หน้าแรก บล็อก

ปล่อยตัว “ครูสาว” แล้ว ที่สภ.เมืองปัตตานี เปอร์มัสจี้รัฐทบทวน “กฏหมายพิเศษ”

ครูสาวถูกควบคุมตัว ล่าสุดถูกปล่อยตัวแล้ว ณ สภ.เมืองปัตตานี เปอร์มัสจี้รัฐทบทวนการใช้กฏหมายพิเศษ

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 5 เมษายน 2564 ณ สภ.เมืองปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43(ฉก.ทพ.43) ได้ปล่อยตัว น.ส.อาซียัน วาจิ อายุ 37 ปี ครูสอนวิชาภาษาอังกฤษ โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จ.ยะลาที่ถูกควบคุมตัวไปเข้าศูนย์ซักถาม ณ ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 เนื่องจากเจ้าหน้าที่สงสัยว่าให้การสนับสนุนและให้ที่พักพิงกับคนร้ายกับคนร้ายที่ก่อเหตุคาร์บอมบ์บริเวณแฟลตตำรวจสภ.รามัน อ.รามัน จ.ยะลา โดยมีเจ้าหน้าที่นำตัวมาส่ง ณ สภ.เมืองปัตตานี โดยได้มีการลงบันทึกประจำวันไว้และปล่อยตัวกลับภูมิลำเนาโดยไม่มีข้อหาใดๆ

น.ส.อาซียัน บอกสั้นๆ ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและยังกังวลว่าอาจเกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นอีก

“เขาเป็นลูกศิษย์ขอมาอยู่ที่บ้านก็ให้อยู่เพราะเป็นนักเรียนที่สอน เขาสอบปากคำตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงสองทุ่ม เจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำร้ายร่างกายอะไร หลังปล่อยตัวเจ้าหน้าที่บอกว่าจะเรียกตัวมาอีกครั้ง ถ้าถามถึงสภาพจิตใจตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้คือไม่ไหว ความกังวลหลังจากถูกปล่อยตัวไปใช้ชีวิตปกติ กลัวเหมือนกันว่าจะถูกเรียกตัวมาตอนไหน ยินดีให้ความร่วมมือเพราะเราไม่ได้ทำผิดอะไรตามที่เขากล่าวหา ไม่เคยต้องคดีไหน ทางโรงเรียนได้ร่วมละหมาดฮายัต เข้าใจเรา ครอบครัวก็เข้าใจดี”

นายอัฟฟาน วัฒนะ

นายอัฟฟาน วัฒนะ เลขาธิการเดอะปาตานี ดูแลภูมิภาคนูซันตารอ เรื่องการละเมิดสิทธิ์รวมทั้งเป็นศิษย์เก่ารร.ธรรมวิทยา บอกว่า

“อาจารย์สอนภาษาอังกฤษแต่ไม่ได้สอนห้องผม รู้จักกันตั้งแต่ผมเรียนม.ปลาย ผมชอบภาษาอังกฤษจึงรู้จักกับอาจารย์สอนทุกคน ตกใจเมื่อทราบข่าวว่าอาจารย์ถูกควบคุมตัว นั่งเฉยไม่ได้ ทางการบอกว่าอยากให้ไปเช็คด้วยตัวเอง ไปเช็คแล้วเขาดูแลดี กังวลคืออาจารย์ยังโสด แต่ข่าวออกไปว่าแต่งงานแล้ว บางสำนักข่าวบอกว่าไม่ได้เป็นอาจารย์ เป็นคนขายข้าวแกงในโรงเรียน เป็นข้อมูลจากไอโอ ความจริงคืออาจารย์ยังโสด จึงไม่เชื่อว่าคนที่โดนจับก่อนหน้านี้เป็นสามีเขา เขาเอาข้อมูลมามั่วมาก”

อัฟฟานบอกว่า เรื่องเช่นนี้บอกไปหลายครั้งก็เป็นเรื่องเดิม ไม่มีปรากฏการณ์ที่ดีขึ้น จึงไม่หวังใคร อันไหนทำได้ก็ทำเอง ควรให้การเยียวยาจิตใจ เชื่อว่าอาจารย์จะไม่ถูกคุกคามทางกาย แต่ไม่แน่ใจว่าถูกคุกคามด้วยวาจาหรือไม่

“กรณีของอาจารย์ไม่ใช่กรณีแรกและกรณีสุดท้ายของพื้นที่นี้ ตลอด 17 ปีนี้ที่พื้นที่ได้ใช้กฏอัยการศึก กฎหมายพิเศษในการควบคุมตัวประชาชนเป็นปัญหา กรณีของอาจารย์เป็นตัวชี้วัดที่ค่อนข้างชัด ควบคุมตัว 3 วันแล้วปล่อย แต่การกระทำเหล่านี้มันขัดหลักสิทธิมนุษยชน เขาสูญเสียอิสรภาพ 3 วันนี้จะตอบแทนเขาอย่างไร จะตอบคำถามสังคมและสภาพจิตใจที่ถูกกระบวนซักถามอย่างไร” นายซูกริฟฟี ลาเตะ ประธานกลุ่มเปอร์มัสกล่าว

นายซูกริฟฟี ลาเตะ

“เปอร์มัสสื่อสารมาตลอดว่าการมีกฏหมายพิเศษไม่ได้แก้ปัญหา ไม่ใช่กระบวนการที่แสวงหาสันติภาพที่นี่ได้เลย ถึงเวลารัฐเองต้องทบทวนการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ว่าเหมาะสมหรือไม่ ทำให้ประชาชนพอใจกับกระบวนการที่มีอยู่หรือไม่ ไม่แน่ใจว่าฝ่ายความมั่นคงคิดอะไรอยู่ บางพื้นที่ยกเลิกกฏหมายความมั่นคงแค่ยังมีพรก.ฉุกเฉิน ทำไมไม่มีการใช้กฏหมายปกติทั้งที่รัฐก็บอกว่าเหตุการณ์ลดลง มันย้อนแย้งในตัวเอง ประชาชนไม่ได้รู้สึกว่าเขาปลอดภัยจากกระบวนการและการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ใช่สภาพแวดล้อมที่เราจะเห็นสันติภาพที่ดีในอนาคต”

“ในการควบคุมตัวที่เขาอ้างกฎอัยการศึก มีเหตุสงสัยแล้วถูกรับรองด้วยกฎหมาย แต่ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ ไม่ได้ทำให้ดีขึ้น ต้องทบทวนการปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายพิเศษอีกที กระบวนการส่งตัวมีทหารพรานหญิงมาด้วย แต่ในกระบวนการปิดล้อม ควบคุมตัวไม่แน่ใจว่าใช้วิธีการอย่างไร เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนกับพื้นที่นี้ ไม่ไว้ใจว่ากรณีนี้เป็นกรณีสุดท้าย”

หลังการปล่อยตัว ญาติพี่น้อง เพื่อนๆ และลูกศิษย์ ได้เดินทางมารับครูพร้อมแสดงความดีใจ และโอบกอดครูสาว ทั้งนี้ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่อาจจะมีการเชิญครูอีกครั้ง เพื่อไปซักถามเพิ่มเติม โดยวันนี้เจ้าหน้าที่ยังคงไม่คืนอุปกรณ์เครื่องใช้ เสื้อผ้า หมอน และมือถือ เนื่องจะต้องทำการเก็บข้อมูลต่างๆ รวมทั้งตรวจสอบDNA เพื่อนำไปขยายผลต่อไป และคาดว่าเมื่อทำการพิสูจน์หลักฐานต่างๆ แล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะรีบส่งคืนอุปกรณ์ทั้งหมดให้กับครู

10 ทีมเยาวชนชายแดนใต้ ผ่านรอบคัดเลือกร่วมทำหนังสั้น โครงการ DEEP SOUTH YOUNG FILMMAKER รุ่น 2

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี โครงการ “Deep South Young Filmmaker” (เยาวชนสร้างหนัง หนังสร้างคน) จัดงานเปิดตัวทีมเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก นำเสนอผลงานหนังสั้นเพื่อคัดเลือกเป็นรอบสุดท้าย โดยมี 18 ทีมเข้าร่วม

