ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2010 แสดงให้เห็น นักการศาสนาอิสลามิสต์หัวรุนแรง “อามาน อับดุลราห์มาน” (กลาง) ยกมือขึ้นมาในห้องขังที่ถูกควบคุมตัว ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า แม้อับดุลราห์มานถูกจองจำอยู่ในคุกมาหมายปี แต่เขายังคงสามารถเผยแพร่ความคิดหัวรุนแรงเรื่อยมา
MGR Online/รอยเตอร์ – เผยสภาพการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ นักโทษล้นคุก และคอร์รัปชัน เปิดช่องให้กลุ่มหัวรุนแรงที่ถูกจองจำสุมหัวกันและเลื่อนขั้นเป็นนักรบและนักฆ่าที่สวามิภักดิ์ต่อ “ไอเอส” เต็มตัว โดยบรรดานักโทษ “ขาใหญ่” สามารถใช้โซเชียลมีเดีย โทรศัพท์มือถือ และผู้ส่งสาร เผยแพร่แนวคิดหัวรุนแรงสู่โลกภายนอกอย่างง่ายดาย
อาฟิฟ คือ นักโทษในเรือนจำที่มีการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดของอินโดนีเซีย และที่นั่นเขาได้แปรสภาพจากมุสลิมหัวรุนแรงเป็นนักรบของกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่พร้อมสละชีวิตเพื่อเครือข่ายก่อการร้ายที่มีฐานห่างไกลลิบออกไปในตะวันออกกลาง
การเดินทางของอาฟิฟปิดฉากลงด้วยความตายจากการก่อเหตุโจมตี ร่วมกับพวกหัวรุนแรงอื่น ๆ อีก 3 คน ที่บริเวณสี่แยกอันพลุกพล่านกลางกรุงจาการ์ตา เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการประกาศศักดาความโหดร้ายรุนแรงของไอเอสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรก
เรื่องราวของอาฟิฟ ตีแผ่ระบบเรือนจำอิเหนาที่การขาดแคลนเจ้าหน้าที่ นักโทษล้นคุก และการคอร์รัปชัน เปิดช่องให้กลุ่มหัวรุนแรงที่ถูกจองจำสุมหัวกันและเลื่อนขั้นเป็นนักฆ่าที่สวามิภักดิ์ต่อไอเอส
เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง เผยว่า อาฟิฟ หรือยังรู้จักกันในนาม ซูนาคิม ถูกลงโทษจำคุก 7 ปี ข้อหาเข้าร่วมในค่ายฝึกพวกหัวรุนแรงในจังหวัดอาเจะห์ และระหว่างอยู่ในเรือนจำ เขาปฏิเสธเข้าโปรแกรมลดแนวคิดนิยมความรุนแรง
กระทรวงยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนของอินโดนีเซีย ปฏิเสธไม่ขอตอบคำถามว่า หลังจากที่อาฟิฟถูกปล่อยตัวจากเรือนจำในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ทางการได้มีการติดตามพฤติการณ์ของเขาหรือไม่
ขณะที่ตำรวจระบุว่า ในบรรดาคนร้ายอีก 3 คนที่ร่วมกับอาฟิฟเข้าโจมตีจาการ์ตาคราวนี้ ยังมีอีกคนหนึ่งที่เป็นอดีตคนคุกเช่นกัน
บาโดรดิน เฮติ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซีย ยอมรับว่า มีพวกหัวรุนแรงที่ยังต้องโทษอยู่อย่างน้อย 5 คน ที่เชื่อว่ามีการติดต่อกับพวกผู้วางแผนการซึ่งนำไปสู่การโจมตีจาการ์ตาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
