ตุรกีสมัยใหม่เกิดขึ้นภายหลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมัน (อุษมานียะฮ์) ที่ได้นำไปสู่การสิ้นสุดลงของระบอบการปกครองคอลีฟะฮ์แห่งอิสลาม ซึ่งมุสตาฟา กามาล อตาเตอร์ก ในฐานะผู้ก่อตั้งประเทศตุรกีสมัยใหม่ ที่ได้ดำเนินการปฏิรูปที่เป็นการลดทอนบทบาทของศาสนาอิสลามในประเทศลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น โรงเรียนศาสนาถูกสั่งปิด การสวมฮิญาบหรือเครื่องแต่งกายทางศาสนาถูกบังคับห้าม เสียงอาซานถูกเปลี่ยนจากภาษาอาหรับเป็นภาษาตุรกีและตลอดจนการประกาศใช้กฎหมายแบบเสรีนิยม
ประเทศตุรกีได้กลายเป็นประเทศเสรีนิยมมานานหลายช่วงทศวรรษจนถึงวันนี้ ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคยุติธรรมและพัฒนา(AKP) ที่นำโดยรอยั๊บ ฏอยยิบ อัรดูฆอน ซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งตอนนี้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีของตุรกี ที่ได้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่ร่างโดยมุสตาฟา กามาล อตาเตอร์ก ซึ่งอัรดูฆอน ได้นำอิสลามกลับมาสู่ตุรกีอีกครั้ง
ต่อไปนี้คือ 7 ข้อมาตรการของผู้นำตุรกีในการนำประเทศสู่ยุคแห่งความรุ่งเรืองของอิสลามอีกครั้ง
1.ก่อสร้างมัสยิดหลายพันแห่ง
ตามการรายงานของ The Atlantic มัสยิดประมาณ 17,000 แห่ง ที่ถูกสร้างขึ้นโดยรัฐบาลตุรกีในระหว่างปี 2002 ถึง 2013 นอกจากนี้ยังมีมัสยิดอื่นๆ อีกมากมายที่กำลังดำเนินการก่อสร้างทั่วประเทศ และบางส่วนเป็นมัสยิดในสมัยออตโตมันถูกซ่อมแซมปรับปรุง
2.ข้อห้ามในการสวมฮิญาบถูกยกเลิก
การสั่งห้ามสวมใส่ฮิญาบ ถูกบังคับใช้สำหรับหน่วยงานในภาครัฐ เช่น บุคลากรครู ทนายความ สมาชิกรัฐสภา และตลอดผู้หญิงที่ทำงานในสถาบันและหน่วยงานของรัฐ ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้สวมใส่ ในหลายปีที่ผ่านทางพรรคยุติธรรมและพัฒนา ได้ยกเลิกการห้ามใส่ผ้าคลุมฮิญาบในโรงเรียนและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ และเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2015 ผู้พิพากษาผู้หญิงได้ใช้ผ้าคลุมฮิญาบเป็นครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์
เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2015 นาง Aysen Gurcan รัฐมนตรีหญิงคนแรกที่ได้ใส่ฮิญาบ
3.นักศึกษาหนึ่งล้านคนสมัครเข้าโรงเรียนอิหม่ามฮาติบ
Imam Hatip Lisesi หรือโรงเรียนอิหม่ามฮาติบเป็นสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งที่ได้รับมอบหมายเพื่อให้การศึกษาและการอบรมทางด้านศาสนาและเป็นการฝึกทดสอบให้กับผู้ที่สมัครเป็นอิหม่ามในประเทศตุรกี ทางรัฐบาลตุรกีได้เสนอให้แต่ละมัสยิดคัดเลือกส่งผู้สมัครเรียนอิหม่าม เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมที่โรงเรียนดังกล่าว ซึ่งโรงเรียนอิหม่ามฮาติบแห่งนี้จัดตั้งขึ้นภายหลังจากที่โรงเรียนศาสนาถูกสั่งห้ามภายใต้การนำของช่วงสมัยการปฏิรูปของรัฐบาลอตาเติร์ก
