หน้าแรก บทความ

“พื้นที่ปลอดภัย VS พื้นที่ทางการเมือง” ความท้าทายใหม่กระบวนการสันติสุขชายแดนใต้

ที่มาภาพ: pataniforum

ในช่วงเวลานี้คำว่าพื้นที่ปลอดภัยค่อนข้างเป็นกระแสสูงของการวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลมีเดีย แวดวงนักวิชาการ นักประชาสังคม ตลอดจนร้านน้ำชาประจำหมู่บ้านซึ่งเป็นศูนย์กลางข้อมูลข่าวสารในระดับชุมชน ทำให้หลายๆ คนคล้อยตามกับความหมายของ “พื้นที่ปลอดภัย” จนรู้สึกว่ากำลังมีความหวังจะเกิดพื้นที่ปลอดภัยอย่างแท้จริงในเร็วๆ นี้แล้ว

หากพูดถึงคำว่า “พื้นที่ปลอดภัย” ทุกคนก็จะโฟกัสไปที่ภาพของสถานการณ์ที่ไม่มีการก่อเหตุความรุนแรงจากกิจกรรมทางอาวุธด้วยปืน หรือระเบิดจากฝ่ายขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานีเป็นหลัก ทั้งๆ ที่สถานการณ์ความไม่สงบในบริบทสภาพแบบสงครามอสมมาตรนั้น มีคู่ขัดแย้งหลักซึ่งต่างก็ได้ใช้กิจกรรมทางอาวุธต้อสู้กันทั้ง 2 ฝ่าย คู่ขัดแย้งหลักนั้นก็คือขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานีกับรัฐไทย

เท่าที่จำได้คำว่า “พื้นที่ปลอดภัย” ได้ปรากฎต่อหน้าพื้นที่สื่อสาธารณะอย่างเป็นทางการหลังจากที่คณะพูดคุยสันติสุขซึ่งนำโดยพล.อ.อักษรา เกิดผล ได้มีข้อเสนอ 3 ข้อ ไปยังกลุ่มมาราปาตานี ซึ่งหนึ่งใน 3 ข้อนั้นก็มีเรื่อง “พื้นที่ปลอดภัย” อีก 2 ข้อเป็นเรื่องของความยุติธรรมและการพัฒนา

แต่หลังจากได้มีการปรากฎตัวของยูทูบที่เรียกตัวเองว่า คือ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และข้อมูลข่าวสารของ BRN และตามมาด้วยแถลงการณ์มีตราประทับโลโก้ BRN กับบทสัมภาษณ์จาก “ยูซุฟ” ได้ให้สัมภาษณ์กับแอนโทนี่ เดวิส การพูดคุยระหว่างคณะพูดคุยสันติสุขฝั่งไทยกับมาราปาตานีก็หยุดชะงักทันที จนเป็นกระแสวิพากษ์วิจารย์กันครึกโครมว่าคนของ BRN ในมาราปาตานีไม่ใช่ตัวจริงที่มีได้รับฉันทานุมัติจาก DPP (สภาองค์กรนำ)

นับแต่นั้นเป็นต้นมาคำว่า “พื้นที่ปลอดภัย” ก็เป็นกระแสสูงขึ้นมาทันที โดยเฉพาะในแวดวงของนักประชาสังคมต่างๆ ก็ได้มีการรณรงค์ในรูปแบบเวทีสาธารณะบ้าง จัดการอบรมเกี่ยวกับการสร้างพื้นที่ปลอดภัยบ้าง ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ในปี2550 เครือข่ายนักศึกษาเพื่อทักษ์ประชาชน(คพช.) ได้ชุมนุมหน้ามัสยิดกลางปัตตานี คำว่า “พื้นที่ทางการเมือง” ปรากฏตัวต่อหน้าสื่อสาธารณะต่างอย่างเป็นกระแสสูงเช่นกัน
คำว่า “พื้นที่ทางการเมือง” ที่มีขึ้นในช่วงเวลานั้น สืบเนื่องจากนักศึกษาปัญญาชนซึ่งเป็นตัวแสดงใหม่ที่สำคัญ ได้มีสถานะทางการเมืองขึ้นมาอย่างโดดเด่นหลังจากการชุมนุมที่มัสยิดกลางปัตตานีปี2550 ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองแบบสันติวิธีอย่างเข้มข้นในหลากหลายรูปแบบเช่น คาราวานรถสองแถวเยี่ยมเยียนให้กำลังใจครอบครัวผู้สูญเสีย จัดเวทีเสวนาสาธารณะทำความเข้าใจประวัติศาสตร์อย่างถูกต้อง และจัดเวทีอบรมพัฒนาศักยภาพชาวบ้านให้เข้าใจสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานท่ามกลางการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ เป็นต้น

