โดย อารีด้า สาเม๊าะ
คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ จากการรวมตัวของ 23 องค์กร รณรงค์ วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล “ขอพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง”
ขยับอย่างต่อเนื่อง สำหรับ “คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้” หลังจากมีการรวมตัวของ 23 องค์กรประกาศตั้งคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ เมื่อ 28 เมษายน 2558 ที่โรงแรมปาร์ควิว จ.ปัตตานี พร้อมแถลงการณ์ฉบับแรก เรื่อง “ข้อห่วงใยของผู้หญิงต่อวงจรความรุนแรงชายแดนใต้” เรียกร้องทุกฝ่ายยุติความรุนแรง รัฐรับผิดชอบในการค้นหาและนำเสนอความจริงต่อสาธารณะ ขจัดวัฒนธรรมคนผิดลอยนวลและเยียวยาอย่างเท่าเทียม พร้อมเรียกร้องประชาชนทุกศาสนิกให้อดทนต่อแรงยั่วยุและใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหา
ล่าสุดคณะทำงานวาระผู้หญิงฯ กำลังจะมีกิจกรรมการรณรงค์และการสื่อสารสาธารณะเนื่องจากวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากลในวันที่ 25 พฤศจิกายน โดยจัดกิจกรรมเวทีรณรงค์สาธารณะ “ผู้หญิงต้องปลอดภัยไร้ความรุนแรง” ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในโครงการ “เปิดพื้นที่ปลอดภัยด้วยมือสตรีสู่สันติภาพ” เพื่อเรียกร้องไม่ให้คู่ขัดแย้งใช้ความรุนแรงต่อ เด็ก ผู้หญิง และประชาชนในพื้นที่สาธารณะ และมีแถลงการณ์ เรื่อง “ข้อเสนอว่าด้วยพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง” โดยกิจกรรมจะจัดขึ้น ณ ห้องประชุมเล็กมหาลัยราชภัฎยะลา จังหวัดยะลา
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7-9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่โรงแรมซีเอสปัตตานี คณะทำงานวาระผู้หญิงได้จัดเวทีเสวนาประชาหารือสตรีจากองค์กรประชาสังคมต่างๆ เพื่อค้นหาว่าพื้นที่สาธารณะใดที่ผู้หญิงต้องการความปลอดภัยมาที่สุด ภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบ ความสำคัญของพื้นที่สาธารณะนั้นๆ ในมิติผู้หญิง และข้อเสนอเพื่อให้พื้นที่สาธารณะปลอดภัย เพื่อรวบรวมความเห็นเหล่านั้นมานำเสนอ ในโอกาสวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล ในวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่กำลังจะมาถึง
นางซีตีมาเรียม บินเยาะ กลุ่มเซากูน่า เปิดเผยว่า กิจกรรมจะเริ่มด้วยการเดินขบวนรณรงค์สาธารณะ จากสนามช้างเผือกถึงราชภัฎยะลา ซึ่งเป็นเครือข่ายที่เข้าร่วมเป็นฝ่ายประสานงานมาให้ ตั้งไว้ที่ประมาณ 500 คน โดยนัดกันว่าผู้เดินขบวนจะใส่เสื้อสีขาว หรือผ้าคลุมขาวเหมือนกัน เพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์ จิตใจดี สะอาดบริสุทธิ์ของผู้หญิงและเด็ก จะมีการปล่อยลูกโป่งสีขาวกว่า 500 ลูกขึ้นท้องฟ้าเป็นสีสันด้วย และกิจกรรมเสวนาของผู้หญิง โดยเริ่มเปิดเวทีด้วยการชมวีดีทัศน์ (เสียงเหยื่อเหตุระเบิด) ชมการแสดง อานาซีด ชุด “พื้นที่ชีวิต” โดย มูลนิธิเพื่อการศึกษาและเยียวยา เด็กกำพร้า (FECO) และการเสวนา หัวข้อ “เสียงของผู้หญิงในพื้นที่ ข้อห่วงใยและความหวังของผู้หญิงต่อความปลอดภัย” ก้าวต่อไปของการขับเคลื่อนสันติภาพโดยผู้หญิงในพื้นที่และข้อเสนอในการสร้างการมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพในพื้นที่ ดำเนินการเสวนาโดย คุณฐปนีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวภาคสนามรายการข่าว 3 มิติ ทางไทยทีวีสีช่อง 3
“การเดินขบวนสาธารณะในครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังของผู้หญิง ที่มาจากหลากหลายองค์กร มีความคิด ความเชื่อ การทำงานที่อาจจะแตกต่างกัน แต่ก็มีความเห็นร่วมกันว่า ความปลอดภัยคือสิ่งที่ทุกคนต้องการและอยากเรียกร้องให้เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เราต้องการพื้นที่ปลอดภัยให้กับพี่น้องเราที่นับถือทุกศาสนาอยู่ร่วมกันแบบ ไม่หวาดระแวงกัน และช่วยกันดูแลกันตอ่ไป และในมุมของประชาชนและผู้หญิง อยากจะมีข้อเสนอและข้อเรียกร้องที่ฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงอาจจะนึกไม่ถึง ที่จะสามารถเติมเต็มให้การขับเคลื่อนเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อสันติภาพ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการรับฟังจากพื้นที่อย่างจริงจัง” นางซีตีมาเรียม กล่าว
นางซีตีมาเรียม กล่าวอีกว่า อีกส่วนที่สะท้อนความเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่ถูกสะท้อนในการเดินขบวนครั้งนี้ คือ ดอกชบาสันติภาพ ที่สะท้อนความเป็นตัวตนชาติพันธุ์ของคนในพื้นที่ เพื่อให้เห็นความหลากหลายที่มีความโดดเด่นเฉพาะที่ยอมรับกันได้ และสามารถอยู่ร่วมแบบแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง เฉกเช่นเราในพื้นที่ที่มีหลากหลายความศรัทธาอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
ด้าน นางสาวปาตีเมะห์ เปาะอิแตดาโอ๊ะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ หรือ We Peace และคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ เปิดเผยว่า กิจกรรมครั้งนี้เกิดจากการการระดมความคิดเห็นของคนทำงานประเด็นผู้หญิงว่าสิ่งที่คณะทำงานกังวลมากที่สุดในการทำงานในพื้นที่คืออะไร คะแนนนำเสนอมากที่สุดกลายเป็นเรื่องความปลอดภัยของคนทำงานและผู้หญิง เลยมาคิดร่วมกันว่าจะแก้ปัญหานั้นอย่างไร จึงเกิดโครงการสร้างพื้นที่ปลอดภัยด้วยมือผู้หญิงในการสร้างสันติภาพ
พื้นที่ปลอดภัยที่คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ กำลังเรียกร้องไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องหรือนโยบายของรัฐก่อนหน้านี้ ซึ่งตัวแทนคณะทำงานวาระผู้หญิง เปิดเผยว่า
“ทุกพื้นที่ปราศจากการใช้ความรุนแรง ไม่มีความหวาดระแวง สามารถไปมาหาสู่ได้ ซึ่งพื้นที่ปลอดภัยที่รัฐประกาศก่อนหน้านั้น คือรัฐหมายถึง 7 พื้นที่ ที่มีการระบุอำเภอ จังหวัดชัดเจน และเน้นการทุ่มกำลังทางการทหารคุมพื้นที่ดังกล่าว ส่วนของปาร์ตี้ B ก็อาจจะหมายถึงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งซึ่งยังไม่ได้รับข้อมูลยืนยันอย่างชัดเจน แต่ส่วนของกลุ่มผู้หญิงหมายถึงการเรียกร้องพื้นที่สาธารณะ เช่น ถนน ตลาด โรงเรียน เป็นต้น ผู้หญิงคิดถึงการสัญจรไปมา วิธีชีวิต ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะทั่วไป และผู้หญิงได้เรียกร้องพื้นที่ปลอดภัยโดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะมานานแล้ว และมีกิจกรรมรณรงค์มาหลายปีก่อนจะมีการพูดคุยรอบล่าสุดเสียอีก อีกทั้งได้รับการสนับสนุนงบประมาณการขับเคลื่อนจากแหล่งทุนระหว่างประเทศ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อเสนอที่กำลังเป็นประเด็นในการพูดคุยสันติภาพในตอนนี้แต่อย่างใด” นางสาวปาตีเมาะ กล่าว
