หน้าแรก ข่าวต่างประเทศ

พม่าปฏิเสธ… ‘แฮกเกอร์’ โจมตีเว็บไทย – แก้แค้น’คดีเกาะเต่า’

บลิงค์ แฮกเกอร์ กรุ๊ป กลุ่มแฮกเกอร์สัญชาติเมียนมา อ้างผ่านเฟซบุ๊ค อยู่เบื้องหลังจารกรรมเว็บไซต์ราชการไทยเมื่อเดือน ม.ค. เพื่อแก้แค้นคดีเกาะเต่า“

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานจากเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ว่า “บลิงค์ แฮกเกอร์ กรุ๊ป” กลุ่มแฮกเกอร์เมียนมา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค และให้สัมภาษณ์กับสื่อผ่านทางอีเมล อ้างว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีเว็บไซต์ราชการไทยหลายหน่วยงาน ตั้งแต่เมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา เพื่อโต้ตอบต่อการที่ 2 ผู้ต้องหาชาวเมียนมาถูกศาลตัดสินประหารชีวิตในคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ 2 ราย ที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อปลายปีที่แล้ว

กลุ่มดังกล่าวได้เผยแพร่ข้อมูลที่อ้างว่าจารกรรมมาจากเว็บไซต์ของกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมไทย โดยระบุว่า ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรเผยแพร่สู่สาธารณชน ขณะที่เจ้าหน้าที่ไทยเผยว่า ยังไม่สามารถระบุตัวผู้กระทำผิดในเหตุโจมตีดังกล่าวได้ แต่ปฏิเสธได้ว่าผู้ก่อเหตุไม่ได้อยู่ในเมียนมา ด้าน พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า เว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยจากการก่อกวนที่เกิดขึ้น และสามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติโดยไม่มีปัญหาอะไร

ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า การโจมตีทางไซเบอร์ขยายตัวเพิ่มขึ้น นับแต่เมียนมาดำเนินนโยบายเปิดประเทศรับการลงทุนจากต่างชาติ หลังการสิ้นสุดรัฐบาลทหารเมื่อปี 2554 โดยการโจมตีเว็บไซต์หน่วยงานราชการของประเทศอื่นด้วยแนวคิดชาตินิยมเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากสำหรับกลุ่มผู้ก่อเหตุที่มีฐานปฏิบัติการในเมียนมา โดยมีองค์กรสื่อในประเทศตกเป็นเป้าหมายด้วย ซึ่งเป็นสื่อที่มีบทบาทเป็นที่รับรู้กันในเรื่องของการวิจารณ์นโยบายรัฐบาล และให้การสนับสนุนชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์โรฮีนจา เช่นเว็บไซต์ข่าวอิระวดี (Irrawaddy) และเว็บไซต์ข่าวเสียงประชาธิปไตยพม่า (Democratic Voice of Burma: DVB) โดยกลุ่มแฮกเกอร์ระบุว่า สื่อไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือของการโฆษณาชวนเชื่อ

นายทอร์ด ลุนด์สเตริม นักวิจัยชาวสวีเดนที่ทำงานร่วมกับบริษัทผู้ดำเนินงานเว็บไซต์ข่าวอิสระในเมียนมา กล่าวว่า จากการตรวจสอบหมายเลขโดเมนสามารถเชื่อมโยงกลุ่มบลิงค์ แฮกเกอร์ กรุ๊ป เข้ากับบริษัทแห่งหนึ่งในเมืองย่างกุ้ง ที่ให้บริการด้านการออกแบบเว็บไซต์และบริการด้านความปลอดภัย ขณะที่ความเคลื่อนไหวบนหน้าเฟซบุ๊คของกลุ่มสามารถโยงไปถึงบุคคลที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับกองทัพ ลุนด์สเตริมยังระบุอีกว่า แฮกเกอร์กลุ่มนี้เป็นมืออาชีพและมีการจัดการองค์กรอย่างเป็นระบบ

ก่อนหน้านี้ กลุ่มบลิงค์ แฮกเกอร์ กรุ๊ป ประกาศว่าพร้อมร่วมงานกับกองทัพเมียนมาในการพัฒนาอินเตอร์เน็ต แต่ไม่มีการตอบรับใดๆ จากองทัพ ขณะที่กลุ่มยืนยันว่า ในบรรดาสมาชิกทั้งหมด 20 คน ไม่มีใครมีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทัพ ด้านบริษัทไซเบอร์ วิงส์ เอเชีย ผู้ให้บริการเซอร์เวอร์แก่เว็บไซต์ของกลุ่มบลิงค์ ยืนยันว่าไม่มีส่วนรู้เห็นใดๆ ขณะที่นายเย ทุต โฆษกรัฐบาลเมียนมา มองว่าเป็นเรื่องตลกสำหรับข้อกล่าวหาที่ว่ากองทัพมีการจัดตั้งหน่วยสงครามไซเบอร์ กล่าวว่า บางครั้งดูเหมือนว่าจะมีการประเมินความสามารถของกองทัพเมียนมาสูงเกินจริง

ที่มา : dailynews