ผมเพิ่งมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ เรื่อง “ดั่งดวงตา…จากสรวงสวรรค์”หนึ่งในภาพยนตร์ห้าเรื่องที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยมุ่งเผยแพร่พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีพระเมตตาครอบครัวผู้สูญเสียในเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ดั่งดวงตา…จากสรวงสวรรค์ เป็นเรื่องราวที่สร้างขึ้นจากเรื่องจริงของชีวิตคุณกอบกุล รัญเสวะ
ผอ.โรงเรียนบ้านตือกอ จ.นราธิวาส ที่ถูกสังหารด้วยอาวุธปืน ขณะขี่จักรยานยนต์กลับบ้านเพื่อไปป้อนข้าวแม่ซึ่งเป็นอัมพาต
…ผมรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการสังหารคุณนันทนา แก้วจันทร์ ผอ.โรงเรียนท่ากำชำ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นครูรายที่ 154 นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ที่ต้องสังเวยชีวิตให้กับสงครามอันไม่รู้จุดสิ้นสุด
…ผมเขียนบทความชิ้นนี้ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการสังหารครูศพที่ 155 คือคุณฉัตรสุดา นิลสุวรรณ ครูโรงเรียนบ้านตาโงะ จ.นราธิวาส
…ผมคิดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับครูในชายแดนใต้ บนคำถามว่า สังคมไทยส่วนใหญ่คิดในเรื่องเดียวกันนี้ อย่างไร ?
แน่นอนว่า ภาพยนตร์เรื่องดั่งดวงตา…จากสรวงสวรรค์ คงไม่สามารถเป็นภาพตัวแทนของการรับรู้ที่สังคมทั้งหมดมีต่อปัญหาชายแดนใต้ จึงไม่สามารถตอบคำถามของผมข้างต้นนี้ได้ แต่สิ่งที่ผมสนใจมากกว่า ก็คือ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ส่งภาพลักษณ์และการรับรู้ต่อปัญหาชายแดนใต้ในแบบไหนไปให้กับผู้รับชมในสังคม ?
ผมขอเริ่มต้นคิดเกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยการกำหนดสมมติฐานขึ้นเล่นๆ 2 ชุด
สมมติฐานชุดแรก : ความมีเหตุผลของผู้ก่อเหตุรุนแรง
A₁ ผู้ก่อเหตุรุนแรงเป็นผู้ไม่มีเหตุผล ตรรกะวิบัติ ถูกมอมเมาด้วยอุดมการณ์อันบิดเบือน
B₁ ผู้ก่อเหตุรุนแรงเป็นผู้มีเหตุผล มีความสามารถในการคิดและเลือกการกระทำ
สมมติฐานชุดที่สอง : โครงสร้างของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง
A₂ กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมีการจัดโครงสร้างองค์กรและสายบังคับบัญชาชัดเจน
B₂ กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงแยกกันทำ มีสายบังคับบัญชาไม่ชัดเจน ไม่มีโครงสร้างที่เป็นเอกภาพ
จากสมมติฐาน 2 ชุดที่ผมกำหนดขึ้นเล่นๆ เพื่อพิจารณาว่า ภาพยนตร์เรื่อง ดั่งดวงตา…จากสรวงสวรรค์ ส่งต่อภาพลักษณ์หรือ “วิธีคิด” เกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้แบบใดไปถึงผู้รับชม เมื่อลองนำมาวิเคราะห์ร่วมกันทั้งสองสมมติฐาน จะพบว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนภาพลักษณ์เกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้ในแบบ A₁ + A₂เป็นหลัก โดยสะท้อนอย่างชัดเจนในประโยคที่ตัวแสดงคนหนึ่งขู่เข็ญให้เพื่อนของเขาลงมือสังหารครูของเขาเอง ประโยคที่ตัวแสดงดังกล่าวพูดคือ
“..เขาสั่งให้ฆ่า มึงก็ต้องฆ่า… … เพื่ออุดมการณ์ !! เพื่ออุดมการณ์ !!เพื่ออุดมการณ์ !!..”
