คำถาม – เรามักจะถูกถามว่าทำไมเราจึงแสดงภาพของโดมแห่งศิลา (กุบบัต อัส-ซุครอ) เมื่อเรากล่าวถึงหรือส่งเสริมประเด็นเกี่ยวกับมัสยิดอัล-อักศอ เรื่องนี้ทำให้เกิดความสับสนในในคนว่ามัสยิดอัล-อักศอหมายถึงอะไร คำตอบนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยแก้ความสับสนนี้?
คำตอบ :
บิสมิลลาฮิรฺ เราะห์มานิรฺ รอฮีม
“มหาบริสุทธิ์ผู้ทรงนำบ่าวของพระองค์เดินทางในเวลากลางคืน จากมัสยิดอัลหะรอมไปยังมัสยิดอัล-อักศอ ซึ่งบริเวณรอบมันเราได้ให้ความจำเริญ เพื่อเราจะให้เขาเห็นบางอย่างจากสัญญาณต่างๆ ของเรา แท้จริง พระองค์คือผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงเห็น” (อัล-อิสรออฺ 17 : 1)
ความรักและการทุ่มเทของเราเพื่อมรดกของมัสยิดอัล-อักศอ ได้รับแรงบันดาลใจจากโองการในคัมภีร์อัล-กุรอาน จากฮะดีษและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มากมายที่เกิดขึ้นที่นั่น เนื้อหาที่เกี่ยวข้องในข้อความนี้คือ “ซึ่งบริเวณรอบมันเราได้ให้ความจำเริญ”
เห็นได้ชัดจากโองการนี้ว่า อัลลอฮ์(ซ.บ.) ทรงประทานความจำเริญให้แก่แผ่นดินของมัสยิดอัล-อักศอ นอกเหนือจากนี้ “แผ่นดินอันจำเริญ” ตามหลักของอิสลามหมายถึง แผ่นดินที่เกี่ยวข้องกับความมีบารอกะฮ์ แผ่นดินที่อัลลอฮ์(ซ.บ.) ทรงประทานความจำเริญทางจิตวิญญาณและทางกายภาพให้ ซึ่งมนุษย์ทุกคนสามารถรับประโยชน์จากมันได้ ความมีบารอกะฮ์ยังขยายไปถึงประชาชนผู้ที่อาศัยอยู่ภายในแผ่นดินนี้ด้วย ด้วยเงื่อนไขว่าพวกเขาต้องยึดมั่นต่อพระบัญชาของอัลลอฮ์(ซ.บ.) เช่น ปฏิบัติตามศาสนาอิสลาม
เพราะฉะนั้น เมื่อเรากล่วาถึง “มัสยิด อัล-อักศอ” มันจึงไม่ได้หมายถึงตัวอาคารที่เฉพาะเจาะจงหลังใดบนแผ่นดินนี้ แต่หมายถึงตัวแผ่นดินอันเป็นที่ตั้งของโดมแห่งศิลาและมัสยิดโอมสีดำ/เทานั่นต่างหาก อาคารเหล่านี้มีความหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์สำหรับมุสลิม แม้ว่ามันจะถูกสร้างขึ้นภายหลังการเสียชีวิตของศาสดาผู้เป็นที่รัก(ซ.ล.) ก็ตาม ตามคำสอนของอิสลาม อาคารทุกหลังภายในอาณาเขตของอัล-อักศอ และแผ่นดินทั้งหมดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ รวมไปจนถึงทุกเม็ดทรายที่อยู่ภายในมันด้วย อัลลอฮ์(ซ.บ.) ทรงเตือนเราไว้ในคัมภีร์กุรอานว่า พระองค์ทรงให้ความจำเริญแก่แผ่นดินนี้เพื่อเรา
ด้วยเหตุนี้เอง การกล่าวอ้างถึงอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์อัล-อักศอ หรือมัสยิดอัล-อักศอ สามารถใช้แทนกันได้ หรือการกล่าวถึงอาคารที่มีโดมสีเทา/ดำภายในดินแดนนี้ ซึ่งมักจะถูกกล่าวถึงว่าเป็นมัสยิดอัล-อักศอ ก็ควรจะเป็นมาซาอัลลอฮ์ อัล-อักศอ การใช้คำร่วมกันเช่นนี้เองที่ได้ทำให้เกิดความสับสน
