“สถาบันปอเนาะคือ ศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านศาสนาและวัฒนธรรม ของชุมชน ซึ่งปอเนาะ กับ สังคมมุสลิมนั้น เปรียบได้กับความเค็มของน้ำทะเล การที่น้ำทะเลไม่เน่าเสียเพราะมีความเค็มของน้ำทะเลได้ปกป้องรักษาไว้ เปรียบเสมือนกับปอเนาะที่ช่วยรักษาไม่ให้สังคมมุสลิมเน่าฟอนเฟะจากอบายมุขต่างๆ”
ข้างต้นเป็นคำพูดของ ‘บาบอปอเนาะดาลอ’ อับดุลการีม นาคนาวา ประธานสภาอูลามาอฺฟาฏอนีย์ดารุสสาลาม ซึ่งจะเห็นได้ว่า ปอเนาะคือแหล่งอารยธรรมสันติภาพที่แท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้แห่งนี้ ที่มุสลิมในพื้นที่ได้รับความรู้ในเรื่องศาสนาเพราะอิทธิพลของปอเนาะในพื้นที่แห่งนี้
ฉะนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า การสั่งปิดปอเนาะและการคุกคามปอเนาะจากรัฐในช่วง 12 ปีไฟใต้ สร้างแรงสะเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก
การสั่งปิดปอเนาะของรัฐในช่วงปี 50 ต้นๆ ถึงสองแห่งในพื้นที่ชายแดนใต้ เป็นคำถามที่ชาวบ้านยังไม่กระจ่างถึงสาเหตุการสั่งปิด แต่อย่างไรก็แล้วแต่การสั่งปิด ห้ามทำการเรียนการสอน ก็ยังไม่สะเทือนความรู้สึกเท่าการสั่งยึดที่ดินปอเนาะญีฮาด
แม้เจ้าหน้าที่จะออกมาพูดหรือบอกว่า การสั่งยึดทรัพย์ปอเนาะญีฮาดในครั้งนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายเนื่องจากเป็นคำตัดสินของศาลตามกระบวนการพิจารณาพยานหลักฐานของศาล แต่รัฐก็ต้องยอมรับและรับให้ได้ว่า การสั่งปิด/ยึดปอเนาะเป็นเรื่องอ่อนไหวและส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนของตนด้วย และที่สำคัญการสั่งยึดที่ดินเป็นคำสั่งของศาลในทางนิติรัฐแต่ในความรู้สึกทางสังคมนั้นรัฐไม่สามารถที่จะห้ามความรู้สึกที่กระทบจิตใจของประชาชนได้ แม้มีหนทางในข้อเสนอของรัฐที่มีมาภายหลังจากข้อกฎหมายได้บังคับแล้วก็ตาม
สำหรับประเด็นที่อ่อนไหวและกระทบความรู้สึกต่อหัวใจประชาชน คือ การยึดที่ดินวากัฟ หนทางการแก้ปัญหาภายหลังของรัฐที่ได้ยื่นข้อเสนอผ่านแถลงการณ์ขององค์กรศาสนาว่า ทางราชการจะสานต่อเจตนารมณ์ ด้วยการให้ใช้ที่ดินพื้นดังกล่าวนี้เป็นที่ตั้งของสถานศึกษาต่อไปตามเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้ง และองค์กรศาสนาก็ออกมาพูดว่า มีความตั้งใจที่จะให้ทุกคนเข้าใจ สบายใจ ทางเราก็สบายใจ เราไม่อยากให้ปัญหานี้กลายเป็นปัญหาประเด็นยาวไป ต้องใช้ความสามารถของศาสนาในการอธิบายประเด็นเหล่านี้ให้ทุกคนเข้าใจ
แต่ก็มีข้อสังเกตของบรรดาประชาชนรอบนอกว่า กระบวนการทั้งหมดเกี่ยวข้องกับความมั่งคง แล้วความมั่งคงกับองค์กรศาสนาเกี่ยวข้องกันอย่างไร ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ได้ยืนยันว่า สิ่งที่เราแถลงออกไปนั้น ฝ่ายความมั่นคงมอบให้คณะกรรมการของเราเต็มที่ คณะกรรมการของเราจะออกลักษณะไหน ความมั่นคงก็ยินดีจะสนับสนุนแล้วเราก็นำเสนอให้ความมั่นคงรับทราบรับรู้ เพื่อปฏิบัติ เรื่องความถูกต้องเราต้องแยก เรื่องศาลเราต้องเข้าใจ ต้องเคารพศาล ศาลเองก็ต้องประกอบด้วยหลักฐานต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมของเขาก็จบไป”
ในการแถลงการณ์ขององค์กรศาสนาได้ระบุว่า การที่ศาลยึดที่ดินปอเนาะญีฮาดในครั้งนี้ กำลังถูกให้เป็นเครื่องมือที่บิดเบือนและชี้นำไปจากความจริงที่ศาลระบุ โดยมีองค์กรต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวให้การช่วยเหลือ
สิ่งนี้เราก็ต้องแยกให้ออกด้วยว่า การช่วยเหลือกับความจริงที่ศาลได้ระบุเป็นหลักฐานประกอบการยึดกับความเป็นมนุษยธรรมที่เข้าไปช่วยเหลือในความมิตร เป็นญาตินั้น เป็นประเด็นที่ต่างกัน และล่าสุด ก็มีประกาศจากศูนย์ช่วยเหลือและเครือข่ายจะมีการจัดงานกุศลเพื่อระดมช่วยเหลือ สิ่งนี้ได้ชี้ให้เห็นชัดว่า กลุ่มองค์กรได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อการช่วยเหลือให้กับครอบครัวที่กำลังประสบอยู่
สำหรับสิ่งที่เป็นประเด็นในเรื่องของความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมนั้นก็ชัดเจน สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีการพูดคุย สำหรับวันนี้และมีการถกประเด็นเหล่านี้มาแล้ว เกิน 10 ปีของห้วงระยะเวลาความรุนแรงในพื้นที่แห่งนี้มาแล้ว
สำหรับการตัดสินใจ ไม่ขอยื่นอุทธรณ์ ของครอบครัวแวมะนอ โดยผ่านการหารือจากชาวบ้านและศิษย์เก่าของปอเนาะ และตัดสินใจเลือกที่จะย้ายออกไปอยู่ที่มัสยิดเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 59 ที่ผ่านมานั้น จากวันนั้นถึงวันนี้ มีผู้คนไปเยี่ยมเยียนครอบครัวทุกวันอย่างไม่ขาดสายเพื่อให้กำลังใจและช่วยเหลือครอบครัว ปฏิสัมพันธ์เช่นนี้ เป็นลักษณะนิสัยของชาวมลายูมุสลิมปาตานีที่ถือปฎิบัติมาแต่อดีต ดังพี่น้องในสายเลือดเดียวกันที่มีความรู้สึกเจ็บร่วมกันเสมือนหนึ่งเป็นอวัยวะเดียวกัน เมื่อส่วนหนึ่งส่วนใดเจ็บ ส่วนอื่นก็เจ็บไปด้วย นั่นคือความเป็น ‘อิควะห์’ (มุสลิมเป็นพี่น้องกัน)