รอยเตอร์ / เอเจนซีส์ / MGR online – ระบบสาธารณสุขที่เต็มไปด้วยปัญหาของพื้นที่ “ฉนวนกาซา”ได้รับข่าวดีครั้งสำคัญหลังการเปิดตัวโรงพยาบาลใหม่แห่งแรกในรอบ 1 ทศวรรษเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยโรงพยาบาลแห่งนี้ถูกระบุว่า สร้างขึ้นโดยเงินบริจาคจากองค์กรพัฒนาเอกชนในอินโดนีเซีย
รายงานข่าวระบุว่า โรงพยาบาลใหม่แห่งดังกล่าวซึ่งใช้เวลาในการก่อสร้างยาวนานเกือบ 5 ปีจากผลพวงของการสู้รบและมาตรการคว่ำบาตรของทั้งอิสราเอลและอียิปต์ ได้เปิดให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ฉนวนกาซาไปแล้วตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา และได้ทำการรักษาผู้ป่วยชาวปาเลสไตน์ไปแล้วไม่ต่ำกว่าวันละ 250 ราย
ข้อมูลระบุว่า โรงพยาบาลแห่งนี้ซึ่งตั้งอยู่ด้านนอก “ค่ายผู้อพยพจาบัลยา” ที่ถือเป็นค่ายผู้อพยพใหญ่ที่สุดในฉนวนกาซา ก่อสร้างขึ้นโดยเงินบริจาคจากองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดของโลก
มัวอีน อัล-มาสรี ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อและประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาลแห่งนี้เปิดเผยว่า โรงพยาบาลแห่งใหม่ขนาด 110 เตียงแห่งนี้สร้างขึ้นจากเงินบริจาคจำนวน 9 ล้านดอลลาร์ ที่ได้จากองค์กรเอ็นจีโอแห่งหนึ่งในประเทศอินโดนีเซีย แต่รัฐบาลปาเลสไตน์จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนของเงินเดือนแพทย์ พยาบาล และบุคลากรของโรงพยาบาลที่มีจำนวนราว 400 ชีวิต
โรงพยาบาลแห่งนี้ตั้งเป้าในการเป็นที่พึ่งด้านสุขภาพให้กับชาวปาเลสไตน์ราว 300,000 ราย ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทางตอนเหนือของฉนวนกาซา ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัสที่สุด จากการทำสงครามกับอิสราเอลเมื่อปี 2014 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนในฉนวนกาซาไปมากกว่า 2,100 ราย ที่ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน
ด้านอัชราฟ อัล-กิดรา โฆษกกระทรวงสาธารณสุขของปาเลสไตน์ออกมายอมรับว่า นอกเหนือจากการขาดแคลนโรงพยาบาลแล้ว พื้นที่ฉนวนกาซายังขาดแคลนแพทย์อย่างหนัก ส่งผลให้ที่ผ่านมา ผู้ป่วยหนักในพื้นที่ต้องเดินทางไปรักษาตัวในอิสราเอล อียิปต์ หรือประเทศอื่นๆที่อยู่ห่างไกลออกไป
ทั้งนี้ พื้นที่ฉนวนกาซาซึ่งถือกันว่าเป็นเขตอิทธิพลของกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง “ฮามาส” ถือเป็น“บ้าน” ของประชาชนชาวปาเลสไตน์เกือบ 2 ล้านคน โดยมีโรงพยาบาลท้องถิ่นรวมถึงคลินิกเปิดให้บริการอยู่เดิมราว 30 แห่ง และมีค่าเฉลี่ยสัดส่วนระหว่างเตียงผู้ป่วยต่อประชากรอยู่ที่เพียง “1.3 เตียงต่อประชากร 1,000 คน” ตามข้อมูลของธนาคารโลก