หน้าแรก บทความ

ยุทธการ “เจาะไอร้อง” และการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ ?

ขอบคุณภาพจาก ผู้จัดการ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลเจาะไอร้อง เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 1559 ที่ผ่านมา ถือเป็นปฏิบัติการทางทหารที่ค่อนข้างมีความสำคัญอย่างยิ่ง เสมือนเป็นการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างให้กับฝ่ายความมั่นคงไทย ได้ตระหนักรู้ว่า ฝ่ายขบวนการมีขีดความสามารถและมีความพร้อมในด้านการทหารที่ไม่ธรรมดา

จากกรณีเหตุการณ์กลุ่มติดอาวุธจำนวนเกือบครึ่งร้อย ได้ลงมือปฏิบัติการทางทหารโดยการเข้าไปยังโรงพยาบาลประจำอำเภอเจาะไอร้อง เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ทำให้สถานการณ์ใต้กลับมาอยู่ในจุดโฟกัสอีกครั้ง

ปฏิบัติการทางทหารของกลุ่มติดอาวุธในวันดังกล่าวถูกรายงานจากสื่อหลายแขนงว่า เนื่องจากตรงกับวันสถาปนาของกลุ่มขบวนการปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานีหรือบีอาร์เอ็น ซึ่งอันที่จริงสำหรับข้อมูลดังกล่าวนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเป็นวันก่อตั้งขบวนการดังกล่าวจริงหรือไม่ เพราะนับตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบันทางขบวนการเองยังไม่มีการยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นทางการถึงรายละเอียดแห่งวันสถาปนาของขบวนการแต่อย่างใด นอกจากข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองเท่านั้น ที่ได้สืบสาวร้าวลึกถึงโครงสร้างและรายละเอียดต่างๆ ของขบวนการ

อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาของการเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าวันดังกล่าว เป็นวันก่อตั้งและเป็นวันสำคัญของขบวนการปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานีจริง ประกอบกับเกือบทุกปีจะมีเหตุการณ์สำคัญเชิงสัญลักษณ์เกิดขึ้นในวันดังกล่าวเป็นประจำ เช่น เหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ในบางพื้นที่ก็ตาม แต่เกิดตรงกับวันสำคัญเชิงสัญลักษณ์ของขบวนการ ย่อมมีนัยยะสำคัญเพื่อต้องการสื่อสารไปยังรัฐบาลไทย มากกว่าที่จะมุ่งเน้นเพื่อหวังผลให้เกิดความสูญเสียในปฏิบัติการณ์ทางทหารในครั้งนี้แต่อย่างใด

ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ โรงพยาบาลเจาะไอร้อง เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2559 ดังนี้

เหตุการณ์ได้เกิดขึ้นเมื่อเวลา 16.40 น โดยประมาณ ที่ได้มีกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ทราบฝ่ายและจำนวนได้ใช้อาวุธสงครามยิงใส่ฐานปฏิบัติการณ์กองร้อยทหารพรานที่ 4816 บ้านเจาะไอร้อง หมู่ที่ 1 ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง ซึ่งตั้งฐานอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลเจาะไอร้อง ซึ่งหลังจากก่อเหตุกลุ่มติดอาวุธดังกล่าว ได้หลบเข้าไปในโรงพยาบาลเจาะไอร้อง จากนั้นได้เกิดการยิงต่อสู้ประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนที่กลุ่มติดอาวุธจะล่าถอยไป

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้อาสาสมัครทหารพรานได้รับบาดเจ็บจำนวน 7 ราย คือ
1.ส.อ.สิริวัฒน์ นวนทอง 2.ส.ท.ธีรศักดิ์ รัตน์อุบล 3. อส.ทพ.ณรงค์ชัย สังข์สิง 4.อส.ทพ.วุฒิไกร เดชบุญ
5.อส.ทพ.สาธิต ชัยบุญตา 6.อส.ทพ.รุ่งอโนชัย เพ็ชรวงค์ และ 7.อส.ทพ.มะพรู หะยีลาเด็ง

เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้หลายฝ่ายออกแถลงการณ์ประณามต่อปฏิบัติการทางทหารที่เกิดขึ้นในบริเวณสาธารณ ที่ควรได้รับการคุ้มครองและการละเว้นจากคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้ ได้สร้างความหวาดกลัวต่อผู้พบเห็น เพราะสถานที่ดังกล่าวถือเป็นสาธารณสถานที่ควรได้รับการคุ้มครองไม่ว่าจะในกรณีใดๆ ก็ตาม ยิ่งในสภาวะสงคราม ยิ่งต้องได้รับการหลีกเลี่ยงจากปฏิบัติการณ์ทางอาวุธของคู่ขัดแย้ง

อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถึงแม้จะเกี่ยวข้องกับโรงพยาบาล ที่ถูกกลุ่มกองกำลังติดอาวุธเข้าไปควบคุมพื้นที่เพื่อใช้เป็นกำบังในการโจมตีฐานทหารที่อยู่ใกล้กับโรงพยาบาลดังกล่าว แต่ผลสุดท้ายกลุ่มติดอาวุธไม่ได้มีเป้าหมายในการทำลายบุคคลากรทางการแพทย์หรือหน่วยงานสาธารณสุขและประชาชนผู้บริสุทธิ์แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ครั้งนี้ ย่อมส่งผลกระทบในด้านจิตวิทยาในสังคมโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ยิ่งไปกว่านั้นจะเป็นการสูญเสียความชอบธรรมในการต่อสู้ตามหลักสากลว่าด้วยกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

