ในบทความที่แล้ว ผมตั้งข้อสังเกตให้กับรัฐไทย คู่ขัดแย้งของเขา และฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องตระหนักว่า งานของพวกเขาในการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพให้เป็นทางออกจากปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ดำเนินไปในบริบทของสังคมที่มีความดัดจริต มือถือสากปากถือศีล และผมก็เสนอว่า ผู้ที่จะมีศักยภาพสำคัญในการรับมือ (หรือกระทั่งทำให้เกิดการหล่อเลี้ยง ผลิตซ้ำ)บริบทสังคมดัดจริตแบบนี้ได้เป็นอย่างดี ก็คือ สื่อมวลชน (ท่านสามารถย้อนกลับไปอ่านตอนที่แล้วได้ในบทความเรื่อง “กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ในบริบทของสังคมดัดจริต และงานหนักที่รอสื่อมวลชนอยู่” , https://fatonionline.com/index.php/news/detail/1433)
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ และผมขอตั้งเป็นข้อสังเกตและข้อวิพากษ์ไว้ก็คือ
หากประเมินทิศทางของปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในห้วงปีนี้ ผ่านเหตุการณ์ถล่มฐานนาวิกโยธิน มาจนถึงการลงนามข้อตกลงทั่วไประหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็น ซึ่งถูกพูดถึงทั้งแง่บวกและแง่ลบในหลายทิศทางแล้ว ดูเหมือนว่า ฝ่ายรัฐไทยกำลังมีแต้มต่อ และกำลังเดินหมากเชิงรุกไปสู่การสลายโครงสร้างของขบวนการก่อเหตุรุนแรงกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพในการก่อเหตุมากพอที่รัฐไทยจะลดตัวลงไปเชิญเข้าสู่กระบวนการพูดคุยตามกรอบข้อตกลงข้างต้น
ในความเห็นส่วนตัวของผม เครื่องมือสำคัญของรัฐไทยในการสลายโครงสร้าง “พวกไม่มีราคา”เหล่านี้ คือ “มาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ 2551” ที่เปิดช่องให้สมาชิกหรือแนวร่วมของขบวนการฯ ที่เข้าร่วมการก่อเหตุด้วยความ “หลงผิด” “ถูกหลอก” “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” สามารถเข้ามอบตัว เพื่อทำการอบรมให้หลงถูก หายโง่ และรู้เท่าถึงการณ์เสียที จนสามารถกลับออกไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านได้ในฐานะ “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย”(ที่จะไม่ถูกหลอกอีก)
เครื่องมือหลักดังกล่าว ถูกใช้ควบคู่ไปกับการดำเนินงานการเมืองหลากมิติ
ทั้งการที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สลัดบทบาท “Bad Cop” ที่เคยเล่นเมื่อสมัยรัฐบาลคุณทักษิณ
มาเล่นบทบาท “Good Cop” ภายใต้หน้ากากเลขาธิการ ศอ.บต. ที่นอกจากจะรับภารกิจเดินเกมเจรจากับแกนนำขบวนการก่อเหตุรุนแรงแล้ว ยังทำงานอย่างหนักในการซื้อใจประชาชนในพื้นที่นับตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าสู่ตำแหน่งมาตลอด และผลของงานซื้อใจก็เริ่มผลิดอกออกผลในระยะหลัง สะท้อนจากการที่ประชาชนจำนวนมากขึ้นซึ่งเหนื่อยหน่ายความรุนแรงอยู่เป็นทุนเดิม ให้ข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการป้องกันแก้ไขเหตุร้าย การจำกัดเสรีการปฏิบัติ และการเข้าถึงตัวขบวนการฯ ได้มากขึ้น
ทั้งการเยียวยาเชิงมนุษยธรรมต่อครอบครัวของขบวนการฯ ที่เสียชีวิตกรณีถล่มฐานนากวิโยธินที่บาเจาะอย่างทันท่วงที เพื่อปลดเงื่อนไขที่อาจบ่มเพาะความโกรธแค้น เกลียดชัง และอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงได้อีกในอนาคต
ทั้งการส่งสัญญาณว่าจะทยอยยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แทน