โครงการ DEEP SOUTH YOUNG FILMMAKER (เยาวชนสร้างหนัง หนังสร้างคน) เป็นโครงการที่มุ่งหวังจะช่วยพัฒนาเยาวชนในพื้นสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้ผลิตสื่อภาพยนตร์สั้นอย่างมืออาชีพ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 โดยมีทีมวิทยากรผู้อบรมเยาวชนนำโดย คงเดช จาตุรันต์รัศมี, ลี ชาตะเมธีกุล, ศิวโรจณ์ คงสกุล เป็นต้น

โดยผลงานจากเยาวชนที่เข้าร่วมอบรมในรุ่นที่ 1 ได้ออกฉายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งที่กรุงเทพฯ และเทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 23 (23 rd Thai Short Film and Video Festival) อีกทั้งหนังสั้นบางเรื่องจากโครงการได้รับเลือกไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ อาทิ เทศกาล Thai Film Festival Berlin ประเทศเยอรมัน

สำหรับโครงการรุ่นที่2 ทางโครงการฯ เปิดรับสมัครเยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ทีมละ 5 คน อายุ 15-25 ปี เข้าร่วม โดยส่งโครงเรื่องย่อหนังสั้น ไม่จำกัดเนื้อหาและรูปแบบไม่ว่าจะเป็น ดราม่า ตลก สยองขวัญ ไซไฟ แนวทดลอง หรือสารคดี ที่แต่ละทีมอยากบอกเล่าภายใต้บริบทของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ทีมที่ผ่านการคัดเลือก จะได้เข้าร่วมอบรมกับวิทยากรทางภาพยนตร์ระดับมือรางวัล และได้ทุนสนับสนุนเพื่อผลิตภาพยนตร์สั้น ความยาวไม่เกิน 25 นาที พร้อมร่วมประกวดชิงเงินรางวัลรวมมูลค่า 100,000 บาท

หนึ่งใน 10 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกคือ ทีมกะโปกโปรดักชั่น ประกอบด้วย มูฮัมหมัดไซดี ประดู่ ซูรียาณี บินวาจิ และ จันทร์จิรา อีดยี สามเกลอจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี บอกว่า ประเด็นที่นำเสนอคือ แวรุงเมกา เรื่องราวของวัยรุ่นในพื้นที่ที่มีการแว้นท์มอเตอร์ไซต์ที่ไม่เหมือนกับการแว้นท์ในพื้นที่อื่นๆ

“เมื่อเห็นเด็กแว้นท์ เรานึกถึงอะไร มีนัยยะอะไรซ่อนอยู่ เป็นประเด็นที่เราเห็นทุกวัน ตี 1 ตี 2 เขาก็ยังแว้นท์อยู่ เขาสื่อสารผ่านท่อเสียงดัง เหมือนเสียงที่ดังเบาที่สุด วัยรุ่นที่แว้นท์ที่นี่ต่างจากที่อื่น มีการรวมตัวกันในวันสำคัญเช่นวัยรายอ แต่งตัวด้วยชุดโต๊ปหรือมลายูสไตล์ ขี่รถกันเป็นคาราวานไปรวมตัวกันในสถานที่สำคัญทางศาสนา”

“อยากให้สังคมไม่ผลักพวกเขาออกจากสังคม ความเป็นพลเมืองไม่เคยผลักเขาออกไป เปิดเวทีพูดคุยระหว่างเด็กแว้นท์กับคนในสังคมบนฐานของเหตุผล ส่วนรสนิยมเป็นอีกเรื่อง เราอยากนำเสนอให้สังคมรับรู้ว่าเยาวชนชายแดนใต้มีศักยภาพ หากไม่ค่อยมีเวทีให้แสดง โครงการนี้คือดีมาก เมื่อโอกาสมาถึงต้องคว้าไว้และใช้ให้เป็นประโยชน์”

ส่วน Budak Selatan จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี กับประเด็น “ฮิญาบ” จากแม่ของหนึ่งในทีมงานเคยเป็นหนึ่งในกลุ่มนักศึกษาสตรีมุสลิมวิทยาลัยครูยะลาที่เข้าร่วมการประท้วงเพื่อให้มุสลิมะฮฺได้คลุมฮิญาบในสถานศึกษาเมื่อปี 2531 รวมทั้งแรงบันดาลใจที่อยากให้มุสลิมะฮฺทุกคนคลุมฮิญาบด้วยบทบัญญัติของศาสนา ฮาราฟัร แวเดง และ วันอัสรีย์ กาซอร์ สองในทีมงานบอกว่า

“เราอยากทำประเด็นนี้ เป็นหนังกึ่งสารคดี อยากให้เพื่อนมุสลิมะฮฺที่เรียนในวิทยาลัยได้คลุมฮิญาบตามหลักการของศาสนาอิสลาม”

“ย้อนไปให้เห็นว่ากว่าจะได้มาซึ่งการยอมรับให้มีการคลุมฮิญาบในเมืองไทยไม่ใช่เรื่องง่าย จนมีการประท้วงใหญ่ของนักศึกษามุสลิมะฮฺหน้าวิทยาลัยครูยะลาในอดีต เป็นประวัติศาสตร์ที่ควรจดจำและเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เมื่อได้รับโอกาสที่ดีควรนำมาใช้ด้วยผลดีต่อตัวเองของมุสลิมะฮฺ ในความหลากหลายของพื้นที่ ให้มองการตักเตือนเป็นการบอกรักกัน ไม่ใช่เป็นการยุ่ง ทำให้คิดได้และกลายเป็นคนดีได้ การคลุมฮิญาบเป็นการตั้งใจจริงต่อพระเจ้า ให้เกียรติศาสนา ส่วนคนที่ยังไม่ได้คลุมก็อยากให้เขาคิดได้เร็วๆ”

ทั้งสองบอกว่า อย่ามองนักศึกษาสายอาชีวะว่าคือเด็กที่เหลือจากการเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ เพราะพวกเขาเลือกที่เรียนสายนี้ที่ได้เรียนรู้และปฏิบัติจริงในระหว่างเรียน และอาจารย์สนับสนุนดีมาก ขอบคุณโครงการฯ ที่ให้ได้นำเสนอแนวคิดและศักยภาพของทีม การได้รับคัดเลือกทำให้มั่นใจมากขึ้นที่จะนำเสนอประเด็นฮิญาบให้แหลมคมมากขึ้น

นางสาวพิมพกา โตวิระ ผู้กำกับภาพยนตร์ ในฐานะผู้จัดโครงการ “Deep South Young Filmmaker” (เยาวชนสร้างหนัง หนังสร้างคน) กล่าวว่า งานหนังสั้นในรุ่นแรกได้รับรางวัลมาหลายเวที ความสำเร็จนั้นแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเยาวชนในพื้นที่ความขัดแย้งที่พยายามเปลี่ยนภาพจำของพื้นที่ ให้คนภายนอกได้สังเกตและมองเห็นว่าพวกเขาไม่ได้จ่อมจมอยู่แต่ปัญหาและความขัดแย้งที่เนิ่นนานมากว่า 16 ปี แต่ผลงานหนังสั้นของพวกเขาเป็นกระบอกเสียงสำคัญที่ช่วยเป็นสะพานสร้างความเข้าใจและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีได้

“คนในเล่าเรื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ เล่าเรื่องที่อยากเล่าให้คนมองอีกแบบ หนังเป็นสื่อที่มีพลังในการถ่ายทอดมากกว่าภาพจำความขัดแย้งและภาพจำไม่ดีให้ลดลง เป็นสะพานให้ถ่ายทอดออกไป เด็กก็ภูมิใจที่ได้มาร่วมงานกัน ทุกทีมที่นำเสนอและผ่านการคัดเลือกได้รับการแนะนำ ข้อเสนอจากวิทยากรมืออาชีพจากส่วนกลาง เพื่อให้ได้ประเด็นและส่วนเติมเต็มที่คมชัดมากขึ้น และจะทำการถ่ายทำกันในเร็วๆ นี้”

รอดูผลงานหนังสั้นจาก 10 ทีมที่ได้รับโอกาสดีๆ ประเด็นแหลมๆ คมๆ รอการชี้แนะจากมืออาชีพ หนังสั้น…เนื้อหาไม่สั้น

