หน้าแรก รายงาน

tHER talk เรื่องราวที่ก้าวข้ามของผู้หญิงชายแดนใต้

“ข่าวร้ายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาเยือนหลังจากปีใหม่เพียงสามวัน คำอวยพรไม่ทันจางหาย แต่หลายชีวิตต้องจากไปนิรันดร์ หลังจากนั้นแผ่นดินในสามจังหวัดก็ไม่เคยได้พักผ่อน เสียงปืน เสียงระเบิดและคราบน้ำตา ต้องสูญเสียรวมทั้งชีวิตของฉัน” เสียงจากปาตีเมาะ หนึ่งในผู้บอกกล่าวเรื่องราวผลกระทบจากสถานการณ์ชายแดนใต้บนเวที tHER Talk

ตลอด16 ปีที่ผ่านมา ผู้หญิงชายแดนใต้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในพื้นที่มากมาย เวที tHER Talk หรือ เธอ ทอล์ค ซึ่งเป็นไฮไลท์ของงานเวทีรณรงค์วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา ณ โรงแรมซีเอส ปัตตานี โดย Civic Women ศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศปดส.) สำนักส่งเสริมและบริการวิชาการ ม.อ.ปัตตานี และ UN WOMEN ทำให้ได้เห็นถึงความยากลำบากที่ผู้หญิงเผชิญ รวมไปถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชีวิตของพวกเธอ จากการที่เธอเป็น หรือเคยตกเป็น “เหยื่อ”ของเหตุการณ์ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ

ความรุนแรงจากครอบครัว ความรุนแรงจากสื่อโชเซียลมีเตีย และสาเหตุอื่นนำไปสู่การสร้างความเกลียดชัง หรือ Hate Speech ความรุนแรงจากสถานการณ์ความไม่สงบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์ที่เผชิญกับโควิด 19 ยิ่งทำให้ผู้หญิงเผชิญกับความรุนแรงต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาทางเศรษฐกิจ ความยากจน การไม่มีงานทำ และภัยคุกคามทางสุขภาพ เกิดปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรงเกิดขึ้นในหลายครอบครัว ในทางกลับกันวิกกฤตที่เกิดกับชีวิตกลับทำให้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับโชคชะตา กลายเป็นผู้หญิงที่ขับเคลื่อนสังคมและเรียกร้อง ขอให้ยุติสถานการณ์ไฟใต้ตลอดมา

เสียงผู้หญิง เสียงเล่าคลอน้ำตา ผู้มีประสบการณ์ตรงและได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ หากเธอไม่ยอมจำนน ในการแสดงบทบาทและความพยายามที่จะยุติความรุนแรงต่อสตรีในชายแดนใต้

รอกีเย๊าะ นิมะ รองประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพชายแดนใต้ Talk เรื่อง “ความรุนแรงในครอบครัว”บอกว่ายังอยู่ตรงนี้ได้ด้วยการลุกขึ้น โดยเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพชายแดนใต้ เปิดศูนย์บริการรับฟังปรึกษาทั้งนราธิวาสและยะลา กับสำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาส และสมาคมสวัสดิการมุสลิมะฮฺยะลา อาสารับคำปรึกษา เครือข่ายสามารถรับเรื่องร้องเรียนจากผู้หญิงที่ได้รับความรุนแรงจากสามี เพื่อช่วยเหลือให้หลุดจากภาวะแทรกซ้อน ซึมเศร้า ให้อยู่ให้ได้ สถานการณ์ในยะลารับปรึกษา 600 กว่าราย ได้ไกล่เกลี่ย 300 กว่าราย อีก 200 กว่ารายกำลังดำเนินการ บางรายยังต้องไปศาล สำนักงานอัยการก็ต้องพาไป เธอภูมิใจที่เป็นผู้หญิงที่ไม่มีการศึกษา แต่สามารถพาเคสไปหาเจ้าหน้าที่ได้

รอกีเย๊าะ นิมะ

เธอเสนอว่า อยากให้มีผู้หญิงทำงานในสำนักงานคณะกรรมการอิสลามทุกจังหวัด เพราะผู้หญิงเข้าใจผู้หญิงด้วยกันมากกว่าผู้ชาย ให้หน่วยงานสานต่อให้เราได้อยู่ตรงนั้นตลอดไป หากไม่นิ่งดูดาย ความรุนแรงจะหมดไปจากประเทศไทย

อัญชนา หีมมิหน๊ะ จากกลุ่มด้วยใจ Talk เรื่อง “ความรุนแรงจากสื่อโซเชียลมีเดีย” เธอทำงานปกป้องคุ้มครองและยุติการทรมานในชายแดนใต้ ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ ใช้คำพูดว่าเธอเป็นสมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็นทั้งที่เธอพูดภาษามลายูไม่ได้

