หน้าแรก บทความ

กฎหมายกับความเท่าเทียมในสังคมสารขัณฑ์

ต้นปีที่เพิ่งผ่านมาไม่นาน มีความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในแวดวงสิทธิมนุษยชน และแวดวงผู้ประกอบวิชาชีพบรรณาธิการสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมถึงแวดวงนักเขียนและคอลัมนิสต์ เนื่องจากปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ศาลได้พิพากษาจำคุก นายสมยศ พฤกษาเกษม บรรณาธิการบริหารนิตยสารวอยซ์ ออฟทักษิณ ในความผิดฐานดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายสถาบันฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 จากกรณีตีพิมพ์บทความของผู้ใช้นามปากกาว่า “จิตร พลจันทร์” (หรือในนามจริงคือ จักรภพ เพ็ญแข)

โดยพิพากษาให้จำคุกนายสมยศ 10 ปี และให้นับโทษต่อจากคดีที่นายสมยศ หมิ่นประมาท พลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตร อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก 1 ปี รวมจำคุก 11 ปี!!

ความจริงบทความนี้แม้จะไม่ถูกจริตใครอีกหลายคน ตัวนิตยสารเองชื่อหัวก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า อิงใครหรือฝ่ายไหน แต่นี่ก็คือเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดในสังคมประชาธิปไตยที่อารยประเทศทั่วโลกเขาให้สิทธิเสรีภาพอยู่แล้ว แต่หากว่ามีข้อเขียนที่ไปละเมิดหรือหมิ่นประมาทใครก็ว่ากันไปตามตัวบทกฎหมายที่สมควรแก่เหตุ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน —อย่าลืมว่าไทยไม่ใช่ศูนย์กลางของโลก เราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก เรายังต้องพึ่งพามิตรประเทศติดต่อสังฆกรรมนานากับเพื่อนบ้านทั่วโลกอยู่ แต่ขณะที่เพื่อนเราเดินก้าวหน้าไปไกลแล้ว แต่เรายังเดินดุ่มอยู่กับที่ แถมไม่ปรับตัวให้เข้ากับใคร ไม่ฟังใครเพราะยึดมั่นถือมั่นกับจารีตเดิมๆ ที่ล้าหลังคลั่งชาติ มีเพื่อนที่ไหนอยากคบค้าสมาคมด้วยเล่า?

ทันทีที่มีการประกาศคำตัดสิน สื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อต่างประเทศจากทั่วโลกต่างก็ให้ความสนใจอย่างมาก ถึงขั้นเกาะติดรายงานสถานการณ์นี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น BBC, Al Jazeera, Voice of America, REUTERS และ FOX NEWS มีการพาดหัวข่าวนี้ในหน้าหนึ่งของเว็บไซต์ เนื่องจากในต่างประเทศมอวว่าคดีในความผิดมาตรา 112 เป็นคดีที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน มีบทลงโทษที่ไม่เหมาะสมกับความผิด และมีกระบวนการดำเนินคดีที่แตกต่างจากคดีอื่นๆ ทั่วไป ต่างจากสื่อทีวีกระแสหลักในบ้านเราที่ไม่ใคร่ให้ความสนใจหรือให้ความสำคัญกับข่าวชิ้นนี้สักเท่าไหร่ ดูเหมือนว่า จิตสำนึกด้านสิทธิมนุษยชนของสื่อทีวีเมืองไทยจะอ่อนแอเอามากๆ หรืออาจถูกความกลัวเข้าครอบงำจนละเลยที่จะทำหน้าที่ของสื่อที่ดี

ปฎิกิริยาจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติทั่วโลกก็ต่างมีมาถึงค่อนข้างรุนแรงกับคำตัดสินนี้ ลองมาดูคอมเม้นต์ที่นักสิทธิมนุษยชน และตัวแทนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนโลกเขาแสดงทรรศนะเอาไว้….

“คำตัดสินนี้ไม่เป็นธรรมอย่างชัดเจน การคงไว้ซึ่งกฎหมายเผด็จการและใช้กฎหมายนี้อย่างต่อเนื่อง นำประเทศไทยไปไกลจากการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการเคารพเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” แดนทอง บรีน : ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

“แม้ว่าจะมีการเรียกร้องให้ปล่อยตัวสมยศและปฏิรูปกฎหมายหมิ่นฯ จากทั้งพลเมืองไทย ภาคประชาสังคม และสหประชาชาติ หลายครั้ง แต่ประเทศไทยก็ตัดสินใจออกห่างจากมาตรฐานระหว่างประเทศในการปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็น ทำตัวแปลกแยกจากสังคมประชาธิปไตย” ซิวเฮร์ เบลฮัสสัน : ประธานสหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล

“การตั้งข้อกล่าวหาทางอาญากับการเสียดสีทางการเมืองก็แย่พอแล้ว แต่การดำเนินคดีกับบรรณาธิการที่ไม่ได้เขียนงานนั้นๆ ทำให้การละเมิดถูกยกระดับขึ้นไปอีก” เจอราด สเตเบอร็อก : เลขาธิการองค์การสากลว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน

“คำตัดสินและการลงโทษที่รุนแรงอย่างที่สุดต่อสมยศ ส่งสัญญาณที่ขัดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเทศไทย…ฉันกังวลใจเมื่อสมยศไม่ได้รับการประกันตัว และหลายครั้งที่ปรากฏตัวในศาล เขาถูกใส่โซ่ตรวนราวกับเป็นอาชญากรร้ายแรง ทั้งที่ผู้ที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกไม่ควรถูกลงโทษตั้งแต่แรกแล้ว นางนาวี พิลเลย์ : ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

“เป็นการบ่อนทำลายเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพสื่ออย่างร้ายแรง และยังเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของสังคมไทยในฐานะสังคมเสรีประชาธิปไตยอีกด้วย อีกทั้งคำพิพากษาของศาลยังเป็นตัวชี้วัดถึงการใช้กฎหมายหมิ่นฯ เพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองอย่างชัดเจน” คณะผู้แทนของสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย

“ปัญหาความไม่ยุติธรรมของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถูกทำให้เห็นชัดเจนขึ้นโดยการปฏิเสธสิทธิประกันตัว และการคุมขังที่กินเวลานานก่อนการไต่สวนคดี การที่ศาลไทยไม่อนุญาตให้นักโทษในคดีดังกล่าวประกันตัว เป็นเพราะเหตุผลทางการเมือง ซึ่งเป็นเสมือนการลงโทษที่ไม่มีเหตุผลเหมาะสมรองรับ เช่นการที่เขาถูกปฏิเสธการประกันตัวถึง 7 ครั้งและถูกส่งไปรับฟังการพิจารณาคดีใน 4 จังหวัด เหมือนเป็นการกลั่นแกล้งผู้ต้องหา เพราะพยานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดพักอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ” แบรด อดัมส์ : ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชีย ฮิวแมนไรท์ วอทช์

ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพบรรณาธิการได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องความเป็นธรรมให้นายสมยศ โดยระบุว่า“การพิจารณาตัดสินโดยการตีความหมายบทความ 2 ชิ้น และลงโทษจำคุกจำเลยในฐานะบรรณาธิการเป็นเวลา 10 ปี นอกจากจะก่อให้เกิดคำวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทลงโทษที่รุนแรงในระดับประชาคมโลกแล้ว คดีดังกล่าวยังเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการขยายความและขอบเขตการของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ออกไปเกินกว่าความหมายที่แท้จริง ทั้งที่จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดด้วยตนเอง นอกจากนี้ ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ 2550 ได้มีบทบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 จำเลยในฐานะบรรณาธิการจึงควรได้รับประโยชน์จากกฎหมายใหม่ที่เป็นคุณกว่า กฎหมายเดิม ด้วยการไม่ถือเป็นผู้กระทำความผิด”

และเสนอว่า “ความผิดอันสืบเนื่องมาจากความคิด ไม่ควรได้รับการลงทัณฑ์เยี่ยงอาชญากรคดีอุกฉกรรจ์” และ “ผู้ต้องหาคดีการเมืองทุกคนควรได้รับการประกันตัวระหว่างสู้คดีโดยเสมอหน้ากันในทุกชั้นศาล เนื่องจากเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองไทยที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550”

บางทีชาวบ้านผู้โง่งมอย่างเราๆ ก็อดตั้งคำถามโง่ๆ ไม่ได้เหมือนกันว่า กรณีศาลตัดสินคดีนายสนธิ ลิ้มทองกุล ให้จำคุก 85 ปี ทำไมศาลจึงให้ประกันตัว? หรือคดีนายเก่ง เมธัส นักแสดงนายแบบที่ก่อคดีร้ายแรงติดต่อกันถึง 7คดีทั้งกักขังหน่วงเหนี่ยว ข่มขืน ทำร้ายร่างกาย พกพาอาวุธปืน พยายามฆ่า ทำร้ายเจ้าหน้าที่ แต่กลับได้ประกันตัวในทุกคดีร้ายแรงที่กล่าวมา แถมยังได้รางวัลบุคคลแห่งปีจากมือขององคมนตรีอีกด้วย!!

ท้ายที่สุดลองดูองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในบ้านเราอย่าง “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ ต่อคำตัดสินดังกล่าวเลย….ประเทศไทยนี่เหมือนแดนสนธยาจริงๆ ให้ตายเถอะ!!