ในทรรศนะของผม ความหมายสำคัญของประโยคนี้ อยู่ที่คำว่า “เขา”และคำว่า “สั่ง บวกกับ เพื่ออุดมการณ์”
“เขา”… บุรุษที่สามที่ต้องละไว้ ?
คำว่า “เขา”สะท้อนถึงภาพการจัดโครงสร้างองค์กรที่มีลำดับชั้น ส่งต่อคำสั่งกันมาเป็นทอดๆ อย่างเป็นระบบ แต่ไม่เปิดเผยที่มาว่าใครกันแน่อยู่เบื้องหลัง ดังนั้น ประโยคนี้ในภาพยนตร์จึงไม่เป็นคำว่า “กอเดสั่งให้ฆ่า” , “ยาเต็งสั่งให้ฆ่า” ,“เปาะเนสั่งให้ฆ่า”ฯลฯ แต่จึงต้องเป็นคำว่า “เขาสั่งให้ฆ่า”เพื่อวางบุรุษที่สามนี้ไว้ในที่อันไม่เปิดเผยของตัวบท (ทั้งนี้ ก็อาจพิจารณาอีกแบบได้เหมือนกันว่า ทางผู้สร้างอาจเจตนาที่จะไม่กล่าวถึงตัวละครเพิ่มขึ้นให้มากความก็เป็นได้ แต่ในประเด็นนี้ผมเองคิดว่าไม่มีน้ำหนักมากเท่ากับเจตนาของผู้สร้างที่จะละบุรุษที่สามผู้นี้ไว้ในที่อันไม่เปิดเผยมากกว่า)
อุดมการณ์อันใดเล่า เจ้าจึงฆ่า ?
ส่วนคำว่า “สั่ง” บวกกับ “เพื่ออุดมการณ์”ก็สะท้อนให้เห็นภาพของการที่คำสั่งของผู้บังคับบัญชาขบวนการฯ นั้น นำมาซึ่งปฏิบัติการจริงได้อย่างสมบูรณ์ ผ่านการหล่อหลอมให้เชื่อมั่นในอุดมการณ์ โดยการที่ตัวแสดงที่ขู่เข็ญเพื่อนให้ลงมือสังหารครูนั้น ไม่ได้อธิบายขยายความให้ผู้รับชมภาพยนตร์
ได้เข้าใจว่า อุดมการณ์ที่ว่านั้น คือ อุดมการณ์อะไร กลับกัน ฉากนี้กลับมุ่งเน้นไปที่ภาพตัวแสดงตัวนั้นกำลังแหกปากตะโกนแต่คำว่า “เพื่ออุดมการณ์ !! เพื่ออุดมการณ์ !!เพื่ออุดมการณ์ !!..”อยู่ฝ่ายเดียวราวกับคนบ้าคลั่ง สำหรับผมแล้ว ภาพนี้ชวนให้คิดถึง มูลเหตุของการใช้ความรุนแรงว่ามาจากการบ้าคลั่งในอุดมการณ์อันเลื่อนลอยที่ผู้นำระดับสูงของขบวนการฯ หล่อหลอมล้างสมองบรรดาสมาชิก …หาได้มีเหตุผลอันใดที่ควรรับฟังไม่ !ดังนั้น จึงไม่แปลกที่การฆ่าผู้อื่นของคนเหล่านี้จะถูกสังคมมองเฉพาะมิติของความโหดเหี้ยม ทารุณ น่ากลัว และน่ากำจัดทิ้ง !
