หน้าแรก ข่าวต่างประเทศ

“ไช่อิงเหวิน” กับอนาคตไต้หวัน-จีน

ไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน

โดย…จิรเมธ รุ่งเรือง ผู้เชี่ยวชาญสาขาจีนศึกษา คณะวิเทศศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต jirameth.r@phuket.psu.ac.th

การได้ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน เมื่อเดือน ม.ค. ของ ไช่อิงเหวิน จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ซึ่งมีนโยบายถอยห่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ กลายเป็นจุดหักเหครั้งสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบไต้หวัน ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาภายใต้การนำของ หม่าอิงจิ่ว มีนโยบายที่ค่อนไปทางสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีน จนนำไปสู่การพบปะกันที่สิงคโปร์ครั้งแรกนับตั้งแต่แยกเป็นสองจีนในปี 1949

การพบปะกันเป็นการแสดงจุดยืนชัดเจนของพรรคก๊กมินตั๋ง ที่จะร่วมมือกับจีนให้แน่นแฟ้นขึ้น โดยต้องการเกาะกระแส Rising China ไปกับจีนด้วย

ในปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้ารวมระหว่างไต้หวันกับจีนสูงถึง 1.15 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 22.6% ของการค้ารวมทั้งปีของไต้หวัน ยังไม่รวมการที่ศิลปิน นักร้อง นักแสดง จากไต้หวันมองเห็นโอกาสจากความเป็น “จีนเดียวกัน” เข้าไปกวาดรายได้ในจีนอีกมาก กระแสการประกาศเอกราชจากกลุ่มนักธุรกิจหรือศิลปินไต้หวันจึงแทบไม่มีให้เห็นเลยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ชาวไต้หวันส่วนใหญ่ซึ่งไม่ได้รับอานิงส์จากจีนโดยตรง ก็ยังมีความเป็นชาตินิยมและยังอยากเห็นไต้หวันได้รับการยอมรับว่าเป็น “ประเทศ” อย่างเต็มตัวเสียที สะท้อนจากผลเลือกตั้งที่ผ่านมา เปรียบเสมือนการตอกหน้า หม่า ว่าแท้ที่จริงแล้ว ชาวไต้หวันส่วนใหญ่ยังหวาดระแวงการ (พยายามจะ) เข้ามาของจีนว่ามีวัตถุประสงค์ที่ใหญ่กว่านั้นที่ชาวไต้หวันมิอาจรับได้

แม้ว่าผู้นำใหม่ต้องการให้ไต้หวันมีอิสระจากการถูกครอบเป็น “จีนเดียว” แต่การประกาศเอกราชก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจีนพร้อมตลอดเวลาที่จะใช้กำลังทหาร แต่ฝั่งจีนเองก็ไม่กล้าเสี่ยงที่จะใช้กำลังควบรวมให้เบ็ดเสร็จ เพราะอุปสรรคไม่ใช่แค่สูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน (ซึ่งจีนเห็นว่าเป็นเชื้อชาติเดียวกัน) เท่านั้น แต่จีนยังต้องเตรียมพร้อมในกรณีที่สหรัฐออกมาปกป้องไต้หวันด้วย

ดังนั้น ในขณะนี้หรืออีกหลายปีจากนี้ไปคงจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในนโยบายหลักในการดำเนินความสัมพันธ์กับจีนของไต้หวัน การปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างที่เคยเป็นน่าจะเป็นการดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย

จีนยังรู้สึกภาคภูมิใจว่ายังรักษาแผ่นดินตนเองไว้ได้อย่างเหนียวแน่น จากนโยบายจีนเดียว ซึ่งประเทศที่ผูกมิตรกับจีนต้องยอมรับข้อนี้ แม้ในความเป็นจริงจะไม่มีอำนาจจริงๆ ในไต้หวันเลย เพราะคนจีนที่ไปไต้หวันยังต้องขอบัตรอนุญาตเข้าออก ใช้ช่องทางขาออกระหว่างประเทศ และใช้เงินไต้หวัน

ไต้หวันเองแม้จะประกาศเอกราชไม่ได้ แต่ก็ยังใช้ประโยชน์จากความเป็นจีนทำธุรกิจบนแผ่นดินใหญ่ ได้ความคุ้มครองจากสหรัฐมีอำนาจดำเนินนโยบายต่างๆ พอควร เพียงแค่ไม่อาจใช้คำว่า”ประเทศ” ในระดับนานาชาติได้เท่านั้น

ที่มา : posttoday