“…นายฮัสซัน ตอยิบ ได้พูดว่าขอขอบคุณที่ทางรัฐไทยรับฟังความรู้สึกเจ็บปวดของนักสู้ปาตานี แม้ว่าจะมีปัญหาบ้างในกระบวนการสร้างสันติภาพ
ก็ตาม แต่เราจะพยายามทางออกให้ได้ แต่ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของพระเจ้า”
“ส่วน พล.ท.ภราดร พูดว่า ความสำเร็จในวันนี้ คือการได้รับรู้ความจริงใจระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งเป็นโอกาสที่จะให้มีการพูดคุยต่อไป ดังนั้น การพูดคุยครั้งต่อไปต้องดีขึ้น เมื่อรับทราบความรู้สึกของทั้ง 2 ฝ่ายด้วยความจริงใจ…”
ข้างต้นนี้เป็นประโยคสุดท้ายซึ่งผู้แทนกลุ่มนักต่อสู้ปาตานีกับผู้แทนรัฐไทยสื่อสารต่อกัน ในวงพูดคุยสันติภาพเมื่อ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ตามที่ ผศ.ดร.ศรีสมภพ เล่าให้ฟังผ่านรายงานข่าวของฮัสซัน
โต๊ะดง (โปรดดูบทสนทนาฉบับเต็มได้ที่ http://www.deepsouthwatch.org/dsj/4103)
… และผมมองว่าประโยคดังกล่าวนี้มีความสำคัญยิ่ง
สำคัญตรงที่ประโยคข้างต้น บ่งชัดถึงกระบวนการพูดคุยสันติภาพว่า เรากำลังอยู่บนขั้นตอนของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และเมื่อพิจารณาสถานการณ์โดยรอบประกอบ จะเห็นภาพที่ชัดเจนกว่านั้นว่า การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจดังกล่าว มิได้กระทำเพียงระหว่างกลุ่มนักต่อสู้ปาตานีกับรัฐไทยเท่านั้น หากแต่ยังขยายขอบเขตไปสู่แนวทางของรัฐไทยที่พยายามทำให้คนในพื้นที่และภาคประชาสังคมมีความไว้เนื้อเชื่อใจในกระบวนการพูดคุยดังกล่าวอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากการจัดให้มีเวที ดำเนินการคู่ขนานไปกับวงพูดคุยสันติภาพระหว่างคู่ขัดแย้ง
แนวทางตรงนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากเงื่อนไขประการสำคัญอันหนึ่งของปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ที่เรื่องของความไม่เป็นธรรมแล้ว การพูดคุยเฉพาะระหว่างคู่ขัดแย้งก็มิอาจปลดเงื่อนดังกล่าวได้ หากแต่ต้องผลักดันนำพาเอาประเด็นปัญหา ความเห็น ความรู้สึก ข้อเสนอ หรือกระทั่งนำพาตัวของคนในพื้นที่และภาคประชาสังคมเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพด้วย
พูดอีกแบบ คือ การเปลี่ยนสถานะของคนในพื้นที่และภาคประชาสังคมจากผู้รับชมไปสู่การเป็นผู้แสดงบทบาทร่วม คือ การเปลี่ยนการเมืองแบบชนชั้นนำ ไปสู่การเมืองของมวลชน เพื่อให้พวกเขามีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาชีวิตของพวกเขามากกว่าจะผูกขาดสิ่งนั้นไว้ที่ชนชั้นนำและผู้ที่เข้าถึงวงของการพูดคุย
ทั้งนี้ ผมเข้าใจและคาดหวังว่า การดำเนินงานตามแนวทางข้างต้นน่าจะอยู่ในแผนการของรัฐไทยอยู่แล้ว แต่อาจจะเป็นในขั้นตอนต่อไป หลังจากคู่ขัดแย้งมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันถึงระดับหนึ่ง และสามารถเปิดตัวสู่วงสาธารณะได้มากกว่านี้
ส่วนในเบื้องต้นตอนนี้ ผมพยายามจะรวบรวมเอาข้อคิดเห็น ความรู้สึก และข้อเสนอของกลุ่มองค์กรต่างๆ ส่วนหนึ่งที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ยังอยู่นอกวงของการพูดคุยสันติภาพมากางออกให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า กลุ่มตัวอย่างที่ผมเลือกหยิบยกมานี้ พวกเขาคิด มีจุดยืน และมีความต้องการอย่างไร ต่อการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ผ่านวิธีการพูดคุย