ในปี 2002 มีนักเรียนทั้งสิ้น 65,000 คน ที่เข้าศึกษาในโรงเรียนอิหม่ามฮาติบ ซึ่งจำนวนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็น 658,000 คนในปี 2013 ซึ่งมีบีลาล อัรดูฆอน ลูกคนที่สามของประธานาธิบดีอัรดูฆอน ที่คอยเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของโรงเรียนดังกล่าว และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการประกาศว่าจำนวนนักเรียนทะลุถึงหนึ่งล้านคน
4.แนะนำการศึกษาศาสนาภาคบังคับ
ทางรัฐบาลตุรกีได้สั่งการให้โรงเรียนต่างๆ ได้แนะนำการศึกษาศาสนาอิสลามภาคบังคับ เกี่ยวกับการศึกษาวิชาศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง การใช้ชีวิตของศาสดามูฮัมหมัด และ “อัลกุรอาน”
อัรดูฆอนกล่าวว่า”เราต้องการที่จะยกระดับเยาวชนให้มีคุณธรรม”
“คุณคาดว่าพรรคยุติธรรมและการพัฒนาจะผลิตเยาวชนที่ไม่ศรัทธาในพระเจ้ากระนั้นหรือ? ซึ่งบางทีมันอาจจะเป็นจุดประสงค์ในทางธุรกิจและภารกิจของคุณ แต่นั่นมันไม่ใช่เป้าหมายของเรา แต่เราจะผลิตสร้างเยาวชนที่อนุรักษ์นิยมและมีความเป็นประชาธิปไตย ตลอดจนที่มีคุณค่าต่อสถาบันชาติ”
5.ข้อจำกัดอายุในการเรียนรู้คัมภีร์กุรอานถูกยกเลิก
รัฐบาลตุรกีได้ยกเลิกกฎหมายที่ว่าเด็กจะต้องมีอายุอย่างน้อย 12 ปีขึ้นไป ถึงจะสามารถเรียนรู้อัลกุรอานได้ และในปี 2013 ตุรกีได้เปิดตัวโครงการแนะนำอัลกุรอานให้กับโรงเรียนในช่วงอนุบาลและสอนอัลกุรอาน
6.มีการจำกัดพื้นที่การจำหน่ายและการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ตุรกีในยุคเสรีนิยมได้อนุญาตให้มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในปี 2013 ทางพรรคยุติธรรมและการพัฒนามีคำสั่งห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการจำหน่ายในรัศมี 100 เมตรห่างจากมัสยิดและโรงเรียน
และแต่ละโฆษณา แม้แต่ภาพยนตร์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะต้องอำพรางเมื่อมีการออกอากาศ
หอพักนักศึกษา สถาบันสุขภาพ ชมรมกีฬา สถาบันการศึกษา และร้านค้าปลีก ห้ามการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนสถานที่ที่มีการอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะต้องขายสินค้าดังกล่าวเมื่อเวลาสี่ทุ่มเป็นต้นไป
7.มีการขยายสาขาของธนาคารอิสลาม (ธนาคารชารีอะฮ์)
ธนาคารอิสลามมีความเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธนาคาร Ziraat Islamic เป็นธนาคารชารีอะฮ์ที่รัฐเป็นเจ้าของ ซึ่งทางรัฐบาลตุรกีมีแผนที่จะขยายทั้งหมด 170 สาขา จนถึงปี 2018
ในช่วงการปราศรัยของประธานาธิบดีอัรดูฆอนเมื่อไม่นานมานี้เขากล่าวว่าระบบธนาคารที่ดำเนินการด้วยดอกเบี้ยคือความโหดร้ายยิ่งนัก และเขาก็ยังพูดถึงเกี่ยวกับประโยชน์ของธนาคารอิสลามอีกมาก
“ถ้าเราต้องการที่จะทะยานไปยังอนาคต เราต้องทำให้การมีส่วนร่วมที่แท้จริงเป็นรูปธรรม ที่เป็นระบบธนาคารที่ดีกว่าระบบธนาคารที่เหี้ยมโหดเหล่านั้น ระบบธนาคารอิสลามเป็นระบบที่มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงจากระบบธนาคารที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในแง่ของโครงสร้างของหลักประกันสินทรัพย์ ความเชื่อมั่นในหุ้นที่มีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ผมเชื่อว่าระบบนี้จะกลายเป็นแรงผลักดันของเศรษฐกิจตุรกีต่อไปในอนาคต
ที่มา https://www.islampos.com/7-cara-erdogan-bangkitkan-kembali-kejayaan-islam-di-turki-272346/