หน้าแรก ข่าวในประเทศ ข่าวทั่วไป

“โรคหัด” ระบาดพุ่งชายแดนใต้ป่วยกว่า 2.5 พันราย

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – ผอ.สคร.12 สงขลา เผย “โรคหัด” คร่าชีวิตเด็กเล็กทุพโภชนาการ พบผู้ป่วย 4 จังหวัดชายแดนใต้พุ่ง 2,560 ราย ตายแล้ว 18 ราย ระบุป้องกันได้ด้วยวัคซีน และเด็กเล็กต้องได้รับสารอาหารครบถ้วน

วันนี้ (21 พ.ย.) ดร.นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ที่ 12 จ.สงขลา เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคหัดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึงวันที่ 17 พ.ย.61 พบผู้ป่วย 2,560 ราย สูงสุดใน จ.ยะลา 1,348 ราย รองลงมา จ.ปัตตานี 741 ราย จ.สงขลา 238 ราย และ จ.นราธิวาส 173 ราย ผู้เสียชีวิต 18 ราย จ.ยะลา 10 ราย ปัตตานี 7 ราย และสงขลา 1 ราย

ดร.นพ.สุวิช เปิดเผยว่า จากข้อมูลจากการเฝ้าระวังโรคหัดยังคงพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือน ส.ค. ถึงวันที่ 14 พ.ย.61 มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และมีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ใน 4 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ผู้ป่วยเสียชีวิตอยู่ในกลุ่มเด็กเล็กอายุระหว่าง 7 เดือน ๆถึง 2 ปี 6 เดือน

ส่วนใหญ่มีภาวะทุพโภชนาการ ทุกรายเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคหัดที่มีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ปอดอักเสบ และอุจจาระร่วง มีประวัติไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรค และบางรายอายุยังไม่ครบเกณฑ์ที่จะได้รับวัคซีน“โรคหัดมักเกิดกับเด็กเล็ก อายุเฉลี่ย 0-4 ปี เด็กที่เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเด็กเล็กที่มีน้ำหนักตัวน้อย มีภาวะขาดสารอาหาร หรือภาวะทุพโภชนาการ ภูมิต้านทานต่ำ”

ดร.นพ.สุวิช เปิดเผยด้วยว่า ขอความร่วมมือประชาชนที่มีบุตรหลาน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กแรกเกิดถึง 4 ปี ให้นำบุตรหลานไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน และครั้งที่ 2 เมื่อเด็กอายุ 2 ปีครึ่ง เด็กเล็กต้องได้รับนมแม่ ซึ่งเป็นสารอาหารที่ดีที่สุด เนื่องจากผู้ป่วยโรคหัดจะมีภาวะขาดวิตามินเอ อาการจะรุนแรง และอาจทำให้ตาบอดได้

ดร.นพ.สุวิช เปิดเผยอีกว่า โรคหัดเป็นโรคไข้ออกผื่น เกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งพบได้ในจมูก และลำคอของผู้ป่วย ติดต่อกันได้ง่ายมากโดยการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด เชื้อไวรัสจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย และเข้าสู่ร่างกายโดยทางการหายใจ บางครั้งเชื้ออยู่ในอากาศ เมื่อหายใจเอาละอองที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไปก็ทำให้เป็นโรคได้ ถ้าไม่มีภูมิต้านทาน ทั้งนี้ หากมีไข้ มีผื่นแดง ไอ มีน้ำมูก เยื่อบุตาแดง ตาแดง ตาแฉะ และกลัวแสง จุดขาวๆ เล็กๆ ที่กระพุ้งแก้ม ควรรีบพบแพทย์ทันที

ที่มา: mgronline