“เขามาข่มขู่ที่บ้าน เราไปแจ้งความ เขาเพิ่มความรุนแรงการคุกคาม เขาให้ไปหาทหารระดับสูงจากเรื่องราวของหนังสือ เขาบอกว่าเราไม่รักษาสัญญา คืนนหนึ่งแม่แอบที่ประตูในบ้านบอกให้รีบเข้าบ้าน แม่บอกเขามาถามประวัติเราที่บ้าน เขาบอกเขาจะทำอะไรก็ได้ ในการโพสต์หลายครั้งเจ้าหน้าที่จะบอกให้ลบโพสต์ ว่าเราเป็นขบวนการ เป็นคนไม่ดีต่อประเทศ โจมตีทางเพจไอโอ ใช้คำพูดว่าเป็นนักสิทธิ์กำมะลอ รับเงินต่างชาติมาเป็นพันล้านเพื่อโจมตีรัฐบาลไทย สันดานรับใช้โจรใต้ กะหรี่ขายชาติ ป้า อ้วน คำกล่าวหาเหล่านี้ทำให้เราสูญเสียความภูมิใจในตัวเอง เวลาเดินทางก็มีคนตาม จากนั้นเราไม่สามารถโพสต์อะไรได้เพราะไม่รู้ว่าจะส่งผลกระทบกับใครอีกมั้ย

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำๆ เป็นปี แต่ไม่สามารถทำร้ายเราได้มากกว่านี้ เรามีเพื่อนที่ให้กำลังใจ ถามไถ่ ระหว่างการต่อสู้ทางคดี ทำไมเราต้องหยุด สิ่งสำคัญที่อยากบอกคือต้องปกป้องตัวเอง อย่ายอมจำนน ไปแจ้งความ มีสส.อภิปรายว่าเพจไอโอเป็นการโจมตีจากสำนักนายกรัฐมนตรี ใช้เงินโจมตีเรา ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน จึงดำเนินการฟ้องแพ่งสำนักนายกฯ และกองทัพบกให้เอาออกให้หมด เป็นตัวอย่างให้รู้ว่าเรามีหนทางสันติวิธีที่จะตอบโต่ไม่ให้เขามาทำร้ายเรามากกว่านี้”

เธอขอเรียกร้องให้ยุติการโจมตีด้วยถ้อยคำด้อยค่ากับทุกคน เรื่องของความผิดหมิ่นประมาท ต้องยกเลิกความผิดฐานอาญานี้ พรบ.อัยการ ให้อัยการสั่งไม่ฟ้องการกระทำที่ตอบโต้นักสิทธิมนุษยชน

“ข่าวร้ายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาเยือนหลังจากปีใหม่เพียงสามวัน คำอวยพรไม่ทันจางหาย แต่หลายชีวิตต้องจากไปนิรันดร์ หลังจากนั้นแผ่นดินในสามจังหวัดก็ไม่เคยได้พักผ่อน เสียงปืน เสียงระเบิดและคราบน้ำตา ต้องสูญเสียรวมทั้งชีวิตของฉัน” ปาตีเมาะ เปาอิแตดาโอะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (We Peace) Talk เรื่อง “ความรุนแรงจากสถานการณ์ในชายแดนใต้” บอกด้วยเสียงพร่าปนสะอื้น

ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ

ความสูญเสียของปาตีเมาะเริ่มต้นจากพี่ชายที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นที่พึ่งหลักของพี่น้องทุกคน มีคนโทรมาแจ้งว่าพบศพพี่ชายเธอข้างโรงแรมในตัวเมืองยะลา สภาพศพเต็มไปด้วยโคลน เป็นครั้งแรกที่สูญเสียกับคนในครอบครัว ทุกคนใช้เวลานานในการยอมรับความสูญเสีย เมื่อเขาจากไปโอกาสที่ดีในชีวิตก็หายไป

“เราเห็นชีวิตเป็นร้อยเป็นพันที่ต้องบาดเจ็บและสูญเสีย และไม่ได้หยุดแค่นั้น ปี 2549 พี่ชายคนที่สองก็มาถูกยิงสูญเสียต่อหน้าฉัน แม่กำลังละหมาด ปี 2550 อีกหนึ่งชีวิต และปี 2552 รวมเป็นสี่ชีวิตในครอบครัวที่จากไป ทุกครั้งที่กลับไปนอนที่บ้าน พ่อแทบไม่ได้นอน มาเฝ้าฉัน แต่ละวันไม่เคยรู้ว่าจะมีชีวิตต่อไปหรือไม่