จากเจ้าของร้านอาหารในมาเลย์เกือบ 20 ปี  กลับมาเปิดร้านในปัตตานี สู้โควิด ผลตอบรับเกินคาด

“ถามตัวเองก่อนว่าใจรักในสิ่งที่ทำแค่ไหน ถ้าทำด้วยใจเหนื่อยแค่ไหนก็ไปรอด” “ฮูเซน การี” เจ้าของร้านดุอา Du-a Roti-Coffee ร้านอาหารเปิดใหม่ย่านตะลุโบะ ชานเมืองปัตตานี บอกถึงการทำร้านอาหารด้วยหัวใจของเขา

ฮูเซน ชาวบ้านบางปู อ.ยะหริ่ง มีพี่ชายเปิดร้านอาหารที่มาเลเซีย ช่วงปิดเทอมเขาจะไปช่วยงานที่ร้าน กลับมาเรียนจนจบแล้วไปทำงานที่มาเลย์ต่อ จนประมาณปี 2545 เขามีร้านอาหารเล็กๆ เป็นของตนเองในมาเลย์

“เราต้องอาศัยคนมาเลย์ในการเปิดร้านเพราะกฎของประเทศมาเลย์ เปิดได้ประมาณสองปีก็โดนรื้อเพราะเราสร้างทับที่เขา ก่อนโดนรื้อสามเดือนได้เปิดร้านใหม่ใกล้กัน จากนั้นก็เปิดร้านใหม่มาเรื่อยๆ บางทีเปิดมาก็ไม่มีคน และทำร้านอาหารมาตลอด จนถึงเดือนมีนาคม ปี 2563 กลับมาบ้านปัตตานี ซึ่งกลับมาบ้านทุกเดือน กลับมาวันที่ 10 มีนาคม พอวันที่ 19 มีนาคม ทางมาเลย์เขาปิดด่าน คิดว่าเขาน่าจะเปิด อยู่ไปนานก็ไม่เปิดสักที”

ฮูเซน การี

“เคยคิดมานานแล้วว่าจะเปิดร้านที่เมืองไทยเพราะอยากกลับมาอยู่บ้านกับครอบครัว พอเกิดวิกฤติโควิดเลยมีโอกาสได้อยู่บ้านเกิดมาประมาณหกเดือน ตอนสิงหาคมเห็นว่าสถานการณ์เริ่มยาว เข้ามาเลย์ก็ไม่ได้ ดูทำเลมาหลายที่ หาเจ้าของที่ดิน จนมาได้ที่ว่างตรงข้ามโรงไฟฟ้าตะลุโบะ ถนนสายนี้ยังไม่มีร้านแบบนี้ เป็นความลงตัว มีพื้นที่เยอะก็เลยขอเช่าเริ่มทำร้านในเดือนกันยายน ทำร้านประมาณสามเดือน ใช้งบไปใช้ได้เหมือนกัน ก็ได้ตามที่ต้องการ เปิดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ผลตอบรับเกินคาด”

ดุอาเปิดบริการตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม ด้วยอาหารเช้า ข้าวแกงพื้นบ้าน โรตี ช่วง7-11 โมง จากนั้นเป็นอาหารตามสั่ง ช่วงบ่ายสามถึงสามทุ่มมีโรตี อาหารทานเล่น อาหารหนัก พนักงานในร้านเป็นเยาวชนและคนปัตตานีที่มีพื้นเพไม่ไกลจากร้าน

ขณะที่ร้านอาหารในมาเลย์ก็ยังเปิดอยู่ ให้ลูกน้องที่ไม่ได้กลับมาทำกับคนที่มาเลย์ ขายแบบเอากลับบ้าน ประคองให้อยู่ได้ ให้ดูแลกันเอง ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นเขาบอกว่าต้องดูกันอีกที

ยี่สิบปีที่ผ่านมาร้านอาหารในมาเลย์สร้างรายได้ให้ฮูเซนได้มีสายป่านยาว เนื่องจากผลตอบรับที่มาเลย์ดีมาก วิถีชีวิตชาวมาเลย์ชอบทานข้าวนอกบ้าน ครัวของชาวมาเลย์คือร้านต้มยำของคนไทยซึ่งมีชื่อเสียงที่มาเลย์มาก แต่วิถีชีวิตคนไทยแตกต่างกัน ไม่ได้ทานอาหารนอกบ้านทุกมื้อ เขาอยากให้คนมาทานแล้วมาอีก ไม่ใช่มาครั้งเดียว มาเช็คอินแล้วหาย

“สิ่งสำคัญในการเปิดร้านคือใจต้องรักงานบริการ ทำเลดี อาหารอร่อย ราคาเป็นกันเอง และทุกครั้งที่ลูกค้าที่เข้ามานั่งทานที่ร้าน เราเอาคำแนะนำจากลูกค้ามาปรับปรุง เพื่อพัฒนาให้ดีกว่าเดิม การทำร้านอาหารต้องมีใจรัก รักการบริการ งานนี้ไม่มีวันจบ เราต้องปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา”

ฮูเซนบอกว่าหากเทียบรายได้กับตอนที่ทำร้านในมาเลย์รายได้ดีแต่การได้กลับมาอยู่บ้านเกิดถือว่าดีกว่า แต่ต้องใช้ความอดทนให้มาก ซึ่งการมาเปิดร้านอาหารที่บ้านเท่ากับมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ แม้จะทำร้านที่มาเลย์อยู่ในระดับที่โอเคแล้ว อาจจะไม่ได้ดังใจคิด ต้องใช้เวลา พยามยามให้ทันโลก เรียนรู้ตลอดเวลา ให้ลูกค้าประทับใจและกลับมาใช้บริการอีก

“ถามใจตัวเองว่ารักสิ่งที่ทำมากมั้ย งานที่ใจเรารักเราจะทำได้ดี อยากทำอยู่ตลอด ไม่ทำตามกระแส ที่สำคัญคือครอบครัวที่คอยให้กำลังใจอยู่เคียงข้าง ถึงแม้เจอปัญหาอุปสรรคมามาก เคยท้อแท้แต่ไม่เคยถอยเพราะครอบครัวคอยให้กำลังใจเสมอ ทำให้มาถึงวันนี้ วิกฤตนี้อยู่ที่ใครจะมองให้เป็นโอกาส คนเราต้องกินทุกวัน แม้เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร การทำร้านอาหารมีเงินสดหมุนเวียนทุกวัน อยู่ที่เราบริหารจัดการและทำให้ร้านมีมาตรฐาน เราจะไหลไปตามเหตุการณ์ที่เกิดไม่ได้ อย่าหมดกำลังใจ ชีวิตเราต้องเดินหน้า คนที่รอความหวังจากเราอีกเท่าไหร่ ถ้าเรายืนได้อีกหลายคนก็จะรอดไปด้วย เราต้องยอมสละบางอย่างไปเพื่อรักษาสิ่งที่จะไปต่อ ทุกคนล้วนแต่เจอบททดสอบต่างกัน ขอให้อดทนและสู้ต่อไป”

“ร้านดุอาร์ได้เข้าโครงการคนละครึ่งด้วย ลูกค้าตอบรับดีมากซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี รอดูสถานการณ์ว่าเมื่อมาเลย์เปิดประเทศแล้วจะเป็นอย่างไร ดูจังหวะและโอกาสที่อาจจะขยายร้านในปัตตานี ตอนนี้เปิดทุกวันไม่มีวันหยุด”

“คนปัตตานีเป็นนักชิม รู้กระทั่งว่ารสชาตดั้งเดิมเป็นอย่างไร มีส่วนผสมอะไรบ้าง เราต้องเป็นตัวจริงจึงจะอยู่ได้ เราจึงพยายามสรรหาและทำให้ลงตัวที่สุด” ฮูเซน บอกด้วยน้ำเสียงจริงจังและมั่นใจในร้านดุอาของเขา

ด้านเจ้าของกิจการคนอื่นและแรงงานจากมาเลเซียที่กลับไทยด้วยสถานการณ์วิดเช่นกัน ส่วนใหญ่ตกอยู่ในชะตากรรมไม่ต่างกัน คือรายได้ไม่พอกิน จึงพยายามหาหนทางทำมาหากินเพื่อให้ชีวิตได้ไปต่อ