คำถามต่อมาก็คือเหตุใดเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต้องตั้งฐานใกล้กับหน่วยงานที่คอยให้บริการประชาชน ทั้งที่รู้ว่าฐานทหารในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนเป็นเป้าหมายในการถูกโจมตีอยู่ทุกระเบียดนิ้ว ซึ่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้แห่งนี้ ไม่มีใครสามารถการันตีถึงความปลอดภัยได้ ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา ที่เกิดเหตุการณ์ลอบวางระเบิดที่ฐานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งพื้นที่ที่เกิดเหตุตั้งอยู่ริมถนนสายหลักมุ่งหน้าสู่ตัวเมืองปัตตานี และยิ่งไปกว่านั้นฐานดังกล่าวอยู่ใกล้กับด่านถาวรของเจ้าหน้าที่อีกด้วย ซึ่งนี่คือเป็นการอธิบายให้เห็นว่า ฐานทหารในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนตกอยู่ในสภาวะอันตรายเท่าๆ กัน

อำเภอเจาะไอร้อง พื้นที่สัญลักษณ์ของการต่อสู้

อนึ่งพื้นที่อำเภอเจาะไอร้อง ถือเป็นพื้นที่สัญลักษณ์ทางการทหารและการต่อสู้สมัยใหม่ระหว่างขบวนการปลดแอกปาตานีกับรัฐไทย กล่าวคืออำเภอเจาะไอร้องเป็นที่ตั้งของค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง ที่ถูกปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ที่ว่ากันว่าเป็นวันเสียงปืนแตกของการต่อสู้ทางอาวุธของกลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยปาตานีครั้งใหม่ โดยฝ่ายความมั่นคงเห็นว่า ปฏิบัติการดังกล่าวเป็นวันประกาศศักดาของการต่อสู้ครั้งใหม่ของขบวนการต่อสู้ปาตานี ที่เชื่อว่าเป็นการกระทำของขบวนการบีอาร์เอ็น ถึงแม้ว่าตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ทางฝ่ายขบวนการเองมิเคยออกมายอมรับว่าตนเป็นผู้สั่งการในปฏิบัติการปล้นปืนดังกล่าว นอกจากการวิเคราะห์ของฝ่ายความมั่นคงและจากพยานหลักฐานที่ค้นพบจากแหล่งเป้าหมายในการปิดล้อมตรวจค้นในพื้นที่ต่างๆ ที่สามารถตรวจพบปืนที่ถูกปล้น ที่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ยิ่งไปกว่านั้นอำเภอเจาะไอร้อง ยังเคยเป็นพื้นที่ความเคลื่อนไหวของแกนนำขบวนการคนสำคัญท่านหนึ่ง ที่ทางการไทยเชื่อว่าเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังของความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงระยะเวลาที่ผ่าน ที่ทางการไทยต้องการตัวมากที่สุด

เพราะฉะนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลเจาะไอร้อง เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 1559 ที่ผ่านมา ถือเป็นปฏิบัติการทางทหารที่ค่อนข้างมีความสำคัญอย่างยิ่ง นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ระลอกใหม่นี้เมื่อต้นปี 2547 กล่าวคือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างให้กับฝ่ายความมั่นคงไทยได้ตระหนักรู้ว่า ฝ่ายขบวนการมีขีดความสามารถและมีความพร้อมในด้านการทหารที่ไม่ธรรมดา ที่สามารถระดมพลอย่างขนานใหญ่ ในการลงมือปฏิบัติการทางทหาร ที่สามารถจู่โจมเข้าไปในบริเวณสาธารณสถานได้อย่างเอิกเกริก ไร้การต่อต้านของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้กล้องวงจรปิดสามารถบันทึกเหตุการณ์การเข้าจู่โจมของกองกำลังติดอาวุธได้อย่างชัดเจน ถึงยุทธวิธี จำนวนคน และการวางแผนที่รัดกุม จนสามารถถอยกลับได้อย่างปลอดภัยไม่มีการบาดเจ็บล้มตายเกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนปฏิบัติครั้งนี้จะถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนและสายตาชาวโลกอย่างแน่นอน

คำถามก็คือการลงมือปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่สาธารณในช่วงกลางวัน ที่มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดทั่วบริเวณเช่นนี้ เป็นความจงใจของขบวนการหรือไม่? ที่ต้องการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างให้กับฝ่ายความมั่นคงในการประเมินศักยภาพของกองกำลังติดอาวุธของขบวนการที่อยู่ในชุดเต็มสูตร ประกอบกับเป็นการเผยการปฏิบัติการทางอาวุธที่เต็มรูปแบบ ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้ไม่เคยปรากฏให้เห็นต่อสาธารณชนตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา

หากเป็นความตั้งใจของขบวนการในการออกมาแสดงความพร้อมของกองกำลังในลักษณะหน่วยรบให้สังคมได้มองเห็นถึงศักยภาพของขบวนการที่กำลังต่อสู้กับรัฐไทย อย่างน้อยเพื่อเป็นการอธิบายให้สังคมมลายูและเจ้าหน้าที่รัฐไทยได้รู้ว่า กองกำลังทหารของขบวนการยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ต่อมาตรการกดดันไล่ล่าของฝ่ายความมั่นคง และการรวมพลอย่างขนานใหญ่เช่นนี้มิอาจดำเนินการได้ หากปราศจากความมั่นคงและเสถียรภาพภายในขบวนการเอง

อย่างน้อยเพื่อให้โลกรู้ว่า ปัญหาความขัดแย้งและการต่อสู้ทางอาวุธที่ปาตานี มิได้เป็นปัญหาธรรมดาที่รัฐไทยจะแบกรับแก้ไขเพียงลำพังได้อีกต่อไป