สิ่งที่น่าสนใจประการถัดมา คือ ผมพบว่า A₁ + A₂ซึ่งผมมองว่าเป็นสมมติฐานหลักในการมองปัญหาชายแดนใต้ของภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นสมมติฐานที่ไปด้วยกันได้กับสมมติฐานการแก้ปัญหาของฝ่ายความมั่นคงของรัฐไทยบางพวก โดยเฉพาะปีกอนุรักษ์นิยมและกลุ่มนิยมแนวทางแก้ปัญหาโดยใช้กำลัง หลักฐานที่สะท้อนชัดถึงข้อกล่าวหาของผม อาจจะดูได้จากความคาดหวังของคนเหล่านี้ว่าจะสามารถแก้ปัญหาชายแดนใต้ได้ด้วยการใช้มาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ที่เปิดช่องทางกฎหมายให้ “ผู้หลงผิด”“กลับตัว”เข้าสู่กระบวนการอบรมของรัฐเพื่อกลับบ้าน ซึ่งคำว่า “ผู้หลงผิด”และ “กลับตัว”นี้ก็มีนัยความหมายของการไม่เชื่อว่าคนเหล่านี้จะ “หลงถูก”หรือมีนัยความหมายของการมองว่าสิ่งที่คนเหล่านี้เชื่ออยู่ ไม่ใช่อุดมการณ์หรือความคิดการเมือง แต่เป็น “ความหลง (ที่ผิด)”ดังนั้น ภาษาในกระบวนการของมาตรา 21ดังกล่าว ก็จึงเป็นการดิสเครดิตอุดมการณ์ที่คนเหล่านี้สู้อยู่ว่าเป็นการหลงผิด และรัฐไทยมีความใจบุญพร้อมให้โอกาสได้กลับตัว
ด้วยแง่มุมข้างต้น ผมจึงไม่คิดว่า A₁ + A₂นี่เป็นสมมติฐานการมองปัญหาชายแดนใต้ที่ถูกมากนัก แม้มันจะมีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ครอบคลุมมิติอันซับซ้อนละเอียดอ่อนของปัญหา ข้อด้อยของสมมติฐานดังกล่าว สำหรับ A₁คือ มันไม่เชื่อว่าคนที่ลงมือนั้นมีความสามารถเชิงเหตุผล หากแต่ถูกหลอกลวง มอมเมา ล้างสมอง ดังนั้น บนสมมติฐานนี้ จึงปฏิเสธที่จะรับฟังเหตุผลของการใช้ความรุนแรง อันเป็นจุดเริ่มสำคัญต่อการคิดแก้ไขปัญหาส่วนที่เป็นสาเหตุ
ส่วนข้อด้อยสำหรับสมมติฐานแบบ A₂คือ มันจำกัดความพยายามคิดแก้ปัญหาไว้เฉพาะการคิด
ที่จะค้นหาผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ผู้ที่เป็น “Master Mind”สามารถชี้นำความคิดของบรรดาสมาชิกขบวนการฯ หรือผู้ที่สามารถสั่งการขบวนการได้อย่างแท้จริง ซึ่งในบริบทของการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ผู้ที่ยืนบนสมมติฐานแบบนี้มักจะมีคำถามเสมอว่า “คุยกับใคร?” ,“รู้ตัวแล้วหรือว่าใครคือหัวหน้าขบวนการฯ ที่ต้องไปคุย?” ,“คุยถูกตัวแล้วหรือ?”ฯลฯ สมมติฐานลักษณะนี้จึงไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับความเป็นไปได้ที่คนอื่นๆ ทั้งที่เป็นผู้ใช้ความรุนแรง และผู้ที่มีความเห็นแตกต่างกับรัฐ ก็อาจจะอยากมีพื้นที่ปลอดภัยและเข้ามีส่วนร่วมในวงพูดคุยบ้างเหมือนกัน เพื่อที่เสียงของพวกเขาจะได้ไม่จำเป็นต้องสะท้อนผ่านกระบอกปืน ซึ่งการจะหาตัวหัวหน้าที่เป็นเหมือนตัวโกงบอสใหญ่ในหนังฮอลลีวู้ดนั้น ไม่ใช่เรื่องสำคัญเพียงเรื่องเดียวสำหรับการจะแก้ปัญหาในกรอบของการพูดคุยเพื่อสันติภาพ
นอกจากภาพลักษณ์ที่ภาพยนตร์เรื่อง ดั่งดวงตา…จากสรวงสวรรค์ ส่งมายังผู้รับชมนั้น จะเป็น
