ความเข้มแข็งในครอบครัว คือ รากฐานสำคัญทางสังคม ยิ่งพื้นที่ที่มีความขัดแย้งอย่างชายแดนใต้ ซึ่งได้กัดเซาะความสัมพันธ์ของผู้คนในทุกระดับ ยิ่งต้องให้ความสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งภายในครอบครัวมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะครอบครัวที่สูญเสียจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมีความพยายามฟื้นฟู ช่วยเหลือ และแก้ปัญหาประเด็นดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจากหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคประชาสังคม แต่ก็ยังเป็นประเด็นที่ไม่ค่อยถูกขับเคลื่อนอย่างเป็นจริงเป็นจังมากนัก
อย่างไรก็ตามก็ยังมีกลุ่มคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง และคอยจุดความหวังให้ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบหลายครอบครัวมาแล้วหลายครอบครัว ภายใต้ชื่อโครงการ “ครอบครัวสื่อศานต์สุข” เป็นโครงการดีที่สาธารณะชนอาจต้องหันมาทำความรู้จักให้มากขึ้น เพราะเป็นโครงการที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มนักกิจกรรมรุ่นใหม่ จิตอาสา ที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม ”กาวันกีตอ” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นมาด้วยความตระหนักถึงสันติภาพในระดับครอบครัวของกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ ที่ต้องเผชิญความท้าทายในชีวิตรอบด้านอย่างโดดเดียว ทั้งยังต้องแบกรับภาระ ดูแลสมาชิกในครอบครัว และเผชิญต่อความไม่เป็นธรรมทีมีระบบความรุนแรงคอยกดทบซ้ำเติมอย่างไม่สิ้นสุด
ทั้งนี้กลุ่มกาวันกีตอ คาดหวังที่จะทำงานร่วมกับหลายฝ่าย เช่น สำนักงานพัฒนาชุมชน สาธารณสุขอำเภอ กลุ่มเยียวยาอำเภอ เป็นต้น อันเป็นหน่วยงานที่เห็นต้นตอของปัญหาและสนับสนุนงานพัฒนา ซึ่งที่ผ่านมาแนวทางทำงานร่วมกันของกลุ่มกาวันกีตอกับหน่วยงานภาครัฐ คือ การเอื้ออำนวยให้เยาวชนได้รับการฟื้นฟูพลังใจ เข้าใจความขัดแย้งรอบตัว และส่งเสริมทักษะในการดูแลตนเองให้สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้ ซึ่งได้ดำเนินโครงการเพียงไม่กี่ครอบครัวในอำเภอมายอ
นท ศิริกาญจน์ หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ที่ผ่านมาก็มีการขับเคลื่อนงานช่วยเหลือครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ เช่น งานเยียวยาระดับจังหวัด ระดับอำเภอแต่แนวทางที่ขับเคลื่อนอยู่ เป็นกิจกรรม เป็นโครงการที่ทางกลุ่มคิดว่า ไม่ได้เน้นเรื่องสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ ไม่ได้ให้ความรู้สึกเป็นเพื่อน อาจเป็นเพราะตัวครอบครัวกลุ่มเป้าหมายด้วย ไม่ได้ตระหนักพอสมควร
“ภายใต้โครงการ ครอบครัวสื่อศานต์สุข เราเน้นกระบวนการที่ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเพื่อนเป็นสิ่งสำคัญ เน้นสร้างการยอมรับ สมัครใจ จากครอบครัวที่ร่วมกิจกรรม แนวทางการทำงานของกลุ่ม กาวันกีตอ เหมือนเป็นการมาช่วยหนุนเสริมการทำงานของภาครัฐ เพราะภาครัฐเองอาจมีงานล้นมือ และมีความเป็นทางการจนครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบไม่คุ้นเคย” นท ศิริกาญจน์ กล่าว
