หน้าแรก รายงาน

เปิด 3 ข้อเสนอ คณะทำงานวาระผู้หญิงฯ จชต. ฝากถึงคู่เจรจา

วงเสวนา หัวข้อ “เสียงของผู้หญิงในพื้นที่ ข้อห่วงใยและความหวังของผู้หญิงเพื่อความปลอดภัย”

โดย อารีด้า สาเม๊าะ


 

คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ หรือ “Women’s agenda for Peace หรือ PAW แถลง 3 ข้อเสนอว่าด้วยพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง ตลาด โรงเรียน เส้นทางสัญจรของประชาชนทั่วไป ขอให้ทบทวนการก่อเหตุในพื้นที่สาธารณะ

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ 23 องค์กร อ่านแถลงการณ์ เรื่อง “ข้อเสนอว่าด้วยพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง” เนื่องในโอกาส วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ณ ห้องประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา จังหวัดยะลา

แถลงการณ์ฉบับที่ 2 ของคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ อ่านโดยนางสาวปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอ๊ะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ We Peace นางพันยวดี อาแว เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ( Civic Women) นางนิเดาะห์ อิแตแล สมาคมสวัสดิการมุสลีมะฮ์จังหวัดยะลา นางตัสนีม เจ๊ะตู ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กกำพร้า นางสาวลม้าย มานะการ เครือข่ายไทยพุทธเพื่อสันติภาพ

หลังจากที่มีการประกาศรวมตัว 23 องค์กรผู้หญิง และประกาศแถลงการณ์ฉบับแรก เรื่อง“ข้อห่วงใยของผู้หญิงต่อวงจรความรุนแรงชายแดนใต้” เรียกร้องทุกฝ่ายยุติความรุนแรง ใต้ เมื่อ 28 เมษายน 2558 ที่โรงแรมปาร์ควิว จ.ปัตตานี

โดยเนื้อหาของแถลงการณ์ฉบับที่ 2 กล่าวถึงความรุนแรงที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่ปลอดภัยในการใช้ชีวิตของเด็ก ผู้หญิงและประชาชนกลุ่มเปราะบางลดน้อยลง โดยข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ชี้ให้เห็นว่า 11 ปีที่ผ่านมามีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 81 คน บาดเจ็บเล็กน้อย ถึงสาหัส 445 คน ผู้หญิงเสียชีวิต 431 คน บาดเจ็บ 1,651 คน ส่วนใหญ่ประสบเหตุจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ

คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งต่อประเด็นความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะ และจากการระดมความคิดเห็นผู้หญิงจากเวทีประชาหารือสานเสวนา พบว่า ผู้หญิงต้องการให้พื้นที่สาธารณะ อันได้แก่ ถนน ตลาด โรงเรียน มัสยิด วัด สถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรม ปลอดภัยมากที่สุด เนื่องจากเป็นสถานที่ที่ผู้หญิงเป็นผู้ใช้ประโยชน์ และเป็นพื้นที่ที่ผู้หญิงใช้แสดงถึงอัตลักษณ์และให้คุณค่าต่อจิตวิญญาณของตัวเอง รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุตรหลานด้วย

3 ข้อเสนอในแถลงการณ์ของคณะทำงานวาระผู้หญิง ที่เรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบต่อความปลอดภัยและผู้ใช้กำลังอาวุธทุกฝ่าย รวมทั้งคนในชุมชนสังคม มีดังนี้

1. ผู้ใช้กำลังอาวุธทุกฝ่ายต้องยุติการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่สาธารณะดังกล่าว เพื่อไม่ให้ผู้หญิงได้รับผลกระทบ ที่นำไปสู่การเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ และขาดพื้นที่ปลอดภัย ในการใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นต่อผู้หญิงและทุกคนในครอบครัว

2. ขอให้ผู้ใช้กำลังอาวุธทุกฝ่าย หาทางออกโดยวิธีการทางการเมือง หลีกเลี่ยงการใช้กำลังอาวุธ ที่ทำให้ผู้หญิงและกลุ่มเป้าหมายเปราะบางได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันก็ต้องหาทางลดและไม่สร้างเงื่อนไขยั่วยุให้อีกฝ่ายใช้เป็นข้ออ้างก่อเหตุในพื้นที่สาธารณะ และ

