หลายเดือนที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านสำคัญของไทย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของเมียนมาร์ เมื่อ พ.ย. 2015 ตามมาด้วยการประชุมและเลือกตั้งผู้นำระดับสูงในพรรคคอมมิวนิสต์ของลาวและเวียดนามในรอบ 5 ปี ทำให้หลายฝ่ายคาดกันว่าอาจนำไปสู่การเปลี่ยนโฉมหน้าทางการเมืองและทิศทางต่อนโยบายต่างประเทศของประเทศเหล่านี้
ลลิตา หาญวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าศึกษา จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ระบุ ในงานเสวนาวิชาการหัวข้อ อำนาจผลัดใบในอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป การเมือง “ใหม่/เก่า” ของพม่า ลาวและเวียดนาม ว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมประชาธิปไตยของเมียนมา เกิดมาจากผลประโยชน์และการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งผลักดันให้ฝ่ายกองทัพ ที่ถือเป็นผู้กุมชะตาของเมียนมาร่วมทำความตกลงกับหลายฝ่าย ทั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ที่นำโดย อองซานซูจี สตรีสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย และชนกลุ่มน้อยต่างๆ
ลลิตา กล่าวอ้างถึงภาพวาดล้อเลียนทางการเมืองของนิตยาสารนิวยอร์กไทมส์ ซึ่งสะท้อนความเห็นของชาวต่างชาติว่า แม้ อองซานซูจี จะขึ้นมาเป็นผู้นำและนำเมียนมาเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงการเมืองสู่ระบอบประชาธิปไตยได้สำเร็จ แต่ท้ายที่สุดก็เป็นประชาธิปไตยใต้บงการของฝ่ายกองทัพอยู่ดี
นอกจากนี้ ลลิตา ยังชี้ให้เห็นว่า การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 17 มี.ค. นี้ (ซึ่งภายหลังเลื่อนมาเป็นวันที่ 10 มี.ค.) ชาวเมียนมาส่วนใหญ่ต่างคาดหวังที่จะเห็น อองซานซูจี ขึ้นเป็นประธานาธิบดี แต่ก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 59 วรรคเอฟมีเนื้อหาจำกัดไว้
ลลิตา ยังระบุว่า อนาคตการเมืองของเมียนมาขึ้นอยู่กับ มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารบก โดยในช่วงตั้งแต่ ธ.ค.ที่ผ่านมา ซูจี นำสมาชิกพรรคเข้าพบมินอองหล่ายแล้วถึง 3 ครั้ง สะท้อนว่าการเป็นประธานาธิบดีของซูจีต้องได้รับการเห็นชอบจากมินอ่องหล่าย และแม้ว่า ซูจี จะได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีแล้ว แต่เมียนมาก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ตามมา อาทิ วิกฤตรัฐธรรมนูญ เพราะการเข้ารับตำแหน่งถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายและการแขวนมาตรา 59 ไว้ชั่วคราวก็เป็นไปได้ยาก รวมทั้งยังมีปัญหาสังคมอื่นๆ เช่นความแตกแยกทางศาสนา
แรงต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ลาว
ขณะที่พรรคประชาชนปฏิวัติหรือพรรคคอมมิวนิสต์ลาว ได้มีการประชุมกรรมการพรรคและการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วประเทศ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการพรรค 77 คน ได้ลงมติเลือก บุนยัง วอละจิต เป็นประธานประเทศคนใหม่ ในวันที่ 22 ม.ค. นอกจากนี้ยังมีการลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการประจำกรมการเมือง (โปลิตบูโร) ใหม่ 4 ตำแหน่ง โดยหลายฝ่ายคาดว่าทางพรรคน่าจะเลือกคนที่มีแนวนโยบายสนับสนุนเวียดนามเข้ามาแทน และจะมีการเลือกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและอื่นๆ ต่อไป
สุรชัย ศิริไกร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนตัวผู้นำดังกล่าวไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในนโยบายต่างประเทศมากนัก แม้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จะต้องการได้ผู้นำที่ดำเนินนโยบายเข้าหาเวียดนามมากกว่าจีน แต่ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจทำให้ลาวต้องพึ่งพาจีนอยู่ดี
ส่วนในด้านการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์ลาวยังคงเน้นสร้างความเข้มแข็งของพรรคมากที่สุด เนื่องจากมีกระแสต้านมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภายนอก อาทิ กลุ่มลาวอิสระ ซึ่งเป็นกลุ่มคนลาวในต่างประเทศ
กลุ่มคนเหล่านี้เริ่มแสดงบทบาทมากขึ้นในปัจจุบัน ผ่านการใช้สื่อสังคมออนไลน์วิจารณ์การทุจริตของพรรคคอมมิวนิสต์ เช่น การประท้วงของกลุ่มคนลาวในสหรัฐ ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐ ที่ซันนีแลนด์ส โดยชูข้อเรียกร้องให้รัฐบาลลาว จัดการเรื่องการทุจริต การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ และอื่นๆ
นอกจากนี้ สุรชัย ยังระบุว่า เมื่อปีที่ผ่านมา ลาวได้ปล่อยดาวเทียมโทรคมนาคมเป็นครั้งแรก รวมทั้งพัฒนาระบบโทรทัศน์ โฆษกของรัฐบาลให้ทันสมัยขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นปฏิกิริยาตอบโต้จากรัฐบาลเพื่อปราบปรามข้อวิจารณ์ทั้งหลาย
เศรษฐกิจ จุดเปลี่ยนเวียดนาม
ด้าน มรกตวงศ์ ภูมิพลับ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า สิ่งที่จะเป็นจุดเปลี่ยนของการเมืองเวียดนามคือเรื่องเศรษฐกิจ โดยตราบใดที่รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ยังสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความกินดีอยู่ดีของได้ ชาวเวียดนามก็ไม่สนใจการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ขณะที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็มีน้อยมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอำนาจที่สูงมากของตำรวจในการปราบปรามผู้ต่อต้าน
มรกตวงศ์ ระบุว่า พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายและปรับตัวอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายความมั่นคงร่วมกับสหรัฐเพื่อคานอำนาจจีน ดังนั้นการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ไม่น่าจะทำให้นโยบายเปลี่ยนไปมากนัก เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์ยังคงให้ความสำคัญสูงสุดกับการพัฒนาเศรษฐกิจเช่นเดียวกับที่ผ่านมาตลอด 10 ปี ที่เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างก้าวกระโดด
มรกตวงศ์ ยังกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงในพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ จนกว่าผู้นำในยุคสงครามเย็นจะหมดไป เช่น ในปัจจุบัน พรรคมีนโยบายที่ผ่อนปรนการวจารณ์รัฐบาลมากขึ้น รวมถึงมีการให้เสรีภาพด้านความหลากหลายในบางประเด็น นอกจากนี้พรรคคอมมิวนิสต์ยังสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจ
ที่มา : posttoday