ทั้งนี้กลุ่มกาวันกีตอ เริ่มต้นมาตั้งแต่ ปี 2550 จากการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างนักกิจกรรมนักศึกษา มอ.ปัตตานี และอาจารย์ มอ.ปัตตานี ซึ่งก่อนหน้านี้จะมีการทำกิจกรรมในเรื่องการให้ความรู้ทางกฎหมายในพื้นที่ ต่อมาก็ขยับมาทำงานในเชิงลักษณะการเยียวยา และสร้างความเข้มแข็งต่อครอบครัวของเด็กที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา ก่อนที่จะยกระดับมาสู่การสร้างความเข้มแข็งต่อครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงชายแดนใต้
ขณะนี้โครงการ ครอบครัวสื่อศานต์สุข โดยกลุ่มกาวันกีตอ ยังก้าวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 18 พฤจิกายน 2558 ณ ที่ว่าการอำเภอมายอ มีการประชุม ทำความเข้าใจและขอการสนับสนุนการทำงานร่วมกันจากกลไกภาครัฐทั้งระดับอำเภอ ระดับตำบล และระดับหมู่บ้าน ในเขตพื้นที่อำเภอมายอ ในการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ซึ่งในเวทีครั้งนั้น พบว่า ได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่ง ดูได้จาก บรรยากาศในวงประชุมครั้งนั้นซึ่งมี ผู้เข้าร่วมประชุม ที่มาจาก บัณฑิตแรงงาน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปลัดอำเภอ และระหว่างการแนะนำกลุ่มองค์กร มีการสอบถามจากผู้เข้าร่วมที่ได้เชิญ อีกทั้งปลัดอำเภอมายอชี้ว่า โครงการนี้ เป็นโครงการที่ดีมาก เพราะเคยมีโอกาสร่วมขับเคลื่อนนานมาแล้ว ก่อนจะมารู้จักอีกครั้งคือ การประชุมครั้งนี้ ซึ่งปลัดก็ชวนให้ผู้เข้าร่วมที่เป็นกลไกในชุมชนสนับสนุนในการร่วมขับเคลื่อน เพราะค่อนข้างจะมีความแตกต่างกว่าโครงการที่ถูกขับเคลื่อนด้วยภาคราชการ
อนึ่ง ในอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นอำเภอเล็กๆ ที่มีข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับสถานการณ์รวมกัน โดยจากรายงานเยียวยาสำนักอำเภอมายอ เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 57 ที่ผ่านมาระบุข้อมูลที่น่าสนใจว่า ครอบครัวที่สูญเสียผู้นำครอบครัว มีอยู่จำนวน 84 ครอบครัว และร้อยละ 58 ของครอบครัวผู้สูญเสียทั้งหมด ปรากฏว่าสมาชิกครอบครัวต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน ด้วยสาเหตุหลัก คือ ต้องมารับหน้าที่ในการช่วยเหลือเลี้ยงดูครอบครัว โดยเฉพาะสมาชิกที่เป็นเพศชาย ต้องแบกรับภาระเผชิญปัญหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นท ศิริกาญจน์ อธิบายต่อว่า ความสำคัญของโครงการ ครอบครัวสื่อศานต์สุขได้สร้างความสำเร็จต่อครอบครัวที่เคยร่วมโครงการ ซึ่งภายหลังจากการขับเคลื่อนที่ผ่านมาก็ได้รับการสนับสนุนให้มีการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การทำความเข้าใจในการประชุมครั้งนี้เพื่อขอความร่วมมือจากกลไกต่างๆในชุมชนมาร่วมขับเคลื่อน ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญที่จะทำให้การขับเคลื่อนโครงการดำเนินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนที่จะนำไปนำเสนอต่อกลไกระดับสูง เพื่อขับเคลื่อนในระดับนโยบายต่อไป
