หน้าแรก บทความ

สองเดือนแห่งการชัทดาวน์กรุงเทพฯ: เจ็บนิดๆ น่า เศรษฐกิจไทย

การยุบรวมเวทีชุมนุม กปปส. มาไว้ที่สวนลุมพินีเพียงแห่งเดียว นับเป็นการยุติแคมเปญชัทดาวน์กรุงเทพฯ ไปในเชิงสัญลักษณ์ กินระยะเวลาราวๆ 2 เดือนเศษนับจากช่วงสัปดาห์แรกของมกรามาจนถึงสิ้นเดือนกุมภาที่ผ่านมา

ถ้าใครยังจำกันได้ ในช่วงปีใหม่นั้นเอง ผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้ทรงคุณวุฒิของบ้านเมืองอย่างท่านประมนต์ สุธีวงศ์ ได้แสดงทรรศนะเกี่ยวกับการยกระดับการชุมนุมของ กปปส. ในจังหวะก้าวชัทดาวน์กรุงเทพฯ ตอนนั้นว่า “จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเพียงเล็กน้อย ภาคธุรกิจก็ขานรับการยกระดับการชุมนุม เนื่องจากเป็นความเสียหายในระยะสั้นเพื่อนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีในระยะยาว ก็ถือว่าเจ็บแต่จบ และนักธุรกิจน่าจะยอมรับได้”

ด้วยประสบการณ์ คุณวุฒิ และวัยวุฒิของท่าน ทำให้ทรรศนะดังกล่าวดูเป็นบทวิเคราะห์คาดการณ์อนาคตที่น่าเชื่อถือมาก ยิ่งดูประวัติการทำงานของท่านแล้ว ก็ต้องบอกว่า ระดับกุนซือ คงมองเกมขาดแน่ๆ

กล่าวคือ นอกจากท่านประมนต์จะเป็นประธานองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) อย่างที่เราทราบกันแล้ว ท่านยังเป็นอดีตประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งทำให้เชื่อได้เลยว่าอ่านทิศทางเศรษฐกิจเห็นเป็นฉากๆ แน่นอน

ที่สำคัญที่สุด คือ ท่านเป็นอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการรัฐประหาร 2549 ซึ่งอันนี้เป็นเครื่องหมายการันตีที่ดีมากๆ ว่าท่านเป็น ‘คนดี’ ในระดับคุณภาพสูงเพียงใด

และท่านยังเป็นอื่นๆ อีกมากมายหลายตำแหน่ง ทั้งหมดที่ท่านเป็นทำให้ผมมิจำเป็นต้องไปฟังเสียงนกเสียงกาที่ไหน ที่ร้องระงมหงิงๆ เกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การชุมนุมเลย

ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่อเอสเอ็มอี เกษตรกร และผู้ใช้แรงงาน ซึ่งไม่อยู่ในฐานะที่จะรองรับความเสียหายอย่างยืดเยื้อได้ หรือผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนระยะทั้งในระยะสั้น และระยะยาวซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสูญเสียขีดความสามารถและโอกาสในการแข่งขันในเวทีภูมิภาค

หรือหากจะดูกันเป็นตัวเลขที่หน่วยงานเกี่ยวข้องประเมินและสะท้อนออกมาก็พอเห็นอยู่บ้าง ดังนี้

สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่รายงานว่า จากสถานการณ์การชุมนุมที่ผ่านมานับตั้งแต่พฤศจิกา นักท่องเที่ยวลดลงจำนวน 1.7 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าเสียหาย 8.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งตัวเลขค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่คาดการณ์ว่า หากสถานการณ์การเมืองยืดเยื้อไปถึงเดือนเมษา ประเทศไทยจะสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวราวๆ 9 หมื่นล้านบาท
ขสมก. วิ่งรถไม่ได้ในหลายเส้นทาง ส่งผลให้รายได้ลดลง 94 ล้านบาท

ผลประเมินของสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านที่ระบุว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปี ภาพรวมของตลาดรับสร้างบ้านหดตัวจากปีที่ผ่านมา 7%

กรมศุลกากรจัดเก็บภาษีในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2557 ได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 20% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วอยู่ 8% เนื่องจากเอกชนขาดความมั่นใจ การบริโภคของประชาชนลดลง การสั่งสินค้านำเข้าจึงลดลงกว่า 100,000 ล้านบาท

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของเดือนที่ผ่านมา [มกรา] ว่าขยายตัวลดลง 6.4% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนตร์ที่ลดลง 54.44% เนื่องจากสถานการณ์การเมืองส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคซึ่งไม่กล้าสั่งซื้อเพราะกลัวว่าทางผู้ประกอบการจะไม่สามารถส่งมอบได้ตามระยะเวลาที่กำหนด

