หน้าแรก บทความ

ทบทวนกระบวนการตุลาการนุวัตร : บทบาททางการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญไทย (1)

“ข้าพเจ้ามองเห็นความเลวร้าย หากว่าศาลเข้ามาแทรกแซงยุ่งเกี่ยวในทุกคดี” : เดสเมอร์นิย์ (Desmeuniers)

เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มกรา ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 8:0 เสียงว่า วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรสามารถกำหนดขึ้นใหม่ได้ และวินิจฉัยโดยเสียงข้างมาก 7 : 1 เสียง ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ครม. โดยนายกรัฐมนตรี และ กกต. โดยประธาน กกต.ที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกันในการหารือเพื่อออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่

เหตุการณ์นี้ นับว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาแสดงบทบาทสำคัญในการเมืองไทย ผู้เขียนจึงเห็นเป็นวโรกาสที่เหมาะสมต่อการทบทวน แนวคิด หลักการ และผลงานหลักๆ ที่ผ่านมาของศาลรัฐธรรมนูญไทย

ตุลาการภิวัตน์ .. ตุลาการวิบัติ .. ตุลาการนุวัตร !?! และกรณีตัวอย่างศาลปาร์เลอมองต์ของฝรั่งเศสสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

บทความชิ้นนี้ จงใจเรียกกระบวนการที่องค์กรตุลาการ (ซึ่งในส่วนเนื้อหาหลัก จะเจาะจงเขียนถึงเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ) เข้ามามีบทบาทตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการใช้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารว่า “ตุลาการนุวัตร” แทนที่จะเรียกว่า “ตุลาการภิวัตน์” เหมือนที่หลายคนนิยมกัน

เพราะคำว่า “อภิวัตน์” หมายถึง การเปลี่ยนไปในทางก้าวหน้า และดีขึ้น แต่ในข้อเท็จจริง ผู้เขียนพบว่า สรวงสวรรค์ไม่ใช่ปลายทางเดียวที่องค์กรตุลาการพาสังคมไปพานพบ บางครั้ง การแสดงบทบาททางการเมืองขององค์กรตุลาการ ก็สามารถพาสังคมไปสู่หนทางที่ตีบตัน ซ้ำเติมความขัดแย้งทางการเมืองให้ซับซ้อน
ยุ่งเหยิงหนักขึ้นกว่าเดิม และอาจเป็นอุปสรรคขัดขวางความก้าวหน้าของประเทศได้เช่นกัน

เดี๋ยวจะหาว่าผู้เขียนเป็นควายแดง เป็นขี้ข้าทักษิณ เป็นผู้ไม่รักชาติ จึงขอยกตัวอย่างกรณีไกลๆ ตัว และนานๆ มาแล้ว กรณีหนึ่งเป็นตัวอย่าง

กรณีนั้น คือ บทบาทของศาลปาร์เลอมองต์ (Parlements) ในฝรั่งเศสสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ศาลปาร์เลอมองต์มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทในฐานะเป็นศาลอุทธรณ์และศาลสูง และในฐานะที่เป็นศาลสุดท้าย ศาลปาร์เลอมองต์จึงมีบทบาทในการจัดกลุ่มคำพิพากษาให้เป็นระบบ รวมทั้ง ควบคุมความชอบด้วยกฎหมายและความสอดคล้องกันตามลำดับศักดิ์ของกฎหมายระหว่างพระบรมราชโองการ พระราชกำหนด พระราชบัญญัติ กฎหมายประเพณี และกฎเกณฑ์อื่นๆ

เปรียบเทียบหยาบๆ ก็คือ มีอำนาจหน้าที่ส่วนที่ทำงานคล้ายกับศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

ในทางปฏิบัติ ศาลปาร์เลอมองต์อาจใช้สิทธิคัดค้าน (Droit de remontrance) การใช้พระราชอำนาจของกษัตริย์ได้ ด้วยการตรวจสอบว่าพระบรมราชโองการหรือพระบรมราชวินิจฉัยของกษัตริย์มีความสอดคล้องกับคำพิพากษาบรรทัดฐาน กฎหมายจารีตประเพณี และหลักกฎหมายทั่วไปหรือไม่

มองในกรอบของหลักแบ่งแยกอำนาจ อำนาจหน้าที่ของศาลปาร์เลอมองต์ทำนองข้างต้น ก็ดูเหมือนจะส่งผลดีต่อสังคมฝรั่งเศส แต่ปัญหามันเกิดขึ้นเมื่อศาลดังกล่าวได้คงบทบาทของตนเองไว้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ความเข้มแข็งและความเป็นอิสระก็มากขึ้นๆ จนเริ่มแยกตัวเป็นเอกเทศออกจากราชสำนัก และขัดขวางการดำเนินนโยบายของราชสำนักอยู่หลายครั้ง

ในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ราชสำนักมีนโยบายปฏิรูปในหลายๆ เรื่องเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม แต่ศาลปาร์เลอมองต์นี้เองที่ขัดขวางนโยบายดังกล่าวเสมอมา โดยเฉพาะนโยบายปฏิรูประบบภาษีให้มีความเสมอภาคและเป็นธรรมยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงมีกระแสความพยายามที่จะยุบเลิกศาลที่กีดขวางการบริหารราชการแผ่นดิน ศาลที่มุ่งล้มนโยบายของราชสำนัก แต่ในท้ายที่สุด ความพยายามนี้ก็ถูกต่อต้านจากกลุ่มขุนนางและผู้พิพากษาสายอนุรักษ์นิยม

ด้วยบทบาทที่ไม่ช่วย “อภิวัตน์” สังคมดังกล่าวขององค์การตุลาการอย่างศาลปาร์เลอมองต์ จึงไม่แปลกที่หลังการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1789 สิ่งแรกๆ ที่คณะปฏิวัติสาละวนเข้าไปยุ่ง จะได้แก่ การลดอำนาจของบรรดาศาลทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดการป้องกันไม่ให้ศาลปาร์เลอมองต์เข้ามาข้องเกี่ยวกับการบริหารประเทศ เพราะคณะผู้ปฏิวัติเล็งเห็นว่าศาลข้างต้น เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบาย, มีทัศนคติเป็นปฏิปักษ์ต่ออุดมการณ์ปฏิวัติ ค.ศ. 1789, และจากผลงานในสมัยระบอบเก่าก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ศาลปาร์เลอมองต์มักขัดขวางการปฏิรูปในเรื่องต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง

นี่ก็คือเรื่องราวที่ผู้เขียนหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างว่า ไม่เสมอไปที่การเข้ามามีบทบาททางการเมืองขององค์การตุลาการจะเป็นผลให้เกิดการ “อภิวัตน์” สังคมให้ก้าวหน้า กรณีศาลปาร์เลอมองต์ในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสข้างต้นให้บทเรียนกับเราอีกแบบว่า เมื่อใดก็ตามที่องค์กรตุลาการอยากจะแทรกแซงเข้ามามีบทบาททางการเมืองเสียงจนเสียดุลยภาพของอำนาจสามฝ่าย อยากจะเป็นผู้ “อภิวัตน์” มากจนเกินไป เมื่อนั้น ก็เป็นตุลาการเองที่จะ “วิบัติ” และพาสังคมลงเหวได้ด้วยเช่นกัน

ในกรณีเช่นนี้ เราก็คงให้ชื่อการเข้ามามีบทบาททางการเมืองขององค์กรตุลาการว่า “ตุลาการภิวัตน์” ไม่ได้ แต่ต้องเรียกว่า “ตุลาการวิบัติ” มากกว่า

เพราะฉะนั้น จะเห็นว่า การที่องค์กรตุลาการเข้ามาตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการใช้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารนั้น บางครั้งก็ “อภิวัตน์” สังคมไปข้างหน้า และบางครั้งก็ก่อ “วิบัติ”
พากันลงเหว แทนที่จะถ่วงดุลให้เกิดความยุติธรรม ก็กลับเป็นการถ่วงดึงสังคมให้ถอยหลัง

คำกลางๆ ที่ผู้เขียนเห็นว่า สื่อความหมายถึงบทบาททางการเมืองขององค์กรตุลาการได้มากกว่า คือ “ตุลาการนุวัตร” หมายถึง การอนุวัตร หรือหมุนไปตามบทบาทขององค์กรตุลาการ (ซึ่งอาจจะส่งผลทางบวก หรือทางลบก็ได้)

ผู้เขียนจะขออธิบายถึงหลักการและแนวคิดพื้นฐานของกระบวนการตุลาการนุวัตร, ผลงานหลักๆ
ที่ผ่านมาของศาลรัฐธรรมนูญไทยในการเข้ามามีบทบาททางการเมือง และข้อวิเคราะห์วิพากษ์บทบาทดังกล่าว ในตอนต่อไป

หมายเหตุ: ข้อมูลเกี่ยวกับศาลปาร์เลอมองต์ ผู้เขียนนำมาจากงานของปิยบุตร แสงกนกกุล, ดู ปิยบุตร แสงกนกกุล. ในพระปรมาภิไธย ประชาธิปไตย และตุลาการ. กรุงเทพฯ: โอเพ่นบุ๊คส์, 2552. หน้า 100 – 107.

**** ฟาตอนีออนไลน์ทำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