เหตุการณ์ คนร้ายลอบวางระเบิดในหลายพื้นที่ของ อ.สะเดา จังหวัดสงขลา เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กลายเป็นจุดหักเหครั้งสำคัญ ที่หน่วยงานด้านความมั่นคง ต้องหันกลับมามองถึง “คำขู่” ของกลุ่มขบนวนการผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่อีกครั้ง หลังเคยเป็นกระแสผ่านโลกออนไลน์มาแล้วในช่วงกลางปี 2556 กับการวางยุทธศาสตร์ เคลื่อนที่เดินหน้าเข้าสู่ จังหวัดสงขลา อันเป็นการปฏิบัติการ “ขยายเขตงานทางยุทธศาสตร์” นอกพื้นที่ 3 จังหวัด (ยะลา นราธิวาส ปัตตานี) แต่เดิม
000…หน่วยงานของรัฐบาลไทยปฏิเสธข้อเท็จจริง
ย้อนหลังกลับไปเมื่อช่วงกลางปี 2556 ที่ผ่านมา มีความพยายามจากกลุ่มที่อ้างว่าเป็นกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งกำลังอยู่ในห้วงเวลาแห่งการเจรจาสันติภาพกับรัฐไทย ที่มีการแถลงการณ์ผ่านโลกออนไลน์ รวมเอาพื้นที่ของ จังหวัดสงขลา โดยเฉพาะอำเภอสะเดา เข้าไปอยู่บนโต๊ะเจรจา ผ่านเงื่อนไขที่ยื่นให้กับรัฐบาล
แต่ต่อมาได้รับการปฏิเสธโดย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณรมว.มหาดไทย และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พร้อมๆ กับคำยืนยัน ว่า “อำเภอสะเดา ไม่มีเหตุรุนแรงในพื้นที่ จึงไม่นับรวมอยู่ในโต๊ะเจรจา”
และแม้ว่าการออกมาเปิดเผยผ่านโลกออนไลน์ในครั้งนั้นของกลุ่มที่อ้างตัวว่าเป็นขบวนการบีอาร์เอ็น จะไม่ได้รับความสนใจและใส่ใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่าที่ควร แต่กลับกลายเป็นที่สนใจของนักวิเคราะห์ สื่อมวลชน ผู้ที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
จนกลายเป็นคำถามสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2556 ว่า “อำเภอสะเดามีความสำคัญอย่างไร”!!
ที่เป็นไปพร้อมๆ กับการหา “คำตอบ” ให้กับความเชื่อมโยงและความต้องการของกลุ่มที่อ้างตัวว่าเป็นขบวนการ “บีอาร์เอ็น”
000… “ทฤษฎีลูกตุ้ม” สิ่งที่หลายฝ่ายมองข้าม
และกลายมาเป็นที่มาของ “ทฤษฎีลูกตุ้ม” ที่ถูกมองข้ามไปจนถึงปัจจุบัน !! จวบจนกระทั่งเกิดเหตุระเบิดเมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
กับความต้องการผนวกเอาอำเภอสะเดาเป็นหนึ่งในเขตปฏิบัติการเคลื่อนไหวก่อความรุนแรง และเป็นฐานสำคัญของขบวนการในอนาคต!!
