯ ว่า เดือนมีนาคม (เดือนที่เกิดเหตุคาร์บอมบ์ที่หาดใหญ่และเมืองยะลา) เป็นเดือนที่มีผู้บาดเจ็บมากที่สุดในรอบ 9 ปีของสถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในขณะที่ในเดือน พ.. มิ.. และ ก.. ปีนี้ จำนวนคนตายยังไม่แตะครึ่งร้อย รวมทั้ง คนเจ็บก็ยังไม่แตะหลักร้อย

ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงเวลาอื่นๆ ทั้งในแง่จำนวนการเกิดเหตุ ที่ดูลดลงนับตั้งแต่ปี 2551 และจำนวนคนเจ็บคนตายที่ยกเว้นบางเดือน (ซึ่งไม่ใช่เดือนรอมฎอนของแต่ละปี !!!) แล้ว ดูจะเปลี่ยนแปลงไม่มากนับตั้งแต่เริ่มต้นนับศพกันเมื่อปี 2547 (โปรดดูกราฟประกอบ)

ฉะนั้นแล้ว จากสถิติเบื้องต้นดังกล่าว อาจสรุปในแง่จำนวนตัวเลขได้อย่างน้อย 2 ข้อ คือ

1. สถานการณ์ความไม่สงบในช่วงเดือนรอมฎอนปีนี้ไม่ได้รุนแรงไปกว่าช่วงเวลาอื่นๆ ที่ผ่านมาตลอด 9 ปีของสถานการณ์ความไม่สงบ และ

2. การเพิ่มขึ้นและลดลงของการก่อเหตุความรุนแรงในแต่ละช่วงเวลา น่าจะเป็นผลมาจากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ มากกว่าปัจจัยเรื่องของการอยู่หรือไม่อยู่ในช่วงเดือนรอมฎอนของแต่ละปี เช่น ระดับการบาดเจ็บล้มตายในช่วงก่อนตุลา 2547

ด้วยเหตุนี้ ภาพที่คนจำนวนไม่น้อยวาดไว้ว่า เดือนรอมฎอน สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่มักจะเกิดถี่ขึ้น หรือหนักหนาสาหัสขึ้นนั้น จึงเป็นภาพที่ไม่ได้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงเชิงสถิติ โดยผมมองว่า มายาคติดังกล่าวน่าจะเป็นผลมาจากภาพที่สื่อมวลชนจับจ้องต่อการเกิดเหตุ และนำเสนอในสิ่งซึ่งเชื่อมต่อเข้ากันได้อย่างพอดีกับการรับรู้ของคนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยโดยรวม ที่มีการรับรู้เกี่ยวกับมุสลิมในภาพของความเป็นอื่น ที่แปลกแยก อยู่แล้ว ความรู้สึกของคนเหล่านั้นจึงปรากฏในลักษณะเดียวกับการที่บางคนกลัวเสียงละหมาดยามรุ่งสาง ลักษณะเดียวกับการที่บางคนกลัวสตรีคลุมฮิญาบลักษณะเดียวกับการที่บางคนกลัวศาสนาอิสลามยึดครองประเทศไทยและทำลายพุทธศาสนา ลักษณะเดียวกันนี้ ก็เกิดขึ้นกับคนหลายคนที่กลัวมุสลิมคลั่งศาสนาจะบ้าเลือดก่อเหตุรุนแรงในช่วงเดือนศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน

กระนั้นก็ตาม ในแง่ของการก่อเหตุแต่ละครั้งในช่วงเดือนรอมฎอนแล้ว คงต้องยอมรับว่าเรายังไม่มีสถิติ หรือข้อเท็จจริงใดที่พิสูจน์อย่างเปิดเผยและครบถ้วนว่า การลงมือก่อเหตุในแต่ละครั้ง (มากบ้าง น้อยบ้าง) มีความสัมพันธ์กับเดือนศักดิ์สิทธิ์นี้หรือไม่ และอย่างไร โดยเฉพาะเจาะจงที่เดือนรอมฎอนของปีนี้

ที่สถิติตัวเลขของ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้าระบุว่า มีการเกิดเหตุความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 7 เดือน

ซึ่งนี่เป็นสิ่งเย้ายวนให้อดที่จะวิเคราะห์ต่อไปไม่ได้ว่า หากสมมติว่า การก่อเหตุในช่วงเดือนนี้สัมพันธ์กับการเป็นเดือนรอมฎอนแล้ว ความสัมพันธ์ดังกล่าวมีลักษณะ รูปร่าง หน้าตา อย่างไร ซึ่งประเด็นนี้ คงจะได้มีโอกาสวิเคราะห์ภาพความเป็นไปได้ (scenarios) เพื่อแลกเปลี่ยนทรรศนะกับท่านผู้อ่านในครั้งต่อไป