
ชาวปาเลสไตน์หลายพันคน รวมตัวกันในฉนวนกาซ่าที่ถูกปิดล้อม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในพิธีฝังศพนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์หญิง ซึ่งถูกยิงสังหารโดยทหารอิสราเอล
ในชุดเครื่องแบบสีขาว ขณะชูมือในท่าปราศจากอาวุธ” “ราซาน อัล นัจญาร” ถูกยิงเข้าที่บริเวณหน้าอกโดยพลซุ่มยิง (สไนเปอร์)ฝ่ายกองกำลังอิสราเอล จากอีกฝากของรั้วกั้นเขต ขณะกำลังพยายามเสี่ยงชีวิตเข้าช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ จากผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
พยานผู้เห็นเหตุการณ์บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ เพื่อเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์หญิงวัย 21 ปี ชาวปาเลสไตน์ ในระหว่างการประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิการคืนถิ่นของชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซ่า
ในวันเสาร์ (เมื่อวานนี้) รถพยาบาลและทีมแพทย์เข้าร่วมในพิธีฝังศพของนัจญาร พร้อมด้วยพ่อของเธอ ขณะกำลังถือเสื้อแจ็กแก็ตหน่วยแพทย์ ที่นางสาวนัจญารสวมใส่ในวันที่ถูกยิงเสียชีวิต
ภายหลังจากพิธีฝังศพ ผู้ไว้อาลัยได้รวมตัวกันเพื่อการชุมนุม เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พวกเขา 5 คนได้รับบาดเจ็บ โดยการปราบปรามของกองกำลังอิสราเอล
“เราบอกเธอว่ามันอันตราย ที่จะเข้าใกล้ (รั้วกั้นเขต) แต่เธอตอบว่า เธอไม่กลัวตาย และเธออยากจะช่วยชายหนุ่มคนนั้น” – เพื่อนในทีมแพทย์ฉุกเฉินกล่าว
ตามที่ระบุโดย หน่วยแพทย์บรรเทาภาคประชาสังคมปาเลสไตน์ Palestinian Medical Relief Society (PMRC) กล่าวว่า นัจญารถูกยิง “ขณะที่เธอกำลังพยายามเข้าให้การปฐมพยาบาลแก่ผู้ประท้วงที่ได้รับบาดเจ็บ”

“การยิงบุคลกรทางการแพทย์ เป็นอาชญากรสงครามภายใต้อนุสัญญาเจนีวา” – หน่วยแพทย์บรรเทา PMRC กล่าวในแถลงการณ์ ซึ่งเรียกร้องให้มี “การตอบสนองโดยทันทีจากประชาคมระหว่างประเทศ ไปยังการละเมิดสิทธิมนุษยชนของอิสราเอลในกาซ่า”
ตามที่ระบุโดยเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขกาซ่า เหตุการณ์นี้ทำให้ นัจญาร กลายเป็นผู้เสียชีวิตชาวปาเลสไตน์ ลำดับที่ 119 ตั้งแต่ที่การประท้วง ซึ่งถูกเรียกว่า ” Great Return March” เริ่มต้นขึ้นในเดือนมีนาคม ในจำนวนนี้ยังรวมถึงเด็กและเยาวชนผู้เสียชีวิตมากถึง 14 ราย
นอกจากนี้ ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บชาวปาเลสไตน์กว่าอีก 13,300 ราย โดย 300 รายจากจำนวนนี้มีอาการอยู่ในภาวะวิกฤติ
การประท้วงดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อ เรียกร้องความสนใจไปยังการปิดล้อมเขตแดนตลอดระยะเวลา 11 ปี โดยอิสราเอล และอียิปต์ ในบริเวณอาณาเขตชายฝั่งทะเล และเพื่อเรียกร้องสิทธิในการคืนถิ่นให้แก่ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ ที่ต้องสูญเสียดินแดนของตนไปเมื่อรัฐอิสราเอลถูกสถาปนาขึ้นในปี ค.ศ. 1948
ส่วนมากของผู้เสียชีวิตระหว่างการประท้วง จะถูกยิงโดยพลซุ่มยิงอิสราเอล ครึ่งหนึ่งของพวกเขา เสียชีวิตภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งวัน คือ ในวันที่ 14 พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเหตุการณ์ที่การประท้วงและความตึงเครียดทวีความรุนแรงถึงขีดสุด เมื่อสหรัฐฯทำพิธีย้ายสถานทูตของตนในอิสราเอล จากกรุงเทลอาวีฟ ไปยังกรุงเยรูซาเล็มอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้กลุ่มสิทธิมนุษยชนหลายฝ่ายได้ประณาม และกล่าวอ้างว่าอิสราเอลได้ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุในการจัดการกับผู้ประท้วงที่ปราศจากอาวุธ
ในวันศุกร์ องค์กรสหประชาชาติได้ออกมติเพื่อตำหนิอิสราเอลในฐานะผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวปาเลสไตน์ขั้นร้ายแรง แต่ความพยายามดังกล่าวเป็นอันต้องล้มเหลว เมื่อรัฐบาลอเมริกาได้ออกอำนาจวีโต้ กีดกันมิให้สหประชาชาติตำหนิรัฐบาลอิสราเอลว่ากระทำการรุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์
นางสาวนัจญาร เป็นผู้อยู่อาศัยจาก Khuzaa หมู่บ้านเกษตรกรรม ใกล้ชายแดนอิสราเอลทางด้านตะวันออกของ Khan Younis ในตอนใต้ของฉนวนกาซ่า พ่อของเธอ นาย อัชรอฟ อัล นัจญาร เคยมีร้านค้าขายอะไหล่มอเตอร์ไซค์ แต่ถูกทำลายโดยการยิงถล่มทางอากาศของกองกำลังอิสราเอลในสงครามระหว่างอิสราเอล และกลุ่มกองกำลังต้านทาน เมื่อปี 2014 ส่งผลทำให้เขาตกอยู่ในสภาวะว่างงานจนถึงปัจจุบัน
นางสาวนัจญาร ลูกสาวคนโตจากบุตรทั้งหมด 6 คน ไม่ได้ทำคะแนนที่ดีเพียงพอสำหรับการเข้าสู่มหาวิทยาลัย ทำให้เธอเลือกเข้าอบรบเป็นนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ 2 ปี ในโรงพยาบาลนัสเซอร์ ประจำเมือง Khan Younis และผันตัวเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัยให้แก่ชาวปาเลสไตน์ ในองค์กรสาธาระสุขที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล – PMRC
ในการให้สัมภาษณ์กับ The New York Times ในค่ายผู้ประท้วงที่ Khan Younis เมื่อเดือนที่แล้ว เธอกล่าวว่า:
“เราทำสิ่งนี้เพื่อความรักที่มีต่อประเทศชาติ มันเป็นงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เราไม่ได้ทำเพื่อเงิน เราทำเพื่อพระเจ้า เราไม่ต้องการค่าตอบแทน หรือ การจ้างงาน”
“ผู้คนมักจะถามพ่อของฉัน ว่า ฉันมาทำอะไรที่นี้ ทั้งๆที่ไม่ได้รับเงินเดือน เขาตอบว่า ผมภาคภูมิใจในลูกสาวของผม เธอให้การดูแลแก่บรรดาเด็กๆของประเทศเรา”
“เรามีเพียงเป้าหมายเดียว” เธอกล่าว “นั่นคือการช่วยเหลือ และอพยพชีวิตผู้คน และเพื่อส่งสาสน์ไปยังโลกว่า: เราสามารถทำอะไรก็ได้ แม้เราจะปราศจากอาวุธ”