3. ขอเชิญชวนให้ทุกภาคส่วน เข้าร่วมกิจกรรมประชาหารือสานเสวนา เพื่อหาทางออกในวิถีทางสันติ พร้อมลงมือดำเนินการตามบริบทของพื้นที่นั้น ๆ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและทุกคนในชายแดนใต้ ร่วมกัน

องค์กรสมาชิกคณะทำงานผู้หญิงชายแดนใต้

1)กลุ่มเซากูน่า 2)กลุ่มด้วยใจ 3)กลุ่มเครือข่ายสตรีเสื้อเขียวชายแดนใต้ 4)กลุ่มออมทรัพย์สัจจะสตรี 5) เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ( Civic Women) 6)เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ 7)เครือข่ายสตรีชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ 8) เครือข่ายทรัพยากรชายแดนใต้ 9) เครือข่ายชุมชนศรัทธา 10) เครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดปัตตานี 11) เครือข่ายอาสาสมัครยุติธรรมทางเลือก 12) เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ 13) เครือข่ายผู้หญิงธรรมาภิบาลชายแดนใต้ 14) ชมรมข้าราชการมุสลีมะห์นราธิวาส 15) ชมรมผู้นำมุสลีมะห์นราธิวาส 16) มูลนิธิเพื่อการศึกษาและเยียวยาเด็กกำพร้า 17) สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (We Peace) 18) สมาคมสวัสดิการมุสลีมะฮ์จังหวัดยะลา 19) สภาประชาสังคมชายแดนใต้ 20) สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ 21) ศูนย์ฟ้าใสเครือข่ายเยาวชนจังหวัดยะลา 22) ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กกำพร้า 23) ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

ซึ่งก่อนการแถลงการณ์ ทางคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ มีการเปิดวงเสวนา หัวข้อ “เสียงของผู้หญิงในพื้นที่ ข้อห่วงใยและความหวังของผู้หญิงเพื่อความปลอดภัย” ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนา อาทิ นางสาวปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ ( WE PEACE )/คณะทำงานวาระ ผู้หญิงชายแดนใต้ นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ/คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ นางกลิ่น โหดนวล และนางสาวซาวียะห์ มูซา ตัวแทนชาวบ้านพื้นที่ ตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา นางสาวโรสนานี เจะเลาะ และนางสาวพวงทิพย์ ศรีทอง ในนามตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์

นางสาวปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอ๊ะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ We Peace เปิดเผยในวงเสวนาเรื่อง การเสวนา หัวข้อ “เสียงของผู้หญิงในพื้นที่ ข้อห่วงใยและความหวังของผู้หญิงเพื่อความปลอดภัย” ก่อนการอ่านแถลงการณ์ ว่า ข้อเสนอ 3 ข้อจากแถลงการณ์ฉบับที่ 2 เรื่อง“ข้อห่วงใยของผู้หญิงต่อวงจรความรุนแรงชายแดนใต้” ของผู้หญิง ที่คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ทั้ง 23 องค์กรได้จัดทำขึ้นเป็นการรวบรวมจากระดมความคิดเห็นผู้หญิง พบว่า ผู้หญิงต้องการพื้นที่ใช้ชีวิตของทุกศาสนาและคนทั่วไป อย่างพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ปลอดภัย เพราะนี้คือการเรียกร้องเพื่อทุกคนในพื้นที่ และมาจากฝ่ายที่ไม่ใช่คู่ต่อสู้ของคู่ขัดแย้งด้วย

“ผู้หญิงไม่ใช่คู่ขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย ผู้หญิงเริ่มลุกขึ้นมาแสดงพลังออกมาเยอะ และออกมาบอกว่าเราอยากทำอะไร อยากพัฒนาอะไร ต้องการทำอะไร ข้อเสนอเรื่องพื้นที่ปลอดภัยของผู้หญิง อยากให้คู่เจรจาสันติภาพนำประเด็นนี้ไปพูดคุย แม้พื้นที่ปลอดภัยของทั้งสองฝ่ายคืออะไรก็ตาม แต่สำหรับผู้หญิงพื้นที่ที่ประชาชนทั่วปใช้สอย อย่างตลาดหรือถนนที่ใช้สัญจร เป็นพื้นที่ที่อยากให้เกิดความปลอดภัยที่สุด” นางสาวปาตีเมาะ กล่าว

