ยาเสพติดยังระบาดใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นทั้งแหล่งนำเข้าและส่งออก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) แก้ปัญหาเชิงรุก ดันองค์กรอิสลามมีส่วนร่วมสร้างชุมชนเข้มแข็ง จ่อพบจุฬาราชมนตรีขอคำปรึกษา
วันนี้ ( 6 พ.ย.) นายณรงค์ รัตนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเดอะพับลิกโพสต์ ถึงสถานการณ์ยาเสพติดใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า จากข้อมูลการจับกุมและข้อมูลการข่าว พบ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีการนำเข้ายาเสพติดอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มนักค้าต่างประเทศ (นักค้ามาเลเซีย) และกลุ่มนักค้าชาวไทย ซึ่งรูปแบบยังคงเป็นการนำเข้ามาพร้อมตัวบุคคลและการซุกซ่อนในยานพาหนะ เพื่อนำมาแบ่งจำหน่ายให้กับลูกค้าในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยพื้นที่ที่มีปัญหาหนัก ได้แก่ อำเภอสะเดา อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล อำเภอแว้ง อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และอำเภอเบตง จังหวัดยะลา
ทั้งนี้ตัวยาเสพติดที่มีการลักลอบนำเข้าในพื้นที่ อันดับหนึ่งได้แก่ พืชกระท่อม ร้อยละ 49 ส่วน ยาบ้า ร้อยละ 32 และ ยาไอซ์ร้อยละ 6
นอกจากนี้ พื้นที่จชต.ยังเป็นแหล่งพักและการส่งออกยาเสพติดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกัญชา โดยจากข้อมูลการจับกุมและข้อมูลการข่าว มีการจับกุมเครือข่ายนักค้ายาเสพติดรายสำคัญ หลายคดีพร้อมของกลางกัญชาแห้งอัดแท่งจำนวนมาก ซึ่งจากการสอบสวนในเบื้องต้น พบว่า เป็นการลักลอบนำเข้ากัญชาแห้งอัดแท่งจากประเทศลาว เข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย นำมาพักไว้ในพื้นที่ จังหวัดสงขลา เพื่อรอจำหน่ายให้เครือข่าย ในพื้นที่ จังหวัดสงขลา สตูลและพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมถึงเตรียมส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย เลขาธิการ ป.ป.ส. ระบุ
นายณรงค์ รัตนานุกูล เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวต่อว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ส. และ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้ให้ความสำคัญต่อปัญหายาเสพติดในพื้นที่ จชต. มาโดยตลอด มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.ปส.จชต.) เพื่อดำเนินการใน 2 ภารกิจหลัก ประการแรกคือ เป็นกลไกอำนวยการ ด้านการป้องกัน ปราบปราม และการบำบัดรักษา โดยมีการ บูรณาการและประสานงานกับหน่วยงานเกี่ยวข้องในพื้นที่ และให้การสนับสนุนภารกิจที่กลไกปกติของส่วนราชการ เช่น ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด (ศอ.ปส.จ.) ไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น การเข้าดำเนินการในพื้นที่เสี่ยงภัย และประการที่สอง เพื่อเป็นกลไกดำเนินงานเกี่ยวกับงานมวลชนเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพ ติดในพื้นที่”
“นอกจากนี้ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ยังได้ตั้ง “คณะทำงานติดตามเส้นทางการเงินเครือข่ายยาเสพติดและกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงใน พื้นที่ จชต.” ประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น สำนักงาน ป.ป.ส. สำนักงาน ปปง. ดีเอสไอ บช.ปส. เป็นต้น เพื่อดำเนินการติดตาม ตรวจสอบ ร่วมปฏิบัติให้ได้ข้อเท็จจริงอีกทางหนึ่งด้วย”
เลขาธิการ ป.ป.ส. ย้ำว่า สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ร่วมมือกับกับองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะกับองค์กรมุสลิมในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง
“พื้นที่ 3 จชต. และ 4 อำเภอจังหวัดสงขลา ซึ่งมีบริบทของพื้นที่ มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ทาง ป.ป.ส. จึงส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรศาสนาอิสลามเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือนำหลักศาสนามาปรับใช้ร่วมกับกิจกรรมต่างๆ โดยมีกลไก ศอ.ปส.จชต. เป็นผู้ประสานงานหลักผ่านคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด ตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปี ๒๕๕๙ ที่กำหนดยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมภาคประชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพ ติด”
“ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในพื้นที่จชต.โดยเฉพาะในประเภทน้ำกระท่อม หรือสี่คูณร้อย ส่วนหนึ่งคือเรื่องการบิดเบือนหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม โดยการอ้างและเชื่อว่า ไม่ผิดหลักศาสนาเพราะไม่ใช่เครื่องดื่มประเภทเหล้าเป็นต้น ทั้งที่ความจริงความเชื่อเช่นนี้สวนทางกับหลักคำสอนที่ดีของศาสนาอิสลาม” นายณรงค์ เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าว และว่า
“มิติการแก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่จชต.บางมุมดูเหมือนจะยาก แต่ในอีกมุมหนึ่งก็แก้ได้ง่าย เพราะเขามีศาสนาเป็นหลักยึดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราจะเปลี่ยนแนวความคิดเขาได้อย่างไรไปสู่ความเชื่อที่ถูกต้อง ถ้าเราสามารถเปลี่ยนได้โอกาสสำเร็จก็เกิดขึ้นได้เลย ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่ก็ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการที่จะทำให้สำเร็จนั้นหลายฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะผู้นำศาสนาและองค์กรอิสลามจะต้องชี้นำแนวทางที่ถูกต้องของอิสลามให้ พวกเขา”
“เราต้องสร้างให้คนในชุมชนให้ขึ้นมาช่วยกันแก้ไขปัญหา โดยทางภาครัฐเองจะเข้าไปมีส่วนในการช่วยสนับสนุนให้เขาสร้างชุมชนที่เข้ม แข็งขึ้นมา”
“ในวันที่ 12 พ.ย. นี้ผมจะเข้าพบท่านจุฬาราชมนตรี เพื่อเยี่ยมคารวะท่านและขอแนวทางขอคำปรึกษาในการร่วมมือกันแก้ปัญหาการระบาด ของยาเสพติด นอกจากนี้ยังมีวาระพบกับนายอับดุลอาซิส ยานยา (บาบอซิ) ประธานสมาคมสถาบันปอเนาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวด้วย” นายณรงค์ กล่าว
สำหรับกิจกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามร่าง แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2559 นั้น เลขาธิการ ป.ป.ส. ระบุว่า มีกิจกรรมสำคัญประกอบด้วย ด้านการป้องกัน เช่น โครงการญาลันนันบารู มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยง โครงการปอเนาะสานใจป้องกันภัยยาเสพติด โครงการอบรมหลักสูตรครู D.A.R.E ให้กับอุสต๊าสตาดีกา และโรงเรียนสอนศาสนา กิจกรรมผู้นำศาสนาพูดหน้าเสาธง กิจกรรมเอี๊ยะติกาฟในรอมฎอน และ ด้านการบำบัดรักษา เช่น กิจกรรมบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดด้วยระบบปอเนาะบำบัด ที่ปอเนาะญาลันนันบารู อ.เทพา จ.สงขลา การนำหลักศาสนามาใช้ในค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นต้น
“นอกจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ส. ยังได้สนับสนุนงบประมาณหรือเงินอุดหนุนให้กับองค์กรอิสลาม และสถานศึกษาปอเนาะต่างๆ รวมถึงร่วมกับสมาคมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อจัดวิทยากรป้องกันยาเสพติดเข้าไปให้ความรู้แก่ชุมชน องค์กรสตรี โรงเรียนปอเนาะ โรงเรียนตาดีกา ในพื้นที่ 3 จชต. และ 4 อำเภอ จ.สงขลาอีกด้วย” เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าว
ที่มา http://www.publicpostonline.net/5274