หน้าแรก ข่าวในประเทศ ข่าวชายแดนใต้

มทภ.4 ย้ำสื่อ ช่วยสร้างสมดุลและสันติสุข

พลโทวิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 พบสื่อมวลชนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รับฟังข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน

พลโทวิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4
พลโทวิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4

เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2558 ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พลโทวิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 เชิญสื่อมวลชนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 93 คน เข้าพบปะพูดคุยและรับฟังข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีผู้แทนจากศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ศูนย์สันติสุข มาให้ข้อมูลความคืบหน้าในการดำเนินงานที่ผ่านมาแผนการเสริมสร้างสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ยุทธศาสตร์การพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ แนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กับการพัฒนาที่สอดคล้องกับความมั่นคง และการใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์ในการสอบสวนคดีและรายงานความคืบหน้าของคดีสำคัญแก่สื่อมวลชน รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน

สำหรับ ศูนย์สันติวิธี มียุทธศาสตร์การพุดคุยเพื่อสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย พ.อ.สายน้ำ พินิจสถาน รองหัวหน้าแผนกพูดคุย ศูนย์สันติสุข กล่าวว่า การพูดคุยเป็นโอกาสในการแสวงหาทางออกของความรุนแรงและเป็นแนวทางส่วนหนึ่งของสันติวิธี

มุมมองของการพูดคุย คือการใช้กำลังเท่าที่จำเป็น แก้ปัญหาเพื่อความสงบสุข วัตถุประสงค์ของการพูดคุย เพื่อเปิดพื้นที่ เวทีพูดคุยกับทุกกลุ่มเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเพื่อสันติสุขอย่างยั่งยืน และเปลี่ยนแปลงทางการต่อสู้ไปสู่สันติวิธี

ได้มีการแต่งตั้งคณะประสานการพูดคุยคณะประสานงานระดับพื้นที่ ในการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 28 คน เพื่อผลักดันให้การดำเนินการพูดคุยเพื่อสันติสุขกับฝ่ายองค์กรมาราปาตานี (MARA Patani) ดำเนินต่อไปได้

โดยสมาชิกคณะประสานงานฯ ประกอบด้วย หัวหน้าคณะฯ คือ ผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคที่ 4 ส่วนหน้า ผู้ว่าราชการจังหวัดใน 4 จังหวัด (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา) ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายยุติธรรม นักวิชาการ สื่อมวลชน และ บุคคลสำคัญจากภาคประชาสังคมในท้องที่

ทั้งนี้ คณะประสานงานระดับพื้นที่ในการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอำนาจหน้าที่ 6 ข้อ ประกอบด้วย

1. สร้างสภาวะแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่ออำนวยต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้

2. ประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่

3.ติดตามประเมินสถานการณ์ที่เป็นผลสะท้อนจากการพูดคุยในทุกด้าน

4. จัดตั้งช่องทางสื่อสารกับผู้แทนกลุ่มผู้เห็นต่าง เมื่อมีข้อตกลงเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการเสริมสร้างความไว้วางใจในพื้นที่เป้าหมาย

5.แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสนับสนุนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เฉพาะกรณีเกี่ยวข้องตามความจำเป็นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

6. ปฏิบัติงานหรือดำเนินการอื่นใดตามที่ประธาน หรือคณะกรรมการอำนวยการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือคณะพูดคุยจังหวัดชายแดนภาคใต้มอบหมาย

“ระยะของการพูดคุยมี 3 ระยะคือ 1.ระยะสร้างความไว้วางใจ 2.การบรรลุข้อตกลงแนวทางการปฏิบัติทั้งสองฝ่าย 3.การบรรลุฉันทามติ หาทางออกโดยสันติ ปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 1 คือการสร้างความไว้วางใจ คณะประสานงานฯ ให้ความสำคัญกับภาคประชาสังคมทั้ง 12 กลุ่ม ซึ่งสื่อมวลชนเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน เปิดพื้นที่พูดคุยสันติสุขแบบสุนทรียสนทนา”

“แนวทางการดำเนินการคือ เปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคม สร้างองค์ความรู้ด้านสันติวิธีแก่เจ้าหน้าที่รัฐ เครือข่ายภาคประชาสังคม และสนับสนุนทุกองค์กรเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เปิดพื้นที่ให้สื่อเข้าถึง สร้างสมดุลย์ในพื้นที่การสื่อสารทุกฝ่ายไปด้วยกัน คาดหวังว่าทุกกลุ่มเห็นด้วยกับแนวทางสันติวิธีด้วยการพูดคุย ทุกภาคส่วนปฏิเสธความรุนแรง”

ตัวแทนจากสำนักนโยบายและแผน กอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวถึงวาระกำหนดเร่งด่วนคือ เสริมความเข้มแข็งของหมู่บ้าน สร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนและให้ตรวจสอบความยุติธรรมได้ สร้างความเข้าใจทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่รวมทั้งต่างประเทศ และเร่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

