นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(ม.อ.ปัตตานี) บูรณาการองค์ความรู้ศาสตร์และศิลป์ผลิตหุ่นช่วยชีวิต หรือ CPR ผู้หญิงและตรวจมะเร็งเต้านมตัวแรกของโลกในชื่อ “ฟาตีลาและอารียา” นวัตกรรมจากยางพาราเพื่อเป็นอุปกรณ์ฝึกปฏิบัติต้นแบบช่วยชีวิตและเรียนรู้การช่วยชีวิตผู้หญิง
ดร.รอฮานิ เจะอาแซ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า เนื้อยางพารามีความเหนียวและยืดหยุ่นใกล้เคียงกับผิวหนังและกล้ามเนื้อมนุษย์จึงเป็นวัตถุดิบที่สำคัญที่นำมาใช้ในการพัฒนาหุ่นจำลองมนุษย์ช่วยชีวิตเพื่อใช้ในการฝึกปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ ปัจจุบันสถาบันการศึกษาทางวิทยาศาสตร์สุขภาพได้นำเข้าหุ่นจำลองต่างๆ เพื่อใช้จัดการเรียนการสอนทางวิทยาศาสตร์สุขภาพจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูง
“การพัฒนาหุ่นจำลองมนุษย์ช่วยชีวิตโดยใช้ยางพาราจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถทดแทนอุปกรณ์ฝึกสอนทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ประกอบกับมะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของผู้หญิงไทย แต่สามารถลดการสูญเสียได้หากตรวจพบในระยะเริ่มต้น แต่การตรวจด้วยตนเองต้องใช้ทักษะความรู้ในระดับหนึ่ง และต้องใช้โมเดลจำลองฝึกตรวจนำเข้าจากต่างประเทศในราคาแพง นักวิชาการม.อ.ปัตตานี นำโดยคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะศิลปกรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ ผศ.ดร.บุญธรรม นิธิอุทัย ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาฝึกปฏิบัติต้นแบบเพื่อช่วยชีวิตโดยใช้ยางพารา ร่วมบูรณาการองค์ความรู้ศาสตร์และศิลป์ คิดค้นหุ่น CPR หรือหุ่นช่วยชีวิตผู้หญิงและตรวจมะเร็งเต้านมสองตัวแรกของโลกโดยมีชื่อเรียกว่า “ฟาตีลา และอารียา” ซึ่งใช้วัตถุดิบจากยางพารา เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และเสริมองค์ความรู้สำหรับการช่วยชีวิตสตรีทั่วไปและสตรีที่นับถือศาสนาอิสลาม”
ผศ.ดร.บุญธรรม นิธิอุทัย ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาฝึกปฏิบัติต้นแบบเพื่อช่วยชีวิตโดยใช้ยางพารา ม.อ.ปัตตานี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการออกแบบผลิต หุ่น CPR หรือหุ่นช่วยชีวิตผู้หญิงและตรวจมะเร็งเต้านมจากยางพาราแล้วยังมีการผลิตเนื้อเต้านมเทียมโดยมีส่วนผสมของเจลที่มีคุณภาพสูง ทำให้ได้เต้านมเทียมที่มีความคล้ายคลึงธรรมชาติมากที่สุด
“โดยมีความร่วมมือกับนักวิชาการคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาเขตปัตตานี ในการศึกษาและออกแบบสรีระร่างกายผู้หญิง นักวิชาการคณะศิลปกรรมศาสตร์ เพื่อออกแบบปั้นหุ่นต้นแบบ และนักวิชาการด้านเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อคัดเลือกวัสดุในการพัฒนาส่วนผสมเพื่อก่อให้เกิดหุ่น CPR หรือหุ่นช่วยชีวิตผู้หญิงและตรวจมะเร็งเต้านมเสมือนจริงมากที่สุด โดยในระยะเริ่มต้นได้คิดค้นผลิตหุ่นดังกล่าว 2 ตัวแรกของโลกคือ หุ่นชื่อ “ฟาตีลา” มอบให้แก่คณะพยาบาลศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี เพื่อให้นักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาเขตปัตตานี ใช้เป็นอุปกรณ์ฝึกปฏิบัติต้นแบบช่วยชีวิตและเรียนรู้การช่วยชีวิตผู้หญิงทั่วไปและผู้หญิงที่นับถือศาสนาอิสลามให้ถูกต้องตามหลักศาสนา และชื่อ “อารียา” มอบให้แก่โรงพยาบาลปัตตานี เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ใช้ปฏิบัติจริงกับผู้ป่วย”
ขณะนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กำลังดำเนินการสร้างหุ่นต้นแบบ CPR ช่วยชีวิตเด็กในแต่ละช่วงวัยจากยางพารา เพื่อประโยชน์ทางด้านการแพทย์และการพยาบาลของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และภูมิภาคต่างๆ ของประเทศโดยใช้หลักการบูรณาการในหลักสูตรยางและพอลิเมอร์ ประติมากรรม และจิตสาธารณะในภาวะวิกฤติ.