นางยามีละ อาบะ อายุ 35 ปี เจ้าของร้านอาหารในมาเลเซีย ชาวอ.โคกโพธิ์ กล่าวว่า กลับมาตั้งแต่โควิดระบาดครั้งแรก ตอนนี้มาเลย์ระบาดรอบที่สามแล้วก็ยังไม่ได้เข้าไปทำงานเพราะปิดประเทศ ได้แต่ช่วยแม่ขายจาก พอได้กินไปวันๆ ไม่เอาอะไรมากแค่ได้กินกับลูกได้เรียน

นายสูไฮมี สาและ อายุ 28 ปี แรงงานต้มยำมาเลเซีย ชาวอ.ยะหาจ.ยะลา กล่าวว่า ตอนนี้ได้ทำงานที่โรงงานแถวหาดใหญ่แล้วหลังทนรอมาเลย์เปิดด่านไม่ไหว คิดว่าทำงานที่นี้ถ้าไปได้ดีก็จะอยู่ตลอดไม่ไปมาเลย์แล้ว แต่ถ้าเทียบรายได้อยู่มาเลย์จะเก็บเงินก้อนได้ อยู่บ้านเงินเดือนออก จ่ายหมด ไม่เหลือ

นายอิสมะแอ ดารี อายุ 42 ปี แรงงานต้มยำมาเลเซีย ชาวบ้านดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี กล่าวว่า กลับมาช่วงแรกๆ โควิดระบาด ไม่กล้าอยู่มาเลย์ กลับมาแรกๆ ช่วยแม่ขายของ แต่พอระยะยาว ภาระเยอะต้องทำอะไรที่เป็นรายได้มากกว่าช่วยแม่พอกินข้าว

“เรามีลูก 4 คน เขาเรียนหนังสือ ต้องใช้เงิน ก็เลยมาขายไอศรีมบนรถโชเล่ ขายได้บ้างไม่ได้บ้าง ตอนนี้ก็ติดหนี้ เพราะไปรับไอศรีมมา ขับรถไปตามทาง ถึงชุมชนก็แวะขายๆ ไม่ได้ก็ขาดทุน ที่ขายไม่ได้เพราะคนไม่มีเงิน และคนขายของเยอะด้วย เราไม่ทำเลยก็ไม่ได้เลย แต่ถ้าทำก็เสี่ยงเอา วันที่ขายได้ก็พอเอามาจ่ายหนี้บ้าง โชคดีที่เจ้าของไอศรีมสงสารให้ติดได้ ถ้าเทียบการทำงาน ที่บ้านเราจะทำงานสะดวกกว่า ไม่ต้องหลบๆ แต่รายได้ที่บ้านเราไม่มั่นคง แต่ถ้าที่มาเลย์ แม้ต้องหลบๆ แต่ทำงานรายได้มั่นคง”

นายอิสมะแอ ยีเซ็ง อายุ 25 ปี ชาวหนองจิก จ.ปัตตานี กล่าวว่า ตนเก็บขยะขายได้วันละ 50-100 บาท จะเดินเก็บตามถนน สาย 418 ไปเรื่อยๆ ไปไม่ไหว เหนื่อยก็เดินกลับ ตอนนี้อยากมีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ เป็นประจำ 100-200 บาทพอที่จะกินข้าวเลี้ยงแม่ได้ก็พอใจแล้ว

ทุกการงานและทุกอาชีพต้องมีใจรัก พร้อมสู้ จังหวะและโอกาส คือสิ่งที่ต้องมองหา และลงมือทำ…

สภ.เมืองปัตตานี สร้างบ้านแก่ผู้ยากไร้หลังที่ 2 ใกล้ความจริง

หลังจากที่คณะกรรมมาธิการตำรวจสภ.เมืองปัตตานี ได้สร้างและมอบบ้านแก่ผู้ยากไร้ ตามโครงการจิตอาสาพระราชทาน ร่วมกับ กต.ตร.สภ.เมืองปัตตานี และ สภ.เมืองปัตตานี สร้างบ้านให้กับผู้ยากไร้หลังที่ 1 แก่ เด็กชายอัสรี ลอมา นักเรียนชั้นป.3 โรงเรียนชุมชนบ้านปูยุด ณ บ้านเลขที่ 5/2 ม.1 บ้านปูยุด เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563 ณ ปัจจุบัน ได้ทำการสร้างบ้านให้กับผู้ยากไร้หลังที่ 2 ในเขตต.อาเนาะรู ณ สภ.เมืองปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี

พ.ต.อ.ญาณพงศ์ อุบลบาน ผกก.สภ.เมืองปัตตานี ดร.แวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี นายอูเซ็ง เบญนูรุดดีน ประธาน กต.ตร.สภ.เมืองปัตตานี พร้อมด้วยคณะกรรมการ กต.ตร.สภ.เมืองปัตตานี และที่ปรึกษา กต.ตร.สภ.เมืองปัตตานี ตรวจติดตามความคืบหน้าการสร้างบ้านให้กับผู้ยากไร้ ตามโครงการจิตอาสาพระราชทาน ร่วมกับ กต.ตร.สภ.เมืองปัตตานี และ สภ.เมืองปัตตานี สร้างบ้านให้กับผู้ยากไร้ (หลังที่ 2 ในพื้นที่ ต.อาเนาะรู)

โดยบ้านหลังนี้ตั้งอยู่ภายในบริเวณด้านหลังสภ.เมืองปัตตานี ในอดีตเป็นที่เก็บยุทโธปกรณ์ของกองส่งกำลังบำรุง และทรุดโทรมไปตามเวลา พ.ต.อ.ญาณพงศ์ จึงให้รื้อของไปเก็บอีกอาคาร และปรับปรุง ซ่อมแซมบ้านหลังนี้ให้สมบูรณ์

“เขาเป็นช่างก่อสร้าง มีลูกสามคนและภรรยา ยังเช่าบ้านอยู่ เราเห็นว่าเขาไปสร้างบ้าน ทำการก่อสร้างให้คนอื่น เป็นคนมีน้ำใจ แต่ไม่มีบ้านของตัวเอง ยังเช่าบ้านอยู่เลย และได้ช่วยงานสภ.มาโดยตลอด ประจวบกับมีแรงงานต่างด้าวที่รอผลักดันอยู่จำนวนหนึ่ง มีฝีมือในการทำงานก่อสร้าง จึงช่วยกันปรับปรุงห้องขังใหม่ แล้วมาช่วยกันทำบ้านหลังนี้ต่อ ถ้าจ้างช่างมาปูกระเบื้องและซ่อมแซมคงจะเป็นเงินจำนวนมาก ทำให้งบประมาณหมดไปประมาณ 200,000 บาทกับค่าวัสดุ เหมือนเขาส่งกันมาช่วยถูกจังหวะเวลา ตอนนี้บ้านใกล้เสร็จสมบูรณ์ ตกแต่งอีกนิดก็เข้าอยู่ได้เลย”

“เขาสามารถอยู่ที่นี่ได้ไปตลอด จะทำเป็นร้านค้าให้ขายของเบ็ดเตล็ดหน้าบ้าน คิดว่าผกก.คนต่อไปก็คงสานต่อ”

ผกก.สภ.เมืองปัตตานี บอกต่อว่า อยากสร้างบ้านให้ผู้ยากไร้ตำบลละหลังในอ.เมืองปัตตานี ด้วยการทำบ้านให้ดีที่สุดแก่ผู้ที่สมควรได้รับโอกาสนี้

“การทำความดีของเขา ทำให้ได้มีบ้านเป็นของตัวเอง ในการทำโครงการไม่อยากให้เดือดร้อนใคร ทำแล้วทำให้ดี บ้านหลังแรกที่ทำไปเราก็ภูมิใจ ต้องเชื่อมั่นว่าทำแล้วต้องดี และต้องมีหลังต่อไปอีก อยากทำให้ตำบลละหลังในอ.เมืองปัตตานี ส่วนแรงงานบางคนที่มีฝีมือ ถ้าเราขอได้จะขอให้อยู่ที่นี่ต่ออย่างถูกกฏหมายเพื่อเป็นแรงงานที่มีฝีมือ มาเป็นทีมงานรับเหมาก่อสร้างกับเจ้าของบ้านนี้ที่จริงจังและรับผิดชอบงาน”