บทเรียนที่ได้เรียนรู้ พี่สี่คนที่จากไปไม่มีใครได้ร่ำลาสักคน มีเด็กกำพร้าสิบกว่าคนที่บ้านที่ต้องสูญเสียพ่อแม่ไป ฉันต้องลุกขึ้นมา เพราะการมีชีวิตอยู่ที่มีคุณค่าคือการลุกขึ้นมาทำตัวให้มีคุณค่ามากที่สุด อย่างน้อยนอนตายตาหลับที่ได้ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แบบ เราลุกมารวมตัวผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบ ทำงานเยียวยา ส่งเสริมผู้หญิงเข้าสู่กระบวนการสันติภาพ การช่วยเหลือที่มั่นคงและยั่งยืนต้องเกิดจากคนในพื้นที่ พื้นที่ของผู้หญิงไม่ใช้แค่อยู่ในบ้าน ลุกขึ้นมาผลักดันสังคมให้เกิดความสงบสุบในพื้นที่ มีความสามารถและศักยภาพให้สังคมยอมรับ”

ปาตีเมาะร่วมก่อตั้งคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ เสนอพื้นที่สาธารณะปลอดภัยขึ้นสู่โต๊ะเจรจา เหยื่อจะลุกขึ้นมาทำให้เกิดความสงบสุข ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เกิดศูนย์ประสานงานต่างๆ ลุกขึ้นมาเพราะอยากเป็นผู้หญิงที่ส่งเสียงดังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย เป็นความฝันที่อยากเข้าทำงานให้เกิดความสงบสุข

ข้อเสนอของเธอต่อศอ.บต.และกอ.รมน. คือ ส่งเสริมให้ผู้หญิงมีพื้นที่ในการตัดสินในการเมืองทุกระดับหน่วยงานรัฐต้องตระหนักในการจัดสรรงบประมาณในมิติหญิงชาย และรัฐบาลบังคับใช้กฏหมายเรื่องความปลอดภัยให้เป็นรูปธรรม

สมใจ ชูชาติ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 ต.บ้านนอก อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี Talk เรื่อง “ความรุนแรงจากสถานการณ์ชายแดนใต้ต่อชุมชนพหุวัฒนธรรม” ถึงการมีเพื่อนรัก รู้ใจ ความทรงจำกับเพื่อนมุสลิมที่รู้จักกันมาตั้งแต่อนุบาล เป็นมิตรแท้กันมา ผูกพันแม้คนละศาสนา ไปมาหาสู่กัน บ้านห่างกัน 5 กม.

“เธอผ่านวัดมาหาฉัน ใช้ภาษาปะนาเระ เรารักกัน แบ่งปันกันเสมอ อยู่ในหัวใจเรา เมื่อสถานการณ์เกิดขึ้นบางอย่างทำให้เราห่างเหินกัน ตั้งแต่มีผู้เสียชีวิตที่บ้านนอก 17 ราย ทุกคนบอกว่าอย่าประมาท เราเห็นความทุกข์นั้น พี่น้องพุทธและมุสลิมเริ่มห่างกัน อดีตที่สวยงาม อนาคตน่าจะไม่สวยงามเท่าไหร่ เหตุที่เกิดขึ้นทำให้มีความหวาดระแวง สถานการณ์ซ้ำเหมือนวนในอ่าง

เราเป็นผู้หญิงในพื้นที่ที่อยากให้สร้างมิติใหม่ขึ้นมา เชื่อมสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพุทธและมุสลิมได้ ให้เห็นชัดว่ามีอยู่จริง แล้วความสัมพันธ์เก่าจะกลับมา ปัจจุบันความสุขของฉันกับเพื่อนกลับมาแล้ว ส่งผลสู่ครอบครัว สังคม เชื่อว่าผู้หญิงอย่างเราสามารถฝ่าฟันอุปสรรคในใจ ภาวะความเป็นแม่ที่ต้องปกป้องทุกอย่าง ชวนผู้หญิงก้าวผ่านให้ได้ ชาวพุทธในพื้นที่ต้องก้าวข้ามให้ได้ เชื่อว่าดอกไม้หลากสีต้องอยู่คู่ในแจกันตลอด ช่วยกันทำงาน แม้จะเห็นสันติภาพริบหรี่”
ซำซียะห์ มะและเด็ง ครูสอนศาสนา โรงเรียนดรุณศาสน์วิทยา อ.สายบุรี จ.ปัตตานี Talk เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้สตรี เรื่อง “มุมมองของศาสนาต่อการปกป้อง คุ้มครอง และยุติความรุนแรง” อย่าให้ผู้หญิงต้องไร้สิทธิ์ ไร้เสียง ยิ่งผู้หญิงหม้ายไม่ได้รับสิทธิ์ตามสิทธิ์ของเธอหลายอย่าง ต้องให้ความเท่าเทียมในฐานะความเป็นมนุษย์ คนเข้าจะได้เข้าสวรรค์ต้องเคารพมารดา ดูแลภรรยาและลูกๆ อย่างดี ต้องลุกขึ้นมาสร้างสันติ ศึกษาประวัติศาสตร์และความดีงามของศาสนา

หลากหลายเสียงจากผู้หญิงและประสบการณ์จริงของพวกเธอ เสียงเหล่านี้ต้องดังไปให้สังคมได้ยิน…