 

สถิติและกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงที่สำคัญในช่วง 11 ปี
ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและในพื้นที่สาธารณะ ในพื้นที่ชายแดนใต้


• ระเบิด ในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา จำนวน 3,121 ครั้ง สถิติสูงสุด คือ ปี 2550 ซึ่งมีถึง 471 ครั้ง

• การวางระเบิดที่รุนแรง คือ “คาร์บอมบ์” ที่เกิดขึ้นแล้วทั้งในย่านชุมชนและร้านค้า รวมแล้วกว่า 44 ครั้ง
• วางระเบิดรางรถไฟ ใช้อาวุธปืนยิงขบวนรถไฟ รวมเหตุร้ายทุกรูปที่เกิดกับรถไฟตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบันมากกว่า 100 ครั้ง

• ทำให้ผู้หญิงเสียชีวิต 431 ราย ได้รับบาดเจ็บ 1,651 ราย

• ในระยะเวลาเพียงเจ็ดเดือน (มกราคม ถึง กรกฎาคม) ปี 2557 มีผู้หญิงถูกสังหารไป 32 คน บาดเจ็บกว่า 60 คน ในจำนวนเหยื่อเหล่านี้บางคนเป็นนักศึกษา บางคนกำลังตั้งครรภ์ บางคนกำลังใส่บาตร บางคนกลายเป็นคนพิการ นอกจากการใช้วิธีการกราดยิงใส่ในร้านค้า ซึ่งเป็นที่ชุมชนแล้ว ยังมีการลอบยิงขณะกำลังขับขี่พาหนะบนถนน บางศพถูกทำลาย เช่น ราดน้ำมันเผา ตัดคอ เป็นต้น

ในจำนวน 32 รายนี้
• เกิดขึ้นที่ปัตตานี 14 ราย ยะลา 13 ราย และนราธิวาส 5 ราย
• อายุน้อยที่สุดคือ 2 ขวบ มากสุด 62 ปี
• พบว่าเป็นคนพุทธ 25 คน เป็นมุสลิม 7 คน

• อาชีพมีความหลากหลาย อาทิ เกษตรกร ลูกจ้าง เจ้าของร้านค้าย่อย แม่ค้าขายของในตลาด พนักงานธนาคาร ครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน อาสามัครรักษาหมู่บ้าน นักศึกษา ภรรยาตำรวจ ทั้งนี้ยังมีผู้หญิงพิการถูกยิงจนเสียชีวิตด้วยอีกราย

• วันที่ 24 พฤษภาคม 2557 เพียงวันเดียวที่จังหวัดปัตตานี มีการวางระเบิดมากกว่า 20 จุด บริเวณตลาดและใกล้เคียงตลาด ย่านร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ใกล้สถานศึกษา ระเบิดเสาไฟฟ้า จนเป็นเหตุให้ประชาชนเสียชีวิต ถึง 3 ราย เป็นเด็ก 2 คน และผู้หญิง 1 คน และได้รับบาดเจ็บ 63 ราย

• ในเดือนมีนาคม 2558 ในระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือนมีการวางระเบิด 7ครั้งในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมถึงการลอบยิงราษฎรและเหตุการณ์ความรุนแรงอื่นๆ รวมทั้งสิ้นประมาณ 30 เหตุการณ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 คน โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กและผู้หญิง 9 คน และบาดเจ็บรวมอีกทั้งหมด 20 คน

• วันที่ 12 เมษายน ฆ่ายกครัวและเผาบ้านซ้ำที่อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ประชาชนเสียชีวิต 4 ราย เป็นชาย 2 หญิง 2 ทั้งหมดเป็นแม่ลูกคู่หนึ่งและสามีภรรยาอีกคู่หนึ่ง โดยเป็นการจับมัดมือไพล่หลังแล้วจ่อยิงที่ศีรษะ จากนั้นได้จุดไฟเผาบ้านซ้ำ