ขณะเดียวกันแม้นจะได้รับความสนใจมากเพียงใด แต่ก็มีข้อเสนอแนะที่กลุ่มกาวันกีตอ ต้องกลับมาทบทวนแนวทางการทำงานเพิ่มโดยเสียงสะท้อน จากที่ประชุม ระบุว่า เคยมีการขับเคลื่อนงานครอบครัวเข้มแข็งแต่มีเป้าหมายเพื่อต่อต้านยาเสพติดโดยมีการบูรณการกลไกต่างๆในชุมชน แต่โครงการที่มีการขับเคลื่อนสร้างความเข้มแข็งครอบครัวในเรื่องครอบครัวอบอุ่น ครอบครัวผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ ยังปรากฏให้เห็นในระดับชุมชนน้อยมาก จนมีข้อเสนอว่าหากจะขับเคลื่อนโครงการนี้ในอำเภอกลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจคือ ครอบครัวลำบาก ยากจน และด้อยโอกาสทางการศึกษา ซึ่งได้รับความสนใจและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุมที่จะต้องไปปรับ ทบทวนการขับเคลื่อนโครงการ
อีกเสียงจากกำนันตำบลกาวะ เสนอว่า อยากให้ทางกลุ่มไปเยี่ยมครอบครัวหนึ่งในพื้นที่ เพราะ หัวหน้าครอบครัวสูญเสียจากสถานการณ์ ตอนนี้ก็เป็นห่วงลูกสาวของครอบครัว ซึ่งครอบครัวนี้น่าสนใจที่จะเข้าไปทำงานด้วย หรือข้อเสนอที่ว่า ยังมีครอบครัวได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในชุมชนปะโดหลายครอบครัว ได้รับผลกระทบ แต่ไม่มั่นใจว่า เขาจะเข้าร่วมครอบครัวหรือไม่ แต่ก็พร้อมอาสาที่จะเข้าไปทำความเข้าใจ แนะนำครัวเหล่านั้น ครอบครัวอีกหลายครอบครัวก็น่าสงสาร ลำบากขาดคนดูแล แต่เป็นครอบครัวที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โดยตรง ซึ่งอยากให้คณะทำงาน ช่วยทบทวนเรื่องเกณฑ์ที่สามารถเข้าร่วม
ส่วนมุมมองอื่นๆสะท้อนว่า ตามโดยเป้าหมายโครงการแล้วจะต้องทำงานกับกลุ่มเป้าหมาย ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ ซึ่งในความเป็นจริงยังมีน้อยที่อยากจะเข้าร่วม เพราะความไม่ไว้วางใจต่อองค์กรที่เข้ามา แต่ถ้าเพิ่มกลุ่มอื่นๆ เพิ่มที่ปัญหาครอบครัวด้วย ก็จะมีจำนวนผู้สนใจมาก ทั้งนี้ ทั้งนั้นก่อนจะลงพื้นที่ควรจะประสานปลัดก่อนทุกครั้ง และลงไปพร้อมตัวแทนผู้ประสานงานระดับชุมชน และควรมีการทำกิจกรรม ทำงานในช่วงกลางวัน ส่วนกิจกรรมที่มีช่วงกลางคืนนั้น ชาวบ้านจะไม่สะดวก
ขณะที่ อาดีละห์ แวสะมะแอ บัณฑิตแรงงาน สังกัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมว่า โครงการนี้มีความน่าสนใจ ถึงแม้นจะไม่เข้าใจในตัวโครงการทั้งหมด แต่ก็เข้าใจว่า เป็นโครงการที่มุ่งหวังสร้างความเข้มแข็งเรื่องความสัมพันธ์คนในครอบครัว โดยเฉพาะกับครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหน่วยงานภาครัฐ หลายหน่วยงานมีความพยายามทำงานลักษณะนี้อยู่แต่กระบวนการและเนื้อหาอาจจะแตกต่างกัน
“โครงการลักษณะนี้ทางโรงพยาบาล หรือฝ่ายงานเยียวยาตำบล ก็ทำกันอยู่ แต่กระบวนการ และเนื้อหา อาจจะไปมุ่งที่เรื่องปัญหายาเสพติด เรื่องสุขภาพจิต โดยใช้กิจกรรมการอบรม ให้ความรู้ การตรวจสุขภาพจิต การชวนเข้าร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ เป็นการช่วยเหลือติดตามเบื้องต้น ซึ่งมีครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เข้าร่วมอยู่บ้าง แต่ไม่ทั้งหมด เพราะต้องมาสนใจเรื่องปากท้อง เรื่องการศึกษาของลูกๆ ซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่เขาต้องเผชิญอยู่ทุกวัน ที่สำคัญอาจเป็นเพราะมองว่า งานเยียวยาไม่มีความสำคัญมากมาย ไม่ได้ตอบโจทย์ครอบครัวตัวเอง”
กล่าวโดยสรุปแล้ว โครงการ ครอบครัวสื่อศานต์สุข เป็นอีกโครงการดี ณ ชายแดนใต้ที่กระตุกต่อมความสนใจจากหน่วยงานราชการ และกลไกชุมชน ที่หวังจะได้รับการสนับสนุนเพื่อเป็นความหวังเล็กๆ ที่อาจจะนำไปสู่ความหวังใหญ่ นั่นคือสันติภาพที่ทุกฝ่ายร่วมมือกัน