และได้มีจุดยืนชัดเจนว่ารัฐต้องเปิด “พื้นที่ทางการเมือง” ให้กับประชาชนได้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างมีหลักประกันความปลอดภัย ซึ่งก็เกิดผลลัพธ์ในทางบวกอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนการชุมนุมปี2550 แทบที่จะไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองใดๆ ได้เลย

นับแต่หลังการชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมของนักศึกษาร่วมกับประชาชนเรือนหมื่นที่มัสยิดกลางปัตตานีในกลางปี 2550 จนถึงต้นปี 2556 ที่มีการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับ BRN ในวันที่28 กุมภาพันธ์ 2556 พื้นที่ของการทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างสันติวิธีก็แคบลงมาเรื่อยๆ

ที่มาภาพ: นครินทร์ ชินวรโกมล
ที่มาภาพ: นครินทร์ ชินวรโกมล

ปัจจุบันในยุคของการบริหารประเทศโดยอำนาจของทหารนั้น คำว่า “พื้นที่ทางการเมือง” ก็ถูกแทนทีโดย “พื้นที่ปลอดภัย” อย่างมีนัยสำคัญ พูดให้ถึงที่สุดแล้วคำว่า “พื้นที่ปลอดภัย” ในทางปฏิบัตินั้น หากจะให้เกิดขึ้นจริงได้นั้น ตัวแปรสำคัญไม่ได้ขึ้นอยู่กับพลังของภาคประชาชนโดยลำพัง หากแต่ต้องมาจากท่าทีการถอยของคู่ขัดแย้งหลักนั่นคือรัฐไทยกับขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานีเป็นสำคัญ ถึงจะส่งผลให้เกิดเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ ทว่าในความเป็นจริงท่าทีปัจจุบันของคู่ขัดแย้งหลักนั้น ต่างก็ยังเชื่อมั่นในศักยภาพทางการทหารของฝ่ายตัวเองว่าสามารถกำราบอีกฝ่ายหนึ่งได้
กระบวนการพูดคุยสันติภาพสันติภาพ สันติสุขดำเนินการมาแล้วอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2556 แต่ก็ไม่ได้มีข้อตกลงอย่างเป็นทางการว่าจะลด หรือยุติการดำเนินกิจกรรมทางอาวุธ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือไม่มีข้อตกลงว่าด้วย “พื้นที่ปลอดภัย” นั่นเอง จึงน่าสนใจว่า”พื้นที่ปลอดภัย” ที่เป็นกระแสสูงในปัจจุบัน จะสัมพันธ์ หรือขัดแย้งลักลั่นกับคำว่า “พื้นที่ทางการเมือง”

หากว่า “พื้นที่ปลอดภัย” สัมพันธ์หนุนเสริม “พื้นที่ทางการเมือง” ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่หาก “พื้นที่ปลอดภัย” ขัดแย้งบั่นทอนกับ “พื้นที่ทางการเมือง” หากเป็นเช่นนั้นก็ถือว่าเป็นข่าวร้ายสำหรับสังคมในพื้นที่และสังคมไทยทั้งประเทศ เพราะปรากฏการณ์แบบนี้มันเอื้อมากต่อการแบ่งแยกและปกครอง ด้วยการอุปถัมภ์หลายๆ กลุ่มแต่กลับทำลายอีกบางกลุ่ม ซึ่งเป็นบางกลุ่มที่ถูกโดดเดี่ยวจากวาทกรรมทางการเมืองที่ทรงอิทธิพลครอบงำความคิดของสังคมส่วนใหญ่ได้ก็จะถูกทำลายอย่างรุนแรงและชอบธรรม

หากนัยยะสำคัญของคำว่า “พื้นที่ปลอดภัย” ที่กำลังเป็นกระแสสูงในปัจจุบันเป็นไปตามทิศทางแปรผกผันบั่นทอนกับคำว่า “พื้นที่ทางการเมือง” จริงๆ ก็หมายความว่าโหมดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ความขัดแย้งด้วยอาวุธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือปาตานี ก็จะยกระดับสูงขึ้นจากเดิมหลายเท่า

เพราะธรรมดาของฝ่ายที่ถูกทำลายนั้นต้องดิ้นรนอย่างสุดชีวิตอย่างแน่นอน…