อาณาเขตของ “แผ่นดินอันจำเริญ” นี้ไม่เป็นที่ชัดเจน และมีความเห็นแตกต่างกันไปเกี่ยวกับขอบเขตที่แน่นอนของมัน นักวิชาการอิสลามระดับสูงด้านกุรอานและฮะดีษหลายคน รวมทั้ง อิบนฺ กะษีร, อัล-กุรตุบี และอิบนฺ อัล-เญาซี ถือว่าพื้นที่ทั้งหมดของอัล-ชาม (เลบานอน, ซีเรีย, จอร์แดน และปาเลสไตน์ ปัจจุบัน) เป็นแผ่นดินอันจำเริญ นักอธิบายความหมายคนอื่นๆ เชื่อว่า แผ่นดินอันจำเริญอยู่ติดกันกับแผ่นดินฮิญาซ (ซาอุดิอารเบีย) ผ่านอัล-ชาม ไปยังอียิปต์ นอกจากนี้ ความเห็นที่อาจจะมีเหตุมีผลมากกว่าก็คือ ภายในพื้นที่ของตะวันออกกลางปัจจุบัน มีจุดต่างๆ ที่เป็น “แผ่นดินอันจำเริญ” เช่นอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์ของอัล-อักศอ, มัสยิดของท่านศาสดา(ศ.) ในมะดีนะฮ์ และมัสยิดศักดิ์สิทธิ์ ในมักกะฮ์ อย่างไรก็ตาม ในความเห็นทั้งหมดเกี่ยวกับขอบเขตของ “แผ่นดินอันจำเริญ” ล้วนมีอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์ของอัล-อักศอรวมอยู่ด้วย
เมื่อได้ข้อเท็จจริงแล้วว่ามันคือแผ่นดินที่ได้รับความจำเริญ เราจึงมาถึงจุดต่อไป : ใครเป็นผู้ก่อสร้างหรือได้รับมอบหมายให้สร้างอาคารภายในอาณาเขตศักดิ์อัล-อักศอ?
เมืองแห่งอัล-อักศอ (เยรูซาเล็ม) ปัจจุบันมีอาณาเขต 45 ตารางกิโลเมตร ภายในอัล-กุดส์ มี “เมืองเก่า” ที่เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้น และภายในเมืองเก่าทางตะวันออกเฉียงใต้เป็นบริเวณที่ถูกอ้างถึงว่าเป็น อัล-ฮะรอม อัล-ชารีฟ หรืออาณาเขตศักดิ์สิทธิ์อัล-อักศอ
อาณาเขตศักดิ์สิทธิ์ อัล-อักศอ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 35 เอเคอร์ และภายในบริเวณนี้ สุดเขตทางด้านใต้ คือมัสยิดที่มีโดมสีดำ/เทา ได้รับชื่อว่า “มัสยิดอัล-อักศอ” ตรงกลางเป็นที่ตั้งของมัสยิดโดมสีทอง กุบบัต อัล-ซัครอห์ (โดมแห่งศิลา) และมีอนุสาวรีย์และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ อีก 42 แห่งภายในอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์อัล-อักศอ มันกลายเป็นการปฏิบัติตามปกติทั่วไปที่จะกล่าวถึงบริเวณทั้งหมดว่าเป็น อัล-ฮะรอม อัล-ชารีฟ (อาณาเขตศักดิ์สิทธิ์ อัล-อักศอ) และกล่าวถึงมัสยิดโดมสีดำว่าเป็นมัสยิดอัล-อักศอ
ตัวอาคารมัสยิดอัล-อักศอ