ทฤษฎีลูกตุ้มคืออะไร? และมีความสำคัญอย่างไร กับการตอบคำถามนี้ คงต้องเริ่มต้นจากความเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของอำเภอสะเดา หากหลับตากนึกถึงแผนที่ปลายด้ามขวานของไทย อาจจะเห็นภาพได้ไม่ยากนัก เพราะเป็นอำเภอที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้ง
000…ยุทธศาสตร์ “สะเดา” ด้านภูมิศาสตร์
อำเภอสะเดา อำเภอสะเดาตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดสงขลา เป็นอำเภอที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศมาเลยเซีย ถึงสองด้าน คือด้านใต้ติดต่อกับรัฐเคดาห์ และด้านตะวันตกติดต่อกับรัฐปะลิศ และจังหวัดสตูล ด้านเหนือติดกับอำเภอหาดใหญ่ และด้านตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอจะนะและอำเภอนาทวี สองพื้นที่ประตูแห่ง จังหวัดชายแดนใต้
และยุทธศาสตร์ของ อำเภอสะเดา ยังเป็นจุดกึ่งกลาง ระหว่างสองมหาสมุทร คือเป็นจุดกลางของอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน (มหาสมุทรแปซิฟิก และ มหาสมุทรอินเดีย) มีพื้นที่ “ด่านนอก” เป็นเขตเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต มีด่านชายแดนที่มีการการค้าขายและเป็นทางผ่านของสินค้านานาชนิด ทั้งถูกกฏหมายและผิดกฏหมาย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ทั้งเรื่องของ “น้ำมันเถื่อน สินค้าหนีภาษี ธุรกิจสถานบันเทิง การค้ามนุษย์ และ ยาเสพติด”
ที่ตั้งของอำเภอสะเดา มีถนนหลักคือ “ถนนกาญจนวนิช” เป็นถนนหลัก เชื่อมโยงระหว่าง อำเภอสะเดา กับ อำเภอหาดใหญ่ ราว 40 กิโลเมตร และ จากสะเดา กับด่านนอก ราว 12 กิโลเมตร
ในทางภูมิศาสตร์ อำเภอสะเดา จึงเป็น “ลูกตุ้ม” ที่ห้อยโยงระหว่างหาดใหญ่ กับ ด่านนอก และด่านชายแดน ที่จะตัดขาดกันไม่ได้ ซึ่งแม้ว่า อำเภอสะเดา แม้จะไม่มีพื้นที่ติดทะเล แต่ก็เป็นพื้นที่ทางผ่าน ที่“ลูกตุ้ม” เชื่อม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับจังหวัดสตูล ที่เป็นทางผ่านแบบบังคับ เปิดชายฝั่งทะเลสองมหาสมุทร
ในเหตุผลทางภูมิศาสตร์ ไม่แปลก ที่ อำเภอสะเดา จะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ของขบวนการบีอาร์เอ็น สำหรับการใช้เป็นฐานที่มั่น ในการเคลื่อนไหว และขยายพื้นที่
เพราะเป้าหมายของขบวนการบีอาร์เอ็น หลายฝ่ายเชื่อว่า บีอาร์เอ็นอาจต้องการ “หาดใหญ่ เมืองหลวงแห่งภาคใต้ตอนล่าง” และนั่นหมายถึง “สงขลา” ทั้งจังหวัด!! !!
ซึ่งในทางภูมิศาสตร์แล้ว การได้เขตปฏิบัติการในอำเภอสะเดา ก็เท่ากับได้หันหลังพิงชายแดน “หันหน้าเข้าหาดใหญ่”
000…การขยายกองกำลังและความเชื่อมโยงกับ “โรฮิงญา”
เมื่อสามารถสร้างอำเภอสะเดาให้เป็น พื้นที่ความรุนแรงได้ในระดับหนึ่งก็จะสามารถขยายปฏิบัติการเข้าสู่อำเภอหาดใหญ่ “หัวใจทางเศรษฐกิจของภาคใต้” ได้ไม่ยาก เพราะมีระยะทางห่างกันเพียง 40 กิโลเมตรโดยประมาณเท่านั้น อีกทั้งมีช่องทางสำหรับหลบเลี่ยง การปราบปราม ด้วยการใช้ “แนวชายแดน” เป็นหลังพิง พร้อมประตูตะวันออก ที่เชื่อมโยงไปยังพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับส่งกำลัง และลำเลียง
บวกเข้ากับเหตุผลของการหาทางออกสู่ทะเลอันดามัน ที่อาจจะเป็นประตูเปิดสู่การขยายกองกำลังจาก “กลุ่มโรฮิงญา” ที่มีอยู่มากในพื้นที่ และยังสามารถกดปุ่มเข้ามาได้อีกเรื่อยๆ อย่างไม่จำกัด !!
นี่เป็นเพียงเหตุผลทางภูมิศาสตร์สำหรับทฤษฎีลูกตุ้ม !!
000…ฐานที่มั่นที่มั่นคงทางเศรษฐกิจกับ “ประตูแห่งอาเซียน”
ขณะที่ “เหตุผลในเชิงเศรษฐกิจ” อำเภอสะเดา และพื้นที่ด่านนอก รวมถึงรอยตะเข็บชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย เป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญ ที่มาดหมายให้เป็น “ประตูแห่งอาเซียน รับกับการมาถึงของ AEC” ในอนาคต ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่เข้าในในพื้นที่ด่านนอกมากมายมหาศาลในแต่ละปี ส่งผลให้เศรษฐกิจของอำเภอสะเดา เติบโตอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะในพื้นที่แถบ “ด่านนอก”และเป็นที่มาของสถานบันเทิงที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก พร้อมๆ ไปกับธุรกิจการค้าชายแดนที่คึกคัก และมีความสำคัญอย่างยิ่งในอนาคต
เช่นเดียวกันกับธุรกิจผิดกฏหมายหลากหลายประเภท ที่เป็น “ฐานทางการเงิน” สำคัญ ที่อาจเป็นอีกหนึ่งในเป้าหมายที่ขบวนการก่อความไม่สงบต้องการ เพราะนั่นหมายถึง ความมั่นคงแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของขบวนการ ที่จะได้จากธุรกิจผิดกฏหมายและถูกกฏหมายนานาชนิด รวมถึงเป็นแหล่งพักเงิน ฟอกเงิน และเป็นแหล่งรอคอยการสนับสนุนทางการเงินที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง
เป็นลูกตุ้มเศรษฐกิจ ที่สำคัญและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง!!