เริ่มจากสภาประสังคมชายแดนใต้ ได้มีข้อเสนอเพื่อให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพเดินไปในทิศทางที่เหมาะสม คือ ให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายพิเศษ ให้คู่ขัดแย้งลดและยุติปฏิบัติการทหาร ให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการพิสูจน์ความจริงในกรณีเหตุรุนแรงในพื้นที่ที่ผ่านมา ให้รัฐบาลจัดเวทีแลกเปลี่ยนกับกลุ่มการเมืองฝ่ายค้านและเวทีสาธารณะแลกเปลี่ยนกับประชาชนในพื้นที่ ให้รัฐบาลเปิดให้ผู้นำศาสนาที่มวลชนยอมรับเข้าร่วมในคณะพูดคุย และให้กลุ่มนักต่อสู้ปาตานีเปิดให้กลุ่มทุกกลุ่มเข้าร่วมในการพูดคุย โดยสุดท้ายสภาประชาสังคมได้เน้นย้ำความสำคัญของการสื่อสารกับสังคมทั่วไปให้เกิดความเข้าใจต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ โดยในเรื่องนี้ทั้งรัฐและสื่อมวลชนต่างมีบทบาทสำคัญ
ในอีกส่วนหนึ่งที่จะละเลยไม่ได้ คือ บรรดาผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อยและพวกเขาเสนอว่า เงื่อนไขสำคัญที่ต้องปลดแก้เพื่อสร้างสันติภาพในชายแดนใต้ คือ การปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น การเยียวยาที่ไม่ขัดกับหลักศาสนาอิสลาม และการนิรโทษกรรม ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นสิทธิที่ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงจำนวนมากจะได้รับ ในเมื่อการจับกุมของรัฐ เป็นการจับกุมบนโทษฐานของการเป็นผู้คิดต่างทางการเมือง ดังนั้น พวกเขาจำนวนมากจึงเป็นนักโทษคดีการเมือง ที่มีสิทธิมีเสียงควรได้รับการรับฟังเช่นกัน
ส่วนเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้เสนอให้ในส่วนของภาคประชาสังคมและคนในพื้นที่เอง ก็ควรจะร่วมกันจัดเวทีสาธารณะในลักษณะคู่ขนานไปกับวงพูดคุยสันติภาพของคู่ขัดแย้งด้วย เพื่อรวบรวมความคิดเห็นของ “คนที่อยู่ตรงกลางความขัดแย้ง”ให้สามารถมีส่วนร่วมออกแบบสันติภาพในพื้นที่ด้วย แทนที่จะให้สิทธินั้นตกอยู่ในวงพูดคุยสันติภาพเพียงส่วนเดียว โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการออกแบบรูปแบบการปกครองในพื้นที่ ที่เครือข่ายฯ มองว่า จะต้องมีหลักการสำคัญพื้นฐานอยู่ที่การรับประกันสิทธิความเป็นมนุษย์ของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และเคารพซึ่งกันและกัน
ข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกับท่าทีของนักศึกษาในพื้นที่บางส่วนที่ซูการไน รอแม, รอฮีมะห์ เหะหมัด,นูรไลลา โตะคุง,ฮาซียะ อามะ และปาอีซะ อาแว แห่งโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ไปสัมภาษณ์มา นักศึกษาหลายคนมองว่า กระบวนการพูดคุยสันติภาพควรเปิดให้ประชาชนทุกฝ่ายสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย รวมทั้งควรเปิดกว้างให้สามารถคุยกันได้ทุกเรื่องและทุกที่ (โปรดดูบทสัมภาษณ์เพิ่มเติมที่ http://www.deepsouthwatch.org/dsj/4071)
ประเด็นคำถามที่น่าสนใจตามมาจากข้อเสนอในทำนองข้างต้นคือ
ณ วันนี้ รัฐบาลไทยยอมเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนฝ่ายต่างๆ ได้พูดคุยเกี่ยวกับอนาคตของพวกเขาอย่างเปิดกว้างเพียงพอแล้วหรือยัง ?