เสียงสะท้อนยังมีอีกจากหลายแห่ง แต่ผมขอทิ้งท้ายที่ตัวเลขของอะไรกลมๆ ใกล้ๆ ตัวอย่าง “ไข่” ละกัน ข้อมูลจากเกษมชัยฟาร์มกรุ๊ป ระบุว่า ในช่วงของสถานการณ์การชุมนุม คำสั่งซื้อไข่ไก่จากพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลลดลงเหลือวันละ 2-3 หมื่นฟอง จากเดิมคำสั่งซื้ออยู่ที่ราวๆ วันละ 1 แสนฟอง ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับปริมาณไข่ที่ผลิตได้ต่อวันก็จะเห็นว่า เหลือบานเลยครับ เพราะวันๆ นึง ฟาร์มแห่งนี้ผลิตไข่ไก่ได้เฉลี่ย 1.4 ล้านฟอง บวกกับไข่เป็ดอีก 3 แสนฟอง

ไอ้ไข่ที่เหลือๆ นี่ ไม่ทราบว่าท่านอภิสิทธิ์สนใจนำไปเข้าโครงการชั่งกิโลขาย ตามนโยบายอันแสนดี สะอ๊าดสะอาด ไม่โกง โปร่งใส ไว้ใจได้เหมือนกับสมัยที่เป็นรัฐบาลครั้งสุดท้ายไหมครับ ฮิฮิ #ล้อเล่นนะฮาฟฟ แบร่ๆๆๆ 😛

….
อย่างที่บอกไว้แล้วตอนต้น ข่าวสารข้อมูลเหล่านี้ ผมไม่เชื่อหรอกครับ เพราะอะไรน่ะหรือ ก็เพราะมันเต็มไปด้วยอคติบังตา ปราศจากข้อเท็จจริง เชื่อมโยงทางตรรกะเหตุผลไม่ได้ ขาดซึ่งที่มาที่ไป ฯลฯ

ผมเชื่อในทรรศนะของท่านประมนต์ สุธีวงศ์มากกว่า …คุณวุฒิขนาดนี้ ประสบการณ์ขนาดนั้น วัยวุฒิล่วงมาจนหัวหงอกปานนี้แล้ว .. วิเคราะห์อะไรไม่ผิดหรอกครับ

ขณะเดียวกัน ตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจอันเกิดจากผลกระทบของการชุมนุมที่แชร์กันว่อนบนเฟซบุ๊คว่าเป็นหลักแสนล้านน่ะ ถ้าจริงตามนั้นก็ยังนับว่าเป็นเม็ดเงินจิ๊บๆ มากครับ เมื่อเทียบกับเงินทองและกำลังใจที่ผู้คนหอบเอามาให้ลุงกำนัน ตลอดจนเมื่อเทียบกับผลดีที่บ้านเมืองจะได้รับในระยะยาว [มั้ง]

การชุมนุมนับจากนี้ก็ยังคงจะดำเนินต่อไปตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้แต่เริ่มแรก แม้ขอบเขตของผลกระทบจะจำกัดตัวแคบลง แต่ในมิติของความเชื่อมั่นจากนักลงทุนก็ยังคงมีความอ่อนไหวในระยะยาว การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงระยะนี้ก็จึงยังกระท่อนกระแท่นไปอีกสักพัก

กระนั้นก็ตาม ถ้าท่านผู้อ่านทำใจให้เป็นกลาง เปิดใจให้กว้าง ลองเชื่อโดยอย่าสงสัยตั้งคำถามให้มาก ลองใช้สามัญสำนึกเชิงศีลธรรมลึกๆ ในความเป็นคนดีของท่านผู้อ่าน เชื่อและศรัทธาอย่างตั้งมั่นในทรรศนะของคนเก่ง คนดี ศรีรัตนโกสินทร์อย่างท่านประมนต์เช่นเดียวกับที่ผมเชื่อ ท่านก็คงจะเห็นความจริงแท้ไม่ต่างจากผมมากนักใช่ไหมครับ และดังนั้นก็ช่วยกันส่งเสียงสะท้อนไปยังภาคธุรกิจเอกชนให้เข้าใจกันทีเถอะครับว่า

ทนเจ็บอีกนิดละกันน่า เศรษฐกิจไทย ยุคพระศรีอาริย์กำลังจะมาถึงแล้ว ทนหน่อย!!

เพื่อชาติ!!!

ปรี๊ดดด!!!