
บีบีซีอินโดนีเซียรายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซียต้องทำการชี้แจงอย่างเป็นทางการต่อรัฐสภา เกี่ยวกับรายงานข่าวของสื่ออิสราเอลเกี่ยวกับเรื่องการ ‘ประชุมลับ’ ระหว่างเจ้าหน้าที่ของอินโดนีเซียและอิสราเอล ที่เกี่ยวเนื่องกับการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์คนแรกของอินโดนีเซียในปาเลสไตน์
“กระทรวงการต่างประเทศต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้ เพราะว่าข่าวนี้ไม่ได้เป็นความลับอีกต่อไปและได้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมไปแล้ว” ผู้สังเกตการณ์ปัญหาตะวันออกกลางของสถาบันสังคมอินโดนีเซียตะวันออกกลางศึกษา (The Indonesian Society for Middle East Studies ) สมิธ อัลฮาบาร์ ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวบีบีซี อินโดนีเซีย นายเฮเดอร์ อัฟฟาน เมื่อวันศุกร์ที่ (18 มี.ค.) ที่ผ่านมา
เขามองว่า รัฐบาลอินโดนีเซียมิอาจหลีกเลี่ยงการรายงานข่าวดังกล่าวได้ ด้วยการให้ข่าวไปยังสำนักข่าวเพียงแห่งเดียวที่เขาไม่ค่อยมีความน่าเชื่อถือ

“ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการยืดเยื้อ ทางรัฐบาลต้องออกมาชี้แจงเกี่ยวกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นต่อรัฐสภา” สมิธกล่าว
ซึ่งเขาคาดว่าการประชุมที่เกิดขึ้นนั้น คิดว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด เพราะรัฐบาลก่อนหน้านี้ ก็มีการพบปะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของอิสราเอลและอินโดนีเซียมาแล้วเช่นกัน
“นับตั้งแต่สมัยการปกครองของรัฐบาลซูฮาร์โต ได้มีการติดต่อสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการระหว่างประเทศอินโดนีเซียและอิสราเอลเช่นนี้” เขากล่าว
นอกจากนี้ ยังมีสื่อที่ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับการพบกันดังกล่าว เป็นสื่อที่ต้องมีความระมัดระวังในการบริโภคข่าว
“และผมมีความเชื่อในสิ่งที่เขารายงานมา” เขากล่าว
เขามีความกังวลว่า หากไม่ได้รับการชี้แจงอย่างเป็นทางการ กลัวว่าข้อกล่าวหาของอิสราเอลนั้นจะยิ่งอันตรายและจะทำให้ประเทศอินโดนีเซียต้องเสียผลประโยชน์ในอนาคต
“แน่นอนทางรัฐบาลอินโดนีเซียรู้สึกเหมือนโดนทรยศ เพราะการประชุมลับนั้นทางรัฐบาลอินโดนีเซียเห็นว่าควรจะถูกเก็บเป็นความลับ แต่ทางเจ้าหน้าที่อิสราเอลกลับทำให้ข้อมูลดังกล่าวมีการรั่วไหล มีการให้ข่าวกับสื่อ แน่นอนมันเป็นความเจ็บปวด” สมิธกล่าว
การประชุมลับเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียกับอิสราเอล
นอกจากนี้ตามรายงานข่าวของสื่ออิสราเอลบางสำนักระบุ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอลซีปี โฮโตเวลี กล่าวว่า อินโดนีเซียมีความสัมพันธ์ทางการทูตย่างลับๆ กับอิสราเอล เกี่ยวกับแผนการที่จะเปิดสถานกงสุลอินโดนีเซียที่เมืองรามัลลาฮ์
ผู้ช่วยรัฐมนตรีซีปี โฮโตเวลี ได้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อทางรัฐสภาของอิสราเอล เกี่ยวกับเหตุผลที่ต้องออกคำสั่งการระงับห้ามเที่ยวบินของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซีย
เขากล่าวว่า เพราะอินโดนีเซียได้ละเมิดข้อตกลงกับอิสราเอล ในการประชุมหัวหน้าส่วนเอเชียกับกระทรวงต่างประเทศอิสราเอล มาร์ค โซเฟอร์ กับทางเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียระหว่างการไปเยือนประเทศอินโดนีเซีย