จากการปฏิบัติเพื่อเป็นโรงพักต้นแบบในชายแดนใต้ในการยกระดับเพื่อบริการประชาชนของสภ.เมืองปัตตานี เริ่มกันตั้งแต่ห้องน้ำบริการประชาชน ที่มีการปรับปรุง ตกแต่ง ห้องน้ำของที่นี่ถือได้ว่าสวยงาม สะอาด น่าใช้อย่างมาก รวมถึงห้องขังภายในสภ. ปกติเมื่อเปิดห้องขังไปจะมีกลิ่น เมื่อมีการปรับปรุงและพัฒนาห้องขังภายในสภ.เมืองปัตตานีทำให้มีความสะอาด สวยงาม เป็นสัดส่วนมากขึ้น ขณะนี้ผู้ต้องขังภายในส่วนใหญ่เป็นชาวต่างด้าวที่รอผลักดันกลับประเทศ

น้ำใจจากเนชั่น รวมพลังบรรจุอาหารแห้ง 2,000 ชุด บรรเทาภัยน้ำท่วมชายแดนใต้

เนชั่นทีวี รวมน้ำใจสู้ภัยน้ำท่วม ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ชายแดนใต้ด้วยอาหารแห้งจำนวน 2,000 ชุด จำนวน 1 ล้านบาท โดยมีจิตอาสาจากสำนักข่าวอิศรา มูลนิธิฮิลาลอะห์มัร กลุ่มศูนย์พัฒนาอาชีพร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ กลุ่มโคกโพธิ์ กลุ่มเพชรสุภา กลุ่มเมืองยะลา กลุ่มเมืองปัตตานี รร.ซี.เอส.ปัตตานี ข้าวผัดพี่อูม นพค.42 สภ.ยะหา จำนวน 100 กว่าชีวิตรวมพลังบรรจุข้าวสาร อาหารแห้ง ณ รร.ซี.เอส.ปัตตานี

ในภารกิจนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี/รมว.กท.สาธารณสุข พลโทเกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 พ.อ.รณชัย เวียงวงษ์ ผบ.นพค.42 สนภ.4 น้ำ เยี่ยมให้กำลังใจแก่จิตอาสาที่มาร่วมแพคของ โดยรองนายกรัฐมนตรีและมทภ.4 สนับสนุนปัจจัยในภารกิจนี้ด้วย

ทั้งนี้จะมีการลงพื้นที่แจกจ่ายของในวันที่ 17 ม.ค.64 ในจ.ปัตตานีจำนวน 853 ชุด จ.ยะลา จำนวน 872 ชุด และจ.นราธิวาส จำนวน 275 ชุด

ผู้ว่าฯ ปัตตานี นำลงนามถวายพระพร – มอบแบบลายผ้ามัดหมี่ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แก่กลุ่มทอผ้า

ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ประธานในพิธีลงนามถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ และเป็นประธานในพิธีมอบแบบลายผ้ามัดหมี่ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แก่กลุ่มผ้าทอในจังหวัดปัตตานี

เมื่อวันที่ 15 มกราคม ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอเมือง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี นายราชิต สุดพุ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ประธานในพิธีลงนามถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 8 มกราคม 2564 และเป็นประธานในพิธีมอบแบบลายผ้ามัดหมี่ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แก่กลุ่มผ้าทอในจังหวัดปัตตานี ในกิจกรรมผ้าไทย ใส่ให้สนุก โดยมี ผู้อำนวยการกลุ่มงาน นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัด และเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดปัตตานี ผู้แทนจากกลุ่มผ้าทอจำนวน 7 กลุ่มและพัฒนาการทั้ง 12 อำเภอในจังหวัดปัตตานี เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง

โดยในพิธี ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีเป็นประธานเปิดกรวยดอกไม้ธูปเทียนแพ เบื้องหน้าพระรูปสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และกล่าวถวายพระพรพร้อมลงนามในสมุดลงนามถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 8 มกราคม 2564 จากนั้นได้มอบลายผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แก่ตัวแทนจากกลุ่มผ้าทอ และพัฒนาการอำเภอในจังหวัดปัตตานี

สำหรับ ลายผ้าชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบลายผ้ามัดหมี่พระราชทานช่างทอผ้า ชื่อลาย”ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”ที่ทุกลวดลายเปี่ยมไปด้วยความหมาย อาทิ ลาย S หมายถึง Sirivannavari สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ลาย S จำนวน 10 แถว หมายถึงพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 10 ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ หมายถึงความรักที่พระองค์มีต่อประชาชนชาวไทยทุกคน ( Eternal love) เพื่อเป็นการจุดประกายความคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากลเพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน

ดังที่ทรงมีพระดำรัสเมื่อครั้งเสด็จไปเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงาน “OTOP City 2020” ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ความตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้า ได้มีโอกาสตามเสด็จสมเด็จย่า สมเด็จ พระพันปีหลวงมาตั้งแต่เด็กได้เห็นท่านทรงงาน และรับรู้ถึงความทุ่มเทของพระองค์ท่าน ในการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านและสืบสานภูมิปัญญาไทยมาโดยตลอด เห็นการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง ข้าพเจ้า มีความ ตั้งใจที่จะสืบสานพระราชปณิธาน โดยข้าพเจ้าได้นำประสบการณ์การทำงาน การศึกษา การเดินทางไปชมผ้าไทย และงานหัตถกรรม พื้นบ้าน ตามภาคต่าง ๆ ทำให้เห็นผลงานที่สามารถนำมาพัฒนาให้ร่วมสมัยและเป็นสากลได้”

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงสร้างแรงบันดาลใจและแบ่งปันองค์ความรู้ให้แก่วงการผ้าไทย ทรงมีพระวินิจฉัยนำแนวคิดอันเป็นสากล มาสู่การพัฒนาต่อยอดมรดกภูมิปัญญาผ้าไทยให้ผ้าไทยเป็นสิ่งแสดงเรื่องราวอัตลักษณ์วัฒนธรรมประจำถิ่น สามารถนำไปออกแบบและตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกาย ที่สวมใส่ได้ในชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสมกับทุกเพศ ทุกวัย และทำให้เกิดความรัก ความตระหนักให้ผ้าไทย มีชีวิตชีวา คงคุณค่าอยู่สืบไป

อีกทั้งยังได้รับพระกรุณาธิคุณ ประทานพระอนุญาตแบบลายมัดหมี่แก่ช่างทอผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่และสื่อความหมายถึงการส่งมอบความรักและความสุขให้แก่ชาวไทยทุกคน และประทานอนุญาตให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค สามารถนำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้าได้ ซึ่งนับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

ตัวแทนจากกลุ่มผ้าทอบ้านสาะละวันบอกว่า ภูมิใจที่ได้รับลายผ้าทอพระราชทานและจะนำลายผ้าทอพระราชทานไปปรึกษากันกับสมาชิกในกลุ่มว่าจะลายผ้าไปใช้ทอแบบไหน และอย่างไรต่อไป

“เยาวชนสร้างหนัง หนังสร้างคน” โครงการเปลี่ยนเยาวชนชายแดนใต้ สู่ผู้ผลิตภาพยนตร์สั้นมืออาชีพ

โครงการ DEEP SOUTH YOUNG FILMMAKER รุ่น 2 รับสมัครเยาวชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ เข้าร่วมผลิตหนังสั้นชิงรางวัลรวมมูลค่า 100,000 บาท หวังพัฒนาเยาวชนในพื้นสามจังหวัดชายแดนใต้ ผลิตสื่อภาพยนตร์สั้นอย่างมืออาชีพ

นางสาวพิมพกา โตวิระ ผู้กำกับภาพยนตร์ ในฐานะผู้จัดโครงการ “Deep South Young Filmmaker” (เยาวชนสร้างหนัง หนังสร้างคน) กล่าวว่า โครงการ DEEP SOUTH YOUNG FILMMAKER (เยาวชนสร้างหนัง หนังสร้างคน) เป็นโครงการที่มุ่งหวังจะช่วยพัฒนาเยาวชนในพื้นสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้ผลิตสื่อภาพยนตร์สั้นอย่างมืออาชีพ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 โดยมีทีมวิทยากรผู้อบรมเยาวชนนำโดย คงเดช จาตุรันต์รัศมี, ลี ชาตะเมธีกุล, ศิวโรจณ์ คงสกุล เป็นต้น