โดยมีความมุ่งหมายที่จะใช้ มาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ดังกล่าว เปิดพื้นที่ให้ขบวนการฯ วางปืนแล้วเข้ามาพูดคุย
ทั้งหมดนี้ เป็นรูปธรรมของการดำเนินงานที่วางอยู่บนแนวคิดการเมืองนำการทหาร และสันติวิธี (ในความหมายแบบรัฐไทย)ในกรอบยุทธศาสตร์การเอาชนะจิตและใจประชาชน ซึ่งพัฒนามาจากการให้ความหมายปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าเป็น สงครามแย่งชิงมวลชน ที่มีชัยชนะของรัฐไทยและการคงสถานะโครงสร้างรัฐไทยแบบที่เดิมเป็นเป้าหมายนำ ส่วนสันติภาพเป็นผลพลอยได้
การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยสันติวิธีเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันอย่างไม่ต้องสงสัย แต่สันติวิธีในแบบของรัฐไทยก็น่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเราพิจารณา “วิธีการใช้” สันติวิธีผ่านมาตรา 21 ของรัฐไทย
ลำดับแรก การจะมาพูดคุยเจรจากับรัฐไทยตามช่องทางนี้ได้นั้น สมาชิกขบวนการฯ จะต้องยอมรับก่อนว่าตนเป็น ผู้หลงผิด และอุดมการณ์ที่พวกเขาต่อสู้มาโดยตลอดนั้นผิดทั้งหมด พวกเขาหลงเชื่อไปเพราะถูกหลอก ถูกบิดเบือน พวกเขาเป็นเพียงวัวควายที่ใครจูงจมูกไปไหนก็ไปทางนั้น กรอกหูอย่างไรก็เชื่อไปอย่างนั้น ไม่มีรอยหยักในสมองมากพอต่อการวิเคราะห์คิดเองได้ โดยเฉพาะความสามารถในการวิเคราะห์ตัดสินผิดชอบชั่วดี
ลำดับต่อมา เมื่อมอบตัวยอมรับว่าเป็นผู้หลงผิดแล้ว ก็จำต้องไปเข้าอบรมให้ไม่หลงผิด กลับตัวกลับใจ ถูกหล่อหลอมด้วยวิธีคิดที่ถูก ด้วยคำสอนศาสนาอิสลามที่รัฐไทย (ซึ่งข้าราชการที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ไม่ใช่มุสลิม) สกรีนแล้วบอกว่าไม่บิดเบือน เพื่อให้ออกไปสู่สังคมได้ในฐานะ “ผู้หลงถูก”โดยที่การเรียนศาสนามาทั้งชีวิต ไม่สามารถทำให้พวกเขา “หลงถูก” ได้มากเท่ากับการเข้าอบรมกับรัฐไทย 6 เดือน
ลำดับต่อมา สำหรับสมาชิกขบวนการฯ ที่หัวรั้น รัฐไทยผู้มีศีลธรรมสูงส่งจะยอมลดตัวลงมาพูดเจรจากับ “พวกโจร”โดยพร้อมจะคุยได้ทุกเรื่องที่พวกโจรไม่พอใจจนเป็นเหตุให้ต้องลงมือใช้ความรุนแรง …เว้นเสียแต่เรื่องเดียว …คือ เรื่องเอกราช ที่รัฐไทยมิอาจยอมคุยด้วยได้ แต่ดันเป็นเรื่องแก่นใจกลางสำหรับการต่อสู้ของขบวนการก่อเหตุรุนแรง
เปรียบได้กับว่า เจ้าหน้าที่รัฐไทยเดินเข้าไปร้านอาหาร สั่งข้าวไข่เจียวหนึ่งจาน แล้วบอกพ่อครัวว่าให้ใส่เครื่องปรุงทุกๆ อย่าง เว้นอย่างเดียวที่ไม่ต้องใส่คือ ไข่ …เงื่อนไขการพูดคุยของรัฐไทยแบบนี้ จึงวางอยู่บนตรรกะที่ตลก งี่เง่า และเอาแต่ได้อย่างยิ่ง
พิจารณาจากวิธีใช้ มาตรา 21 ข้างต้น จะเห็นได้ชัดเจนว่า สันติวิธีของรัฐไทย เป็นสันติวิธีที่มองว่า
ตนเป็นผู้มีศีลธรรมสูงกว่า และอุดมการณ์ชาติไทยอันแบ่งแยกไม่ได้ของตนเท่านั้นที่เป็นสัจธรรมของจักรวาล ดังนั้น จึงไม่ใช่สันติวิธีที่มุ่งทำความเข้าใจความคิด ความเชื่อที่แตกต่างอย่างแท้จริง เพราะในทรรศนของรัฐไทยแบบนี้แล้ว มันเป็นไปไม่ได้ที่จะมีความคิดแตกต่างในเรื่องอุดมการณ์ชาติ หากทุกคนคิดด้วยวิธีการคิดที่ถูกต้อง ดังนั้น สันติวิธีของรัฐไทยที่สะท้อนผ่านการใช้มาตรา 21 จึงเป็นความเมตตากรุณาอันอดกลั้นที่สุดแล้วที่จะโปรดลงมาสู่พวกองคุลีมาลได้มีโอกาสกลับใจ และสงเคราะห์ให้พวกโจรเหล่านั้นได้เรียนรู้การคิดในวิธีที่ถูก เพื่อจะได้ไม่เห็นผิดเป็นชอบ ท้าทายอุดมการณ์ชาติไทยอันเป็นสัจธรรมของจักรวาลอีกต่อไป
(มีต่อตอนที่ 3)