ในการประชุมซึ่งไม่ได้ระบุวันเวลาที่แน่ชัด เขากล่าวว่าการมาเยือนของ มาร์ค โซเฟอร์ ดังกล่าว เพื่อเป็นการวางแผนของการไปเยือนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อป้องกันความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้น
ต่อมามีรายงานว่าอิสราเอลได้ปฏิเสธที่จะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย นายเรทโน มาร์ซูดี ไปเยือนประชาชนที่อยู่ในเขตเวสต์แบงก์ เพื่อทำการเจรจากับผู้นำปาเลสไตน์ที่นั่น เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศปาเลสไตน์
ผู้ช่วยรัฐมนตรีซีปี โฮโตเวลี ได้เห็นชอบการปฏิเสธกำหนดการเยือนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียในครั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียได้ปฏิเสธที่จะพบกับเจ้าหน้าที่ของอิสราเอล อย่างที่ได้ตกลงกันไว้ในช่วงการประชุมลับดังกล่าว
“ดังนั้นเมื่อถูกละเมิด ผลที่จะตามมาคงจะเป็นเหมือนอย่างที่ได้เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา” ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอลกล่าวว่า
รัฐมนตรีต่างประเทศเรทโน มาร์ซุดี โต้แย้ง
แต่ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเรทโน มาร์ซุดี ได้โต้แย้งต่อคำแถลงดังกล่าวของผู้ช่วยรัฐมนตรีซีปี โฮโตเวลี และรัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซียยังได้ตอบโต้ต่อสำนักข่าวบางแขนงของอิสราเอลอีกด้วย
“กระทรวงการต่างประเทศไม่เคยขีดเส้นใต้ ไม่เคยมีการประชุมลับดังกล่าว” รัฐมนตรีต่างประเทศเรทนา กล่าวกับนักข่าวที่สำนักงานกระทรวงประสานงานทางการเมืองกฎหมายและความมั่นคงเมื่อวันพฤหัสบดี (17 มี.ค.) ที่ผ่านมา

เรทโนกล่าวว่า สิ่งที่สื่ออิสราเอลรายงานว่า ฝ่ายเรา (อินโดนีเซีย) มีการละเมิดข้อตกลงในการประชุมลับกับอิสราเอลนั้นไม่เป็นความจริง “สิ่งที่พวกเขากล่าวหาเกี่ยวกับการประชุมลับไม่มีมูล” เขากล่าว
ในการชี้แจงครั้งหลังสุดทางโฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียกล่าวว่า อัรมานาตาได้กล่าวว่าไม่เคยมีแผนการใดเลย ที่จำเป็นจะต้องมีการพบปะกันกับเจ้าหน้าที่ของอิสราเอล
“ผมย้ำว่าไม่เคยมีการประชุมใดๆ หรือแผนการเพื่อให้การพบปะกันระหว่างกระทรวงต่างประเทศอิสราเอลกับกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียต้องเกิดขึ้น ที่เกี่ยวเนื่องกับการไปเยือนเมืองรามัลลาฮ์” อัรมานาตากล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (17 มี.ค.) ที่สำนักงานกระทรวงการต่างประเทศสำนักงาน ณ กรุงจาการ์ตา อย่างที่สื่อบางแห่งได้รายงานมา
ไม่มีข้อตกลงใดๆ กับอิสราเอล
เขาเน้นย้ำอีกว่า พวกเขา(อินโดฯ)ไม่เคยทำข้อตกลงใดๆ กับทางอิสราเอล เกี่ยวกับกำหนดการไปเยือนตามแผนการที่กรุงเยรูซาเล็มของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
เป้าประสงค์หลักของอินโดนีเซีย ณ ตอนนั้น คือการไปเยือนประเทศจอร์แดน เพื่อดำเนินการประชุมทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของจอร์แดน นอกเหนือไปจากการเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีของจอร์แดน
และเป้าหมายต่อจากนั้นคือการไปยังเมืองรามัลลาฮ์ เพื่อแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ของอินโดนีเซียในปาเลสไตน์ พร้อมกับการประชุมกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอีกด้วย

“ซึ่งทุกอย่างถูกวางแผนตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคมปี 2015 ที่แล้ว การเดินทางและเยี่ยมเยือนผ่านทางการทูตอย่างเป็นทางการ ที่ได้ประสานกับปาเลสไตน์และจอร์แดนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” เขากล่าว
“กำหนดการดังกล่าวสอดรับกับข้อเสนอและการอำนวยความสะดวกจากทางจอร์แดนและอัมมาน” เขากล่าว
“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอินโดฯเรทโน ไม่เคยมีเป้าหมายที่จะดำเนินการอย่างอื่นที่นอกเหนือจากที่ได้วางแผนเอาไว้ หรือมีแผนการที่จะไปยังที่อื่น ที่ไม่ใช่ทั้งสองที่ดังกล่าว”
การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ของอินโดนีเซียในปาเลสไตน์ ทางผู้สังเกตการณ์ได้มองว่า เป็นรูปแบบของการสนับสนุนอย่างชัดเจนของอินโดนีเซียต่อการได้รับเอกราชของปาเลสไตน์
และการสนับสนุนดังกล่าว ได้แสดงให้เห็นอย่างประจักษ์มากขึ้นเมื่ออินโดนีเซียได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดความร่วมมืออิสลามโลก ที่กรุงจาการ์ตา ที่ได้อภิปรายถึงเรื่องอนาคตของปาเลสไตน์ เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา
ในคำกล่าวปิดการประชุม ประธานาธิบดีโจโกวี วิโดโด กล่าวว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับองค์การความร่วมมืออิสลาม ที่จะยกระดับการสนับสนุนให้กับชาวปาเลสไตน์ ด้วยวิธีการที่เป็นรูปธรรมซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการ “ร่วมกันกดดันอิสราเอล”