000…ตำนานแห่งเขาน้ำค้างความลับที่ถูกลืม
นอกจากเหตุผลทางภูมิศาสตร์ และเหตุผลทางเศรษฐกิจ แล้ว ยังมีเหตุผลเกี่ยวกับปัจจัยทางยุทธศาสตร์ ท่ามกลางเสียงลือเสียงเล่าอ้าง ที่ขับขาน “ตำนานแห่งเขาน้ำค้าง” สมรภูมิสำคัญในอดีตของ “พรรคคอมมิวนิสต์มาลายา” (Malayan Communist Party หรือ Communist Party of Malaya) หรือ พคม. (ทางการไทยเรียก โจรคอมมิวนิสต์มาลายา หรือ จคม.) ที่ใช้พื้นที่แห่งนี้ เป็นเขตปฏิบัติการปฏิวัติ ต่อต้านรัฐบาลมาเลเซีย
และมีการขุดอุโมงค์เชื่อมโยงอย่างสลับซับซ้อนในเขาน้ำค้าง รอยต่อตะเข็บชายแดน ที่เป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างอำเภอสะเดาและอำเภอนาทวี โดยใช้อุโมงค์อันสลับซับซ่อนและทอดยาวตามตะเข็บพรมแดน
พคม.และตำนานเขาน้ำค้าง ยังคงเป็นความลี้ลับ นับจากการวางอาวุธของสมาชิกพรรคที่หลงเหลืออยู่ราว 2,000 กว่าคน และส่วนหนึ่งกลับเข้ามาเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” ในปี 2532 ซึ่งมาจากการลงนามสันติภาพระหว่างพรรคกับรัฐบาลไทยและมาเลเซีย ที่อำเภอหาดใหญ่ ประเทศไทย
000…อาวุธ จคม.ที่ถูกฝังไว้
จนมีการตั้งคำถามถึง “อาวุธสงครามจำนวนมาก” ที่ยังคงถูกเก็บซ่อนไว้โดยสมาชิกบางส่วน ที่มีความเชื่อกันว่า เมื่อครั้งที่มีการ “มอบตัว” กับรัฐบาลไทย ยังไม่ได้มีการส่งมอบทั้งหมด
จนเมื่อปี 2553 มีการพบระเบิดพวงถึง 88 ลูก ในพื้นที่สวนยาง เขต ต.สำนักแต้ว อำเภอสะเดา ถูกฝังไว้ใต้จอมปลวก โดย พ.ท.อุดม แก้วชูเสน กก.9 บก.กฝ.บช.ตชด.(ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ระบุว่า วัตถุระเบิดดังกล่าวเป็นระเบิดของกลุ่มโจรคอมมิวนิสต์มาลายาที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ เมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งบริเวณดังกล่าวเคยเป็นค่ายที่พักของกลุ่ม”
ซึ่งการค้นพบระเบิดดังกล่าว อาจเป็นหนึ่งในการยืนยัน “ตำนานแห่งเขาน้ำค้าง” กับอาวุธสงครามจำนวนมากที่หลงเหลือ และอาจเป็นอีกหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการขยายขบวนการก่อความรุนแรงจาก พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ถูกหยิบขึ้นมาอ้างถึงเหตุปฏิบัติการ ซึ่งมีที่มาทางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนของกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับการเข้าสู่พื้นที่ “อำเภอสะเดา” จุดยุทธศาสตร์สำคัญบน “ทฤษฎีลูกตุ้ม” ที่ถูกมองข้ามจากหน่วยงานภาครัฐ และเคยปฏิเสธถึงข้อเท็จจริงบางประการ ที่วันนี้เหตุการณ์ระเบิดในพื้นที่อำเภอสะเดาน่าจะเป็นเชิงประจักษ์ให้เห็นแล้วว่า “อำเภอสะเดา” จากนี้จะไม่เหมือนเดิม
(ติดตามตอนที่ 2)