โดยผลงานจากเยาวชนที่เข้าร่วมอบรมในรุ่นที่ 1 ได้ออกฉายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งที่กรุงเทพฯ และเทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 23 (23 rd Thai Short Film and Video Festival) อีกทั้งหนังสั้นบางเรื่องจากโครงการได้รับเลือกไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ อาทิ เทศกาล Thai Film Festival Berlin ประเทศเยอรมัน

“ความสำเร็จของภาพยนตร์สั้นจากโครงการในรุ่นที่ 1 แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเยาวชนในพื้นที่ความขัดแย้ง ที่พยายามเปลี่ยนภาพจำของพื้นที่ ให้คนภายนอกได้สังเกตและมองเห็นว่าพวกเขาไม่ได้จ่อมจมอยู่แต่ปัญหาและความขัดแย้งที่เนิ่นนานมากว่า 16 ปี แต่ผลงานหนังสั้นของพวกเขาเป็นกระบอกเสียงสำคัญที่ช่วยเป็นสะพานสร้างความเข้าใจและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีได้”

นางสาวพิมพกา กล่าวและว่า สำหรับโครงการรุ่นที่2 ครั้งนี้ ทางโครงการฯ เปิดรับสมัครเยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ อายุ 15-25 ปี เข้าร่วม โดยสามารถส่งโครงเรื่องย่อหนังสั้น ไม่จำกัดเนื้อหาและรูปแบบไม่ว่าจะเป็น ดราม่า ตลก สยองขวัญ ไซไฟ แนวทดลอง หรือสารคดี ที่แต่ละทีมอยากบอกเล่าภายใต้บริบทของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ ถึงวันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม 2564 สอบถามรายละเอียดหรือโหลดใบสมัครได้ที่ Facebook page: DS Young Filmmakerหรือต้องการข้อมูลเพิ่มสามารถติดต่อได้ที่: โทร. 086-569-7331, 02-277-0824, Email: soi.deepsouthfilm@extravirginco.com

สำหรับเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมอบรมทำหนังต้องมาจากในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ทีมละ 5 คน ทีมที่ผ่านการคัดเลือก จะได้เข้าร่วมอบรมกับวิทยากรทางภาพยนตร์ระดับมือรางวัล และได้ทุนสนับสนุนเพื่อผลิตภาพยนตร์สั้น ความยาวไม่เกิน 25 นาที พร้อมร่วมประกวดชิงเงินรางวัลรวมมูลค่า 100,000 บาท

เหนียวแน่นทุกครั้ง “ลูกหลานทวดพุมคัพ ครั้งที่ 2”

ร.ต.อ.บัญญัติ ชนะสิทธิ์ ด.ต.สงวน ชนะสิทธิ์ อาจารย์วรรณา ขวัญสกุล(ชนะสิทธิ์) และนางจงจินต์ นวลสกุล ร่วมสานสัมพันธ์ ลูกหลานทวดพุมอีกครั้ง ครั้งนี้มีพี่น้องร่วมสายเลือดทวดพุมลงแข่งสานสัมพันธ์กันอย่างหนาตาและตามประสาพี่น้อง เมื่อปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ณ สนามฟุตบอลหญ้าเทียม แม่ขรีอารีน่า อ.ตะโหมด จ.พัทลุง โดยครั้งต่อไปยิ่งใหญ่กว่าเดิมแน่นอน การันตี โดยผู้ใหญ่สุพัฒน์ เขียวจีน สนามดี บรรยากาศเยี่ยม บริหารโดย พิสิทธิ์ ชนะสิทธิ์

อดีตผู้ว่าฯ ปัตตานี เป็นประธานติดตั้งป้ายทองเหลือง “บ้านทรงคุณค่าปัตตานี” ประจำปี 2563

นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานติดตั้งป้ายทองเหลือง “บ้านทรงคุณค่าปัตตานี” ประจำปี 2563 รวม 5 หลัง ได้แก่ เรือนช่างทองเหลือง บนถนนยะรัง บ้านเลขที่ 10 ถนนยะรัง อาคารไวท์เฮาส์ มูลนิธิชูเกียรติปิติเจริญกิจ ถนนฤาดี บ้านกงสี ถนนอาเนาะรู บ้านขุนพิทักษ์รายา ถนนปัตตานีภิรมย์ ตามลำดับ เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์อาคาร บ้านเรือน และสิ่งปลูกสร้างดั้งเดิมที่ทรงคุณค่า ซึ่งเป็นรากฐานและสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญอันเป็นมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมของจังหวัดปัตตานีและของชาติ

รองศาสตราจารย์อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี แจ้งว่า ตามที่จังหวัดปัตตานีที่ได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการบ้านทรงคุณค่าปัตตานี ประจำปี 2563” ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2563 เพื่อเป็นกลไกในการส่งเสริมการอนุรักษ์อาคารบ้านเรือน และสิ่งปลูกสร้างดั้งเดิม ตามหลักคุณค่าและลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมของจังหวัดปัตตานีและของชาติสืบไป

“กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการมหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ ระยะที่ 1 “ม.อ.ปัตตานี กับการขับเคลื่อนศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา : วงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี” และระยะที่ 2 “การพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมเชิงพื้นที่วงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี” โดยคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาการยกย่องเชิดชูเกียรติบ้านทรงคุณค่า บุคคล และองค์กรที่ส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรม อันทรงคุณค่าของจังหวัดปัตตานี ประจำปี 2563 และได้มีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณโดยนายราชิต สุดพุ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ในพิธีเปิดงาน “shining Pattani ปัตตานี…ใช่เลย” เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2563”

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2563 นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ในนามประธานคณะกรรมการดำเนินงานบ้านทรงคุณค่าปัตตานี ประจำปี 2563 ได้เป็นประธานติดตั้งป้ายทองเหลือง ณ “บ้านทรงคุณค่า” ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จำนวน 5 อาคาร เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์อาคาร บ้านเรือน และสิ่งปลูกสร้างดั้งเดิมที่ทรงคุณค่า ซึ่งเป็นรากฐานและสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ อันเป็นมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมของจังหวัดปัตตานีและของชาติสืบไป ทั้งนี้เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณต่อสาธารณะ ดังนี้
ติดตั้งป้ายทองเหลือง 1. “บ้านทรงคุณค่า” ณ เรือนช่างทองเหลือง ตำบลจะบังติกอ ซึ่งเป็นเรือนโบราณ อายุประมาณ 100 ปี ตั้งอยู่บนถนนยะรัง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เป็นเรือนไม้รูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมลายู หลังคาทรงบลานอเรียงกัน 3 จั่ว ประกอบหลังคาปีกนกด้านข้างมุงกระเบื้องดินเผาปลายแหลมหรือกระเบื้องดินเผาหางว่าว โครงสร้างไม้ทั้งหลัง ผนังก่ออิฐฉาบปูน บางส่วนมุงสังกะสี ยกพื้นสูง ใต้ถุนมีประโยชน์ใช้สอยสำหรับนั่งพักผ่อนและทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว

2.บ้านเลขที่ 10 ถนนยะรัง ตำบลจะบังติกอ ซึ่งเป็นเรือนไม้รูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมลายู เป็นเรือนไม้อายุเกือบ 90 ปี เรือนด้านหน้าหลังคาทรงบลานอ ประกอบหลังคาปั้นหยาด้านข้าง เรือนด้านหลังหลังคาทรงปั้นหยาแฝด 2 จั่วต่อกัน มุงกระเบื้องดินเผาปลายแหลมหรือกระเบื้องดินเผาหางว่าว 3.อาคารไวท์เฮาส์ มูลนิธิชูเกียรติ-ปิติเจริญกิจ ไวท์เฮาส์ เป็นชื่อเรียกบ้านสีขาวหลังใหญ่ ตั้งอยู่บนถนนฤาดี ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี มีรูปแบบอาคารที่ทันสมัยและดูแปลกตากว่าบ้านหลังอื่น ๆ ในยุคสมัยเดียวกัน สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักอาศัยเมื่อประมาณ พ.ศ. 2477 ตัวบ้านมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบยุโรป เป็นอาคารสูงสามชั้น แต่ละชั้นมีระเบียงรายรอบ ประตูหน้าต่างมีลักษณะเป็นซุ้มโค้ง ช่องแสงประดับกระจกสีสวยงาม จากการสืบค้นประวัติพบว่าบ้านหลังนี้เคยถูกเรียกว่า บ้านสิบหมื่น และยังเคยเป็นที่ทำการบริษัทจังหวัดปัตตานี จำกัดอยู่ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง

4.บ้านกงสี ตั้งอยู่ในย่านหัวตลาดจีน หรือชุมชนหัวตลาด ถนนอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เดิมเป็นบ้านพักอาศัยของตันปุ่ย หรือหลวงสำเร็จกิจจางวาง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2367-2394) ภายหลังเป็นที่พักอาศัยของลูกหลานและปัจจุบันเปรียบเป็นบ้านบรรพชนของตระกูล 5.บ้านขุนพิทักษ์รายา สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2460 เป็นเรือนพักอาศัยต่อเนื่องมา 4 รุ่น ตั้งอยู่ในย่านหัวตลาดจีน หรือชุมชนหัวตลาด ถนนปัตตานีภิรมย์ ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เป็นเรือนแถวสองชั้นสองคูหา รูปแบบของเรือนแถวมีการประยุกต์ระหว่างสถาปัตยกรรมในท้องถิ่นและสถาปัตยกรรมจีน มีอายุประมาณ 90-100 ปี

หลังจากนี้มีการประชุมพิจารณาแนวทางการจัดตั้งกลุ่มหรือภาคีคนรักเมืองปัตตานี เพื่อร่วมอนุรักษ์บ้านเรือนและสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าให้คงอยู่คู่เมืองตานีต่อไป

tHER talk เรื่องราวที่ก้าวข้ามของผู้หญิงชายแดนใต้

“ข่าวร้ายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาเยือนหลังจากปีใหม่เพียงสามวัน คำอวยพรไม่ทันจางหาย แต่หลายชีวิตต้องจากไปนิรันดร์ หลังจากนั้นแผ่นดินในสามจังหวัดก็ไม่เคยได้พักผ่อน เสียงปืน เสียงระเบิดและคราบน้ำตา ต้องสูญเสียรวมทั้งชีวิตของฉัน” เสียงจากปาตีเมาะ หนึ่งในผู้บอกกล่าวเรื่องราวผลกระทบจากสถานการณ์ชายแดนใต้บนเวที tHER Talk

ตลอด16 ปีที่ผ่านมา ผู้หญิงชายแดนใต้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในพื้นที่มากมาย เวที tHER Talk หรือ เธอ ทอล์ค ซึ่งเป็นไฮไลท์ของงานเวทีรณรงค์วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา ณ โรงแรมซีเอส ปัตตานี โดย Civic Women ศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศปดส.) สำนักส่งเสริมและบริการวิชาการ ม.อ.ปัตตานี และ UN WOMEN ทำให้ได้เห็นถึงความยากลำบากที่ผู้หญิงเผชิญ รวมไปถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชีวิตของพวกเธอ จากการที่เธอเป็น หรือเคยตกเป็น “เหยื่อ”ของเหตุการณ์ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ

ความรุนแรงจากครอบครัว ความรุนแรงจากสื่อโชเซียลมีเตีย และสาเหตุอื่นนำไปสู่การสร้างความเกลียดชัง หรือ Hate Speech ความรุนแรงจากสถานการณ์ความไม่สงบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์ที่เผชิญกับโควิด 19 ยิ่งทำให้ผู้หญิงเผชิญกับความรุนแรงต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาทางเศรษฐกิจ ความยากจน การไม่มีงานทำ และภัยคุกคามทางสุขภาพ เกิดปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรงเกิดขึ้นในหลายครอบครัว ในทางกลับกันวิกกฤตที่เกิดกับชีวิตกลับทำให้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับโชคชะตา กลายเป็นผู้หญิงที่ขับเคลื่อนสังคมและเรียกร้อง ขอให้ยุติสถานการณ์ไฟใต้ตลอดมา

เสียงผู้หญิง เสียงเล่าคลอน้ำตา ผู้มีประสบการณ์ตรงและได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ หากเธอไม่ยอมจำนน ในการแสดงบทบาทและความพยายามที่จะยุติความรุนแรงต่อสตรีในชายแดนใต้

รอกีเย๊าะ นิมะ รองประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพชายแดนใต้ Talk เรื่อง “ความรุนแรงในครอบครัว”บอกว่ายังอยู่ตรงนี้ได้ด้วยการลุกขึ้น โดยเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพชายแดนใต้ เปิดศูนย์บริการรับฟังปรึกษาทั้งนราธิวาสและยะลา กับสำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาส และสมาคมสวัสดิการมุสลิมะฮฺยะลา อาสารับคำปรึกษา เครือข่ายสามารถรับเรื่องร้องเรียนจากผู้หญิงที่ได้รับความรุนแรงจากสามี เพื่อช่วยเหลือให้หลุดจากภาวะแทรกซ้อน ซึมเศร้า ให้อยู่ให้ได้ สถานการณ์ในยะลารับปรึกษา 600 กว่าราย ได้ไกล่เกลี่ย 300 กว่าราย อีก 200 กว่ารายกำลังดำเนินการ บางรายยังต้องไปศาล สำนักงานอัยการก็ต้องพาไป เธอภูมิใจที่เป็นผู้หญิงที่ไม่มีการศึกษา แต่สามารถพาเคสไปหาเจ้าหน้าที่ได้

รอกีเย๊าะ นิมะ

เธอเสนอว่า อยากให้มีผู้หญิงทำงานในสำนักงานคณะกรรมการอิสลามทุกจังหวัด เพราะผู้หญิงเข้าใจผู้หญิงด้วยกันมากกว่าผู้ชาย ให้หน่วยงานสานต่อให้เราได้อยู่ตรงนั้นตลอดไป หากไม่นิ่งดูดาย ความรุนแรงจะหมดไปจากประเทศไทย

อัญชนา หีมมิหน๊ะ จากกลุ่มด้วยใจ Talk เรื่อง “ความรุนแรงจากสื่อโซเชียลมีเดีย” เธอทำงานปกป้องคุ้มครองและยุติการทรมานในชายแดนใต้ ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ ใช้คำพูดว่าเธอเป็นสมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็นทั้งที่เธอพูดภาษามลายูไม่ได้

“เขามาข่มขู่ที่บ้าน เราไปแจ้งความ เขาเพิ่มความรุนแรงการคุกคาม เขาให้ไปหาทหารระดับสูงจากเรื่องราวของหนังสือ เขาบอกว่าเราไม่รักษาสัญญา คืนนหนึ่งแม่แอบที่ประตูในบ้านบอกให้รีบเข้าบ้าน แม่บอกเขามาถามประวัติเราที่บ้าน เขาบอกเขาจะทำอะไรก็ได้ ในการโพสต์หลายครั้งเจ้าหน้าที่จะบอกให้ลบโพสต์ ว่าเราเป็นขบวนการ เป็นคนไม่ดีต่อประเทศ โจมตีทางเพจไอโอ ใช้คำพูดว่าเป็นนักสิทธิ์กำมะลอ รับเงินต่างชาติมาเป็นพันล้านเพื่อโจมตีรัฐบาลไทย สันดานรับใช้โจรใต้ กะหรี่ขายชาติ ป้า อ้วน คำกล่าวหาเหล่านี้ทำให้เราสูญเสียความภูมิใจในตัวเอง เวลาเดินทางก็มีคนตาม จากนั้นเราไม่สามารถโพสต์อะไรได้เพราะไม่รู้ว่าจะส่งผลกระทบกับใครอีกมั้ย

