นักวิชาการ ม.อ.ปัตตานีร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และเครือข่ายสถานศึกษา 11 แห่ง สำรวจเยาวชนในปัตตานี พบการติดพนันออนไลน์ยังน้อยอยู่ ด้วยคำสอนของศาสนาอิสลามเป็นภูมิคุ้มกันไม่ติดการพนัน พร้อมขยายเครือข่ายทั่วจังหวัด
โครงการสร้างพื้นที่สาธารณะและแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับการขับเคลื่อน กลไก ลดผลกระทบการพนันออนไลน์ในสถานศึกษา จังหวัดปัตตานี : สร้างความเป็นเพื่อน ด้วยการไม่ยุ่งเกี่ยวกับการพนัน ด้วยความร่วมมือการสำรวจเชิงวิจัยของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติครั้งนี้ เนื่องจากการพนันออนไลน์เป็นปัญหาหนึ่งซึ่งได้ทำลายเยาวชน สังคม มาระยะหนึ่ง ตลอดจนการหาทางออกในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง
จากปัญหาการพนันในนักศึกษาและเยาวชน เริ่มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น มีข้อมูลจากวารสารเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและครอบครัวปีที่ 10 ฉบับที่ 68 ว่า เป็นปัญหาหนึ่งน่ากลัวสำหรับสังคมไทยที่ต้องตระหนัก จากการสำรวจเชิงวิจัยเห็นว่า จากจำนวนเด็กประถมศึกษาทั้งประเทศ 5 ล้านคน มี 300,000 คนที่ติดการพนัน และเด็กมัธยมศึกษาและ อาชีวศึกษา อุดมศึกษากว่า 7 ล้านคน จะมีผู้ติดการพนันประมาณ 1 ล้านคนเศษ
โครงการฯ นี้ เป็นการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการพนัน การสร้างพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีขาวให้เยาวชน ได้ขับเคลื่อนร่วมกันในหลายเครือข่าย หลายภาคส่วนทั้งส่วนราชการ ผู้ปกครอง สถาบันการศึกษา เพื่อป้องกัน ภัยจากการพนันออนไลน์ ป้องกันเยาวชนไม่ยุ่งเกี่ยวกับการพนัน มีเป้าหมายกับกลุ่มเครือข่ายเยาวชนจากสถานศึกษา 11 สถานศึกษา ได้แก่สภาเด็กและเยาวชน เครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เครือข่ายโรงเรียนมัธยมศึกษา จังหวัดปัตตานี ศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี วิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี วิทยาลัยการอาชีพปัตตานี วิทยาลัยเทคนิคปัตตานี นำทางเครือข่ายเยาวชนและผู้ปกครองจังหวัดปัตตานี
ผศ.ดร.นิเวศน์ อรุณเบิกฟ้า หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า จากการสำรวจเยาวชนชายจำนวน 368 คน เยาวชนหญิงจำนวน 268 คน อายุระหว่าง 13-24 ปี ทั้งในระดับม.ต้น ม.ปลาย ปวช.อุดมศึกษา ส่วนใหญ่รู้จักการพนันออนไลน์ หากร้อยละ 79.9 ไม่เคยเล่นการพนันออนไลน์ มีเพียงร้อยละ 18.9 ที่เคยเล่น
“ส่วนใหญ่รู้จักและเล่นครั้งแรกจากเพื่อน จากเว็บไซต์ และจากคนในครอบครัวตามลำดับ ร้อยละ 36.5 เล่นพนันออนไลน์ฟุตบอล ร้อยละ 53.5 เล่นเพื่อคลายเครียด ร้อยละ 70 ใช้เวลาว่างในการเล่น ร้อยละ 55.0 เล่นในบ้านตนเอง ร้อยละ 64.2 นำเงินมาเล่นการพนัน ร้อยละ57.5 ใช้เงินเล่นพนันเสียมากกว่า 5,000 บาท เมื่อมีปัญหาการเงินจากการเล่นพนัน แก้ปัญหาโดยยืมเพื่อนร้อยละ 54.2 เกิดปัญหาสุขภาพ ความเครียดและกังวล การเงินตามมา ผลกระทบมากที่สุดคือด้านการเรียนถึงร้อยละ 68.3 เพื่อนไม่คบหาร้อยละ 46.7”
เยาวชนในโครงการได้รังสรรค์กิจกรรมเช่น การบรรยาย อบรมให้ความรู้ การใช้หลักคำสอนของศาสนาในการสร้างความตระหนักถึงโทษภัยและข้อห้ามของการพนันออนไลน์ การให้ความรู้การเท่าทันสื่ออนไลน์ การตัดต่อคลิปวีดีโอเบื้องต้น การจำทำสื่อสร้างสรรค์เพื่อต่อต้านการพนันนออนไลน์ เช่น คลิปต่อต้านรณรงค์ หนังสั้น การจัดรายการวิทยุ ซุ้มให้ความรู้ การสำรวจความคิดเห็นและสถานการณ์การพนันออนไลน์ การประกวดคลิปสั้นเพื่อการรณรงค์ต่อต้านการพนันออนไลน์ ฯลฯ
มีข้อค้นพบและเสนอแนะจากการดำเนินโครงการคือ 1.เยาวชนมุสลิมมีหลักคำสอนของศาสนาที่มีส่วนสำคัญในการเน้นย้ำและเป็นภูมิคุ้มกันในการป้องกันมิให้ข้องเกี่ยวกับการพนัน หากปัจจุบันเยาวชนเข้าถึงสื่อออนไลน์รวดเร็ว การเน้นย้ำและให้ความรู้เพื่อเท่าทัน เปิดพื้นที่การเรียนรู้และกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการป้องกันปัญหา 2.สถานศึกษาและครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการสร้างพื้นที่สาธารณะให้เยาวชนแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ รับฟังความคิดเห็น หนุนเสริมศักยภาพ เพื่อป้องกันอย่างยั่งยืน
3.สร้างเครือข่ายเยาวชนในสถานศึกษาภายใต้แนวคิด “สร้างความเป็นเพื่อนด้วยการไม่ยุ่งเกี่ยวกับการพนัน” 4.ความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับหน่วยงานรัฐเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลกระทบ 5.ควรขยายเครือข่ายความร่วมมือสถานศึกษาให้ครอบคลุม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้บทเรียนการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นต้นแบบในการขยายเครือข่าย