การถ่ายทอดมุมมองต่อปัญหาชายแดนใต้อย่างจำกัดแล้ว จุดที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เน้นย้ำอย่างหนักแน่นเป็นอย่างมาก และพยายามจะรีดเค้นออกมาตลอดทั้งเรื่อง ก็คือ การย้ำให้เห็นฉากของการพลัดพรากสูญเสียระหว่างแม่ผู้เป็นอัมภาพกับลูกสาวซึ่งเป็นครูผู้ทุ่มเทเสียสละเพื่อเยาวชนมาโดยตลอด ด้วยน้ำมือการสังหารของพวกคลั่งอุดมการณ์ที่ถูกมอมเมา ถูกหลอกล้างสมอง ไร้เหตุผล ซึ่งสาเหตุของการลงมือตามสมมติฐานที่ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนออกมาดังกล่าว ก็ยิ่งเพิ่มเติมอารมณ์โกรธแค้น เกลียดชัง ต่อบรรดาผู้ก่อเหตุรุนแรงทั้งหลาย พร้อมกับการก่อรูปกำแพงแห่งอคติต่อบรรดาผู้ที่มีความคิดเห็นบางเรื่องตรงกันข้ามกับรัฐไทย หรือต่อบรรดาผู้ที่แสดงความเห็นอกเห็นใจผู้ต้องหาคดีความมั่นคง
ดังนั้น ภาพลักษณ์ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทอดไปสู่การรับรู้ของสังคมเกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้ จึงเป็นภาพลักษณ์ที่น่าหวาดกลัวอย่างมากว่า จะทำให้คนที่ซาบซึ้ง อินกับสารที่สื่อมาในภาพยนตร์ดังกล่าวอย่างสุดขั้ว ได้ก่อรูปความคิดของพวกเขาในทิศทางสนับสนุนให้รัฐใช้มาตรการกำจัดปราบปรามพวกบ้าคลั่ง ไร้เหตุผลนี่อย่างเด็ดขาด (โชคยังดีที่ผมเข้าใจว่าไม่ค่อยมีใครได้ดูภาพยนตร์ดังกล่าวมากนัก มิเช่นนั้นแล้ว เราอาจจะเห็นมีการรณรงค์เปิดเพลงหนักแผ่นดินทั่วบ้านทั่วเมืองกันอีกครั้ง)
ปัญหาชายแดนใต้อาจห่างไกลกับชีวิตประจำวันของคนภายนอกพื้นที่ แต่สิ่งที่สังคมควรระมัดระวัง คือ การไม่เผลอรีบร้อนตัดสินคุณค่าของเหตุร้ายแต่ละครั้ง การไม่เผลอใช้อารมณ์โกรธแค้นเกลียดชังและหวาดกลัวเข้าไปให้ความหมายต่อปรากฏการณ์ แต่ควรเฝ้าดูตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบด้านโดยใช้สติและใจอันเปิดกว้าง ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเข้าใจต่อปัญหาชายแดนใต้รอบด้านมากขึ้น
…เข้าใจ ไม่ใช่เพื่อให้สังคมไทยต้องเข้ามาเล่น/ลงมือแก้ไขปัญหานี้ทุกคน
…แต่เข้าใจ เพื่อให้สังคมไทยไม่ก่อรูปอารมณ์โกรธแค้นเกลียดชังของตนขึ้นเป็นโครงสร้างทางความคิดอันรับรองและสนับสนุนให้รัฐใช้มาตรการรุนแรงเพื่อปิดปากเพื่อนมนุษย์ส่วนที่คิดแปลกและแตกต่างจากสังคมส่วนใหญ่ เหมือนที่สังคมซึ่งเรียกตนเองว่า เมืองพุทธแห่งนี้เคยสมยอมให้กับเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาธรรมศาสตร์เมื่อ 6 ตุลา 19 โดยปราศจากความสำนึกผิดบาป และแสร้งทำเป็นเหมือนว่าวันนั้นไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น
การตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบด้านโดยใช้สติและใจอันเปิดกว้างในที่นี้ จึงถือว่าเป็นการนำมาซึ่งความเข้าใจ เพื่อสังคมไทยเอง จะได้ไม่ต้องมีส่วนก่อบาปกรรมอันใดขึ้นมาอีก ทั้งโดยรู้ตัว และไม่รู้ตัว