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำๆ เป็นปี แต่ไม่สามารถทำร้ายเราได้มากกว่านี้ เรามีเพื่อนที่ให้กำลังใจ ถามไถ่ ระหว่างการต่อสู้ทางคดี ทำไมเราต้องหยุด สิ่งสำคัญที่อยากบอกคือต้องปกป้องตัวเอง อย่ายอมจำนน ไปแจ้งความ มีสส.อภิปรายว่าเพจไอโอเป็นการโจมตีจากสำนักนายกรัฐมนตรี ใช้เงินโจมตีเรา ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน จึงดำเนินการฟ้องแพ่งสำนักนายกฯ และกองทัพบกให้เอาออกให้หมด เป็นตัวอย่างให้รู้ว่าเรามีหนทางสันติวิธีที่จะตอบโต่ไม่ให้เขามาทำร้ายเรามากกว่านี้”

เธอขอเรียกร้องให้ยุติการโจมตีด้วยถ้อยคำด้อยค่ากับทุกคน เรื่องของความผิดหมิ่นประมาท ต้องยกเลิกความผิดฐานอาญานี้ พรบ.อัยการ ให้อัยการสั่งไม่ฟ้องการกระทำที่ตอบโต้นักสิทธิมนุษยชน

“ข่าวร้ายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาเยือนหลังจากปีใหม่เพียงสามวัน คำอวยพรไม่ทันจางหาย แต่หลายชีวิตต้องจากไปนิรันดร์ หลังจากนั้นแผ่นดินในสามจังหวัดก็ไม่เคยได้พักผ่อน เสียงปืน เสียงระเบิดและคราบน้ำตา ต้องสูญเสียรวมทั้งชีวิตของฉัน” ปาตีเมาะ เปาอิแตดาโอะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (We Peace) Talk เรื่อง “ความรุนแรงจากสถานการณ์ในชายแดนใต้” บอกด้วยเสียงพร่าปนสะอื้น

ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ

ความสูญเสียของปาตีเมาะเริ่มต้นจากพี่ชายที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นที่พึ่งหลักของพี่น้องทุกคน มีคนโทรมาแจ้งว่าพบศพพี่ชายเธอข้างโรงแรมในตัวเมืองยะลา สภาพศพเต็มไปด้วยโคลน เป็นครั้งแรกที่สูญเสียกับคนในครอบครัว ทุกคนใช้เวลานานในการยอมรับความสูญเสีย เมื่อเขาจากไปโอกาสที่ดีในชีวิตก็หายไป

“เราเห็นชีวิตเป็นร้อยเป็นพันที่ต้องบาดเจ็บและสูญเสีย และไม่ได้หยุดแค่นั้น ปี 2549 พี่ชายคนที่สองก็มาถูกยิงสูญเสียต่อหน้าฉัน แม่กำลังละหมาด ปี 2550 อีกหนึ่งชีวิต และปี 2552 รวมเป็นสี่ชีวิตในครอบครัวที่จากไป ทุกครั้งที่กลับไปนอนที่บ้าน พ่อแทบไม่ได้นอน มาเฝ้าฉัน แต่ละวันไม่เคยรู้ว่าจะมีชีวิตต่อไปหรือไม่

บทเรียนที่ได้เรียนรู้ พี่สี่คนที่จากไปไม่มีใครได้ร่ำลาสักคน มีเด็กกำพร้าสิบกว่าคนที่บ้านที่ต้องสูญเสียพ่อแม่ไป ฉันต้องลุกขึ้นมา เพราะการมีชีวิตอยู่ที่มีคุณค่าคือการลุกขึ้นมาทำตัวให้มีคุณค่ามากที่สุด อย่างน้อยนอนตายตาหลับที่ได้ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แบบ เราลุกมารวมตัวผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบ ทำงานเยียวยา ส่งเสริมผู้หญิงเข้าสู่กระบวนการสันติภาพ การช่วยเหลือที่มั่นคงและยั่งยืนต้องเกิดจากคนในพื้นที่ พื้นที่ของผู้หญิงไม่ใช้แค่อยู่ในบ้าน ลุกขึ้นมาผลักดันสังคมให้เกิดความสงบสุบในพื้นที่ มีความสามารถและศักยภาพให้สังคมยอมรับ”

ปาตีเมาะร่วมก่อตั้งคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ เสนอพื้นที่สาธารณะปลอดภัยขึ้นสู่โต๊ะเจรจา เหยื่อจะลุกขึ้นมาทำให้เกิดความสงบสุข ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เกิดศูนย์ประสานงานต่างๆ ลุกขึ้นมาเพราะอยากเป็นผู้หญิงที่ส่งเสียงดังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย เป็นความฝันที่อยากเข้าทำงานให้เกิดความสงบสุข

ข้อเสนอของเธอต่อศอ.บต.และกอ.รมน. คือ ส่งเสริมให้ผู้หญิงมีพื้นที่ในการตัดสินในการเมืองทุกระดับหน่วยงานรัฐต้องตระหนักในการจัดสรรงบประมาณในมิติหญิงชาย และรัฐบาลบังคับใช้กฏหมายเรื่องความปลอดภัยให้เป็นรูปธรรม

สมใจ ชูชาติ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 ต.บ้านนอก อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี Talk เรื่อง “ความรุนแรงจากสถานการณ์ชายแดนใต้ต่อชุมชนพหุวัฒนธรรม” ถึงการมีเพื่อนรัก รู้ใจ ความทรงจำกับเพื่อนมุสลิมที่รู้จักกันมาตั้งแต่อนุบาล เป็นมิตรแท้กันมา ผูกพันแม้คนละศาสนา ไปมาหาสู่กัน บ้านห่างกัน 5 กม.

“เธอผ่านวัดมาหาฉัน ใช้ภาษาปะนาเระ เรารักกัน แบ่งปันกันเสมอ อยู่ในหัวใจเรา เมื่อสถานการณ์เกิดขึ้นบางอย่างทำให้เราห่างเหินกัน ตั้งแต่มีผู้เสียชีวิตที่บ้านนอก 17 ราย ทุกคนบอกว่าอย่าประมาท เราเห็นความทุกข์นั้น พี่น้องพุทธและมุสลิมเริ่มห่างกัน อดีตที่สวยงาม อนาคตน่าจะไม่สวยงามเท่าไหร่ เหตุที่เกิดขึ้นทำให้มีความหวาดระแวง สถานการณ์ซ้ำเหมือนวนในอ่าง

เราเป็นผู้หญิงในพื้นที่ที่อยากให้สร้างมิติใหม่ขึ้นมา เชื่อมสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพุทธและมุสลิมได้ ให้เห็นชัดว่ามีอยู่จริง แล้วความสัมพันธ์เก่าจะกลับมา ปัจจุบันความสุขของฉันกับเพื่อนกลับมาแล้ว ส่งผลสู่ครอบครัว สังคม เชื่อว่าผู้หญิงอย่างเราสามารถฝ่าฟันอุปสรรคในใจ ภาวะความเป็นแม่ที่ต้องปกป้องทุกอย่าง ชวนผู้หญิงก้าวผ่านให้ได้ ชาวพุทธในพื้นที่ต้องก้าวข้ามให้ได้ เชื่อว่าดอกไม้หลากสีต้องอยู่คู่ในแจกันตลอด ช่วยกันทำงาน แม้จะเห็นสันติภาพริบหรี่”
ซำซียะห์ มะและเด็ง ครูสอนศาสนา โรงเรียนดรุณศาสน์วิทยา อ.สายบุรี จ.ปัตตานี Talk เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้สตรี เรื่อง “มุมมองของศาสนาต่อการปกป้อง คุ้มครอง และยุติความรุนแรง” อย่าให้ผู้หญิงต้องไร้สิทธิ์ ไร้เสียง ยิ่งผู้หญิงหม้ายไม่ได้รับสิทธิ์ตามสิทธิ์ของเธอหลายอย่าง ต้องให้ความเท่าเทียมในฐานะความเป็นมนุษย์ คนเข้าจะได้เข้าสวรรค์ต้องเคารพมารดา ดูแลภรรยาและลูกๆ อย่างดี ต้องลุกขึ้นมาสร้างสันติ ศึกษาประวัติศาสตร์และความดีงามของศาสนา

หลากหลายเสียงจากผู้หญิงและประสบการณ์จริงของพวกเธอ เสียงเหล่านี้ต้องดังไปให้สังคมได้ยิน…

เรื่องล่าสุด