กิจกรรมของนักศึกษา และภาคประชาสังคมต่างๆ ที่ขับเคลื่อนในพื้นที่ในวันนี้เป็นไปอย่างมีเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ หรือว่าเป็นไปภายใต้การเพ่งเล็งจับจ้องจากฝ่ายรัฐกันแน่ ?
ฤๅการพูดคุยสันติภาพมันผูกขาดทำได้แค่เพียงรัฐบาลกับกลุ่มนักต่อสู้ปาตานีเพียงคู่เดียวเท่านั้น ?
ฯลฯ
ประเด็นเหล่านี้ รัฐบาลต้องตอบใจตัวเองให้ชัด และสื่อสารกับสังคมให้รู้เรื่อง เพราะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะพิสูจน์ว่ารัฐไทยมีความจริงใจแค่ไหน และเข้าใจถ่องแท้แค่ไหนกับคำว่า พูดคุยสันติภาพ
…
จากที่กล่าวมาทั้งหมด แม้จะเป็นตัวอย่างเพียงบางส่วน แต่เราก็จะเห็นว่ากลุ่มองค์กรต่างๆ และคนในพื้นที่ส่วนใหญ่มีท่าทีที่เห็นด้วยและสนับสนุนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการพูดคุยสันติภาพ กลุ่มองค์กรและคนเหล่านี้เป็นตัวแสดงสำคัญๆ นอกจากคู่ขัดแย้งที่ควรจะเปิดให้ได้เข้าสู่วงพูดคุยสันติภาพด้วยในขั้นตอนต่อไป
การรับเอาข้อคิดเห็น ข้อเสนอและคนเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพมีความสำคัญมาก เนื่องด้วยต้องเข้าใจก่อนว่า คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีความเป็นเอกภาพโดยสมบูรณ์ โดยต่างฝ่ายต่างก็มีกลุ่มที่ปฏิเสธการพูดคุย นิยมแนวทางการใช้กำลังในการต่อสู้ และกระทั่งมีผลประโยชน์พันพัวอยู่กับการคงอยู่ของสงครามร่วมส่วนอยู่ภายในฝ่ายตน ดังนั้น การเร่งเร้าการเร่งสะท้อนเสียงของกลุ่มคนจำนวนมากที่อยู่ตรงกลางของความขัดแย้งมีความจำเป็นยิ่งต่อการลดความชอบธรรมของการใช้ความรุนแรงและกดดันปีกการทหาร/นิยมความรุนแรงในทั้งสองฝ่ายให้ยอมรับและเข้าสู่กระบวนการพูดคุย
และที่สำคัญคือ ในบทบาทของกลุ่มคนที่อยู่ตรงกลางของความขัดแย้งเอง ถ้าสมมติว่ากระบวนการพูดคุยที่เกิดขึ้นและขับเคลื่อนไปอยู่นี้จะเป็นเกมการเมืองของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแล้ว มันก็ยิ่งจำเป็นอย่างมากที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันกดดันให้เสียงของคนที่อยู่ตรงกลางเข้าไปดังก้องกลางวงพูดคุยสันติภาพด้วย เพื่อย้ำเตือนให้คู่ขัดแย้งสำเหนียกว่า พวกเขาไม่ได้พูดคุยกันเพื่อยุติปัญหาระหว่างกัน แต่พวกเขาจะต้องพูดคุยกันบนหลักของการตอบโจทย์ปัญหาของคนในพื้นที่ และบรรดาข้อตกลงใจต่างๆ จะต้องเป็นไปในทิศทางที่ปลดเงื่อนไขแห่งความทุกข์ของคนในพื้นที่เป็นสำคัญ …เพราะทั้งคู่ต่างก็อ้างความชอบธรรมว่าทำเพื่อประชาชนคนเหล่านี้ด้วยกันทั้งคู่มิใช่หรือ ?