เอเจนซีส์ –โดย MGR Online ตำรวจปราบจลาจลเมืองเบียร์เข้าสลายการชุมนุมต่อต้านนโยบายเปิดบ้านรับผู้อพยพเมื่อวันเสาร์ (9) ที่เมืองโคโลญ หลังจากผู้ขอลี้ภัยกว่า 20 คนตกเป็นผู้ต้องสงสัยทำอนาจารและชิงทรัพย์ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ด้านนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิลให้สัญญาจะเพิกถอนสิทธิการขอลี้ภัยสำหรับอาชญากร รวมทั้งลดจำนวนผู้อพยพในระยะยาว
การประทุษร้ายที่มีตั้งแต่การลวนลาม การข่มขืน ไปจนถึงการชิงทรัพย์ สร้างความตกตะลึงให้แก่ชาวเยอรมนีที่เปิดประตูรับผู้อพยพและผู้ลี้ภัยถึง 1.1 ล้านคนในปีที่แล้ว มากกว่าประเทศใดๆ ในยุโรป ภายใต้กฎหมายการลี้ภัยที่นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล กางปีกปกป้องแม้เผชิญการคัดค้านอย่างรุนแรงก็ตาม
วันเสาร์ที่ผ่านมา ตำรวจเผยว่า มีประชาชนราว 1,700 คนเดินขบวนในโคโลญ ซึ่งจัดโดย “เพกิดา” กลุ่มขวาจัดต่อต้านอิสลาม ซึ่งฉวยโอกาสเอาเหตุการณ์ที่ผู้อพยพถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุร้ายที่โคโลญเมื่อวันส่งท้ายปี มาใช้เป็นข้อพิสูจน์ว่านโยบายของแมร์เคิลผิดพลาด
การชุมนุมลุกลามกลายเป็นความรุนแรงเมื่อผู้ประท้วงบางส่วนขว้างปาขวดและประทัดใส่ตำรวจปราบจลาจล ด้านตำรวจใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงสลายการชุมนุม ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 คน และผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งถูกควบคุมตัว
ทั้งนี้ แม้เพกิดาเกือบสิ้นชื่อเมื่อปีที่แล้ว เมื่อหัวหน้ากลุ่มลาออกหลังภาพโพสต์ท่าถ่ายรูปเป็น “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” แพร่หลายออกไป ทว่ากลุ่มนี้กลับฟื้นคืนชีพอีกครั้งเมื่อกระแสต่อต้านนโยบายต้อนรับผู้ลี้ภัยของแมร์เคิลลุกลาม
ในวันเสาร์ ตำรวจราว 1,700 นายกระจายกำลังในโคโลญ ในจำนวนนี้ 1,300 นายได้รับคำสั่งให้ดูแลการประท้วง ซึ่งถือว่ามากกว่าจำนวนตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ระหว่างเกิดเหตุร้ายในวันส่งท้ายปี ที่ผู้หญิงอย่างน้อย 120 คนถูกชิงทรัพย์หรือทำอนาจารในเมืองนี้หลายเท่า
ก่อนที่การประท้วงจะเริ่มต้นขึ้นไม่นาน แมร์เคิลได้นัดประชุมเหล่าผู้นำพรรคคริสเตียน เดโมแครต (ซีดียู) และหลังจากนั้นได้ออกมาประกาศจุดยืนแข็งกร้าวขึ้นต่อผู้อพยพ โดยให้สัญญาว่าจะเพิกถอนสิทธิในการลี้ภัยสำหรับผู้ที่ต้องโทษ ถูกทัณฑ์บน ถูกจำคุก รวมถึงลดจำนวนผู้อพยพในระยะยาว
ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน ผู้ขอลี้ภัยจะถูกเนรเทศต่อเมื่อถูกตัดสินจำคุกอย่างน้อย 3 ปี หรือการใช้ชีวิตในบ้านเกิดปลอดจากความเสี่ยงเท่านั้น
พรรคอนุรักษ์นิยมของแมร์เคิลต้องการลดและควบคุมการอพยพสู่เยอรมนี รวมถึงส่งผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยกลับประเทศทันที ซึ่งการแก้ไขกฎหมายนี้จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบของสภา
ถึงกระนั้น ทิลแมน เมเยอร์ นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบอนน์ วิจารณ์ว่า ข้อเสนอของแมร์เคิลไม่ได้ทำให้นโยบายการอ้าแขนรับผู้อพยพเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด รวมทั้งไม่ได้ขจัดความกังวลของชาวเมืองเบียร์
เอ็นดีอาร์ สถานีวิทยุและทีวีทรงอิทธิพลในเมืองฮัมบูร์ก แสดงความคิดเห็นบนเว็บไซต์เมื่อวันศุกร์ว่า คดีประทุษร้ายผู้หญิงอาจปลุกกระแสความเกลียดกลัวคนต่างชาติในหมู่ชนชั้นกลางของเยอรมนีและนำไปสู่การต่อต้านผู้ลี้ภัย
ทั้งนี้ เมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว ตำรวจของรัฐบาลกลางระบุตัวผู้ต้องสงสัยประทุษร้ายผู้หญิงในโคโลญ 32 คน ซึ่ง 22 คนในจำนวนนี้อยู่ระหว่างขอลี้ภัยในเยอรมนี และในบรรดาผู้ต้องสงสัยทั้งหมดนั้นประกอบด้วยชาวแอลจีเรีย 9 คน, โมร็อกโก 8 คน, อิหร่าน 5 คน, ซีเรีย 4 คน, พลเมืองเยอรมัน 3 คน กับชาวอิรัก เซิร์บ อเมริกัน ชาติละ 1 คน
นอกจากนั้น ยังมีการประทุษร้ายในลักษณะนี้เกิดขึ้นที่แฟรงก์เฟิร์ตเช่นกัน แต่ไม่รุนแรงเท่าที่โคโลญ