ขณะที่ นางสาวลม้าย มานะการ เครือข่ายพุทธเพื่อสันติภาพ เปิดเผยว่า พื้นที่สาธารณะคือพื้นที่กลาง ทุกคนมีสิทธิในการใช้ประโยชน์ เรียกชัดอยูแล้วว่า เป็นสาธาณูปโภค ควรได้รับการรับรองความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธหรือมุสลิมหรือผู้นับถือศาสนาใดๆก็ตาม มีสิทธิที่จะใช้พื้นที่สาธารระเท่าเทียมกัน ในกิจกรรมของแต่ละคน ถ้าพวกเขาไม่ได้ไม่ไปทำอะไรที่ผิดศิลธรรมและกฎหมาย พอๆกับที่ต้องมัคสามปลอดภัยในบ้าน
พื้นที่สาธารณะที่ว่า เช่น วัด โรงเรียน ถนนหนทาง ตลาด และแหล่งทำมาหากิน ที่เป็นที่มาของปัจจัยการดำรงชีวิตของมนุษย์
“ปัจจุบันความรุนแรงส่งผลต่อวิถีทั้งชีวิต ชาวบ้านสูญเสียหรือไม่สามารถไปทำอาชีพได้อย่างปลอดภัยและสบายใจเพราะความกลัวว่าจะเกิดความอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน บางพื้นที่เกิดปัญหาชาวบ้านทิ้งบ้าน ทิ้งที่ทำกินออกไปทำงานนอกพื้นที่ ต้องปล่อยให้พื้นนาร้าง สวนรก ผลไม้เน่า ยางพาราไม่ได่ไปกรีด บางคน ถูกขโมยตัดยาง และตัดโค่นไม้ยาง เพราะความกลัว และบางพื้นที่ไทยพุทธถูกบีบให้ทิ้งบ้าน ทิ้งสวน ทิ้งที่ดินของตระกูลตัวเองหรือไม่ก็ขายในราคาถูก เพื่อย้ายมาในเมือง หรือย้ายออกจากพื้นที่ไปเลย เพราะกลัวที่จะใช้ชีวิตในพื้นที่” นางสาวลม้าย กล่าว
ตัวแทนเครือข่ายพุทธเพื่อสันติภาพ ยังเปิดเผยข้อมูลปัญหาการย้ายถิ่นของคนพุทธในพื้นที่ในช่วงเวลา 11 ปีที่ผ่านมา ทำให้เหลือคนพุทธเหลือราว 60,000 จาก 300,000 คน แต่ปัญหาการย้ายถิ่นไม่ได้เกิดเฉพาะกับชาวพุทธอย่างเดียว รายงานจากฝ่ายความมั่นคงยังะบุว่ามีชาวมุสลิมย้ายออกจากพื้นที่เช่นกัน
ส่วนนางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ เปิดเผยว่า การใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์โดยตรง ซึ่งไม่เป็นไปตามกฏของภาวะสงคราม กฏการต่อสู้ และหลักการต่อสู้ในอิสลาม มองว่าเป็นเพียงการแสดงถึงศักยภาพเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการต่อรองและการควบคุมมวลชนด้วยความหวาดกลัวแต่ผลกลับคือการทำลายศรัทธาจากประชาชนเอง
“สำหรับการเรียกร้องของผู้หญิงเพื่ออย่างน้อยก็ให้ทุกฝ่ายได้ยินเสียงของผู้หญิง และ หวังว่า ข้อความนี้ทุกฝ่ายจะรับฟังและนำไปพิจารณาถึงการทำงานในอนาคตในการปกป้องและคุ้มครองเด็กและผู้หญิง” อัญชนากล่าว
รายชื่อองค์กรสมาชิกในคณะทำงานวาระผู้หญิง
• กลุ่มด้วยใจ
• กลุ่มเซากูน่า
• กลุ่มสตรีเสื้อเขียวชายแดนใต้
• กลุ่มออมทรัพย์สัจจะสตรีปิยามุมัง
• เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้
• เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้
• เครือข่ายสตรีชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ
• เครือข่ายทรัพยากรชายแดนใต้
• เครือข่ายชุมชนศรัทธา
• เครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดปัตตานี
• เครือข่ายอาสาสมัครยุติธรรมทางเลือก
• เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ
• เครือข่ายผู้หญิงธรรมาภิบาลชายแดนใต้
• ชมรมข้าราชการมุสลีมะห์นราธิวาส
• ชมรมผู้นำมุสลีมะห์นราธิวาส
• มูลนิธิเพื่อการศึกษาและการเยียวยาเด็กกำพร้า
• สมาคมผู้หญิงเพื่อสันิตภพ We Peace
• สมาคมสวัสดิการมุสลีมะฮ์จังหวัดยะลา
• สภาปะชาสังคมชายแดนใต้
• สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้
• ศูนย์ฟ้าใสเครือข่ายเยาวชนจังหวัดยะลา
• ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
• ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กกำพร้า