หน้าแรก บทความ

กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพสำหรับ “แขกไม่ได้รับเชิญ” :มาตรา 21 กับสันติวิธีแบบรัฐไทยสไตล์ (ตอนจบ)

สืบเนื่องจากบทความที่แล้ว นอกจาก“วิธีการใช้” สันติวิธีของรัฐไทยจะดูมีปัญหาอยู่ไม่น้อยแล้ว ขณะเดียวกัน นัยยะที่แฝงอยู่ในสันติวิธีแบบนี้ของรัฐไทยอีกประการหนึ่ง คือนัยยะมุมมองของรัฐที่มีต่อคำว่า สันติวิธี เอง ซึ่งหากพิจารณาจากการใช้ “งานปฏิบัติการข่าวสาร” ของรัฐไทยที่มุ่งกลุ่มเป้าหมายคือกองกำลังระดับปฏิบัติการในพื้นที่ ในห้วงหลังเหตุการณ์ถล่มฐานนาวิกโยธินที่บาเจาะเป็นต้นมา จะเห็นชัดเจนว่า รัฐไทยเริ่มสื่อสารในเชิงรุกต่อสื่อกระแสหลักบ่อยขึ้น โดยเริ่มต้นจากการส่งสัญญาณทยอยยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วนำ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มาตรา 21 มาใช้แทน โดยจูงใจว่ารัฐไทยพร้อมเปิดพื้นที่ต่อการพูดคุยและออกจากความขัดแย้งด้วยวิธีไม่ใช้กำลัง และต่อมา เมื่อเห็นแล้วว่าตนกำลังมี “แต้มต่อ” รัฐไทยก็สื่อสารประโยคเดิม คือ ชักชวนให้มาใช้วิธีพูดคุยเจรจา แต่เพิ่มข้อความสำคัญอีกประการเข้าไป คือข้อความที่บอกว่า “แต่เรื่องเอกราชนั้น ยอมให้คุยไม่ได้”

นอกจากนี้ ยังสื่อสารประโยคอีกลักษณะบ่อยครั้ง คือ การกล่าวว่า “มีสมาชิกขบวนการฯ ทยอยมามอบตัวเรื่อยๆ และเรียกร้องให้สมาชิกขบวนการฯ ที่เหลือมามอบตัวเถอะ” รวมทั้งการปล่อยให้สมาชิกขบวนการฯ ที่มากลับตัวได้เป็นดาราหน้ากล้อง ออกทีวีสื่อสารให้เห็นชีวิตที่กินดีอยู่ดีขึ้นหลังจากมอบตัว การรับสารดังกล่าวจากอดีตสมาชิกขบวนการฯ หลายคน เป็นไปในทิศทางที่พยายามสื่อสารประโยคที่แสดงให้เห็นถึงการค้นพบทางสว่าง หรือในลักษณะที่ว่า “ปุดโธ่ รู้อย่างนี้ มอบตัวเสียตั้งนานแล้วววว” ผู้เขียนรับสารดังกล่าวแล้วอดไม่ได้ที่จะเกิดความรู้สึกเหมือนกับมีนายหน้าขายประกันมาหว่านล้อมให้ซื้อประกัน หรือการมีสาวกลัทธิประหลาดบางอย่างออกมาชักชวนตะล่อมให้เข้ารีต

วิธีใช้สันติวิธีแบบรัฐไทยลักษณะนี้ สะท้อนชัดเจนว่า รัฐไทยมองแนวคิดสันติวิธีในฐานะเครื่องมือหนึ่งซึ่งจะหยิบใช้ก็ต่อเมื่อมันมีประสิทธิภาพนำไปสู่การเอาชนะสงคราม และจะไม่ใช้ ในกาละและเทศะที่มันไร้น้ำยาต่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ดังนั้น มาตรา 21จึงมิใช่เครื่องมือที่มุ่งสร้างสันติภาพ แต่เป็นเครื่องมือ (แบบไม่ใช้ความรุนแรงเชิงกายภาพ) ในการเอาชนะสงครามเหนือฝ่ายที่คิดต่างเท่านั้น

ท่าทีของรัฐไทยจึงสะท้อนชัดเจนยิ่งถึงหมากเกม/แผนการที่วางเอาไว้ในช่วงต่อไป ซึ่งตอกย้ำให้เห็นวิธีการแก้ปัญหาการต่อต้าน/ท้าทายอำนาจรัฐที่รัฐไทยยึดถือเป็นแนวทางมาโดยตลอด นั่นคือ การพูดคุยเพื่อให้ได้ข้อตกลงที่สมดุลกับระดับแกนนำ พร้อมไปกับบีบคั้น กดดัน จำกัดเสรีการปฏิบัติของระดับปฏิบัติการ ด้วยยุทธวิธีทางการทหาร ยุทธวิธีด้านสังคมจิตวิทยา การใช้งานมวลชน วิธีการทางการทูต และวิธีการอื่นๆ เพื่อบีบให้ฝ่ายต่อต้านอำนาจรัฐระดับปฏิบัติการจำต้องยอมเข้ามาสู่ทางออกจากความขัดแย้งที่รัฐไทยกำหนดเอาไว้ให้แล้ว ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเป็นทางออกที่รัฐไทยได้เปรียบ และเป็นผู้คุมทิศทางของเกม