“ขณะนี้มี 3 ระยะคือ ขั้นที่ 1 ควบคุมสถานการณ์ ตั้งแต่ปี 2547-2553 ขั้นที่ 2 ปฏิบัติการและสันติสุข ตั้งแต่ปี 2544-ปัจจุบัน และขั้นที่ 3 เสริมสร้างสันติสุข ในปัจจุบัน ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ในขั้นที่ 2 สิ่งที่ต้องการคือ สถิติการเกิดเหตุลดลงอย่างชัดเจน เมืองหลักไม่มีเหตุรุนแรง แก้ไขเรื่องยาเสพติดได้เป็นที่พอใจ โครงการพระราชดำริเป็นรูปธรรม หมู่บ้านจัดตั้งลดลง ผู้ก่อเหตุและแนวร่วมร่วมมือกับรัฐมากขึ้น เยาวชนมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้น ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลชุมชน ประชาชนรวมตัวกันต้านความรุนแรง มีชุมชนพหุวัฒนธรรมมากขึ้น และรายได้ครัวเรือนมากขึ้น”

photo 1นอกจากนั้นได้มีการพูดคุยซักถามระหว่างเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนในประเด็นต่างๆ เช่น ประเด็นการเผยแพร่ภาพที่เน้นความเสียหาย ความรุนแรงของสื่อไทยเทียบกับสื่อต่างประเทศที่มักไม่ค่อยมีภาพเช่นนี้ ประเด็นการเสนอข่าวย้อนรอยเหตุการณ์สำคัญเช่น กรือเซะ ตากใบ เป็นต้น

นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้ กล่าวถึงประเด็นเหล่านี้ว่า ด้วยวัฒนธรรมที่ต่างกันทำให้การเผยแพร่ภาพข่าวไม่เหมือนกัน

“ประเทศที่พัฒนาแล้วถือว่าการนำเสนอภาพเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนในไทยตั้งแต่มีหนังสือพิมพ์และข่าวก็เริ่มมีภาพของความรุนแรงแบบต่างๆ พฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นตัวกำหนดในการทำสื่อ สังคมจะเป็นผู้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำสื่อได้ กฏหมายอย่างเดียวไม่สามารถเปลี่ยนได้ เราตระหนักและปรับตัวในสิ่งที่เกิดขึ้น สื่อมวลชนเป็น 2 อย่างคือ กระจก สะท้อนปรากฏการณ์สังคมสู่สาธารณะ ต้องการแก้ปัญหา และตะเกียง นำเสนอความคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆ เมื่อมีปัญหา”

“การเสนอข่าวย้อนรอยเช่น ตากใบ กรือเซะ และวันสำคัญต่างๆ สิ่งที่สื่อหยิบมาคือสิ่งที่รัฐนำเสนอก่อน สื่อก็ต้องนำเสนอรายละเอียดตรงนั้น ทำไปเพราะมีประเด็นในการนำเสนอ 11 ปีที่ผ่านมาเราตระหนักรู้ว่าไม่มีใครรู้ลึกทุกอย่าง เป็น 11 ปีที่ไม่สูญเปล่า”

ติชิลา พุทธสาระพันธ์ ผู้สื่อข่าวประจำชายแดนใต้จากไทยพีบีเอส กล่าวถึงการพูดถึงความจริงในพื้นที่ที่ต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายเพื่อร่วมช่วยแก้ปัญหา

“อย่างครบรอบ 11 ปีตากใบ นอกจากการเสนอภาพในอดีต สื่อต้องมีโจทย์ของตัวเอง มีมุมมอง ทุกคนไม่ได้ย้ำแผลเก่า รัฐไม่ต้องกลัวในการนำเสนอของสื่อ การซุกปัญหาไว้ใต้พรมไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา ปัญหากดทับหนึ่งของพื้นที่นี้คือการปกปิดข้อเท็จจริง ความจริงพูดถึงได้แต่ต้องพูดถึงในทุกแง่มุมซึ่งรัฐต้องทำในเรื่องนี้ทุกด้านด้วย รวมถึงปฏิบัติการข่าวของความมั่นคง การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่กับสื่อที่ต้องไปด้วยกัน ทั้งนี้เชื่อมั่นว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพสามารถไปถึงสันติภาพได้จริง”

แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสพบปะพี่น้องสื่อมวลชนในครั้งนี้ การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และประชาชนทั้งประเทศให้ความสนใจ ที่ผ่านมาทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือ การแก้ปัญหาทำได้ดีแต่ปัญหายังคงมีอยู่ จะต้องร่วมมือกันทำให้ดียิ่งขึ้น

“ที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับสื่อมวลชนทุกแขนง ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น คิดว่ายุคนี้น่าจะเป็นยุคทองของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ที่คนในพื้นที่เติบโตมาถึงระดับผู้บริหาร ซึ่งที่ผ่านมาการให้ข้อมูล การให้สัมภาษณ์ก็ตรงไปตรงมา อีกทั้งรับปากดำเนินการในการหาพื้นที่ที่เหมาะสม ห้วงเวลา เพื่อให้สื่อมวลชนกับฝ่ายทหารร่วมคิด ร่วมกันทำงาน และขอฝากให้พี่น้องสื่อมวลชนทุกท่าน สนับสนุนการนำข้อมูลข่าวสารนำเสนอสู่พี่น้องประชาชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และจะทำให้การแก้ไขปัญหา พัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ บรรลุผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ตอบสนองต่อความต้องการของพื้นที่ และตรงกับความต้องการของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง ภายใต้แผนเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2559

“ในวันนี้ภาพรวมสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้นตามลำดับ ที่สำคัญคือ พี่น้องประชาชนต้องมีความเข้าใจข้อเท็จจริงของสถานการณ์ ปัจจัยสำคัญในการนำไปสู่พัฒนาการดังกล่าว เกิดจากความร่วมมือของพี่น้องสื่อมวลชนในการช่วยกันประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างสมดุลย์ในพื้นที่สื่อและก่อให้เกิดสันติสุขในพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป” แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวปิดท้าย