สถาบันเพื่อการวิเคราะห์ความขัดแย้งเชิงนโยบาย (ไอแพค) ออกรายงานฉบับหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว ระบุว่า เรือนจำ 26 แห่งในแดนอิเหนาคุมขังผู้ถูกตัดสินเป็นผู้ก่อการร้ายราว 270 คน ทว่า ในจำนวนนี้มีผู้สนับสนุนไอเอสเพียงหยิบมือ
ผู้เชี่ยวชาญหลายรายชี้ว่า ระหว่างอยู่ในเรือนจำซิปินัง ของจาการ์ตา อาฟิฟเป็นหนึ่งในนักโทษราว 20 คนที่อยู่ใต้อิทธิพลของนักโทษขาใหญ่ที่เป็นนักการศาสนาอิสลามิสต์ “อามาน อับดุลราห์มาน” ที่บัญชาการผู้สนับสนุนไอเอสกลุ่มต่าง ๆ จากภายในคุก
ทอฟิก แอนดรี ผู้อำนวยการบริหารสถาบันเพื่อการสร้างสันติภาพระหว่างประเทศที่มีฐานอยู่ในจาการ์ตา บอกว่า อาฟิฟและอับดุลราห์มานอยู่ในห้องขังเดียวกันและสนิทชิดเชื้อกันมาก
อับดุลราห์มานมักเผยแพร่ “ตักฟิรี” หรือความเชื่อในหมู่พวหัวรุนแรงสุหนี่ที่อ้างความชอบธรรมในการก่อความรุนแรงต่อพวกนอกรีต และแม้อับดุลราห์มานถูกย้ายไปยังเรือนจำนูซากัมบันกัน ในจังหวัดชวากลาง ที่มีการรักษาความปลอดภัยระดับสูงสุดเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ทว่าเขายังคงสามารถติดต่อกับอาฟิฟและสาวกอื่น ๆ ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 200 คนผ่านโทรศัพท์มือถือและผู้ส่งสาร
ทนายความของ อาบู บาการ์ บาอาซีร์ นักโทษหัวรุนแรงชื่อดังอีกคน เผยว่า การติดต่อสื่อสารจากในคุกสู่โลกภายนอกไม่ใช่เรื่องยากอะไร
ผู้เชี่ยวชาญขานรับโดยบอกว่า เรือนจำไม่เข้มงวดเรื่องคนเข้าเยี่ยมที่อาจทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสาร ขณะที่นักโทษหัวรุนแรงอย่างอับดุลราห์มานยังสามารถจัดการเทศนาภายในคุกเป็นประจำ และใช้เป็นช่องทางเผยแพร่แนวคิดหัวรุนแรงผ่านอีเมล เฟซบุ๊ก และเอกสารกระดาษ จากในคุกได้อย่างง่ายดาย ตัวอย่างเช่นในปี 2014 ที่เขาประกาศสวามิภักดิ์ไอเอสผ่านระบบออนไลน์จากในเรือนจำ
ด้าน ซาอุด อุสมัน นาซูชัน หัวหน้าหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายของอินโดนีเซีย เคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อปลายปีที่แล้วว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำไม่สามารถขัดขวางการสื่อสารในรูปแบบดังกล่าวได้เนื่องจากปัญหานักโทษล้นคุก
ทางด้านตำรวจอินโดนีเซีย ก็เชื่อว่า บาห์รัน นาอิม ชาวอินโดนีเซียที่กำลังร่วมรบอยู่กับไอเอสในซีเรีย และเชื่อกันว่า เป็นหัวเรือใหญ่ผู้วางแผนโจมตีในกรุงจาการ์ตาคราวนี้ ใช้โซเชียลมีเดีย สื่อสารแนวคิดหัวรุนแรงกับสาวกในแดนอิเหนา และอาจโอนเงินหลายพันดอลลาร์ไปยังบัญชีในอิเหนา
หลังจากเหตุการณ์โจมตีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทางการอินโดนีเซียจึงได้บล็อกเว็บไซต์หลายแห่ง รวมทั้งส่งจดหมายไปยังเครือข่ายโซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และ เทเลแกรม เพื่อขอให้ลบเนื้อหาของกลุ่มหัวรุนแรงออก