การแก้ปัญหาต่อต้านอำนาจรัฐของรัฐไทยแบบดังกล่าว ในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่าอาจจะทำให้ปัญหาปิดฉากลงไป และขบวนการก่อเหตุรุนแรงอาจจะยุติบทบาทลงได้ในอนาคตก็จริง แต่โครงสร้างเงื่อนไขรากเหง้าที่เป็นตัวบ่มเพาะให้ประชาชนต้องลุกขึ้นสู้นั้นกลับถูกเพิกเฉย เพราะโครงสร้างเงื่อนไขเหล่านั้น นับตั้งแต่สมัยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มาจนถึงขบวนการก่อเหตุรุนแรงชายแดนใต้ ล้วนแต่เป็นโครงสร้างที่รัฐไทยไม่ประสงค์จะให้มีใครแตะต้องและปรับเปลี่ยน หรือกระทั่งกล่าวถึง

ดังนั้น ถ้าพูดให้ถึงที่สุดแล้ว สันติวิธีของรัฐไทยในฐานะแนวทางแก้ปัญหา จึงเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเสียเอง เพราะมันมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ไว้ซึ่งโครงสร้างที่สร้างปัญหา พร้อมกับลดความรู้สึกผิดบาปให้กับรัฐและสังคมไปด้วยการหลอกตัวเองว่าเราได้ใช้แนวทางสันติในการแก้ปัญหาไปแล้ว

สันติวิธีของรัฐไทย เมื่อมองผ่านการใช้มาตรา 21 ประกอบกับประเมิน “ทิศทางลม” ของการพูดคุยเจรจากับขบวนการบีอาร์เอ็นที่มีมาเลเซียเป็นคนกลางประสานงานและอำนวยความสะดวก จึงอาจไม่ได้เป็นแนวทางอันช่วยปลดรากเหง้าเงื่อนไขที่ทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาเรียกร้องเอกราช เพียงแต่ทำให้พวกเขาสงบปากสงบคำโดยการบรรเทาอาการคลุ้มคลั่งเดือดดาลลงไปด้วยมาตรการต่างๆ พร้อมกับค่อยๆ ทำให้เรียนรู้ที่จะสยบยอมศิโรราบต่อโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมอันพิกลพิการและไม่เป็นธรรมของรัฐไทย

โชคร้ายที่ผมดันมองภาพแนวโน้มของสถานการณ์ไปในทิศทางข้างต้น

…จึงได้แต่หวังว่า กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพของรัฐไทยที่กำลังได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่ตอนนี้จะไม่เป็นเพียงเครื่องมือที่รัฐไทยหมายใช้เพื่อเอาชนะสงครามเท่านั้น

…จึงได้แต่หวังว่า กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพจะไม่จบลงด้วยการเกี๊ยะเซี๊ยะระหว่างชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ แล้วทอดทิ้งมวลชนผู้เหงื่อแตกเลือดตกยางออกแต่บอกใครไม่ได้ไว้เบื้องหลัง

ผมขอจบบทความชิ้นนี้ไว้ด้วย บทกวีอันไม่ค่อยสมประกอบของผมเอง เพื่อไว้อาลัยให้กับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเสียงใดใดที่ถูกเพิกเฉย …เสียงที่ไม่ได้รับเชิญให้ส่งเสียง

…ในจักรวาลทัศน์ของพวกพหุวัฒนธรรมดัดจริต

ฉันกลายเป็นผู้หลงผิด เพราะคิดไม่เหมือนคุณ

คุณเอ็นดูฉัน หากฉันนุ่งโสร่ง ยืนเคารพธงชาติ

แต่ยามวิกาล ฉันไปละหมาด คุณกลับขยาดกลัว

โอ้ ท่านผู้ทรงศีลที่อดกลั้นต่อความหลากหลาย

ผู้ชี้ต้นตอปัญหาให้คลี่คลายว่าได้แก่พวกไม่ยอมปรับตัว

….ในจักรวาลทัศน์ของพวกสันติวิธีตอแหล

ความเชื่อของคุณดีแท้ แต่ของฉันแสนชั่ว

คุณเชื้อเชิญให้ฉันวางปืนเพื่อสนทนา

แต่ต้องยอมรับก่อนว่า อุดมการณ์ของฉันมั่ว

โอ้ ท่านผู้ทรงเหตุผลที่ลงมาโปรดผู้ไร้เหตุผล

ผู้เมตตาให้ฉันมีโอกาสเป็นคนได้ด้วยการ …มอบตัว