เมื่อคอลีฟะฮ์คนที่หนึ่ง อุมัร(รฎ.) ได้เข้าไปยัง อัล-กุดส์ (เยรูซาเล็ม) สิ่งแรกที่เขาเรียกร้องคือให้พาเขาไปยังอัล-ฮะรอม อัล-ชารีฟ (อาณาเขตศักดิ์สิทธิ์อัล-อักศอ) เมื่อเขาไปถึงที่นั่น เขารู้สึกเสียใจที่เห็นว่าชาวโรมันได้ใช้อาณาเขตศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้เป็นที่ทิ้งขยะเขาจึงเริ่มเคลียร์พื้นที่สถานที่นั้นทันที และเมื่อจัดเสร็จแล้ว เขาได้สั่งให้สร้างมัสยิดขึ้นที่สุดเขตด้านใต้ของอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์นี้ มัสยิดนี้แต่เดิมเป็นตัวอาคารไม้ และในเวลาต่อมาถูกสร้างขึ้นใหม่เป็นโครงสร้างเนื้อแข็งโดย อัล-วะลีด บุตรของอับดุลมาลิก (คอลิฟะฮ์ 705-715) ปัจจุบัน โดมสีดำของมัสยิดอัล-อักศอ ตั้งอยู่ที่นั่น
กุบบัต อัล-ซัคเราะห์ (โดมแห่งศิลา)
คอลิฟะฮ์ราชวงศ์อุมัยยะฮ์ อับดุลมาลิก อิบนฺ มัรวาน ได้รับมอบหมายให้สร้างกุบบัต อัล-ซัคเราะห์ (โดมแห่งศิลา) ขึ้นในปีฮ.ศ. 72-73 (691-692) เหตุผลในการสร้างสิ่งมหัศจรรย์ทางสถาปัตยกรรมของโลกนี้มีสมมุติฐานมากมาย อย่งไรก็ตาม สำหรับมุสลิมส่วนใหญ่แล้วมันสมเหตุสมผลที่ควรพากเพียรเพื่อความสง่างามนั้นจะเกิดขึ้นในอัล-กุดส์ (เยรูซาเล็ม) ในฐานะที่มันเป็นสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์มหัศจรรย์มากที่สุดในชีวิตของศาสดามุฮัมมัด(ซ.ล.) – อัล-อิสรออฺ วะ อัล-มิอฺรอจ – ควบคู่กับฮะดีษมากมายที่กล่าวถึงความประเสริฐของอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์อัล-อักศอ และข้อเท็จจริงที่มันถูกกล่าวถึงในคัมภีร์อัล-กุรอาน อับดุลมาลิก ซึ่งตัวเขาเองเป็นนักนนิติศาสตร์ที่มีชื่อเสียง และตระหนักถึงความประเสริฐอันยิ่งใหญ่เหล่านี้ทั้งหมด จึงได้ตัดสินใจที่จะสร้างอนุสรณ์แห่งมรดกของอิสลามในบริเวณนี้ และได้เริ่มต้นโครงการใหญ่เพื่อสร้างโดมอันสวยงามคลุมศิลานั้น
มันเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะเล็งเห็นคุณค่าของแผ่นดินแห่งอัล-ฮะรอม อัล-ชารีฟ (อาณาเขตศักดิ์สิทธิ์อัล-อักศอ) ซึ่งมีค่าและมีความจำเริญมากที่สุด เมื่อคัมภีร์กุรอาน(ในซูเราะฮ์ อัล-อิสรออฺ) กล่าวถึงมัสยิดอัล-อักศอ (หมายถึงสถานที่แห่งการก้มกราบ) มันคือแผ่นดินแห่งอัล-ฮะรอม อัล-ชารีฟแห่งนี้ (อาณาเขตศักดิ์สิทธิ์อัล-อักศอ) ที่ถูกกล่าวถึง ไม่ใช่อาคารหลังใดหลังหนึ่ง เพราะฉะนั้น อาคารทุกหลังที่ตั้งอยู่ภายในอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์อัล-อักศอล้วนมีคุณค่าและความสำคัญเท่าเทียมกัน รวมทั้ง “มัสยิดอัล-อักศอ” ที่มีโดมสีดำ และโดมสีทองแห่งศิลา (กุบบัต อัล-ซัคเราะห์) อย่างไรก็ตาม เราต้องเข้าใจว่า สิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์และได้รับความจำเริญคือแผ่นดิน ไม่ใช่อิฐหรือปูน
แปลจาก http://foa.org.uk/page/the-truth-about-masjid-al-aqsa